จีนเร่งพัฒนาโมเดลขนส่ง “รถไฟเข้าท่าเรือ”

25 Oct 2019

ไฮไลท์

  • ปัจจุบัน ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal transportation) โดยเฉพาะการขนส่งในรูปแบบ “รถไฟ+ท่าเรือ” โดยเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกลางเพิ่งประกาศข้อคิดเห็นว่าด้วยการเร่งผลักดันการก่อสร้างเส้นทางรถไฟที่ใช้งานเฉพาะทางเพื่อการขนส่งสินค้า
  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้พัฒนาโมเดลการขนส่ง “รถไฟ+ท่าเรือ” ก่อนหน้าที่รัฐบาลกลางจะประกาศข้อคิดเห็นดังกล่าว ซึ่งแนวคิดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากยุทธศาสตร์ “เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (ILSTC) โดยการสร้างทางรถไฟวิ่งเข้าไปในท่าเรือชินโจว ตามด้วยเมืองท่าฝางเฉิงก่างและเมืองท่าเป๋ยไห่ที่ได้ดำเนินการแล้วเช่นเดียวกัน
  • ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “รถไฟ+ท่าเรือ” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย มีความคล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
  • คาดว่า ในอนาคต ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” จะกลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้า เนื่องจากทำเลที่ตั้งใกล้กับประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปยังจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้วด้วย

 

 เมืองท่ารอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (หรือคนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) กำลังเดินหน้าก่อสร้างและต่อขยายทางรถไฟให้สามารถวิ่งเข้าไปในท่าเรือ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพให้กับงานขนส่งและโลจิสติกส์ และช่วยภาคธุรกิจลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

ปัจจุบัน จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนางานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal transportation) โดยเฉพาะการขนส่งในรูปแบบ “รถไฟ+ท่าเรือ” โดยเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกลางเพิ่งประกาศข้อคิดเห็นว่าด้วยการเร่งผลักดันการก่อสร้างเส้นทางรถไฟที่ใช้งานเฉพาะทาง

ข้อคิดเห็นดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน คือ จะมีรางรถไฟเชื่อมเข้าไปในท่าเรือสำคัญเลียบชายฝั่งทะเล โรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณขนส่งสินค้ามากกว่า 1.5 ล้านตัน และสวนโลจิสติกส์ที่สร้างขึ้นใหม่ รวมถึงท่าเรือหลักๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง คิดเป็นสัดส่วน 80% ของทั้งประเทศในปี 2563 และคิดเป็นสัดส่วน 85% ของทั้งประเทศ ในปี 2568

สำหรับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้พัฒนาโมเดลการขนส่ง “รถไฟ+ท่าเรือ” ก่อนหน้าที่รัฐบาลกลางจะประกาศข้อคิดเห็นดังกล่าว ซึ่งแนวคิดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากยุทธศาสตร์ “เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือ ILSTC (เดิมใช้ชื่อว่า “เส้นทางมุ่งลงใต้”) ซึ่งมีท่าเรือชินโจว (QinzhouPort/钦州港) เป็นจุดเชื่อมต่องานขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่จีนตอนในกับต่างประเทศ

นอกจากนี้ เมืองชินโจวยังได้สร้าง “สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว” เพื่อรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าแบบไร้รอยต่อระหว่าง “เรือ(ท่าเรือชินโจว) กับรถไฟ(สถานีรถไฟชินโจวตะวันออก)” กล่าวคือ ตู้สินค้าจากต่างประเทศสามารถขนถ่ายจากเรือเพื่อขึ้นรถไฟต่อไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศจีน รวมทั้งผ่านประเทศจีนไปยังประเทศในเอเชียกลางและฝั่งยุโรปได้ ในทางกลับกัน สินค้าในจีนก็สามารถใช้รถไฟขนส่งตู้สินค้ามาที่ท่าเรือชินโจวเพื่อขึ้นเรือไปต่างประเทศได้เช่นกัน โดยเฟสแรกได้เปิดใช้งานแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2562

ล่าสุด เมืองฝางเฉิงก่างและเมืองเป๋ยไห่ ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่ตั้งอยู่รอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีก็กำลังเร่งงานก่อสร้างและต่อขยายทางรถไฟให้สามารถวิ่งเข้าไปถึงในท่าเรือเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ท่าเรือฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang Port/防城港港) เปิดใช้เส้นทางรถไฟเส้นใหม่ที่เชื่อมเข้าสู่ลานสับเปลี่ยนขบวนรถไฟ (switchyard) แห่งที่ 2 ในเขตท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง เส้นทางรถไฟมีความยาว 21.1 กิโลเมตร และเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2562 ท่าเรือเป๋ยไห่ (Beihai Port/北海港) ได้เปิดใช้เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าเส้นแรกของประเทศจีนที่ลงทุนโดยภาคเอกชน (รูปแบบการลงทุน BT หรือ Built-Transfer ที่เอกชนสร้างและโอนให้รัฐทันที) จากท่าเรือเที่ยซานไปยังฐานโรงกลั่นน้ำมัน SINOPEC เมืองเป๋ยไห่ โดยเส้นทางรถไฟมีความยาว 3.84 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 136 ล้านหยวน และมีกำลังการขนส่งปีละ 32.95 ล้านตัน

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “รถไฟ+ท่าเรือ” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งช่วยประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางรถไฟสำหรับการขนส่งสินค้ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง คาดว่า ในอนาคต ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” จะกลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้า เนื่องจากทำเลที่ตั้งใกล้กับประเทศสมาชิกอาเซียนและเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปยังจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้วด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (广西新闻网) วันที่ 23, 24  ตุลาคม 2562
ภาพประกอบ www.pixabay.com

เส้นทางมุ่งลงใต้Multimodal TransportationILSTCสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวBuilt-Transferswitchyardท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ“รถไฟ+ท่าเรือ”“เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่”

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน