ข้อมูลทั่วไป
สถิติการค้าการลงทุน
Belt & Road
ข้อมูลทั่วไป
เป็นยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ที่เสนอแนวคิดโดย นายสี จิ้นผิง เมื่อปี 2556 โดยมีเป้าหมายเพื่อความเชื่อมโยงทางด้านคมนาคม ด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการสร้างความมั่นคงในเส้นทางการค้าทั้งทางบก และทางทะเลของจีนกับประเทศในเส้นทาง Belt and Road เป็นนโยบายที่รัฐบาลจีนส่งเสริมเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศบนเส้นทาง Belt and Road และเป็นกรอบการทำงานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพหุภาคีของจีน
ในอีกแง่หนึ่งของ BRI คือการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมุ่งเน้นการรวมตัวกันทางด้านการตลาด และความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ เพื่อกระจายผลประโยชน์สู่ส่วนรวมในภูมิภาค
โดยประเทศจีนได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม BELT AND ROAD FORUM FOR INTERNATIONAL COOPERATION (BRF) ครั้งแรก ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2017 โดยมีผู้นำจาก 29 ประเทศและผู้แทนจาก 110 ประเทศเข้าร่วม และจัดการประชุม BRF ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “Shaping a Brighter Shared Future” เมื่อวันที่ 25-27 เมษายน 2562 ที่กรุงปักกิ่ง มีผู้นำจาก 38 ประเทศ และผู้แทนราว 5,000 คนจากกว่า 150 ประเทศ และกว่า 90 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม
ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปลายเดือน มกราคม 2563 มีประเทศ/องค์กรระหว่างประเทศที่ได้ลงนามเอกสารความร่วมมือกับจีนด้าน BRI จำนวน 168 ประเทศ/องค์กร รวมข้อตกลงจำนวน 200 ฉบับ ปัจจุบัน จีนได้กลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของมากกว่า 25 ประเทศตามเส้นทาง BRI โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนชี้ว่า ในปี 2562 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศตามเส้นทาง BRI มากกว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปี 2561 และคิดเป็นร้อยละ 29.4 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของจีน ด้านการลงทุน ในปี 2562 จีนได้ลงทุนประเทศตามเส้นทาง BRI มูลค่า 15,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมภาคการเงิน) ลดลงร้อยละ 3.8 จากปี 2561 ในขณะที่ประเทศตามเส้นทาง BRI ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ในจีน 5,591 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 8,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 จากปี 2561
แนวทางความร่วมมือ
ความคืบหน้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2013-2018)
- มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศตามเส้นทาง BRI เกินกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1.1 ต่อปี จีนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของ 25 ประเทศตามเส้นทง BRI ปัจจุบัน มี 138 ประเทศ/เขต
- มูลค่าการลงทุน การลงทุนโดยตรงของจีนในประเทศตามเส้นทาง BRI มากกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.2 ต่อปี จีนได้ลงนามสัญญารับเหมาโครงการในประเทศตามเส้นทาง BRI มูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 19.2 ต่อปี นอกจากนี้ จีนได้ผ่อนปรนนโยบายต่างชาติลงทุนในจีนและปรับสิ่งแวดล้อมการลงทุนให้ดีขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
- เครือข่ายเขตการค้าเสรี จีนได้ลงนามหรือยกระดับข้อตกลงเขตการค้าเสรี 5 ฉบับกับ 13 ประเทศตามเส้นทาง BRI จีนได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และจีนกับรัสเซียได้แล้วเสร็จร่วมกันวิจัยความเป็นไปได้ของข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจยุโรป-เอเชีย
- การสนับสนุนทางการเงิน จีนกับ 17 ประเทศได้อนุมัติหลัการการจัดหาเงินทุน BRI ธนาคารทุนจีน 11 แห่งได้จัดตั้งสาขาย่อย 71 แห่งตามเส้นทาง BRI จีนได้ผลักดันความร่วมมือด้านการจัดหาเงินทุนร่วมกับธนาคารพัฒนาพหุภาคี เช่น กลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างทวีปอเมริกา และธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาของยุโรป เป็นต้น นอกจากนี้ กระชับการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงตามกฎหมายและเริ่มจัดตั้งกลไกและสถาบันการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศตามเส้นทาง BRI
- การศึกษา มีการอบรมบุคลากรด้านการบริหารทางเทคโนโลยีผ่านทุนการศึกษาเส้นทางสายไหมและการจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่ต่างประเทศ ในปี 2560 นักศึกษาจากประเทศตามเส้นทาง BRI ศึกษาอยู๋ในประเทศจีนจำนวนกว่า 3 แสนคน ส่วนนักศึกษาจีนที่ไปเรียนที่ประเทศตามเส้นทาง BRI มากกว่า 6 หมื่นคน
- การท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเที่ยวระหว่างจีนกับประเทศตามเส้นทาง BRI จะมากกว่า 85 ล้านคนในปี 2563 ยอดมูลค่าการใช้จ่ายราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ