ทรัพย์สินทางปัญญา
การจ้างงาน
ระบบภาษี
ครอบครองอสังหาริมทรัพย์
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กฎระเบียบจีนที่ควรรู้
ทรัพย์สินทางปัญญา
ปัจจุบัน กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property law) ในจีนแบ่งประเภทงานที่คุ้มครอง ที่สำคัญได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ สิทธิบัตร (Patent) เครื่องหมายการค้า (Trademark) และลิขสิทธิ์ (Copyright) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
สิทธิบัตร (คุ้มครองงานด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี)
“สิทธิบัตร” เป็นหนังสือสำคัญที่ใช้คุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีการผลิต ซึ่งล้วนเป็นผลผลิตจากสติปัญญาของผู้คิดค้น การคุ้มครองด้วยสิทธิบัตรจะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้น และเป็นการช่วยป้องกันมิให้ผู้อื่นเลียนแบบหรือขายโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะทำให้เสียสิทธิและละเมิดสิทธิของผู้คิดค้น ทั้งนี้ สิทธิบัตรสามารถซื้อ ขาย หรือให้เช่าได้ (ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ) โดยสิทธิบัตรในจีนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ประเภท | เนื้อหาการคุ้มครอง | |
---|---|---|
1 | สิทธิการบัตรประดิษฐ์ (Inventions) อายุคุ้มครอง 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดทะเบียน | คุ้มครองการประดิษฐ์ คิดค้น หรือคิดทำผลิตภัณฑ์ (รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม) หรือกรรมวิธีขึ้น ใหม่ เช่น การประดิษฐ์ iPhone5 หรือการคิดกรรมวิธีรักษาความสดของผลไม้ ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำขึ้นใหม่และมีขั้นตอนการทำที่ก้าวหน้ากว่าเดิม |
2 | สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product designs) อายุคุ้มครอง 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดทะเบียน | คุ้มครองการออกแบบขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะ หรือทั้ง 2 อย่างรวมกันของผลิตภัณฑ์ ที่สามารถจับต้องทางกายภาพได้ เช่น รูปทรงของ iPhone5 หรือลักษณะแบบของรถ Volvo โดยหากเป็นสิ่งมีรูปร่างไม่คงที่ หรือไม่สามารถมีรูปร่างคงที่ด้วยตัวเอง เช่น ก๊าซ ของเหลว หรือสารชีวภาพ เป็นต้น จะไม่สามารถจดสิทธิบัตรประเภทนี้ได้ |
3 | สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (Utility models) หรืออนุสิทธิบัตร (Petty Patent) อายุคุ้มครอง 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดทะเบียน | การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ขึ้น แต่ยังไม่ถึงมาตรฐานขั้นสูงที่เพียงพอ แต่มีลักษณะของการทำขึ้นใหม่และประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ เช่น การปรับปรุงฝาครอบลูกบิดประตูขึ้นใหม่ |
ข้อควรสังเกต !!
- สิทธิตามสิทธิบัตร (Exclusive rights) เป็นสิทธิเฉพาะที่ (Territorial rights) หากนักธุรกิจไทยจดทะเบียนในไทยก็จะได้รับคุ้มครองแค่ในเขตประเทศไทยเท่านั้น ฉะนั้นหากต้องการให้ได้รับการคุ้มครองในจีนก็ควรจดทะเบียนในจีนด้วย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองอย่างทั่วถึง
- อายุการคุ้มครองของสิทธิบัตรจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ยื่น มิใช่นับตั้งแต่วันที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งโดยปกติสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะใช้เวลาประมาณ 2 – 4 ปีจึงจะได้รับอนุมัติการจดทะเบียน ขณะที่สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะใช้เวลาประมาณ 10 – 12 เดือน และสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์จะใช้เวลาประมาณ 12 – 18 เดือน
- ต้องจ่ายค่ารักษาสิทธิรายปี (maintenance fee) หากขาดการจ่ายก็จะทำให้สิทธิการค้มครองสิ้นสุดลงก่อนวันสิ้นอายุการคุ้มครองตามกำหนดจริง
เครื่องหมายการค้า (คุ้มครองเครื่องหมาย โลโก้ หรือตรารับรองของบริษัทต่างๆ )
“เครื่องหมายการค้า” เป็นเครื่องหมายที่ใช้หรือให้ความหมายเกี่ยวข้องกับสินค้าว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ มีความแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น รวมไปถึงเป็นการป้องกันการสับสนหรือเข้าใจผิด กับแหล่งกำเนิดของสินค้าและบริการ และประกันคุณภาพสินค้า แก่ ผู้บริโภคด้วย โดยเครื่องหมายการค้าอาจจะใช้คำ ข้อความ สัญลักษณ์ กลุ่มตัวเลขหรือตัวอักษร รูปออกแบบภาพวาด ภาพถ่าย ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปทรง หรือใช้ทั้งหมดผสมกัน เพื่อสร้างเป็นเครื่องหมายการค้าขึ้น โดยกฎหมายเครื่องหมายการค้าของจีนได้จัดแบ่งประเภทเครื่องหมายการค้าออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. เครื่องหมายการค้าทั่วไป (General trademarks)
เป็นเครื่องหมายสำหรับสินค้าและบริการ เพื่อแสดงถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าหรือบริการประเภทต่างๆภายใต้แต่ละเครื่องหมายการค้า
2. เครื่องหมายการค้าที่รู้จักกันโดยทั่วไป (Well-known trademarks)
เป็นเครื่องหมายการค้ามีชื่อเสียงกว้างขวาง และเป็นที่ รู้จักกันทั่วไปในจีน เช่น เครื่องหมายบริษัท Coca-Cola
3. เครื่องหมายร่วม (Collective marks, signs)
เป็นเครื่องหมายที่จดทะเบียนโดยบริษัท รัฐวิสาหกิจหรือสมาชิกของสมาคม องค์กร สมาพันธ์ทั้งของรัฐหรือเอกชน สำหรับให้สมาชิกได้ใช้ในกิจการทางพาณิชย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นสมาชิกขององค์กรดังกล่าว
4. เครื่องหมายรับรอง (Certification marks)
เป็นเครื่องหมายที่ใช้โดยองค์กร ซึ่งสามารถกำกับดูแลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่นใดภายนอกองค์กร นั้นๆ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าวเพื่อรับรองแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ คุณภาพการผลิต หรือลักษณะอื่นใดของสินค้าและบริการนั้นๆ เช่น เครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)
เป็นเครื่องหมายที่ใช้โดยองค์กร ซึ่งสามารถกำกับดูแลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่นใดภายนอกองค์กร นั้นๆ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าวเพื่อรับรองแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ คุณภาพการผลิต หรือลักษณะอื่นใดของสินค้าและบริการนั้นๆ เช่น เครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)
ข้อควรสังเกต !!
- เครื่องหมายที่เป็นรูปธรรมนั้นสามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้แทบ ทั้งหมด ยกเว้นเครื่องหมายที่เป็นนามธรรม (Non-visual marks) เช่น กลิ่นหรือเสียง ซึ่งไม่สามารถนำมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ โดยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนจะมีอายุการคุ้มครอง 10 ปี และสามารถต่ออายุได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- เครื่องหมายการค้าในประเทศจีนจะได้รับการคุ้มครองก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียน ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เว้นแต่ว่าเครื่องหมายการค้าที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าที่รู้จักโดยกัน ทั่วไป (Well-known trademarks) ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทขึ้น เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นๆ จะไม่สามารถออกมายืนยันด้วยตนเองว่า เครื่องหมายของตนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโดยทั่วไป แต่จำเป็นต้องร้องขอให้ “Trademark Office” หรือ “Trademark Review and Adjudication Board” เป็นผู้ตัดสินว่า เครื่องหมายนั้นๆ มีคุณสมบัติครบถ้วนในฐานะ “Well-known trademarks” หรือไม่
- การจดทะเบียนยึดหลักว่า “มาจดก่อน ย่อมมีสิทธิ์ก่อน” โดยควรจะต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในภาษาจีนด้วย เพื่อเป็นการสร้าง brand recognition รวมถึงป้องกันความสับสนในตัวสินค้าของผู้บริโภค และป้องกันมิให้คู่แข่งทางการค้าชิงจดทะเบียนตัดหน้าโดยใช้ชื่อที่มีเสียง พ้องกับเครื่องหมายการค้าของเราได้
- การใช้เครื่องหมายการค้าหลังจากที่ได้จดทะเบียนแล้วนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างยิ่ง หากไม่มีการใช้เครื่องหมายดังกล่าวนานติดต่อกันถึง 3 ปี อาจมีความเสี่ยงที่เครื่องหมายนั้นจะถูก “ยกเลิก” ในฐานะ “non-use”
- ในประเทศจีน การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะแยกจากการจดทะเบียนทางการค้า (Trademark does not include company name) อีกทั้งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแตกต่างกันด้วย ดังนั้น ในบางครั้งจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะพบเห็นการจดทะเบียนบริษัทโดยมีเครื่อง หมายการค้าอยู่ในชื่อบริษัทด้วย
เครื่องหมายการค้า
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ผู้ประกอบการควรใส่ใจกับการรักษาสิทธิครอบครองเครื่องหมายการค้า (ยี่ห้อ) ของท่านโดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของท่านในจีนแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากปัจจุบันมีชาวจีน “หัวใส” เป็นแมวมองผลิตภัณฑ์ต่างชาติที่มีศักยภาพในจีน แล้วชิงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ๆ (โดยเฉพาะยี่ห้อสินค้าของประเทศที่ไม่ได้อยู่ในพิธีสารมาดริด[1] ) ก่อนที่เจ้าของผลิตภัณฑ์จะนำไปจดทะเบียนในจีน เมื่อถูกชิงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไป ผู้ประกอบการอาจหมดอนาคตสำหรับการทำตลาดในแดนมังกร และกลับกลายเป็นผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของตนเองในจีนเสียเอง นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก!! บริษัทไทยที่จำหน่ายเครื่องปรุงอาหารไทยชื่อดังหลายรายไม่ทันระวังตัวและต้องประสบปัญหานี้ในปัจจุบัน
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนนั้นไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด เพราะจีนกำหนดให้บุคคลต่างชาติหรือบริษัทต่างชาติสามารถขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ เพียงยื่นเรื่องผ่านบริษัทตัวแทนที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเครื่องหมายการค้าภายใต้สำนักงานบริหารอุตสาหกรรมและการค้าแห่งชาติ (Trademark Office of The State Administration for Industry & Commerce of the People’s Republic of China) โดยสามารถดูรายชื่อบริษัทตัวแทนที่ขึ้นทะเบียนได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานเครื่องหมายการค้าฯ http://www.saic.gov.cn/sbjEnglish/sbdl_1/zmd/
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างไร? นานไหม?
หลังจากเลือกบริษัทตัวแทนที่ท่านประสงค์จะว่าจ้างสำหรับการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว การจดทะเบียนฯ จะใช้เวลาประมาณ 16-24 เดือนนับจากวันที่ยื่นใบสมัคร (ในกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้านหรืออุทธรณ์) ซึ่งสามารถครอบคลุมสินค้าหรือบริการได้ 10 ชนิดใน 1 กลุ่มประเภทสินค้า (จีนแบ่งกลุ่มประเภทสินค้าและบริการออกเป็น 45 กลุ่ม)
ขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจีน มีดังนี้
1. ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของเครื่องหมายการค้าในฐานข้อมูลของสำนักงานเครื่องหมายการค้าฯ จีน ซึ่งผู้ประกอบการอาจตรวจสอบด้วยตนเองได้ในเบื้องต้นที่เว็บไซต์ http://sbcx.saic.gov.cn/trade-e/ อย่างไรก็ดี ฐานข้อมูลนี้จะไม่มีข้อมูลของใบสมัครที่เพิ่งยื่นในช่วงหนึ่งเดือนก่อนหน้า
2. ยื่นใบสมัครพร้อมเอกสารประกอบการจดทะเบียนฯ ใบสมัคร 1 ชุด สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ 1 เครื่องหมายการค้า ประกอบด้วย
3. ผู้สมัครจะได้รับเอกสารยืนยันการยื่นขอจดทะเบียนฯ (Notice of Acceptance of Application) ประมาณ 1 เดือน นับจากวันยื่นเอกสาร และฝ่ายจีนจะตรวจสอบใบสมัครใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือน
- 2.1 เอกสารรับรองของบุคคลหรือบริษัทที่ยื่นขอ (หนังสือเดินทาง บัตรประชาชน หนังสือ จดทะเบียนบริษัท รวมถึงสำเนาเอกสารซึ่งผ่านการทำนิติกรณ์แล้ว)
- 2.2 ตัวอย่างเครื่องหมายการค้าที่จะจดทะเบียน
- 2.3 หนังสือมอบอำนาจให้บริษัทตัวแทนที่ว่าจ้างดำเนินการแทน
4. หากตรวจสอบแล้วไม่มีความซ้ำซ้อน สำนักงานเครื่องหมายการค้าจะออกประกาศให้คัดค้านการยื่นขอ จดเครื่องหมายการค้าของท่านภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ออกประกาศ หากไม่มีการคัดค้าน ผู้ยื่นคำขอจะได้รับใบรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใน 1-2 เดือนหลังจากนั้น โดยมีอายุ 10 ปี และสามารถยื่นเรื่องขอต่ออายุการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าได้
5. หากใบสมัครไม่ได้รับการอนุมัติ และประสงค์จะยื่นเรื่องอุทธรณ์ จะต้องดำเนินการภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ทราบผล
พิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) เป็นข้อตกลงภายใต้กรอบความร่วมมือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก กล่าวคือ ผู้ขอจดทะเบียนสามารถยื่นคำขอเพียงฉบับเดียวก็จะมีผลเท่ากับยื่นคำขอในหลายประเทศพร้อมกัน เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถขอรับความคุ้มครองในประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกพิธีสารในภายหลังได้ เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถต่ออายุเครื่องหมายการค้าพร้อมกันได้ ปัจจุบันมีสมาชิก 91 ประเทศทั่วโลก (จีนเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2538) ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการดำเนินเรื่องเข้าเป็นสมาชิกในพิธีสารดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนปี 2558
ลิขสิทธิ์ (คุ้มครองผลงานด้านการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม เช่น งานบันเทิง ละคร ภาพยนตร์ ภาพถ่าย)
“ลิขสิทธิ์” เป็นสิทธิที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานจะสามารถทำการใดๆ กับผลงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ได้รับจากการสร้างสรรค์ผลงาน เช่น หนังสือ วรรณกรรม เพลง ภาพยนตร์ ละคร ภาพวาด งานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม หรือซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ข้อควรรู้ !!
- ผลงานที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของชาวจีน นิติบุคคลจีน หรือหน่วยงานจีนที่ไม่ใช่นิติบุคคล ก็จะถือว่ามีลิขสิทธิ์ในจีนตั้งแต่แรกเริ่ม สำหรับในกรณีที่เป็นผลงานของชาวต่างชาติ หากผลงานได้รับการตีพิมพ์ในจีนแล้วก็ย่อมได้รับสิทธิตามกฎหมายจีน และหากแม้ผลงานไม่ได้ตีพิมพ์ในจีนก็อาจสามารถได้รับการคุ้มครองสิทธิในจีน ด้วย เนื่องจากจีนเป็นประเทศภาคีของอนุสัญญากรุงเบิร์น (The Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic works) ผลงานดังกล่าวจึงถือว่ามีลิขสิทธิ์และได้รับการคุ้มครองในจีนด้วยโดยไม่ต้อง จดทะเบียน ทั้งนี้ หากเจ้าของผลงานเป็นคนสัญชาติในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญา (ไทยก็เป็นภาคีด้วย) หรือหากในกรณีที่ไม่ได้เป็นคนสัญชาติของประเทศภาคี แต่ผลงานของบุคคลนั้นได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในประเทศภาคีเป็นครั้งแรกแล้ว ก็ล้วนได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์เช่นเดียวกัน
- นอกเหนือจากผลงานด้านวัฒนธรรมแล้ว ผลงานทางอุตสาหกรรมบางประเภทก็มีลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน อาทิ Catalogue รายชื่อสินค้า รูปภาพประกอบของบริษัท หรือรูปภาพ/การจัดผังบนเว็บไซต์ของบริษัท เป็นต้น ซึ่งหากนำไปใช้โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้สร้างสรรค์จะถือว่าเป็นการละเมิด ลิขสิทธิ์
- “สิทธิข้างเคียง (neighboring right)” เป็นสิทธิที่อยู่ควบคู่กับลิขสิทธิ์ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่มีการเผยแพร่ผลงานการประพันธ์สู่สาธารณชน อาทิ นักแสดง ผู้จัดพิมพ์ สถานีโทรทัศน์/วิทยุ และผู้จัดทำวีดีโอ/เสียงบันทึก เป็นต้น โดยบุคคลดังกล่าวควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในกรณีที่มีการนำผลงานไปใช้ ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ข้อควรสังเกต !!
- เช่นเดียวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของหลายๆ ประเทศ จีนถือว่าลิขสิทธิ์เป็น “สิทธิตามธรรมชาติ (natural rights)” ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องจดแจ้งทะเบียนลิขสิทธิ์เหมือน กับสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า อย่างไรก็ดี การจดทะเบียนลิขสิทธิ์จะเป็นประโยชน์สำหรับใช้เป็นหลักฐานในกระบวนการชั้น ศาลในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น
- ลิขสิทธิ์ในจีนมีอายุการคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์ผลงาน และขยายต่อเนื่องอีก 50 ปีหลังจากผู้สร้างสรรค์คนดังกล่าวเสียชีวิต (เหมือนกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทย)
กฎระเบียบจีนที่ควรรู้
การจ้างงาน
สัญญาจ้างงาน
สัญญาจ้างงาน หรือ เรียกว่าหนังสือว่าจ้าง หรือ ข้อตกลงว่าจ้างงาน หมายถึง ข้อตกลงในการสร้างความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างผู้ใช้แรงงานกับกิจการ องค์กร หรือหน่วยงานผู้ว่าจ้าง เป็นต้น ซึ่งมีการกำหนดความรับผิดชอบ สิทธิและหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน ตามข้อตกลงนี้ผู้ใช้แรงงานจะเข้าร่วมกับหน่วยงานหนึ่ง รับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบและทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งเคารพกฎระเบียบ ตลอดจนระบบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหน่วยงานนั้น ส่วนกิจการ องค์กร หน่วยงาน หรือกลุ่มองค์กรผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ในการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ใช้แรงงานตามปริมาณและคุณภาพของงานที่ผู้ใช้แรงงานได้ทำไป อีกทั้งยังต้องเสนอเงื่อนไขต่าง ๆสำหรับแรงงาน ต้องประกันสิทธิและประโยชน์ด้านต่างๆ แก่พนักงานของหน่วยงานนั้น ๆ ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดหรือตามข้อตกลงร่วมระหว่างสองฝ่ายมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวดังนี้
1. สัญญาว่าจ้างงานเป็นรูปแบบทางกฎหมายชนิดหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ด้านแรงงาน ใช้รูปแบบของสัญญาในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้ว่าจ้าง
2. คู่สัญญาของสัญญาว่าจ้างงาน ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นพลเมืองที่มีคุณสมบัติในด้านสิทธิและมีความสามารถในการทำงาน และอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นหน่วยงานผู้ว่าจ้างที่เป็นฝ่ายบริหาร
3. ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาในสัญญาว่าจ้างงานเป็นความสัมพันธ์แบบระบบบังคับบัญชาในด้านหน้าที่การงาน ผู้ใช้แรงงานที่เป็นคู่สัญญาเมื่อได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างงานแล้ว จะเป็นพนักงานคนหนึ่งของหน่วยงานผู้ว่าจ้างที่เป็นคู่สัญญา หน่วยงานผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะสั่งให้ผู้ใช้แรงงานทำงานที่อยู่ในขอบข่ายความสามารถของผู้ใช้แรงงานให้สำเร็จตามที่สัญญากำหนด
4. สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาในสัญญาว่าจ้างงานต้องเป็นลักษณะร่วมกัน หมายถึง คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายล้วนเป็นผู้มีสิทธิในแรงงาน และขณะเดียวกันก็ล้วนเป็นผู้มีหน้าที่ต่อแรงงานด้วย ผู้ใช้แรงงานมีภาระหน้าที่ในการทำงานให้สำเร็จ เคารพกฎระเบียบของหน่วยงานนั้น ๆ หน่วยงานที่ว่าจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ใช้แรงงานตามจำนวนและคุณภาพที่ผู้ใช้แรงงานได้ลงแรงไป
5. การลงนามในสัญญาว่าจ้างงาน การเปลี่ยนแปลง การสิ้นสุด และการไล่ออก จะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของกฎหมายแรงงานของประเทศจีน
องค์ประกอบของสัญญาจ้างแรงงาน
- ระยะเวลาของสัญญาจ้างงาน
- เนื้อหาของงาน
- การคุ้มครองแรงงานและเงื่อนไขในการทำงาน
- ค่าตอบแทนของแรงงาน
- กฎระเบียบในการทำงาน
- เงื่อนไขในการสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน
- ความรับผิดชอบที่เกิดจากการทำผิดสัญญาจ้างงาน
รายละเอียดสัญญาจ้างแรงงาน
ตามข้อกำหนดของกฎหมายแรงงานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สัญญาจ้างงานจะต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. มีระยะเวลาของสัญญาจ้างงาน ระยะเวลาสัญญาจ้างมี 3 ลักษณะคือ สัญญาที่มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน สัญญาที่ไม่มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน และสัญญาที่ถือเอาเวลาที่งานสำเร็จเป็นจุดสิ้นสุด ถ้าหากเป็นสัญญาจ้างงานที่มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ควรจะกำหนดเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป
2. ระบุเนื้อหาของงาน หมายถึง หน่วยงานผู้ว่าจ้างกำหนดให้ผู้ใช้แรงงานทำงานอะไร เป็นเนื้อหาสำคัญในสัญญาจ้างงานที่ผู้ใช้แรงงานยอมรับในว่าเป็นหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ ซึ่งส่วนนี้จะประกอบไปด้วย การระบุตำแหน่งในหน่วยงานที่ผู้ใช้แรงงานทำงาน ลักษณะของงาน ขอบข่ายของงาน รวมถึง ภาระหน้าที่ในการผลิตงานที่จะต้องบรรลุเป้าหมายด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ
3. การคุ้มครองแรงงานและเงื่อนไขในการทำงาน หมายถึง ในสัญญาจ้างงาน หน่วยงานผู้ว่าจ้างจะต้องกำหนดเงื่อนไขในการทำงานและการผลิต รวมถึงมาตรการในการรักษาความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้ใช้แรงงาน
4. ค่าตอบแทน หมายถึง หน่วยงานผู้ว่าจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ใช้แรงงานในรูปของเงิน ตามตำแหน่งหน้าที่ ความสามารถ รวมถึงปริมาณและคุณภาพของงาน ค่าตอบแทนจะต้องระบุ จำนวนเงิน วันและสถานที่ที่จ่ายค่าตอบแทน รวมถึงประกันสังคมด้านอื่น ๆ มาตรฐานของค่าตอบแทนห้ามต่ำกว่าที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ และต้องไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาหมู่
5. กฎระเบียบในการทำงาน หมายถึง กฎข้อบังคับที่ผู้ใช้แรงงานต้องเคารพปฏิบัติเมื่ออยู่ระหว่างการทำงาน ประกอบด้วย กฎหมายและกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร กฎที่ตั้งขึ้นภายในหน่วยงาน เพื่อเป็นเงื่อนไขด้านระเบียบให้ผู้ใช้แรงงานแต่ละบุคคลปฏิบัติตาม เช่น ระบบการเข้า-ออกงาน ระบบการทำงาน กฎระเบียบของแต่ละตำแหน่ง เงื่อนไขในการให้รางวัลและบทลงโทษ
6. เงื่อนไขในการสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน หมายถึง ความต้องการสิ้นสุดความสัมพันธ์ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นเหตุผลตามความเป็นจริงที่ทำให้สัญญาจ้างงานสิ้นสุดลง เงื่อนไขที่ทำให้สัญญาจ้างงานสิ้นสุดลงที่ระบุไว้ในสัญญา โดยทั่วไปจะหมายถึงเงื่อนไขที่นอกเหนือจากที่กฎหมาย กฎระเบียบของฝ่ายบริหารได้กำหนดไว้ เป็นเงื่อนไขที่ผู้ใช้แรงงานและหน่วยงานผู้ว่าจ้างได้ร่วมกันกำหนดข้อตกลงขึ้นสำหรับการสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเซ็นสัญญาจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายควรกำหนดเงื่อนไขในการสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน
7. ความรับผิดชอบที่เกิดจากการทำผิดสัญญาจ้างงาน หมายถึง ภายในระหว่างสัญญาจ้างงาน คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความตั้งใจหรือหรือทำผิดสัญญาด้วยความประมาท จนทำให้สัญญาจ้างงานไม่อาจดำเนินต่อไปได้ตามปกติ เมื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจจึงควรจะต้องรับภาระซึ่งเป็นผลทางกฎหมายที่เกิดตามมา ฝ่ายที่ทำผิดสัญญา ควรจะต้องรับภาระความรับผิดชอบที่เกิดจากการทำกระทำผิดสัญญาตามที่กฎหมายหรือกฎระเบียบของฝ่ายบริหารกำหนด การกำหนดความรับผิดชอบเมื่อกระทำผิดสัญญา ควรจะสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของกฎหมาย คือ ยุติธรรมและมีเหตุผล
ระยะเวลาทดลองงานในสัญญาจ้างแรงงาน
ระยะเวลาทดลองงาน หมายถึง ช่วงเวลาที่จำกัดซึ่งหน่วยงานผู้ว่าจ้างใช้ทดสอบพนักงานระบบสัญญาจ้างงานที่เพิ่งรับเข้ามาใหม่ ในด้านต่างๆ ตามกฎหมายแรงงานของประเทศจีน ในสัญญาจ้างงานสามารถมีการกำหนดระยะเวลาทดลองงานได้แตกต่างกันไปตามสภาพความเป็นจริงของแต่ละกิจการ ระยะเวลาการทดลองจะไม่เกิน 6 เดือน
การกำหนดระยะเวลาทดลองงานในสัญญาจ้างงาน ด้านหนึ่งเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของหน่วยงานผู้ว่าจ้าง เป็นการให้เวลาระยะหนึ่งแก่กิจการในการทดสอบพนักงานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ในการรับเข้าทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายโดยไม่จำเป็นของหน่วยง่านผู้ว่าจ้าง อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของพนักงานใหม่ เพื่อให้มีเวลาในการทดสอบและทำความเข้าใจเนื้องาน เงื่อนไขในการทำงาน ผลตอบแทน ว่าถูกต้องตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างงานหรือไม่ ภายในระยะเวลาการทดลองงาน หากคู่สัญญาพบว่าสภาพความเป็นจริงไม่ตรงกับที่ฝ่ายตรงข้ามได้ชี้แจงไว้ ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทุกเมื่อภายในระยะเวลาทดลองงาน
ขั้นตอนของการทำสัญญาจ้างงาน
ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดการสร้างความสัมพันธ์ด้านแรงงานควรมีการทำสัญญาจ้างงานโดยการเขียนสัญญาจ้างงานมีขั้นตอนสำคัญดังนี้
1. รายงานตัวโดยสมัครใจพร้อมยื่นเอกสารที่เป็นหลักฐานต่าง ๆ สำหรับการรับพนักงานโดยจัดสอบเป็นกลุ่ม ผู้เข้าสอบจะต้องยื่นหลักฐาน คือ ทะเบียนสำมะโนครัว วุฒิบัตรการศึกษาหรือหลักฐานอื่น ๆ เพื่อยืนยันสถานะของพนักงาน และเพื่อป้องกันคนจากต่างถิ่นเข้ามาร่วมสอบ หากหน่วยงานผู้ว่าจ้างมีความจำเป็นแน่ชัดว่าต้องการคนงานจากชนบท นอกจากจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายแล้ว ยังต้องแจ้งให้รัฐบาลท้องถิ่นระดับมณฑล เขตปกครองตนเอง หรือมหานครให้พิจารณาอนุมัติด้วย
2. เมื่อหน่วยงานผู้ว่าจ้างจะรับคนเข้าทำงานหรือใช้พนักงานแต่ละคน ควรจะมีการทดสอบพวกเขาอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านคุณธรรม สติปัญญา และร่างกาย ส่วนเนื้อหาและมาตรฐานการสอบ สามารถเน้นหนักด้านใดก็ได้ตามความต้องการเนื้องานและรูปแบบการผลิต
3. กรอกแบบฟอร์มอนุมัติพนักงานใหม่ และยื่นแก่รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองหรือจังหวัดให้อนุมัติ อีกทั้งยังต้องมีหนังสือแจ้งการรับเข้าทำงานซึ่งอนุมัติโดยหน่วยงานของรัฐแจ้งแก่พนักงานใหม่ด้วย
4. ผู้ผ่านการรับเข้าทำงานยื่นเอกสารหรือหลักฐานอื่น ๆ เมื่อผู้ผ่านการรับเข้างานไปรายงานตัวต่อหน่วยงานผู้ว่าจ้าง ควรยื่นเอกสารรายงานตัว เมื่อหน่วยงานผู้ว่าจ้างตรวจสอบแล้ว จึงอนุญาตให้รายงานตัว โดยหน่วยงานที่รับพนักงานเข้าใหม่จะออกหนังสือแจ้งการยอมรับเข้าทำงานให้แก่พนักงาน
5. หน่วยงานผู้ว่าจ้างแนะนำตัวอย่างเนื้อหาและเงื่อนไขของสัญญาจ้างงานแก่ผู้ที่ผ่านการรับเข้าทำงาน ก่อนเขียนสัญญา หน่วยงานผู้ว่าจ้างควรแนะนำตัวอย่างเนื้อหารายละเอียดของสัญญาจ้างงานอย่างละเอียดและตามความเป็นจริง รวมถึงกรณีต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมทั้งในการเซ็นสัญญา หน่วยงานผู้ว่าจ้างยังมีหน้าที่ตอบคำถามที่พนักงานที่เพิ่งรับเข้ามาใหม่ถาม รวมถึงรับฟังความเห็นและข้อเรียกร้องด้วย
6. สองฝ่ายปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกันในการเขียนสัญญา หน่วยงานผู้ว่าจ้างกับพนักงานที่รับเข้ามาใหม่จะทำสัญญาจ้างงานโดยผ่านการปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกัน ได้ข้อตกลงและผ่านการเซ็นชื่อประทับตราของทั้งสองฝ่าย สัญญาจ้างงานจึงถือว่าสำเร็จ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายสามารถกำหนดระยะเวลาทดลองงานในสัญญาจ้างงานได้ภายในระยะเวลาทดลองงาน หน่วยงานผู้ว่าจ้างสามารถทดสอบพนักงานในเรื่องคุณธรรม สติปัญญา และร่างกายได้อีกขั้น เพื่อให้เข้าใจมาตรฐานและความสามารถในการทำงานของพวกเขาว่ามีความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ที่พวกเขารับผิดชอบหรือไม่ ถ้าพบว่าพนักงานใหม่ไม่เหมาะสมกับเงื่อนไขในการรับเข้าทำงานหรืองานที่รับภาระไม่เหมาะกับเขา หน่วยงานผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้
7. สหภาพแรงงานดำเนินการตรวจตราในสิ่งที่จำเป็น กฎหมายสหภาพแรงงานของจีนกำหนดไว้ว่า เมื่อฝ่ายบริหารของกิจการรับคนงานหรือพนักงานเข้ามาใหม่ ควรแจ้งแก่สหภาพแรงงานชั้นต้นทราบ ถ้าสหภาพแรงงานชั้นต้นพบว่า การรับคนงานหรือพนักงานนั้นกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐ มีสิทธิเสนอความเห็นได้ภายในสามวัน การทำเช่นนี้ สามารถป้องกันการที่หน่วยงานไม่ใส่ใจกับความต้องการในเงื่อนไขการผลิต ใช้พนักงานไม่ถูกกับงาน ทำให้กิจการได้รับความเสียหายโดยไม่จำเป็น ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการปกป้องสิทธิตามกฎหมายของคนงานหรือพนักงานที่เข้ามาใหม่ด้วย
8. ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด หน่วยงานผู้ว่าจ้างบางประเภท ถ้าจะรับคนงานเข้ามาทำงานเฉพาะช่วงเวลา ควรทำเรื่องแจ้งแก่หน่วยงานของรัฐที่ดูแลกิจการต่างๆและหน่วยงานด้านแรงงานในท้องที่นั้น ๆให้มีการลงบันทึก เช่น กิจการเหมืองแร่ ก่อสร้าง งานจราจร งานสร้างทางรถไฟ ไฟฟ้าและไปรษณีย์ที่เป็นของเอกชน เป็นต้น ถ้าหน่วยงานผู้ว่าจ้างรับคนงานจากชนบทที่รับจ้างเป็นงาน ๆ หรือจ้างคนงานจากชนบทในระบบสัญญาแรงงาน หลังจากที่ได้เซ็นสัญญาจ้างงานโดยไปเซ็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นระดับจังหวัดหรืออำเภอพร้อมกับคนงานแล้ว ควรจะต้องทำเรื่องแจ้งแก่หน่วยงานของรัฐที่ดูแลกิจการและหน่วยงานที่ดูแลด้านแรงงานในท้องที่ให้ทำการลงบันทึก เพื่อให้ระบบสัญญาจ้างงานของจีนสมบูรณ์ขึ้น เมื่อหน่วยงานผู้ว่าจ้างเซ็นสัญญากับพนักงานที่รับเข้ามาใหม่ ควรระวังปัญหาต่อไปนี้
- คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายควรประเมินตนเองว่าตรงกับเงื่อนไขในการรับพนักงานหรือไม่
- การเขียนสัญญาจ้างงานจะต้องถูกต้องตามกฎหมายและนโยบายของประเทศ และต้องอิงกับสภาพความเป็นจริง
- เนื้อหาของสัญญาจะเขียนอย่างกระชับหรือละเอียดต้องดูตามความเหมาะสม สำหรับเนื้อหาที่เป็นกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศ สามารถเขียนอย่างกระชับได้ แต่หากส่วนที่กฎหมายไม่มีการกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ควรเขียนให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ภาษาที่ใช้ในสัญญาจะต้องถูกตามมาตรฐาน เข้าใจง่าย เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการที่ผู้ใช้สัญญาจะเกิดการเข้าใจผิดหรือมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน
- ควรกำหนดความรับผิดชอบของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายให้ชัดเจน ความรับผิดชอบไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในสัญญา แต่ยังเป็นหลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการตัดสินข้อพิพาทด้านแรงงานด้วย
- วันที่เขียนสัญญาและวันที่สัญญามีผลบังคับใช้จะต้องเขียนไว้ให้ชัดเจน
หลักการสำหรับการเขียนสัญญาจ้างงาน
กฎหมายแรงงานกำหนดว่า“การเซ็นสัญญาและเปลี่ยนแปลงสัญญา ควรเคารพหลักการเรื่องความเท่าเทียม สมัครใจ และปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกัน ห้ามขัดกับข้อกำหนดของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร” กล่าวให้ชัดเจน คือ การเขียนสัญญาจ้างงานต้องเคารพหลักการดังต่อไปนี้
1. หลักการถูกต้องตามกฎหมาย คือ การเขียนสัญญาจะต้องเคารพข้อกำหนดของกฎหมายและนโยบายของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย 1) องค์ประกอบหลักของสัญญาจะต้องถูกต้องตามกฎหมาย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานผู้ว่าจ้างจะต้องเป็นกิจการ องค์กร หน่วยงานของรัฐ สมาคม หรือกิจการส่วนบุคคล ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนผู้ใช้แรงงานจะต้องเป็นพลเมืองที่มีสิทธิและมีความสามารถทางด้านแรงงาน 2) เนื้อหาของสัญญาจะต้องถูกกฎหมาย รายละเอียดและรูปแบบจะต้องไม่ขัดกับข้อกำหนดของกฎหมายและนโยบายของประเทศ ห้ามทำลายผลประโยชน์ของชาติและของสาธารณะ 3) รูปแบบและขั้นตอนการเขียนสัญญาต้องถูกต้องตามกฎหมาย
2. หลักการเท่าเทียม สมัครใจ และปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกัน เท่าเทียม คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเวลาเซ็นสัญญาจะมีฐานะทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน จะไม่มีความสัมพันธ์แบบทาส ความสัมพันธ์แบบที่ต้องคล้อยตาม หน่วยงานผู้ว่าจ้างและผู้ใช้แรงงานมีฐานะเท่าเทียมกันในการเขียนสัญญา สมัครใจ หมายถึง การที่สัญญาจ้างงานมาจากความเต็มใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายใดก็ไม่อาจใช้ความต้องการของตนเองมาบีบบังคับฝ่ายตรงข้ามได้ และไม่อนุญาตให้มีมือที่สามมาแทรกแซงในการเขียนสัญญา ส่วนการปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกัน หมายถึง คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายแสดงเจตจำนงในรายละเอียดแต่ละข้อบนพื้นฐานความต้องการของตนเอง และผ่านการปรึกษาโดยใช้ฐานะที่เท่าเทียม จนสามารถหาข้อตกลงที่เห็นพ้องต้องกันได้ สัญญาจึงจะถือว่าสำเร็จ หากสัญญาจ้างงานใด ๆ ขัดกับหลักการแห่งความเท่าเทียม สมัครใจ และปรึกษาร่วมจนเป็นพ้องต้องกันแล้ว ไม่เพียงแต่จะมีผลเป็นโมฆะ แต่ยังควรรับภาระรับผิดชอบที่แน่นอนทางกฎหมายด้วย
ข้อควรระมัดระวังในการทำสัญญาจ้างงาน
ตามที่กฎหมายแรงงานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดเอาไว้ การเซ็นสัญญาจ้างงานควรระมัดระวังเรื่องต่อไปนี้
1. ห้ามฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อกำหนดของฝ่ายบริหาร เท่าเทียมและสมัครใจ ห้ามใช้วิธีการบังคับ หลอกลวง หรือคุกคาม รายละเอียดของสัญญาควรเป็นความเห็นที่ทั้งสองฝ่ายปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงค่อยเซ็นสัญญา
2. ทั้งสองฝ่ายจะต้องตรวจสอบรายละเอียดแต่ละเรื่องอย่างจริงจังทั้งในเรื่อง สิทธิ หน้าที่ รวมถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องให้ผ่านการเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่ายและต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัดในการเซ็นสัญญาจ้างงาน
3. สัญญาจ้างงานควรเซ็นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องระมัดระวังเรื่องเนื้อหาของสัญญา เพราะเนื้อหาเป็รหลักฐานสำคัญในการตัดสินข้อพิพาทด้านแรงงาน สัญญาจ้างงานควรมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ ระยะเวลาของสัญญา เนื้อหาของงาน การคุ้มครองแรงงานและเงื่อนไขในการทำงาน ค่าตอบแทน วินัยในการทำงาน เงื่อนไขที่ทำให้สัญญาสิ้นสุด รวมถึงความรับผิดชอบที่เกิดจากการผิดสัญญา
4. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร และก็ยังต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง การเซ็นสัญญาจ้างงานที่ไม่อิงกับกฎหมาย และกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร อาจก่อให้เกิดเป็นสัญญาโมฆะขึ้น
5. เนื้อหาของสัญญาจ้างงานจะเขียนอย่างกระชับหรือเขียนอย่างละเอียด การเซ็นสัญญาจ้างงานจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล หน่วยงาน และเนื้องาน ถ้าสัญญาที่เขียนอย่างกระชับ จะง่ายในการจดจำ สะดวกในการเซ็น มีความยืดหยุ่นในการปรึกษาตกลงกัน ควรเขียนให้พอเหมาะ
6. ภาษาที่ใช้ในกฎหมาย ต้องแสดงเจตจำนงให้ชัดเจน เข้าใจง่าย
การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน
ผู้ใช้แรงงานบอกเลิกสัญญาจ้างงาน หมายถึง สัญญาจ้างงานที่ยังไม่ครบกำหนดสัญญา แต่ผู้ใช้แรงงานเป็นผู้เรียกร้องให้ทั้งหน่วยงานผู้ว่าจ้างและผู้ใช้แรงงานหยุดปฏิบัติตามสัญญาก่อนกำหนด และจะสิ้นสุดความสัมพันธ์ด้านแรงงานที่ได้เซ็นในสัญญาจ้างงานร่วมกัน ตามที่กฎหมายแรงงานของจีนกำหนด ผู้ใช้แรงงานสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างงานได้ในสองกรณี
- ผู้ใช้แรงงานเสนอยกเลิกสัญญาจ้างงานจะต้องทำหนังสือแจ้งถึงหน่วยงานผู้ว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 30 วัน ใน
- ผู้ใช้แรงงานสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างงานกับหน่วยงานผู้ว่าจ้างได้ทุกเมื่อ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
1. บอกยกเลิกสัญญาจ้างงานภายในระยะเวลาทดลองงาน หากผู้ใช้แรงงานพบว่า สภาพความเป็นจริงของหน่วยงานผู้ว่าจ้างไม่ตรงตามที่แนะนำไว้กับเมื่อตอนทำสัญญา ผู้ใช้แรงงานสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างงานเมื่อใดก็ได้
2. หน่วยงานผู้ว่าจ้างบังคับให้ทำงานโดยใช้ความรุนแรง คุกคาม หรือใช้วิธีจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลโดยผิดกฎหมาย โดยผู้ใช้แรงงานมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างงานได้ทุกเมื่อ และยังสามารถฟ้องร้องหาเรียกหาความรับผิดชอบจากผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงโดยผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. หากหน่วยงานผู้ว่าจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานกฎข้อบังคับของประเทศหรือตามที่สัญญาจ้างงานกำหนดในการจัดการสภาพการทำงาน อันจะทำให้ความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงานมีสภาพเลวร้าย ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพของพนักงานอย่างร้ายแรง รวมทั้งได้รับการยืนยันจากหน่วยงานด้านแรงงานหรือสาธารณสุข ผู้ใช้แรงงานก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างงานได้
เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างแรงงาน
เงื่อนไขที่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างงานได้ คือ กิจการเปลี่ยนการผลิต มีการปรับภาระหน้าที่ในการผลิต สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้เกิดจากตัวผู้ใช้แรงงาน ยุบหรือแยกกิจการ หากการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ มีผลทำให้สัญญาจ้างงานฉบับเก่าไม่สามารถใช้ปฏิบัติต่อได้ หน่วยงานที่เกิดขึ้นทีหลังสามารถอ้างอิงกับสภาพการณ์ที่เป็นจริงดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาจ้างงาน โดยเคารพหลักความเท่าเทียม สมัครใจ และปรึกษาหารือร่วมกับผู้ใช้แรงงานของหน่วยงานผู้ว่าจ้างเดิม กิจการสามารถยื่นข้อเสนอแก่ผู้ใช้แรงงานในการเปลี่ยนแปลงสัญญา และอธิบายถึงเหตุผลและเนื้อหาของการเปลี่ยนแปลงใช้ชัดเจน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ปรึกษากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงดำเนินการเปลี่ยนแปลงสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในขั้นตอนนี้ การปรับเปลี่ยนสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย จะต้องไม่ขัดกับหลักกฎหมายและข้อกำหนดของฝ่ายบริหาร กิจการควรจะกำหนดเงินเดือน รางวัล ประกันและสิทธิประโยชน์ต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด ห้ามทำให้ผู้ใช้แรงงานเสียสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
สัญญาจ้างแรงงานที่เป็นโมฆะ
สัญญาจ้างงานที่ผิดกฎหมาย หรือกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร รวมถึง สัญญาจ้างงานที่เขียนขึ้นด้วยการล่อหลอก คุกคามถือเป็นโมฆะ สัญญาที่เป็นโมฆะ ให้ถือว่าไม่มีผลผูกพันตั้งแต่เขียนสัญญา สัญญาจ้างงานจะเป็นโมฆะได้โดยผ่านการยอมรับจากคณะอนุญาโตตุลาการแผนกคดีพิพาทด้านแรงงานหรือศาลประชาชน
การเปลี่ยนตำแหน่งของผู้ใช้แรงงานในระหว่างสัญญาจ้างงานยังไม่สิ้นสุด
ผู้ว่าจ้างสามารถเปลี่ยนตำแหน่งของผู้ใช้แรงงานในระหว่างสัญญาจ้างงานได้ในสองกรณี ตามประกาศของสำนักงานบริหารของกระทรวงแรงงาน(เดิม) ปี 1996 ฉบับที่ 100 เรื่อง “หนังสือตอบกลับเรื่องปัญหาที่เกี่ยวกับการเกิดกรณีพิพาทด้านแรงงานระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้ว่าจ้างอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนตำแหน่งงาน” ดังที่กำหนดต่อไปนี้ ผู้ว่าจ้างสามารถเปลี่ยนตำแหน่งของผู้ใช้แรงงานได้ เมื่อ
1. หลังจากทำสัญญาแล้ว หากสถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงโดยไม่ได้เกิดจากตัวผู้ใช้แรงงานเอง ควรผ่านความเห็นชอบจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก่อน หากตกลงกันไม่ได้ ก็สามารถบอกยกเลิกสัญญาจ้างงานได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย
2. ถ้าเนื่องจากผู้ใช้แรงงานไม่สามารถรับผิดชอบงานให้สำเร็จได้ ผู้ว่าจ้าง สามารถใช้สิทธิของตนตัดสินเปลี่ยนตำแหน่งให้ผู้ใช้แรงงานได้
การทำสัญญาจ้างงานซ้อน
ประกาศกระทรวงแรงงาน(เดิม) ปี 1996 ฉบับที่ 354 เรื่อง “แจ้งให้ทราบถึงปัญหาบางประการเกี่ยวกับการปฏิบัติใช้ระบบสัญญาจ้างงาน” กำหนดว่า ผู้ว่าจ้างควรตรวจสอบหลักฐานการสิ้นสุดสัญญาจ้างงานของพนักงานที่เพิ่งรับเข้ามา รวมถึงหลักฐานอื่นๆที่แสดงว่า พนักงานคนนั้นๆไม่มีความสัมพันธ์ด้านแรงงานกับหน่วยงานใดๆ จึงจะสามารถเซ็นสัญญาจ้างงานได้ หน่วยงานผู้ว่าจ้างควรปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงการรับผู้ใช้แรงงานที่ยังไม่ยุติความสัมพันธ์ด้านแรงงานกับหน่วยงานอื่นเข้ามา จนเกิดเป็นการรับภาระหน้าที่ทับซ้อน
สิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดว่า พลเมืองชาวจีนมีสิทธิและหน้าที่ต่อแรงงาน พลเมืองคนหนึ่งๆ มีทั้งสิทธิต่อแรงงานและขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ต่อแรงงานด้วย กฎหมายแรงงานกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิโดยเท่าเทียมในการมีงานทำและเลือกอาชีพ มีสิทธิในการรับค่าจ้างจากการทำงาน สิทธิในการลาหยุดพัก มีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน สิทธิในการได้รับการอบรมทักษะในอาชีพการงาน สิทธิในการได้รับประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สิทธิในการฟ้องร้องให้มีการจัดการข้อพิพาทด้านแรงงาน รวมถึงสิทธิอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้”
ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิโดยเท่าเทียมในการมีงานทำ
สิทธิแรงงาน หรือเรียกว่า สิทธิในการมีงานทำ หมายถึง พลเมืองที่มีความสามารถในการทำงานมีสิทธิที่จะมีงานทำ แรงงานคือปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตเป็นที่มาของทรัพย์สินทางวัตถุและทรัพย์ทางจิตใจทั้งหมด ถือเป็นสิทธิที่พลเมืองที่มีความสามารถในการทำงานเข้าร่วมการใช้แรงงานในสังคมและเป็นหลักประกันอย่างแท้จริงว่าเขาจะได้รับผลตอบแทนตามแรงงานที่ทำไป
ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในการเลือกอาชีพ
สิทธิในการเลือกอาชีพของผู้ใช้แรงงานหมายถึง ผู้ใช้แรงงานเลือกงานตามความปรารถนาของตน เหมาะสมตามความสามารถและอาชีพที่ตนชอบ การที่ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกอาชีพ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานในการแสดงความสามารถของตนเอง และเป็นการส่งเสริมให้สังคมสามารถพัฒนาพลังการผลิต ผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนสำคัญในการมีงานทำ มีสิทธิในการจัดสรรแรงงานของตนเอง สามารถอาศัยคุณสมบัติส่วนตัว ความปรารถนาและกลไกราคาของระบบตลาดเลือกหน่วยงานผู้ว่าจ้างได้ สิทธิในการเลือกอาชีพจึงแสดงให้เห็นถึงสิทธิในแรงงานของตัวผู้ใช้แรงงาน และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของสังคมด้วย
ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในการได้รับค่าจ้าง
สิทธิในการได้รับค่าจ้างเป็นสิทธิสำคัญอย่างหนึ่งของความเป็นพลเมือง รัฐธรรมนูญของจีนไม่เพียงแต่กำหนดให้พลเมืองมีสิทธิในแรงงาน อีกทั้งยังให้สิทธิในแรงงานแก่ผู้ใช้แรงงานในการสร้างทรัพย์สินทางวัตถุและทรัพย์สินนั้นจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย หน่วยงานผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ใช้แรงงานให้ตรงเวลาและเต็มจำนวน
ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในการลาหยุดพัก
รัฐธรรมนูญของจีนมีการกำหนดเวลาทำงานและระบบการลาของพนักงาน กฎหมายแรงงานของจีนกำหนดให้เวลาพักผ่อนประกอบด้วย การพักระหว่างช่วงเวลาทำงาน เวลาพักผ่อนหลังเลิกงาน วันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดเทศกาลตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการลาพักร้อน ลาเยี่ยมญาติ ลางานแต่งงานศพ ลากิจ ลาคลอด ลาป่วย
ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน
การคุ้มครองความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน คือ การคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพทางร่างกายแก่ผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากการทำงานนั้นจะมีเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป หากไม่หานโยบายป้องกัน ก็อาจทำให้ได้รับอุบัติเหตุจากงานหรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บจากการประกอบอาชีพได้ อันจะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน
สิทธิในการได้รับการอบรมทักษะในอาชีพการงาน
การฝึกอบรมทักษะในอาชีพการงาน หมายถึง บุคคลที่จะเตรียมเข้าทำงานหรือพนักงานที่มีงานทำแล้ว ไปดำเนินการศึกษาและอบรมความรู้ด้านทักษะวิชาชีพและฝึกฝนความสามารถจริงในการทำงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อ อบรมทักษะด้านอาชีพขั้นพื้นฐานหรือเพื่อยกระดับทักษะความสามารถทางวิชาชีพของตน รัฐธรรมนูญของจีนกำหนดไว้ว่า พลเมืองมีสิทธิและหน้าที่ในการได้รับการศึกษา ซึ่งประกอบไปด้วย การได้รับการศึกษาทั่วไป และรวมถึงการศึกษาด้านวิชาชีพ พลเมืองมีสิทธิในแรงงาน หากจะใช้สิทธินี้ก็ไม่สามารถหนีพ้นการที่ตนเองจะต้องมีความสามารถในอาชีพ ในยุคปัจจุบันที่ทักษะความสามารถทางอาชีพที่นับวันจะยิ่งต้องพึ่งพาการศึกษาอบรมมากขึ้นเรื่อย ๆ หากพลเมืองไม่มีสิทธิในการรับการอบรมด้านอาชีพ สิทธิในการมีงานทำก็ยากจะเป็นจริงได้
สิทธิในการได้รับประกันสังคมและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ
ประกันสังคม คือ ข้อตกลงที่รัฐบาลหรือหน่วยงานผู้ว่าจ้างทำตามที่กฎหมายหรือตามที่สัญญากำหนด โดยเสนอระบบประกันสังคมในรูปของความช่วยเหลือทางวัตถุเพื่อเป็นหลักประกันด้านความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต แก่ผู้ใช้แรงงานที่มีความสัมพันธ์ทางแรงงานตามสัญญา มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน แก้ปัญหาความกังวลเรื่องภาระข้างหลังของผู้ใช้แรงงาน กระตุ้นความกระตือรือล้นในการผลิต ประกันสังคมของจีนครอบคลุมถึง การคลอดบุตร บำนาญ การเจ็บป่วย บาดเจ็บทุพพลภาพ การเสียชีวิตรวมถึงเลี้ยงดูผู้ที่เป็นทายาทด้วย
สิทธิในการฟ้องร้องให้มีการจัดการข้อพิพาทด้านแรงงาน
ข้อพิพาทด้านแรงงานหมายถึง คู่สัญญาของความสัมพันธ์ทางแรงงาน เกิดข้อพิพาทจากการปฏิบัติใช้ข้อกำหนดในกฎหมายแรงงานหรือสัญญาจ้างงานและสัญญาจ้างงานแบบรวมหมู่ คู่สัญญาเป็นตัวหลักของความสัมพันธ์ทางแรงงาน แต่ละฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเกิดความไม่ลงรอยทางความคิดจึงยากจะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อหน่วยงานผู้ว่าจ้างและผู้ใช้แรงงานเกิดกรณีพิพาท ผู้ใช้แรงงานสามารถยื่นฟ้องแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้ตัดสินข้อพิพาท คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านแรงงานเป็นกลุ่มตัวแทนที่มาจากหน่วยงานผู้ว่าจ้าง สหภาพแรงงาน และตัวแทนพนักงาน ส่วนคณะกรรมการตัดสินข้อพิพาทแรงงานจะเป็นกลุ่มผู้แทนซึ่งมาจากตัวแทนจากฝ่ายบริหารด้านแรงงานของรัฐ สหภาพแรงงานที่มีตำแหน่งเท่ากัน และหน่วยงานผู้ว่าจ้าง การแก้ปัญหาข้อพิพาทด้านแรงงานควรปฏิบัติโดยยึดหลักถูกกฎหมาย ยุติธรรม และทันเวลาในการจัดการ สิทธิในการยื่นคำร้องให้จัดการข้อพิพาทเมื่อเกิดปัญหา ก็ถือเป็นการประกันสิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมายให้แก่ผู้ใช้แรงงานด้วย
ระบบเวลาทำงานของของจีน
รัฐธรรมนูญของจีนกำหนดว่า รัฐบาลเป็นผู้กำหนดระบบเวลาทำงานของพนักงาน กฎหมายแรงงานมาตรา 36 กำหนดว่า รัฐบาลปฏิบัติใช้ระบบเวลาในการทำงาน โดยให้ผู้ใช้แรงงานทำงานในแต่ละวันไม่เกิน 8 ชั่วโมง เฉลี่ย 1 สัปดาห์ไม่เกิน 44 ชั่วโมง
วันหยุดพักผ่อน
นายจ้างต้องให้ลูกจ้างอยุดพักอย่างน้อย อาทิตย์ละ 1 วัน และจะต้องให้อยุดพักในวันนักขัตฤกษ์ดังต่อไปนี้ 1) วันปีใหม่ 2) วันตรุษจีน 3) วันแรงงาน 4) วันชาติ 5) วันอยุดอื่น ๆ ตามที่รัฐบาลประกาศ
การทำงานล่วงเวลา
หากนายจ้างมีความจำเป็น สามารถให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง หรือหากมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานเกินว่า 1 ชั่วโมง สามารถให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกินวันละ 3 ชั่วโมง เดือนละไม่เกิน 36 ชั่วโมง โดยลูกจ้างจะต้องมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม
โดยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ดังต่อไปนี้ (อัตราต่อวัน)
- นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยค่าล่วงเวลาเป็นเงินไม่ต่ำว่าร้อยละ 150 ของเงินเดือน
- นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยค่าล่วงเวลาเป็นเงินไม่ต่ำว่าร้อยละ 200 ของเงินเดือน หากให้ลูกจ้างทำงานในวันอยุดโดยไม่มีวันอยุดชดเชยให้
- นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยค่าล่วงเวลาเป็นเงินไม่ต่ำว่าร้อยละ 300 ของเงินเดือน หากให้ลูกจ้าทำงานในวันอยุดนักขัตฤกษ์
ลูกจ้างที่ทำงาน 1 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับวันอยุดประจำปีตามที่กฏหมายกำหนด
สวัสดิการสำหรับผู้ใช้แรงงานที่ป่วยจากการประกอบอาชีพ
ในระหว่างการทำงานผู้ใช้แรงงานอาจได้รับอันตรายจากปัจจัยต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำงานได้ ผู้ใช้แรงงานจึงควรได้รับสวัสดิการในการรักษาโรคจากการประกอบอาชีพตามที่กฎหมายกำหนดและหน่วยงานผู้ว่าจ้างควรปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้กำหนดไว้
นอกจากนี้ยังได้กำหนดหลักประกันแก่แรงงานที่เจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ ในกรณีพิเศษ 3 ข้อ และยังมีการกำหนดชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายรวมถึงสิทธิที่ผู้ใช้แรงงานจะได้รับ ดังต่อไปนี้
1. ผู้ใช้แรงงานได้รับการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ แต่หน่วยงานผู้ว่าจ้างไม่ได้เข้าร่วมระบบประกันสังคม ค่ารักษาพยาบาลและหลักประกันด้านชีวิตให้ หน่วยงานผู้ว่าจ้างแห่งล่าสุดเป็นผู้รับผิดชอบ เว้นแต่หากหน่วยงานผู้ว่าจ้างแห่งล่าสุดมีหลักฐานยืนยันว่า โรคจากการประกอบอาชีพนั้น ๆ เกิดจากการทำงานให้หน่วยงานอื่นก่อนหน้าก็ให้หน่วนงานก่อนหน้านั้น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบ
2. แรงงานที่เจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ เมื่อมีการเปลี่ยนงาน สวัสดิการที่พวกเขาได้รับตามกฎหมายก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
3. หากหน่วยงานผู้ว่าจ้างควบรวมกิจการ เลิกกิจการหรือล้มละลาย ควรจะดำเนินการตรวจร่างกายให้กับผู้ใช้แรงงานที่ทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอันจะทำให้การเกิดโรคจากการประกอบอาชีพ และควรจัดการกับผู้ป่วยที่เป็นโรคจากการประกอบอาชีพอย่างเหมาะสมตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดเอาไว้
กฎเกณฑ์การจ่ายค่าจ้าง
1. รูปแบบการจ่ายค่าจ้าง กฎหมายกำหนดให้เป็นเงิน ไม่สามารถใช้สิ่งของหรือใบแทนหนึ้ในการจ่ายได้
2. ผู้รับค่าจ้าง จะต้องเป็นตัวผู้ใช้แรงงานเอง ตัวผู้ใช้แรงงานหากมีเหตุให้ไม่สามารถมารับเงินด้วยตนเอง ก็สามารถไหว้วานให้ญาติหรือผู้อื่นมารับแทนได้ ไม่ว่ากิจการจะใช้รูปแบบการจ่ายเงินแบบใด ล้วนจะต้องออกใบสลิปเงินเดือนแสดงแก่ผู้ใช้แรงงานด้วย และจะต้องมีการเซ็นรับเป็นหลักฐานกำกับ
3. ระยะเวลาการจ่ายเงินเดือน อย่างน้อยออกเดือนละครั้ง ถ้ากิจการคิดค่าจ้างเป็นรายปี ควรแบ่งจ่ายเป็นรายเดือน ให้ชำระเมื่อถึงกำหนด และวันจ่ายเงินค่าจ้างจะต้องกำหนดชัดเจน ถ้าหากวันจ่ายค่าจ้างตรงกับวันหยุด วันเทศกาล ควรจ่ายในวันทำงานสุดท้ายก่อนหยุด หากกิจการมีพฤติกรรมจ่ายค่าจ้างเลยวันที่กำหนด ให้ถือว่าจ่ายค่าจ้างล่าช้า
4. จำนวนค่าจ้างที่จ่าย คือ เท่าที่ผู้ใช้แรงงานทำตามที่ตกลงในสัญญาจ้างงาน ในกรณีที่ผู้ใช้แรงงานทำงานตามเวลาที่กฎหมายกำหนด กิจการควรจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนให้แก่ผู้ใช้แรงงาน หากจ่ายเงินไม่ครบเต็มจำนวนแก่ผู้ใช้แรงงานโดยไม่มีเหตุอันควร ถือว่า โกงเงินเดือน การโกงเงินเดือนนอกจากกิจการจะต้องจ่ายส่วนที่หักไปคืนแล้ว ยังต้องชดเชยเงินแก่ผู้ใช้แรงงานตามที่กำหนดไว้ด้วย
แหล่งที่มา
ศูนย์ความรู้เพื่อการค้าและการลงทุน กระทรวงพานิชย์ http://www.chineselawclinic.moc.go.th/
เว็บไซต์กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคม http://www.mohrss.gov.cn/
กฎระเบียบจีนที่ควรรู้
ระบบภาษี
ภาษี : สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ก่อนไปลงทุนในจีน
จีนเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก นักลงทุนต่างสนใจเข้าไปปักหลักในการดำเนินธุรกิจในจีน ซึ่งนอกจากที่จะต้องพิจารณาในเรื่องของทำเลที่ตั้ง ทรัพยากรและแรงงานแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนและผู้ประกอบการส่วนใหญ่มิควรจะละเลยนั้นก็คือ “ภาษี” คำสั้น ๆ แต่ทรงอานุภาพ เนื่องด้วยเกี่ยวข้องกับการบริหารต้นทุนในการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติตาม “ภาษี” จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนต่างชาติในการเข้าใจต้นทุนทางภาษีที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจในจีน
ภาษีถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนหรือประกอบธุรกิจในประเทศหนึ่ง ๆ ซึ่งนักธุรกิจและ นักลงทุนต้องจ่ายประเภทภาษีตามกฎระเบียบที่กำหนด โดยประเภทภาษีในจีนที่นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติควรทราบเบื้องต้นที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีบริโภค (สรรพสามิต) ภาษีเงินได้จากการประกอบกิจการ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีธุรกิจ
ประเภทภาษีที่ควรรู้จักในจีน
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง ภาษีที่เก็บจากยอดจำนวนมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุน เนื่องจากการขายสินค้า หรือการให้บริการ ผู้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เสียภาษีทั่วไป (general taxpayer) และกลุ่ม ผู้เสียภาษีวิสาหกิจขนาดเล็ก (small-scale taxpayer) สำหรับผู้เสียภาษีทั่วไปอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมี 3 ระดับ ดังตารางที่ 1 1 และสำหรับผู้เสียภาษีวิสาหกิจขนาดเล็กจะจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 3
ตารางที่ 1 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้เสียภาษีทั่วไป
รายการ | อัตราภาษี (ร้อยละ) |
---|---|
สินค้าส่งออก (ยกเว้นแต่สินค้าที่รัฐบาลกลางได้ประกาศเรียกเก็บในอัตราอื่น) | |
การจำหน่ายสินค้าหรือการนำเข้าสินค้าบางชนิด อาทิ ผักและผลไม้ที่ไม่ได้แปรรูป ผลิตภัณฑ์จากทะเล หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ สาธารณูปโภคพื้นฐานที่ใช้ในบ้าน เช่น น้ำประปา ระบบความเย็น ความร้อน ก๊าซ เป็นต้น อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี แร่โลหะและอโลหะบางชนิด | 13 |
2. ภาษีบริโภค (สรรพสามิต) หมายถึง ภาษีที่เรียกเก็บจากกิจการผลิต หรือรับจ้างทำของ หรือนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยบางชนิด โดยการกำหนดอัตราภาษีและจำนวนที่ต้องชำระภาษีแต่ละชนิดแตกต่างกัน สินค้าที่ต้องรับภาระภาษีบริโภค เช่น บุหรี่ เหล้า เครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว เครื่องประดับ อัญมณี ประทัด น้ำมันดีเซล ยางรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล เป็นต้น โดยอัตราภาษีขึ้นอยู่กับสินค้าแต่ละจำพวก ซึ่งคำนวณจากราคาของสินค้า หรือปริมาณ หรือขนาดของสินค้า ในอัตราภาษีที่แตกต่างกัน โดยสามารถดูอัตราภาษีบริโภคเพิ่มเติมได้ที่ http://www.gov.cn/zwgk/2008-11/14/content_1149528.htm (ภาษาจีน) http://sg2.mofcom.gov.cn/article/chinanews/200811/20081105919801.shtml (ภาษาอังกฤษ)
3. ภาษีเงินได้จากการประกอบกิจการ หมายถึง ภาษีที่เรียกเก็บจากเงินได้จากการผลิตหรือการประกอบกิจการหรือเงินได้อื่น ๆ โดยกฎหมายใหม่ซึ่งผ่านมติเมื่อต้นปี 2550 และประกาศบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2551 นั้น กำหนดให้วิสาหกิจทุนจีนและวิสาหกิจทุนต่างชาติชำระภาษีเงินได้ในอัตราเดียวกัน คือ ร้อยละ 25 กรณีกฎหมายให้สิทธิพิเศษในการลดหย่อนจะกำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 15 และ 20
อัตราภาษีเงินได้จากการประกอบกิจการ | เงื่อนไข |
---|---|
อัตราร้อยละ 15 | เป็นวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูงและเทคโนโลยีใหม่ที่อยู่ในเงื่อนไข |
อัตราร้อยละ 20 | เฉพาะวิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprises:MEs) ของจีน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่ทำการผลิต-มีกำไรที่นำมาคิดภาษีตลอดปีไม่เกิน 300,000 หยวน มีพนักงานไม่เกิน 100 คน มีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านหยวน (2) กลุ่มที่ไม่ได้ทำการผลิต-มีกำไรที่นำมาคิดภาษีตลอดปีไม่เกิน 300,000 หยวน มีพนักงานไม่เกิน 80 คน มีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 10 ล้านหยวน ทั้งนี้ ทางการจีนได้ส่งเสริมวิสาหกิจรายย่อยของจีนโดยปรับลดเงื่อนไขที่สอดคล้องลง คือ เป็นวิสาหกิจที่มีกำไรที่นำมาคิดภาษีตลอดปีไม่เกิน 300,000 หยวน มีผลบังคับใช้ในช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2555-31 ธ.ค. 2558 |
4. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง ภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลซึ่งมีถิ่นที่อยู่และมีเงินได้ในประเทศจีน และบุคคลที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศแต่มีแหล่งเงินได้จากภายในประเทศจีน
4.1 ผู้มีหน้าที่รับภาระภาษี ได้แก่
1) ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ภายในประเทศจีนไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือชาวต่างชาติ เมื่อมีเงินได้หรือแหล่งเงินได้ภายในประเทศจีนตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด
2) ผู้ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศจีนครบหนึ่งปี มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากเงินได้ที่ได้จากภายในและภายนอกประเทศจีน และ
3) ผู้ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศจีนไม่ครบหนึ่งปี มีหน้าที่ต้องเสียภาษี เฉพาะเงินได้ที่มีแหล่งเงินได้ภายในประเทศจีนเท่านั้น
4.2 ประเภทเงินได้ที่ต้องชำระภาษี แบ่งเป็น 11 ประเภท ได้แก่
1) รายได้จากเงินเดือน ค่าจ้าง
2) รายได้จากการผลิตหรือการประกอบกิจการค้าของร้านค้าเอกชน
3) รายได้ของบุคคลที่ได้จากการรับเหมาประกอบกิจการหรือให้เช่าเหมาแก่หน่วยงานธุรกิจ
4) รายรับจากค่าตอบแทนในการใช้แรงงาน
5) รายรับจากการอนุญาตให้ใช้สิทธิพิเศษ
6) รายรับจากดอกเบี้ย ปันผลจากหุ้น ปันผลกำไร
7) รายรับจากค่าตอบแทนด้านบรรณาธิการ
8) รายรับจากการให้เช่าทรัพย์สิน
9) รายรับจากการโอนสิทธิทรัพย์สิน
10) รายรับจากความไม่คาดฝัน (ถูกสลากกินแบ่ง) และ
11) รายรับอื่นใดที่ประกาศของกระทรวงการคลังได้กำหนดไว้
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
รายการ | รายละเอียด | อัตราภาษี (ร้อยละ) |
---|---|---|
อัตราก้าวหน้า | รายรับจากเงินเดือน ค่าจ้างที่หักออกจากฐานรายได้ขั้นต่ำที่ไม่ต้อง นำมาคำนวณภาษีเงินได้ (ขั้นบันได 7 ระดับ) | 3-45 |
อัตราก้าวหน้า | รายรับของร้านค้าเอกชน (เจ้าของคนเดียว) ที่ได้จากการผลิต การประกอบกิจการการค้า การรับเหมาประกอบกิจการการค้า หรือการให้เช่าเหมาแก่หน่วยงาน ธุรกิจ (ขั้นบันได 5 ระดับ) | 5-35 |
อัตราภาษีคงที่ | รายรับจากงานด้านบรรณาธิการต่าง ๆ ให้ลดหย่อน ร้อยละ 30 ของยอดรายรับ แล้วชำระภาษีในอัตราร้อยละ 20 รายรับจากจากการอนุญาตให้ใช้สิทธิพิเศษ รายรับจากดอกเบี้ย ปันผลจากหุ้น ปันผลกำไร รายรับจากการให้เช่าทรัพย์สิน รายรับจากการโอนสิทธิทรัพย์สิน รายรับจากความไม่คาดฝัน (ถูกสลากกินแบ่ง) และรายรับอื่น ๆ ชำระภาษีในอัตราร้อยละ 20 | 20 |
** ปัจจุบันฐานของรายได้ขั้นต่ำที่ไม่ต้องนำมาคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับพนักงานชาวจีนอยู่ที่ 3,500 หยวนต่อเดือน และชาวต่างชาติอยู่ที่ 4,800 หยวน/เดือน (ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554)
5. ภาษีธุรกิจ หมายถึง ภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลหรือผู้ประกอบการ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการ การรับจ้าง การโอนทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง และการขายอสังหาริมทรัพย์ (เฉพาะประเภทสิ่งปลูกสร้างและส่วนควบ) ธุรกรรมที่ต้องชำระภาษี และอัตราภาษี กำหนดไว้ 9 ประเภท ได้แก่
ประเภทธุรกรรม | อัตราภาษี (ร้อยละ) |
---|---|
– การขนส่ง (การขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางท่อ) – การก่อสร้าง – ไปรษณีย์และโทรคมนาคม – กีฬาและวัฒนธรรม | 3 |
– กิจการการเงินและประกันภัย – กิจการบริการ (ตัวแทนโรงแรม ภัตตาภาร นำเที่ยว โกดังสินค้า การให้เช่าโฆษณา และอื่น ๆ) – การโอนทรัพย์สินไม่มีรูปร่าง (สิทธิในการใช้ที่ดิน สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิในเทคโนโลยีต่าง ๆ) – การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ (การจำหน่ายสิ่งปลูกสร้าง และส่วนควบอื่นใดของที่ดิน) | 5 |
– กิจการบันเทิงและสถานเริงรมย์ | 20 |
เกร็ดน่ารู้ : จีนเปลี่ยน “ภาษีธุรกิจ” เป็น “ภาษีมูลค่าเพิ่ม”
เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาค SMEs รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายการปรับใช้ระบบการเก็บภาษีแบบใหม่ขึ้น โดยใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มาแทนที่การเก็บภาษีธุรกิจ (BT) ซึ่งเริ่มทดลองนโยบายดังกล่าวก่อนในนครเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 สำหรับมณฑลกวางตุ้ง (รวมถึงเมืองเซินเจิ้น) เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2555 ได้มีการแถลงรายละเอียดแผนการทดลองเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนภาษีธุรกิจโดยจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2555 เป็นต้นไป
สาขาอุตสาหกรรมที่เริ่มทดลองตามนโยบายดังกล่าว
อุตสาหกรรมที่เริ่มทดลองปรับเปลี่ยน ได้แก่ อุตสาหกรรมการขนส่งและคมนาคม แบ่งออกเป็น 1) การบริการการขนส่งทางบก 2) การบริการการขนส่งทางเรือ 3) การบริการการขนส่งทางอากาศ และ 4) การบริการการขนส่งทางท่อ ยังรวมถึงอุตสาหกรรมบริการอันทันสมัย 6 สาขา ได้แก่ บริการทางด้านเทคโนโลยีและการวิจัย เทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรมทางวัฒนธรรม ธุรกิจที่สนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ธุรกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและบัญชี ซึ่งอัตราภาษีของแต่ละสาขาจะคิดแตกต่างกันออกไป อาทิ ธุรกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์คิดอัตราภาษีร้อยละ 17 อุตสาหกรรมการขนส่งและคมนาคมคิดอัตราภาษีร้อยละ 11 อุตสาหกรรมบริการอันทันสมัยสาขาอื่น ๆ คิดอัตราภาษีร้อยละ 6 โดยเมือง/มณฑลที่เป็นจุดทดลองการปรับเปลี่ยนดังกล่าวมีดังนี้
เมือง/มณฑล | ระยะเวลาที่เริ่มการปรับเปลี่ยน |
---|---|
นครเซี่ยงไฮ้ | 1 ม.ค. 2555 |
กรุงปักกิ่ง | 1 ก.ย. 2555 |
มณฑลเจียงซู | 1 ต.ค. 2555 |
มณฑลอันฮุย | 1 ต.ค. 2555 |
มณฑลกวางตุ้ง (รวมเมืองเซินเจิ้น) | 1 พ.ย. 2555 |
มณฑลฝูเจี้ยน (รวมเมืองเซี่ยเหมิน) | 1 พ.ย. 2555 |
นครเทียนจิน | 1 ธ.ค. 2555 |
มณฑลเจ้อเจียง | 1 ธ.ค. 2555 |
มณฑลหูเป่ย | 1 ธ.ค. 2555 |
และได้ทำการปรับใช้ทั่วทั้งจีนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา
แหล่งข้อมูล : เว็บไซต์หนานตูหว่าง (nddaily) www.gcontent.oeeee.com
และกว่างโจว เดลี่ (gzdaily) www.gzdaily.dayoo.com
การปรับเปลี่ยนภาษีธุรกิจเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มช่วยลดภาระต้นทุนทางธุูรกิจให้ภาคธุรกิจอย่างไร??
การปรับเปลี่ยนภาษีธุรกิจเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีส่วนช่วยลดภาระด้านต้นทุนทางภาษีให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจภาคบริการได้ เนื่องจากภาคธุรกิจสามาถนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและอุปกรณ์ต่าง ๆ มาหักลบจากจำนวนเงินที่จะนำมาคิดภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ในขณะที่การคำนวณภาษีธุรกิจนั้นจะใช้รายได้ของบริษัทเป็นฐานในการคำนวณภาษีโดยไม่สามารถหักต้นทุนใด ๆ ได้เลย ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการชำระภาษีที่ลดลงสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการดำเนินธุรกิจ
หากจดทะเบียนเป็นสำนักตัวแทนไม่จำเป็นต้องเสียภาษีนิติบุคคลหรือไม่??
ผู้ประกอบการหลายท่านคงจะเคยคิดว่า จะเข้ามาบุกตลาดจีนด้วยการจดเป็นสำนักงานตัวแทน (Representative office) ก่อน เนื่องจากมีขั้นตอนที่ง่ายกว่าและสามรถลดต้นทุนภาษีได้ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินธุรกรรมใดที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ต้องนำมาชำระภาษี ก่อนตัดสินใจผู้ประกอบการอาจต้องคำนึงถึงขอบเขตธุรกิจของตนว่าเหมาะสมกับการจดทะเบียนบริษัทแบบสำนักงานตัวแทนหรือไม่
ทั้งนี้ สำนักงานตัวแทนไม่สามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินได้ หรือแม้กระทั่งการรับชำระเงินแทนบริษัทแม่ ซึ่งสำนักงานตัวแทนนี้จะทำหน้าที่เพียงแค่ประสานงานให้กับบริษัทแม่หรือให้คำแนะนำ เก็บข้อมูลด้านการตลาด ติดต่อหาแหล่งสินค้าและวัตถุดิบให้แก่บริษัทแม่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานบริหารจัดเก็บภาษีของจีนได้ทำการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเรื่องการเก็บภาษีใหม่สำหรับบริษัทสำนักงานตัวแทน เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2553 โดยระบุว่า ถึงแม้สำนักงานตัวแทนไม่มีรายได้ก็ต้องจ่ายภาษีเช่นกัน โดยใช้รายจ่ายเป็นฐานในการคำนวณภาษีนิติบุคคล สามารถดูตารางเปรียบเทียบการชำระภาษีระหว่างวิสาหกิจต่างชาติที่จดทะเบียนเป็นบริษัทและที่จดเป็นสำนักงานตัวแทน ดังนี้
รายการ | วิสาหกิจต่างชาติ ที่จดเป็นบริษัท | วิสาหกิจต่างชาติ ที่จดเป็นสำนักงานตัวแทน |
---|---|---|
ฐาน (กำไร) | กำไรจากการประกอบการ | ภาษีเงินได้ให้ใช้รายจ่ายเป็นตัวคิดแทนรายได้ ทั้งนี้ กรมสรรพากรกำหนดไว้ว่า อัตรากำไรหมายถึง ร้อยละ 15 ของรายได้ดังกล่าว |
ภาษีเงินได้ | – | ร้อยละ 25 |
ภาษีธุรกิจ | – | ร้อยละ 5 |
ภาษีบำรุงสิ่งก่อสร้างในเมือง | – | ร้อยละ 7 |
ค่าบำรุงการศึกษา | – | ร้อยละ 3 |
ค่าบำรุงการศึกษาท้องถิ่น | – | ร้อยละ 3 |
ค่าบำรุงเขื่อน | – | ร้อยละ 0.09 |
ภาษีอากรแสตมป์ | ร้อยละ 0.03 | ไม่ต้องรับภาระภาษีดังกล่าว |
แหล่งข้อมูล The Central People’s Government of the People’s Republic of China http://www.gov.cn/zwgk/2007-12/11/content_830645.htm
และ State Administration of Taxation http://www.chinatax.gov.cn/n8136506/n8136593/n8137537/n8138502/9562629.html
จากการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบดังกล่าวส่งผลให้สำนักงานตัวแทนในจีนมีต้นทุนในการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาขอบเขตการดำเนินกิจการให้ชัดเจน เพราะการจดทะเบียนบริษัทแบบสำนักงานตัวแทนไม่สามารถลดต้นทุนในการดำเนินกิจการได้อีกต่อไป
การรู้เท่าทันเกี่ยวกับ “ภาษี” จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยให้สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามระเบียบที่ระบุไว้ รวมถึงยังสามารถทราบถึงต้นทุนด้านภาษีที่เกี่ยวข้องในการประกอบกิจการได้ด้วย ทั้งนี้ สิทธิพิเศษด้านภาษี สามารถเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการเลือกพื้นที่หรือสาขาธุรกิจที่จะลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนและผู้ประกอบการควรจะศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างไปตามแต่ละพื้นที่และประเภทการลงทุน โดยอาจขอคำแนะนำจากบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย ตลอดจนติดตามข่าวสารด้านภาษีและข้อมูลประกอบด้านอื่น ๆ ได้จากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รู้ทันกับกฎระเบียบและมาตรการที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน
เว็บไซต์เกี่ยวกับภาษีที่น่าสนใจ
State Administration of Taxation of The People’s Republic of China
http://www.chinatax.gov.cn/n6669073/index.html
Guangdong Provincial Local Taxation Bureau
http://www.gdltax.gov.cn/portal/gd/gden/index.htm
จัดทำโดย: นางสาวอภิญญา สงค์ศักดิ์สกุล และนายเจตนา เหล่ารักวงศ์ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว
แหล่งข้อมูล: ศูนย์ความรู้เพื่อการค้าและการลงทุนกับจีน สำนักงานยุทธศาสตร์การพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์
http://www.chineselawclinic.moc.go.th/info/info_detail.php?idcont=23&idcontsub=244
กรมภาษีแห่งชาติ สำนักงานกวางตุ้ง (Guangdong Provincial Office, SAT)
http://www.gov.cn/jrzg/2012-02/03/content_2057874.htm
จีนเปลี่ยน “ภาษีธุรกิจ” เป็น “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เริ่มต้นในเซี่ยงไฮ้ บทสรุปใครได้? ใครเสีย?
http://tbc.tan.cloud/thaibizchina/th/articles/detail.php?IBLOCK_ID=70&SECTION_ID=551&ELEMENT_ID=9206
แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
http://zqb.cyol.com/html/2012-07/05/nw.D110000zgqnb_20120705_2-05.htm
http://gd.people.com.cn/GB/218363/15487772.html
http://www.gzns.gov.cn/tzns/yhzc/200704/t20070420_3392.htm
http://www.gov.cn/zwgk/2012-07/03/content_2175825.htm
http://mo.mofcom.gov.cn/aarticle/zwcity/201205/20120508118204.html