การจัดตั้งธุรกิจ
เตรียมปักธง

โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายใหญ่หรือรายย่อย การมาเริ่มทำธุรกิจในจีน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบหลักๆ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาและเตรียมความพร้อมที่แตกต่างกัน สรุปได้ดังนี้

การมาลงทุนในจีน (อุตสาหกรรมและภาคบริการ)

ในอดีต นักธุรกิจต่างประเทศมาลงทุนในจีนเพื่ออาศัย “แรงงานจีนราคาถูก” ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปขายยังตลาดของประเทศที่สาม แต่ปัจจุบัน จีนได้ก้าวข้ามยุคค่าแรงถูกของถูกไปแล้ว

การมาลงทุนในจีนในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อขายหรือให้บริการในตลาดจีนเท่าๆ กับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงหรือที่จีนมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้ผลิตมาก่อน

ปัจจุบัน จีนให้ความสำคัญกับ

  • การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรใหม่ที่มีศักยภาพ (บริการ พลังงาน ขนส่ง รถยนต์ โทรคมนาคม สารสนเทศ การต่อเรือ ฯลฯ)
  • การส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • การปรับโครงสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้ทันสมัย มีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค)
  • การพัฒนาชนบทให้เป็นเมือง (urbanization) ให้พื้นที่ต่างๆ ของจีนมีระดับการพัฒนาที่ทัดเทียมกันมากขึ้น

จีนกำลังตื่นตัวเป็นอย่างมากกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเสื่อมโทรมในหลายพื้นที่ ดังนั้น ปัจจุบัน ทางการจีนจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อกำจัดอุตสาหกรรมที่ล้าหลัง สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และก่อมลพิษ รวมถึงการแปรรูปสินแร่บางชนิด ในการนี้ ควรหลีกเลี่ยงการมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในจีน  

นอกจากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการมาลงทุนในจีน คือ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขตที่อยู่อาศัยหรือเขตการค้าหรือในเขตที่กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นเขตที่อยู่อาศัยหรือเขตการค้าในอนาคตอันใกล้ (อันจะนำมาซึ่งการถูกเวนคืนที่ดินที่ใช้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม) และการมาลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน

ในปัจจุบัน โครงสร้างทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยกับจีน มีส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกันในสัดส่วนที่สูง จึงมีพื้นที่ที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันอีกมาก โดยเฉพาะในด้านพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการแปรรูปอาหาร

เพื่อเร่งรัดให้พื้นที่ในภาคตะวันตกของจีนมีระดับการพัฒนาที่ทัดเทียมกับภาคตะวันออก ที่เปิดสู่ภายนอกมาก่อน ทางการจีนมีนโยบายพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยเฉพาะหากเป็นการลงทุนในประเภทอุตสาหกรรมที่อยู่ในบัญชี “The Catalogue of Priority Industries for Foreign Investment in Central and Western Regions” (中西部地区外商投资优势产业目录)

กล่าวโดยสรุป ภายใต้นโยบายการลงทุนโดยคนต่างชาติ (Foreign Investment Industrial Guidance Catalog 2011 (外商投资产业指导目录) จีนแบ่งประเภทอุตสาหกรรมออกเป็น 4 บัญชี ได้แก่ บัญชีอนุญาต (ธุรกิจที่อนุญาตให้คนต่างชาติประกอบกิจการได้) บัญชี ส่งเสริม(ธุรกิจที่ได้รับมาตรการจูงใจให้ประกอบกิจการ) บัญชีจำกัดการลงทุน (ธุรกิจที่กำหนดสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติ แต่ยังสามารถลงทุนได้) และบัญชีห้าม (ธุรกิจที่ไม่เปิดให้คนต่างชาติประกอบกิจการ) โดย 3 บัญชีแรก เป็นประเภทอุตสาหกรรมที่คนต่างชาติสามารถมาลงทุนได้

จีนเป็นประเทศกว้างใหญ่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีลักษณะเด่นที่เหมาะสมกับสาขาการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป อาทิ มหานครใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้ กว่างโจวและปักกิ่ง ซึ่งประชาชนมีกำลังซื้อมาก เหมาะสมกับการลงทุนในภาคบริการ (เช่น ร้านอาหารและโรงแรม) มากกว่ามณฑลที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ ขณะที่มณฑลที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ มักจะมีค่าแรงที่ต่ำกว่าเมืองใหญ่ๆ จึงเหมาะสมกับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตมากกว่า ในการนี้ การเลือกพื้นที่ลงทุนในจีนให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรคำนึงถึงลำดับต้นๆ (ดูรายละเอียด ข้อมูลจีนรายมณฑล)

เมื่อตัดสินใจจะมาลงทุนในจีนแล้ว ประเด็นต่อไปที่จะต้องพิจารณาคือ การหารูปแบบการจัดตั้งธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ (ดูรายละเอียด รูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ) ดังนี้

  • สำนักงานตัวแทน (Representative Office) หรือสำนักงานสาขาของบริษัทต่างชาติ มีสถานะเป็นสาขาของบริษัทต่างชาติในต่างประเทศ จะไม่ได้รับสิทธิและความคุ้มครองจากกฎหมายจีน สามารถดำเนินการสำรวจและวิจัยตลาด หาหุ้นส่วนและช่องทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมต่างๆ ของสำนักงานตัวแทนจะอยู่ภายใต้บริษัทแม่ในต่างประเทศ
  • บริษัทต่างชาติ (Wholly Foreign Owned Enterprise) เป็นบริษัทจำกัดที่เป็นทุนต่างชาติ 100% สามารถประกอบธุรกรรมทางกฎหมายได้เอง รวมถึงการจ้างลูกจ้างท้องถิ่นได้เอง อย่างไรก็ตาม ทางการจีนจะเป็นผู้กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำตามลักษณะของธุรกิจที่ประกอบการ
  • บริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เป็นรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจร่วมกันระหว่างธุรกิจทุนต่างชาติกับธุรกิจทุนจีน โดยจดทะเบียนในรูป “บริษัทจำกัดความรับผิด” และมีฐานะเป็นนิติบุคคล แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
    • ธุรกิจร่วมทุนจีน-ต่างชาติ (Equity Joint Venture) เป็นรูปแบบธุรกิจที่ผู้ร่วมทุนชาวต่างชาติจะต้องลงทุนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน
      โดยผลกำไร ความเสี่ยงและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ คู่สัญญาทั้งสองต่างต้องรับผิดตามสัดส่วนเงินลงทุนที่จดทะเบียนไว้ โดยเงินปันผลที่ได้รับสามารถโอนออกนอกประเทศได้
    • ธุรกิจร่วมประกอบการจีน-ต่างชาติ (Cooperative Joint Venture) เป็นการตกลงประกอบกิจการร่วมกันของนักลงทุนจีนและต่างชาติในรูปของ “สัญญาร่วมประกอบการ”
      โดยเงื่อนไขการลงทุน การร่วมประกอบการ การแบ่งผลประโยชน์ ความเสี่ยง ความรับผิดชอบ รูปแบบการจัดกิจการ และการจัดการทรัพย์สินเมื่อสิ้นสุดกิจการจะถูกกำหนดไว้ในสัญญาร่วมประกอบการโดยความตกลงของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้ถูกแบ่งตามสัดส่วนเงินลงทุนที่จดทะเบียนไว้

การนำสินค้าไทย (หรือจากประเทศที่สาม) มาขายในจีน

การค้าขายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการทำธุรกิจกับจีนและเป็นที่นิยมของธุรกิจต่างชาติ เนื่องจากธุรกิจไม่ต้องลงแรงมากดังเช่นการลงทุนตั้งโรงงานหรือสำนักงานในจีน และได้ผลเร็ว โดยเฉพาะหากสามารถทำตลาดและจับกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม

ณ วันนี้ จีนมีชนชั้นกลางที่มีกำลังจับจ่ายใช้สอย (และนิยมของ “แปลกใหม่” รวมถึงของจากต่างประเทศ) มากกว่า 300 ล้านคน และกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามนโยบาย urbanization ขณะเดียวกัน ก็มีเครือข่ายผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการค้ากว่า 240 ล้านคน โดยเฉพาะผ่านเว็บไซต์ Taobao ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรหาทางใช้ประโยชน์ทางการค้าจากช่องทางนี้

จากการที่ละครและภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้มาฉายในโทรทัศน์ของจีนในรอบหลายปีที่ผ่านมา กอปรกับในแต่ละปี มีชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวและศึกษาในไทยนับล้านคน ปัจจุบัน จึงมีกระแส “ความนิยมไทย” ในจีนเป็นอย่างมาก และกำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ซึ่งกระแสความนิยมไทยในจีนนี้ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งไทยสามารถนำมาต่อยอดให้กับการค้าสินค้าและบริการของไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ของที่ระลึก สปา ของแต่งบ้าน วัตถุมงคล ฯลฯ

จีนกับไทยมีข้อตกลงลดภาษีศุลกากร (Customs) ภายใต้กรอบ “เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน” ซึ่งเริ่มมีผลอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2553 ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ปัจจุบัน กว่าร้อยละ 90 ของสินค้าที่ไทยและจีนค้าขายกันอยู่ ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีศุลกากร หากผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกขอใช้สิทธิ์นั้นตามขั้นตอน (“Form E”) ทั้งนี้ สำหรับท่านที่จะส่งออกสินค้ามายังจีน แม้จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีศุลกากร แต่ตามระบบของจีน สินค้าเกือบทุกชนิด รวมทั้งสินค้าเกษตร จะต้องชำระภาษีอีกร้อยละ 13 (สำหรับสินค้าไม่แปรรูป) และร้อยละ 17 (สำหรับสินค้าที่แปรรูปแล้ว) ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องจ่าย ณ ด่านที่นำเข้า

กล่าวโดยสรุป จีนแบ่งสินค้านำเข้าออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • สินค้าที่อนุญาตให้นำเข้าได้โดยเสรี (Free Imports)
    ซึ่งผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าในประเภทนี้มาขายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากทางการจีน (แต่ต้องปฎิบัติตามขั้นตอนการนำเข้าต่างๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบของจีน) โดยกว่าร้อยละ 90 ของสินค้าที่ค้าขายกันอยู่ในจีน เป็นสินค้าประเภท free imports นี้
  • สินค้าที่จำกัดการนำเข้า (Restricted Imports)
    หมายถึง สินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากทางการจีนก่อนการนำเข้า เมื่อได้รับอนุญาต ซึ่งอาจอยู่ในรูป “ใบอนุญาตนำเข้า” (Import License) “โควต้านำเข้า” และ “มาตรการโควต้าภาษี” (Tariff Rate Quota) แล้ว จึงจะสามารถนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวได้ ซึ่งโดยมากเป็นสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น ข้าว ยางพารา ปุ๋ยเคมี น้ำตาล เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยประสงค์จะจำหน่ายสินค้าให้แก่คู่ค้า/หุ้นส่วนฝ่ายจีน (เพื่อให้ไปทำตลาดต่อ) ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบมากจากการเข้าร่วมกิจกรรม “จับคู่ธุรกิจ” (Business Matching) ก่อนการเซ็นสัญญาซื้อขายต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคู่ค้า/หุ้นส่วนฝ่ายจีนมีใบอนุญาตนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าว
  • สินค้าห้ามนำเข้า (Prohibited Imports)
    หมายถึง สินค้าที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม ที่ทางการจีนห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด เช่น ยาบางประเภท (Illicit Drugs) อาวุธ และวัตถุระเบิด เป็นต้น

หากประสงค์จะส่งสินค้ามาขายในจีน ต้องทำความรู้จักกับ “ผู้มีสิทธิ์นำเข้า” ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้

  • รัฐวิสาหกิจจีน (State-owned Company)
    ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้เป็นผู้มี “สิทธิ” นำเข้าสินค้าจำกัดการนำเข้าบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอุตสาหกรรมที่มีโควต้าการนำเข้า เช่น ข้าว ยางพารา สินแร่บางชนิด โดยรัฐวิสาหกิจเหล่านี้มักมีใบอนุญาตหรือโควต้านำเข้าสินค้าชนิดนั้นๆ อยู่แล้ว
  • บริษัทเอกชน (Private Company)
    โดยภายใต้กฎหมายการค้าระหว่างประเทศของจีน บุคคล องค์กรหรือนิติบุคคลจีน หากประสงค์จะประกอบการค้าระหว่างประเทศ สามารถขอจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าจากสำนักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์ได้ ซึ่งโดยทั่วไป แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่
    • การเป็นผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศในฐานะบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (Trading Company) เพื่อมาจำหน่ายในจีน (ซึ่งสามารถนำเข้าได้ทั้งสินค้าประเภท Free Imports และ Restricted Imports) ทั้งนี้ Trading Company สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัททุนจีนร้อยละ 100 หรือบริษัทร่วมทุนระหว่างจีนกับต่างชาติ หรือเป็นบริษัททุนต่างชาติร้อยละ 100 ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจีนก็ได้
    • การนำเข้าในฐานะบริษัทผู้ผลิต เพื่อนำมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตในการผลิตและแปรรูป (ไม่ว่าจะเพื่อส่งออกหรือไม่ก็ตาม) ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ บริษัทผู้ผลิตที่จะนำเข้าจะเป็นผู้ดำเนินการเองในเรื่องการขออนุญาตนำเข้า รวมถึงการขอใบอนุญาตและโควต้านำเข้า (ในสินค้าที่จำกัดการนำเข้า)

“โครงสร้างการค้าของจีน” เป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการวางแผนที่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจของตนเองในการนำสินค้าเข้าขายในจีน เนื่องจากในสินค้าหลายประเภท (เช่น ผลไม้และสินค้าเกษตรบางชนิด) มีโครงสร้างการค้าที่ค่อนข้างผูกขาดโดยผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ที่ตั้งอยู่ตามเมืองท่านำเข้าสำคัญๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากสามารถจับคู่ธุรกิจกับผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ของจีนได้ โอกาสในการนำสินค้าไทยของตนเองเข้าไปปักธงในจีนได้ ก็มีมากขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ดี การจับคู่ธุรกิจกับผู้กระจายสินค้ารายใหญ่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น การที่ฝ่ายไทยเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพในการผลิตที่ยังไม่เป็นที่รับได้ และการที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแบ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจกันได้อย่างลงตัว

การนำสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน สามารถทำได้หลายรูปแบบและวิธีการ ซึ่งมีความยากง่ายและโอกาสในการประสบผลสำเร็จที่แตกต่างกันไป อาทิ

  • การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดโดยทางการจีน
    ซึ่งในแต่ละปี มีอยู่หลายงานกระจายอยู่ทั่วประเทศจีน โดยแต่ละงานจะมีขนาด (scale) วัตถุประสงค์ในการจัดงาน และกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ หากต้องการนำสินค้าเข้ามาขายแบบมีผลในระยะยาว ควรเลือกมาเข้าร่วมงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ “จับคู่ธุรกิจ” มากกว่างานที่มุ่งเน้นการขายปลีก
  • การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่จัดโดยฝ่ายไทย
    ซึ่งจัดขึ้นตามโอกาสและตามคำร้องขอจากฝ่ายต่างๆ อาทิ งานเทศกาลไทย (ซึ่งโดยมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นความนิยมไทยในพื้นที่และการออกร้านขายปลีก) และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่หอการค้าจังหวัดต่างๆ ประสานงานขอให้หน่วยงานภาครัฐของไทยในพื้นที่จัดขึ้น ซึ่งวางแผนงานที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ การได้รับข้อมูลที่จำเป็นอย่างครบถ้วน และมีเวลาเตรียมการที่เพียงพอเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจมีผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย
  • การเข้ามาทำตลาด/หาคู่ค้าด้วยตนเอง
    ซึ่งในแต่ละพื้นที่ของจีน มีจุดเด่นและความท้าทายในการมาทำตลาดที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ การเลือกมาทำตลาดในมหานครใหญ่ๆ (เช่น กว่างโจว เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เทียนจิน) มีข้อดีคือ ประชาชนมีกำลังซื้อสูง ทว่าก็มีคู่แข่งมากและต้นทุนสูงตามไปด้วย ขณะที่การเลือกทำตลาดในหัวเมืองชั้นรองๆ ลงมา มีข้อดีคือ คู่แข่งน้อยกว่า และรัฐบาลท้องถิ่นอาจมีนโยบายที่ดึงดูดมากกว่า แต่มีข้อด้อยคือ กำลังซื้ออาจไม่สูงมาก คู่ค้าท้องถิ่นยังไม่สันทัดการทำการค้ากับต่างประเทศ และสินค้าต่างประเทศอาจยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ทั้งนี้ การเลือกคู่ค้าที่มีความนาเชื่อถือและมีศักยภาพที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรให้ความคำนึงถึง

การนำสินค้าจีนไปขายในไทยหรือประเทศที่สาม

โดยที่จีนใช้ “การผลิตเพื่อส่งออก” เป็นนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศมากว่า 30 ปี ดังนั้น ปัจจุบัน ควบคู่กับการเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่ จีนจึงเป็นฐานการผลิตและแหล่งส่งออกส่วนประกอบ และสินค้าสำเร็จรูปด้วย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าแฟชั่น ทั้งนี้ โดยในแต่ละพื้นที่ของจีน จะมีสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกที่แตกต่างกันออกไป

จีนอนุญาตให้ส่งออกสินค้าได้กว่าร้อยละ 90 ของสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าที่ห้ามส่งออกหรือจำกัดการส่งออก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น สินแร่หายาก สัตว์และซากสัตว์บางชนิด

ปัจจุบัน รูปแบบที่ผู้ประกอบการไทยนิยมใช้เพื่อนำเข้าสินค้าจากจีน แบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง คือ

  • การนำเข้าโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตในจีน ซึ่งทำให้ได้สินค้าตามคุณสมบัติที่ต้องการในราคาที่สมเหตุสมผล โดยหากจะเลือกใช้วิธีนี้ ผู้ประกอบการไทยควรต้องทำความรู้จักและตรวจสอบประวัติผู้ผลิตฝ่ายจีนอย่างถี่ถ้วน รวมถึงคุณภาพของสินค้า เพื่อป้องกันการฉ้อโกง ซึ่งพบมากในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากเป็นการสั่งซื้อสินค้าเป็นครั้งแรก ขอแนะนำให้ท่านมาตรวจสอบคู่ค้าและคุณภาพของสินค้าด้วยตนเอง
  • การซื้อจากนายหน้าหรือมอบให้ตัวแทนฝ่ายจีนเป็นผู้ช่วยดำเนินการ ซึ่งเป็น รูปแบบที่สะดวก จากการที่ตัวแทนหรือนายหน้าฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการดำเนินการตามขั้นตอนจัดซื้อและส่งออกแทน (นายหน้าบางรายทำหน้าที่หาสินค้ามานำเสนอให้ด้วย)

กล่าวโดยสรุป ข้อควรระวังที่สำคัญในการนำสินค้าจากจีนออกไปยังไทยหรือประเทศที่สามคือ มาตรฐานและคุณภาพสินค้า ความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิตหรือตัวแทน และการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการชำระเงิน (เช่น การเจาะระบบอีเมล์เพื่อหลอกให้โอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ) ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากนโยบายลดภาษีศุลกากรระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ก่อนการส่งออก ต้องไม่ลืมดำเนินการตามขั้นตอนการขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีศุลกากรด้วย

จีน เป็น “โอกาส” มากพอๆ กับที่่เป็น “ความท้าทาย”

ด้วยความที่มีขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มการขยายตัวที่สูงและต่อเนื่อง ตลาดจีนจึงเป็น “โอกาส” ที่นักธุรกิจต่างชาติจับจ้องตาเป็นมัน อย่างไรก็ดี จากการศึกษาประสบการณ์ของบริษัทต่างชาติในจีนพบว่า จีนถือเป็น “ตลาดปราบเซียน” เนื่องด้วยมี “ความท้าทาย” นานาประการที่ต้องพึงรู้ พึงระวังในการวางแผนธุรกิจ และหาวิธีรับมือไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะประเด็นท้าทายดังต่อไปนี้

  • มีข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยรวมๆ กัน อาทิ โครงสร้างการค้าที่ค่อนข้างผูกขาด โดยเฉพาะในบางชนิดสินค้า และการผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจจีน และการหาคู่ค้า/หุ้นส่วนที่มีศักยภาพที่แท้จริงและน่าเชื่อถือ
  • ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคกลาง (ตอนใน) และภาคตะวันตกที่เปิดสู่ภายนอกช้ากว่าภาคตะวันออก หน่วยงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนยังขาดความคุ้นเคยกับการค้า/การลงทุนจากต่างประเทศ
  • ความไม่ชัดเจนของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ/การค้าต่างประเทศ หรือการที่กฎระเบียบให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการ “ตีความ” มาก ซึ่งก็มีการตีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ขึ้นอยู่กับระดับการเปิดสู่ภายนอก
  • กฎระเบียบเกี่ยวกับการค้า/การลงทุนจากต่างประเทศบางประการมีความซ้ำซ้อนและซับซ้อน และสร้างความยุ่งยากให้กับการนำเข้า-ส่งออก อาทิ กฎเกี่ยวกับฉลากสินค้า ฉลากอาหาร การตรวจสอบคุณภาพสินค้าแลการกักกันโรคพืชโรคสัตว์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร การออกใบอนุญาตทำงานให้คนต่างชาติ ระเบียบเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน
  • มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้าอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่
  • กฎระเบียบเปลี่ยนแปลงบ่อย (และหากเปลี่ยนแปลง มักมีผลย้อนหลัง) โดยเฉพาะในปัจจุบัน ซึ่งทางการจีนให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม (อันเป็นผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง) และการพัฒนาเขตเมืองใหม่ๆ (อันเป็นผลให้มีการเวนคืนที่ดินที่ทางการเคยอนุญาตให้สร้างโรงงานอุตสาหกรรม)
  • ในหลายพื้นที่ พบการละเมิดสัญญาร่วมทุนระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับนักลงทุนต่างชาติ
  • การเสริมสร้างระบบ “สายสัมพันธ์” (Guanxi) เป็นวัฒนธรรมในการทำธุรกิจของหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกับการติดต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐ (แม้ว่าได้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกต้องตามระเบียบแล้ว)
  • มีต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม (ต้นทุนแฝง)ในการทำธุรกิจค่อนข้างมาก อาทิ ค่าเสียโอกาสจากความล่าช้าของการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาษีต่างๆ และค่าแรงและประกันสังคม (ซึ่งเฉลี่ยสูงถึงกว่าร้อยละ 35 ของค่าแรง)
  • “ภาษาจีน” เป็นภาษาหลักที่ต้องใช้ในการติดต่อธุรกิจในจีนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเริ่มติดต่อธุรกิจไปจนถึงการจัดตั้งบริษัท และการทำตลาด/การประเมินและวางแผนธุรกิจ
  • ในแต่ละพื้นที่ของจีน พฤติกรรมการบริโภคมีความแตกต่างกันไป ตามภูมิหลังทางวัฒนธรรม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ชนชาติ ระดับความเจริญ/รายได้ต่อหัว และระดับการเปิดสู่ภายนอก

เมื่อท่านได้มีความรู้สึกว่าพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่ตลาดจีน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ยินดีที่จะก้าวไปพร้อมกับท่านด้วยการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาที่จะช่วยให้ท่านเริ่มต้นธุรกิจในจีนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ชี้ช่องทาง สร้างโอกาส พิชิตตลาดจีน”

เมื่อท่านได้มีความรู้สึกว่าพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่ตลาดจีน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ยินดีที่จะก้าวไปพร้อมกับท่านด้วยการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาที่จะช่วยให้ท่านเริ่มต้นธุรกิจในจีนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ชี้ช่องทาง สร้างโอกาส พิชิตตลาดจีน”

  • ศึกษาตัวอย่างจากธุรกิจคล้ายคลึงกันที่เข้ามาก่อน
  • สำรวจพื้นที่ เลือกทำเล/ตลาด (หัวเมืองหลัก VS. หัวเมืองรอง) ตลอดจนตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคู่ค้าฝ่ายจีน และสินค้า (ในกรณีที่สั่งสินค้าจากจีนไปขายในไทยหรือประเทศอื่น)
  • วางแผนการประกอบธุรกิจโดยละเอียด รวมถึงการเลือกรูปแบบประกอบกิจการที่เหมาะสมกับธุรกิจ และแผนการทำธุรกิจ
  • หาที่ปรึกษาเฉพาะทาง อาทิ ด้านกฎหมาย บัญชี และการตลาด
  • ทำสัญญาทางธุรกิจกับคู่ค้าฝ่ายจีนอย่างรัดกุม
  • ดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนกับทางการจีน เช่น จดทะเบียนบริษัท ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ เปิดบัญชีธนาคาร
  • เริ่มดำเนินการตามแผนธุรกิจ
  • อดทนและก้าวเดินอย่างระมัดระวัง

พร้อมแล้ว…เรามาเดินไปด้วยกัน!

การจัดตั้งธุรกิจ
รูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ

“สนใจลงทุนในจีน” เป็นประเด็นที่ธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจกันไม่น้อย แต่แล้วก็มักจะเกิดคำถามในใจว่า จีนอนุญาตให้วิสาหกิจต่างชาติจัดตั้งธุรกิจรูปแบบใดได้บ้าง? แต่ละรูปแบบธุรกิจมีข้อแตกต่างกันอย่างไร? แล้วรูปแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับธุรกิจของตนเองมากที่สุด?

รู้จักประเภทธุรกิจ.. ก่อนพิชิตเข้าลงทุนในจีน!!

สำหรับ นักลงทุนที่สนใจเข้าทำธุรกิจในจีน ควรศึกษาว่ารัฐบาลจีนได้กำหนดให้วิสาหกิจต่างชาติสามารถจัดตั้งธุรกิจในจีน รูปแบบใดบ้าง ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติสามารถเลือกจดทะเบียนธุรกิจในจีนได้ 4 ประเภท คือ

  1. สำนักงานตัวแทน — Representative Office (RO)
  2. กิจการประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด — Wholly Foreign-Owned Enterprise (WFOE)
  3. กิจการร่วมทุน — Joint Venture (JV)
  4. วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างชาติ — Foreign-Invested Commercial Enterprise (FICE)

“สำนักงานตัวแทน” เป็นกิจการที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทต่างชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นตัวแทนของบริษัทแม่จากต่างประเทศในการ ประสานงานทางธุรกิจที่อยู่ในประเทศจีน การดำเนินงานในบริษัทสามารถประกอบกิจกรรมประเภทต่างๆ ดังนี้

1. การติดต่อประสานงาน

โดย เป็นตัวแทนในการติดต่องานที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าและบริการ รวมถึงการจัดซื้อ ซึ่งไม่สามารถแสวงหากำไรได้โดยตรง (เว้นแต่จะได้รับการยอมรับตามข้อตกลงนานาชาติ) โดยไม่สามารถออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) ใบแจ้งราคา (Quotation) ในนามของสำนักงานตัวแทนเองได้ แต่ทำได้เพียงแค่เป็นผู้ติดต่อประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของบริษัท แม่เท่านั้น

2. การทำกิจกรรมด้านการตลาด

เช่น การวิจัยตลาด การจัดแสดงและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า/บริการของบริษัท เป็นต้น

ข้อสังเกต !!

  • ก่อนที่จะจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในจีนได้นั้น บริษัทแม่ในต่างประเทศจำเป็นต้องตั้งกิจการมาแล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ปี
  • การจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบสำนักงานตัวแทนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับ ธุรกิจต่างชาติที่ต้องการความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับลูกค้าในพื้นที่ จีน ซึ่งช่วยให้สามารถผลักดันสินค้าเข้าสู่ตลาดด้วยข้อดีในด้านการประสานงาน การจัดซื้อ/จัดหา และด้านกิจกรรมสนับสนุนการตลาด ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่ในต่างประเทศกับลูกค้าในจีน อีกด้วย
  • แม้ว่าทางการจีนจะไม่ได้มีข้อกำหนดด้านเงินทุนในการจัดตั้งธุรกิจประเภท สำนักงานตัวแทน แต่ธุรกิจลักษณะนี้ก็จำเป็นต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งรัฐบาลจีนโดย State Administration of Taxation กำหนดให้สำนักงานตัวแทนจะต้องจ่ายทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีขาย และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจะคิดภาษีจากค่าใช้จ่ายของกิจการที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ภาษีของสำนักงานตัวแทนยังคงน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีของธุรกิจแบบ ต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมด (WFOE)

“วิสาหกิจประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด” เป็นธุรกิจที่จัดตั้งโดยใช้เงินทุนจากชาวต่างชาติทั้งหมด (ลงทุน 100%) ซึ่งสามารถลงทุนในสายการผลิต การบริการ และการค้าในประเทศจีน รวมถึงยังสามารถขยายขอบเขตธุรกิจเพิ่มเติมได้ ธุรกิจในรูปแบบนี้ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก ด้วยปัจจัยที่สำคัญดังต่อไปนี้

  1. ชาวต่างชาติสามารถควบคุมกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของกิจการได้เต็มรูปแบบ
  2. สามารถสงวนไว้ซึ่งความเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาได้
  3.  สามารถบริหารจัดการและพัฒนาโครงสร้างภายในองค์กรได้เอง
  4.  คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรแบบดั้งเดิม
  5.  ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงในการถอนการลงทุนและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
  6.  มี โอกาสจัดจ้างชาวต่างชาติได้จำนวนมากกว่า เมื่อเทียบกับรูปแบบสำนักงานตัวแทน (RO) ที่จัดจ้างชาวต่างชาติได้มากที่สุดไม่เกิน 4 คน

“วิสาหกิจร่วมทุน” เป็นกิจการที่จัดตั้งโดยนักลงทุนต่างชาติ (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลเดี่ยวหรือกลุ่ม) ร่วมกับหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคลจีน โดยบริษัทร่วมทุนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. บริษัทร่วมทุนแบบร่วมหุ้น (Equity Joint Venture)

เป็นการร่วมทุนระหว่างทุนจีนกับทุนต่างชาติที่มีการแบ่งส่วนของกำไรขาดทุน เท่าเทียมกันตามสัดส่วนของหุ้นที่มีร่วมกัน โดยทุนต่างชาติจะต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนทุนที่จดทะเบียนทั้งหมด

2. บริษัทร่วมทุนแบบร่วมดำเนินงาน (Cooperative Joint Venture)

เป็นรูปแบบบริษัทธุรกิจต่างชาติที่มีความยืดหยุ่น โดยผู้ลงทุนชาวจีนและต่างชาติล้วนมีอิสระในการทำงานร่วมกัน และไม่จำเป็นต้องแบ่งกำไรขาดทุนตามสัดส่วนของการถือหุ้นที่มีร่วมกัน

“วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างชาติ” หมายถึง กิจการที่เจ้าของเป็นต่างชาติทั้งหมด (WFOE) หรือกิจการร่วมทุน (JV) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการด้านการส่งออก-นำเข้า ตลอดจนการกระจายสินค้าภายในประเทศจีน โดยตั้งแต่ที่มีการเปิดเสรีด้านการค้าปลีกและกระจายสินค้าในจีนเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา ทางการจีนได้อนุญาตให้วิสาหกิจการค้าของต่างชาติที่มาลงทุนในจีนสามารถ ประกอบกิจการได้ตามรายการต่อไปนี้

  1. การนำเข้า – ส่งออก การกระจายสินค้า และการค้าปลีก (หมายถึง การขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องให้แก่บุคคลคนเดียวโดยอาจจะผ่านช่องทาง การจำหน่าย เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ อีเมล์ อินเทอร์เน็ต หรือเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เป็นต้น)
  2. การค้าส่ง (หมายถึง การขายสินค้า/บริการให้แก่บริษัท อุตสาหกรรม หรือองค์กร เป็นต้น)
  3. การเป็นตัวแทนทางธุรกิจ (Agent, Broker)
  4. การทำธุรกิจแฟรนชายส์ (Franchising)

ข้อสังเกต !!

  • ข้อดีของการจัดตั้งวิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างชาติ คือ สามารถซื้อสินค้าได้จากผู้ขายโดยตรง และขายสินค้าให้ถึงผู้ซื้อได้โดยตรงด้วยสกุลเงินหยวน แต่จะมีข้อจำกัด คือ สินค้าที่ซื้อมานั้นไม่สามารถปรับเปลี่ยนลักษณะของผลิตภัณฑ์ได้ กล่าวคือ เมื่อซื้อสินค้าชนิดใดมาก็ต้องขายสินค้าชนิดนั้นไป
  • ในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติประกอบกิจการค้าปลีกที่กระจายสินค้ามากกว่า 30 สาขา จะถูกจำกัดความเป็นเจ้าของกิจการ (Ownership barriers) ด้วยสัดส่วนหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองได้เพียงร้อยละ 49 ของหุ้นส่วนทั้งหมด
  • วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างชาติ สามารถจดทะเบียนเป็นผู้ขอใบอนุญาตการนำเข้า-ส่งออกของจีนได้ โดยหากต้องการยื่นขอนำเข้า-ส่งออกสินค้ารายการพิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากข้อกำหนดทั่วไป จะได้รับพิจารณาจากทางการจีนเป็นรายกรณี

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของรูปแบบธุรกิจในจีน

ประเภทกิจการสถานะทางกฏหมายจุดประสงค์ข้อดีข้อเสีย
สำนักงานตัวแทน Representative office (RO)ไม่มีสถานะทางกฏหมาย– วิจัยตลาด
– วางแผนการเข้ามาดำเนินการในอนาคต
– ประสานงานอำนวยความสะดวกให้บริษัทแม่
– ใช้เงินทุนจัดตั้งน้อย
– มีความคล่องตัวในการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการตลาดและการประสานงาน
– ไม่สามารถออกใบแจ้งหนี้สกุลเงินหยวนได้
– จะต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่ผ่านตัวแทนจัดหางานในท้องถิ่น
กิจการประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด Wholly foreign-owned enterprise (WFOE)จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดตามกฏหมาย– ผลิตสินค้า (สำหรับขายในจีนหรือส่งออก)
– ให้บริการทางธุรกิจ
– เจ้าของเป็นต่างชาติทั้งหมด
– สามารถดำเนินกิจกรรมตามขอบเขตธุรกิจได้ยืดหยุ่น
– สงวนกรรมสิทธิ์ในด้านเทคโนโลยี และทรัพยสินทางปัญญาได้
– รักษาวัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิม
– สามารถโอนผลกำไรจากเงินสกุลหยวนกลับไปยังต่างชาติได้
– ใช้เงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนตลอดโครงการ
– ต้องสร้างยอดขายในตลาดจีนด้วยตัวเอง
กิจการร่วมทุน Joint venture (JV)จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดตามกฏหมาย– เพื่อเป็นไปตามข้อกำหนดที่ต้องมีคนท้องถิ่นถือหุ้นด้วย
– เมื่อหุ้นส่วนท้องถิ่นยื่นข้อเสนอ ที่ลงตัวให้ได้ เช่น ผลกำไร ยอดขาย ช่องทางการกระจายสินค้า ฯลฯ
– สามารถต่อยอดโรงงานและแรงงานจากเดิมที่มีอยู่ได้
– สามารถต่อยอดช่องทางขายและกระจายสินค้าจากเดิมได้
– การดำเนินงานล่าช้า
– การปรับขยายสินทรัพย์หรือยอดขายร่วมกันระหว่างหุ้นส่วนที่อาจมีตัวเลขเกินจริงได้
– การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันและการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกัน
– ความเสี่ยงในการบริหารงานร่วมกัน
วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างประเทศ Foreign-invested commercial enterprise (FICE)จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดตามกฏหมายสำหรับกิจการประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมดหรือกิจการร่วมทุนที่ประกอบกิจการด้านการค้า การกระจายสินค้า และการค้าส่ง– เอื้อต่อกิจการประเภทการค้าและการกระจายสินค้า– ใช้เงินทุนจดทะเบียนสูง

สำนักงานตัวแทน — Representative Office (RO)
(สถานะทางกฎหมาย : ไม่มีสถานะทางกฏหมาย)

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง :

  1. การวิจัยตลาดในจีน
  2. ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ
  3. วางแผนการเข้ามาดำเนินธุรกิจในจีนอย่างเป็นทางการในอนาคต
ข้อดีข้อเสีย
ใช้เงินทุนจัดตั้งน้อยมีความคล่องตัวในการดำเนินงานเกี่ยวกับการตลาด
และการประสานงานต่างๆ
ไม่สามารถออกใบแจ้งหนี้ / ใบแจ้งราคาต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่ผ่านตัวแทนจัดหางานในท้องถิ่น

วิสาหกิจประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด — Wholly Foreign-Owned Enterprise (WFOE)
(สถานะทางกฎหมาย : จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดชอบตามกฎหมาย)

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง :

  1. ผลิตสินค้า สำหรับขายในจีนหรือส่งออกไปต่างประเทศ
  2. ให้บริการทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ
ข้อดีข้อเสีย
สามารถดำเนินการทางธุรกิจได้อย่างยืดหยุ่น
เนื่องจากเป็นเจ้าของกิจการเอง 100%สงวนกรรมสิทธิ์ในด้านเทคโนโลยีและทรัพยสินทางปัญญาได้สามารถรักษาวัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิมสามารถโอนผลกำไรจากเงินสกุลหยวนกลับไปยังต่างชาติได้
ใช้เงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนตลอดโครงการต้องสร้างยอดขายในตลาดจีนด้วยตัวเอง

วิสาหกิจร่วมทุน — Joint Venture (JV)
(สถานะทางกฎหมาย : จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดชอบตามกฎหมาย)

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง :

  1. ต้องการให้มีหุ้นส่วนท้องถิ่นช่วยดำเนินธุรกิจ
  2. สนใจในข้อเสนอที่หุ้นส่วนท้องถิ่นเสนอให้ เช่น ผลกำไร ยอดขาย ช่องทางการกระจายสินค้า ฯลฯ
ข้อดีข้อเสีย
สามารถต่อยอดโรงงานและแรงงานจากเดิมที่มีอยู่ได้สามารถต่อยอดช่องทางขายและกระจายสินค้าจากเดิมได้การปรับขยายสินทรัพย์หรือยอดขายร่วมกันระหว่างหุ้นส่วนที่อาจมีตัวเลขเกินจริงได้การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน และการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกันมีความเสี่ยงในการบริหารงานร่วมกัน

วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างชาติ — Foreign-Invested Commercial Enterprise (FICE)
(สถานะทางกฎหมาย : จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดชอบตามกฎหมาย)

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง :

ต้องการประกอบกิจการด้านการค้า การกระจายสินค้า และการค้าส่งในจีนแบบครบวงจร

ข้อดีข้อเสีย
เอื้อต่อการขยายกิจการประเภทการค้าและการกระจายสินค้าใช้เงินทุนจดทะเบียนสูง

ควรคำนึงอะไร? ก่อนตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจในจีน

หลัง จากที่ได้ทราบถึงความแตกต่างของรูปแบบธุรกิจที่ชาวต่างชาติจะสามารถเข้ามา จัดตั้งในจีน พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดจีนแล้ว ลำดับต่อไปคือการพิจารณาถึงปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งจำเป็นจะต้องคำนึงตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินการจัดตั้งธุรกิจ อาทิ

1. ขอบเขตกิจกรรมทางธุรกิจ(Business Scope)

การระบุขอบเขตกิจกรรมทางธุรกิจถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากธุรกิจที่จดทะเบียนในจีนจะสามารถดำเนินกิจการได้ตามที่ระบุไว้ในเอกสารที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ผู้จดทะเบียนธุรกิจจึงควรมั่นใจว่า ได้ระบุขอบเขตกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทไว้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต้องสามารถตรวจสอบได้จริงด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้ ในระหว่างการยื่นจดทะเบียน แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพิจารณาขอบเขตของธุรกิจจากเพียงเอกสารที่ระบุในเบื้อง ต้นและอนุมัติให้ แต่หลังจากที่ดำเนินกิจการแล้วก็จะมีการตรวจสอบโดยหน่วยงานสรรพากรอย่าง ละเอียดในเอกสารใบยื่นขอจัดตั้งบริษัท ดังนั้น การ ระบุข้อความกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงภาษีหรือปิดบังสรรพากร จะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหน้าได้

2. เงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ (Minimum Registered Capital)

กฎหมาย จีนระบุว่า ทุนจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ำอาจเริ่มต้นตั้งแต่ 30,000 หยวนสำหรับกิจการที่มีผู้ถือหุ้นร่วมหลายคน แต่หากเป็นกิจการที่มีผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียว ทุนจดทะเบียนจะเพิ่มเป็น 100,000 หยวน

ในทางปฏิบัติแล้ว ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และประเภทของกิจการ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งอาจมีการดึงดูดให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาตั้งกิจการ ด้วยการกำหนดเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ค่อนข้างน้อย เพื่อให้ได้จำนวนกิจการตามที่ได้วางแผนไว้ อย่างไรก็ดี ทุนจดทะเบียนบริษัทไม่ควรจะต่ำเกินไป เนื่องจากอาจมีสรรพากรท้องถิ่นและสรรพากรกลางเข้ามาตรวจดูความเหมาะสมเมื่อ ดำเนินธุรกิจไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น จึงควรระบุทุนจดทะเบียนขั้นต่ำตามความเหมาะสม โดยควรคำนึงถึงภาระหนี้ (ที่สามารถรับผิดชอบได้) ที่อาจการเกิดขึ้นระหว่างดำเนินกิจการด้วย

ทั้งนี้ จำนวนทุนจดทะเบียนบริษัทมากหรือน้อย นอกจากจะสะท้อนให้ทางการจีนมีความมั่นใจว่าธุรกิจที่จะจัดตั้งนั้นๆ มีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่แล้ว ยังจะสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือและศักยภาพของบริษัท ซึ่งคู่ค้ามักจะใช้ทุนจดทะเบียนบริษัทเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก่อนตัดใจสิน เข้าร่วมทำธุรกิจด้วย

3. เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital)

เงิน ทุนหมุนเวียนเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ในระหว่างเริ่มจัดตั้งธุรกิจใหม่ๆ เจ้าของกิจการอาจมีความกังวลว่าเงินทุนจดทะเบียนที่ใช้ยื่นขอจัดตั้งบริษัท อาจไม่เพียงพอ จึงมักนำเงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ในมือเข้ามารวมเป็นเงินทุนที่จะจดทะเบียนด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจขาดเงินทุนหมุนเวียนในภายหลังได้

ทั้งนี้ การเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างมีความยุ่งยากทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายดัง นั้น การนำเงินทุนหมุนเวียนในมือมากระทำการใดๆ จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ

ข้อมูล ข้างต้นคงจะช่วยให้ท่านนักลงทุนไทยได้ทราบถึงประเภทธุรกิจที่ทางการ จีนอนุญาตให้วิสาหกิจต่างชาติสามารถจัดตั้งได้ โดยแต่ละประเภทล้วนมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากท่านสนใจจะก้าวสู่การลงทุนทำธุรกิจในจีนอย่างแท้จริงแล้ว ก็ควรพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ความพร้อมของธุรกิจตนเอง ก่อนตัดสินใจว่าควรจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด

การจัดตั้งธุรกิจ
เปิดบริษัทเทรดดิ้ง

คู่มือการค้าการลงทุนไทยในจีน การการจัดตั้งธุรกิจเทรดดิ้งไทยจีน

การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีน กอรปกับการที่จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้จีนมีตลาดใหญ่ภายในประเทศ อีกทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนด้วยนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญสำหรับนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งนักลงทุนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้ามาจัดตั้งบริษัทในจีนเพื่อนำสินค้าไทยเข้ามาจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าในจีน

ช่วงก่อนปี 2004 ภาคการค้าของจีนยังไม่ได้เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้อย่างเต็มที่ มีเพียงแต่เขตการค้าเสรีเท่านั้นที่มีการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ ต่อมาเมื่อบริษัทเทรดดิ้งในจีนได้ถูกลดการควบคุมลง นักลงทุนต้างชาติก็เริ่มเข้ามาเป็นเจ้าของบริษัทเทรดดิ้งได้มากขึ้น ปัจจุบันชาวต่างชาติสามารถเข้ามาจัดตั้งธุรกิจประเภทนำเข้าส่งออกและเทรดดิ้งในจีนได้อย่างเสรี ขณะเดียวกันหลายกิจการก็ยังใช้บริการตัวแทนในการนำเข้า-ส่งออกอยู่ ซึ่งต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป

การจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งในจีนมีข้อควรคำนึงที่สำคัญดังนี้

1. รูปแบบของการจัดตั้งกิจการ

นักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาตให้จัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งในรูปแบบขององค์กรที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของหรือร่วมทุนกับนักธุรกิจชาวจีนได้ การจัดตั้งธุรกิจควรคำนึงถึงขอบเขตของธุรกิจที่ได้รับการอนุญาต (เช่นเดียวกับการระบุวัตถุประสงค์ของกิจการในการจัดตั้งบริษัทที่ไทย) ซึ่งจะต้องระบุกิจกรรมของบริษัท ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ค้าขายอย่างชัดเจน และเมื่อได้รับการอนุมัติแล้วจะมีการระบุชื่อผลิตภัณฑ์ไว้ในใบอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างชัดเจน ดังนั้นการระบุขอบเขตของบริษัทจึงควรครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และควรคำนึงเสมอว่าไม่ควรดำเนินกิจกรรมใด ๆ นอกขอบเขตของธุรกิจที่ได้รับมอบการอนุมัติไว้

ในการจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งจะต้องมีทุนจดทะเบียนเป็นของตนเองก่อนจึงจะได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ ทุนจดทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของเงินสด ทั้งนี้สามารถใช้ทุนจดทะเบียนในรูปแบบสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินสดแทนได้ ผู้ก่อตั้งกิจการจะต้องส่งรายงานความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจในท้องถิ่น เพื่อกำหนดแผนการลงทุน โดยสำนักงานพาณิชย์ในท้องถิ่นจะประเมินว่าจำนวนทุนจดทะเบียนที่ระบุมีความเหมาะสมกับการดำเนินการของบริษัทหรือไม่ การจัดตั้งบริษัทในจีนจึงไม่มีทุนจดทะเบียนที่แน่นอนแต่มาจากการอนุมัติที่ได้พิจารณาจากเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ ทุนจดทะเบียนบริษัทสามารถชำระเป็นเงินก้อนครั้งเดียวหรือผ่อนชำระได้ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจากต่างชาติควรศึกษากฏระเบียบในการลงทุนจัดตั้งบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่นควบคู่กับแนวปฏิบัติในการจัดตั้งธุรกิจของรัฐบาลกลางประกอบควบคู่กันไปด้วย

2. ขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจเทรดดิ้ง

การจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งจะต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือ การจัดเตรียมเอกสารจนไปถึงขั้นตอนสุดท้ายในการรับใบอนุญาตในประกอบธุรกิจ ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4-5 เดือน เอกสารประกอบการจัดเตรียมทั้งหมดเป็นภาษาจีน ผู้ประกอบต่างชาติจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยจัดเตรียมเอกสารและดำเนินการยื่นเรื่องเพื่อขออนุมัติในนามของตัวเอง (รายละเอียดขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจเทรดดิ้งในจีนจากเอกสารดาวน์โหลดด้านล่าง)

3. ระบบภาษีในจีน

3.1 ภาษีสินค้า เมื่อธุรกิจมีการนำสินค้าเข้ามายังประเทศจีนในนามของตัวเองแล้วโดยทั่วไปจะต้องเสียภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และสินค้าบางรายการจะต้องเสียภาษีสรรพสามิต อัตราภาษีแตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้า การจัดจำหน่ายสินค้าโดยทั่วไปจะต้องมีภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย

ภาษีนำเข้า ประเทศไทยและจีนมีข้อตกลงทางการค้าตามกรอบเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่มีผลให้สินค้าไทยหลายรายการที่ส่งออกจากไทยไปยังประเทศจีนก็ยกเว้นภาษีเสียภาษีนำเข้าเมื่อเข้าประเทศจีน และสินค้าจากจีนหลายรายการที่ส่งออกจากจีนไปยังไทยก็ยกเว้นภาษีนำเข้าของไทยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าบางรายการที่ยังคงต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหน้าเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.thaifta.com เลือก FTA China-ASEAN)

ภาษีมูลค่าเพิ่มจีนและอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่นำเข้าจีน สามารถคำนวณได้จากเว็บไซต์ทั่วไปหรือสอบถามได้ที่สำนักงานศุลกากรจีนในท้องถิ่น

3.2 ภาษีธุรกิจ

ตามกฎระเบียบในการจัดเก็บภาษีแล้ว ผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องมีความรับผิดชอบในการชำระภาษีท้องถิ่น ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทเทรดดิ้งจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราร้อยละ 25 โดยคำนวณจากผลกำไร ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พนักงานบริษัทเทรดดิ้งจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเก็บภาษีตามอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ร้อยละ 3 – 45 ตามอัตราการประเมิน (รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้จากคู่มือการจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งในจีน)

4. กฏระเบียบการนำเข้าจีน

4.1 การตรวจสอบสินค้านำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศนำเข้ามายังประเทศจีนไม่เพียงแต่จะถูกควบคุมโดยศุลกากรจีนที่กำกับด้านอากรภาษีเท่านั้น ยังมีจากสำนักงานตรวจสอบควบคุมคุณภาพและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People’s Republic of China: AQSIQ) ทำหน้าที่ตรวจสอบด้านสุขอนามัยอีกด้วย กระบวนการตรวจสอบสินค้านำเข้ามีความแตกต่างกันไปตามประเภทสินค้า ผู้เข้าหากนำเข้าในนามของตัวเองจำเป็นต้องตรวจสอบกฏระเบียบการนำเข้าจากหน่วยงานดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และจัดเตรียมเอกสารประกอบการนำเข้าก่อนส่งออกสินค้ามายังประเทศจีน

4.2 การขออนุญาตนำเข้า

สินค้าหลายรายการเป็นสินค้าที่ทางการจีนกำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตก่อนนำเข้า หรือต้องได้รับสิทธิในการนำเข้า เช่น ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า หรือได้รับจัดสรรโควต้าจำนวนที่นำเข้าก่อน ดังนั้นก่อนการนำเข้าควรตรวจสอบจากหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้องก่อน

4.3 การปิดฉลากและบรรจุภัณฑ์ของสินค้า

สินค้าที่นำเข้าเกือบทุกชนิดควรจะติดสลากและห่อบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และควรปฎิบัติตามคำแนะนำของจีนเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านฉลากที่หน่วยงานจีนได้กำหนดไว้

5. ข้อกำหนดในนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศ

การนำเงินลงทุนจากต่างประเทศมาเพื่อใช้ก่อตั้งกิจการครั้งแรกอยู่ภายใต้อำนาจการกำกับดูแลของสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศ (State Administration of Foreign Exchange: SAFE) ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบก่อนการเคลื่อนย้ายเงินมาลงทุนในประเทศจีน รวมทั้งการชำระเงินตราต่างประเทศ หากนำเข้าสินค้าเข้ามาในจีนจะต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศ ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบการชำระเงินตราต่างประเทศโดยสำนักบริหารเงินตราต่างประเทศก่อน สำหรับการโอนเงินออกนอกประเทศ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในจีน หลังจากที่ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว บริษัทเทรดดิ้งจะต้องเขียนใบคำขอโอนเงิน พร้อมใบเสร็จที่แสดงการเสียภาษีต่อสำนักบริหารเงินตราระหว่างประเทศ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วธนาคารจึงจะสามารถดำเนินการโอนเงินออกไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

6. ระเบียบปฏิบัติสำหรับการจ้างงาน

บริษัทต่างชาติสามารถจ้างชาวต่างชาติหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อปฎิบัติงานได้ภายใต้จำนวนที่ต้องขออนุมัติจากสำนักงานแรงงานท้องถิ่น เมื่อมีการจ้างงานชาวจีน นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเข้าโครงการประกันสังคมให้กับพนักงานชาวจีน ซึ่งครอบคลุมในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น บำนาญและค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ ในบางพื้นที่พนักงานชาวต่างชาติถูกกำหนดให้ต้องเข้าโครงการประกันสังคมด้วยเช่นกัน

การขอวีซ่าทำงานและใบอนุญาตพำนักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติ

การขอวีซ่าการทำงานของลูกจ้างชาวต่างชาติจะต้องใช้จดหมายเชิญเข้าทำงานที่ได้รับจากนายจ้างซึ่งได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้สำหรับการขอใบอนุญาตทำงานสามารถขอได้จากสำนักแรงงานท้องถิ่น และการขอใบอนุญาตพำนักอาศัยสามารถขอได้จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำกรมรักษาความสงบภายใน ในท้องถิ่น ( Entry – Exit Administrative Service Center, Public Security Bureau, 公安局出入境管理分局)

7. การครอบครองอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง

กิจการธุรกิจเทรดดิ้งควรมีสำนักงานเป็นของตนเอง ซึ่งสามารถเช่าหรือซื้อก็ได้โดยจะต้องมีสัญญาเช่าที่ถูกต้อง หรือการเป็นการซื้อจะต้องมีใบรับรองความเป็นเจ้าของเป็นหลักฐาน โดยที่อยู่อย่างเป็นทางการที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าจะต้องระบุลงในใบอนุญาตประกอบการที่ได้จดทะเบียนไว้ตรงกันด้วย การเลือกสำนักงานควรเป็นอาคารพาณิชย์ตั้งอยู่ในย่านการพาณิชย์ไม่ใช่ย่านอาคารที่พักอาศัย และที่อยู่ควรเป็นที่อยู่อย่างเป็นทางการของบริษัทเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้ที่อยู่จดทะเบียนรวมกันกับกิจการอื่นได้

การจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งเพื่อขายสินค้าไทยในจีนหรือนำเข้าสินค้าจากจีน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเช่นสำนักงานที่ปรึกษากฏหมายหรือสำนักงานบัญชีมืออาชีพในท้องถิ่นเพื่อยื่นเรื่องขอจัดตั้งกิจการได้ ความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในคู่มือจัดตั้งธุรกิจเทรดดิ้งในจีน 

การจัดตั้งธุรกิจ
เปิดร้านอาหาร

การดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทย

อาหารไทยนับเป็นหนึ่งในอาหารต่างชาติที่ได้รับความนิยมในจีน ส่วนใหญ่จะมีเจ้าของผู้ลงทุนเป็นชาวจีนและฮ่องกง โดยมีการจ้างพ่อครัวชาวไทยเป็นผู้ดูแลด้านอาหาร ปัจจุบันหัวเมืองใหญ่ ๆ ของจีนที่ประชาชนมีกำลังการบริโภคสูงต่างก็มีร้านอาหารไทยเปิดให้บริการขึ้นจำนวนมาก รวมถึงมีธุรกิจไทยด้านเครื่องปรุงอาหารไทยที่เข้ามาบุกเบิกตลาดในจีนแล้วเช่นกัน อาทิ ง่วนสูน ทั้งนี้ กฎระเบียบของจีนในปัจจุบันเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนและดำเนินธุรกิจร้านอาหารได้ โดยขั้นตอนการเปิดร้านอาหารไทยในมณฑล/เมืองนั้น ๆ โดยสรุป แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงการจัดตั้งธุรกิจ

1. ยื่นขอ ชื่อที่จะใช้จดทะเบียนธุรกิจ (Apply for A Company Name) ณ สำนักบริหารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ในท้องที่ (Administration for Industry and Commerce, 工商行政管理局) โดยทั่วไป ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

2. ยื่นขอ การก่อตั้งกิจการโดยทุนต่างชาติ (Apply for Establishment of Foreign-funded Enterprise) ณ สำนักงานพาณิชย์ในท้องที่ (Commerce Bureau, 商务局) ใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 90 วันทำการ

3. ยื่นขอ ใบอนุญาตการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Examination and Approval) ณ สำนักงานสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น (Environmental Protection Bureau, 环保局) ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์

4. ยื่นขอ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการร้านอาหาร (Apply for Food Service Permit, 餐饮服务许可证) ณ สำนักงานกำกับอาหารและยาในท้องถิ่น (Local Food and Drug Administration, 食品药品监督管理局) ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

5. ยื่นขอ ใบอนุญาตการป้องกันอัคคีภัย (Fire Protection Registration) ณ สำนักงานดับเพลิงท้องถิ่น (Fire Department, 消防局) ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

6. ยื่นขอ ใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ (Apply for Business License, 营业执照) ณ สำนักงานบริหารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ในท้องถิ่นของเขตที่ร้านจะตั้งอยู่ ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

ช่วงภายหลังการจัดตั้งธุรกิจ

1. ยื่นขอ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (Tax Registration) ณ สำนักงานภาษีท้องถิ่น (Local Taxation Administration, 地方税务局)

2. ยื่นขอ ใบทะเบียนเลขประจำตัวนิติบุคคล (Code Allocation to Organization Certificate – 组织机构代码证) ณ สำนักงานควบคุมคุณภาพและเทคโนโลยีท้องถิ่น (Quality and Technology Supervision Bureau, 质量技术监督局)

3. ยื่นจดทะเบียนขออนุญาตเปิดบัญชีธนาคาร (Permit for Opening Bank Account) ณ ธนาคารประชาชนจีน (The People’s Bank of China -中国人民银行) ประจำท้องที่

4. ยื่นจดทะเบียนสถิติ (Statistics Registration) ณ สำนักงานสถิติท้องถิ่น

5. ยื่น ขออนุญาตทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Registration) ณ สำนักงานปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศประจำท้องถิ่น (Foreign Exchange Supervision Bureau, 外汇管理局)

6. ยื่น จดทะเบียนประกันสังคมและแรงงาน (Labor and Social Security Registration, 劳动和社会保障登记证) ณ สำนักงานแรงงานและประกันสังคมประจำท้องถิ่น (Labor and Social Security Bureau, 劳动和社会保障局)

7. ลงทะเบียนตรวจสุขภาพและขอรับใบรับรองการอบรมของพนักงาน (Health and Hygiene Examination) ณ สำนักงานตรวจสอบและกักกันโรค (CIQ) ท้องถิ่น

8. ยื่นจดทะเบียนผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol Permit Registration) ณ สำนักงานพาณิชย์ท้องถิ่น หากจะขายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ภายในร้านด้วย

9. ยื่นเรื่อง ขออนุญาตขอจ้างแรงงานต่างด้าว (Employment of Foreigner Permit) ณ สำนักงานแรงงานในท้องถิ่น เพื่อดำเนินการยื่นเรื่องขอเชิญพ่อครัวและแม่ครัวไทยเข้ามาทำงานในร้าน

การจัดตั้งธุรกิจ
เปิดร้านสปา

การจัดตั้งธุรกิจสปาไทยในจีน

ปัจจุบันจีนได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่จีนเริ่มเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก จีนได้มีพัฒนาการที่เห็นได้ชัดในทางเศรษฐกิจ อีกทั้งอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มูลค่าเศรษฐกิจของจีนก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รวมถึงเป็นตลาดนำเข้าสินค้าขนาดใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งได้มีการค้าขายกับจีนมาตั้งแต่อดีต และจีนก็เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ทำให้มีนักลงทุนจากไทยมาลงทุนและทำธุรกิจในจีนเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงในด้านการนำเข้าส่งออกเท่านั้น ด้านธุรกิจบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการการท่องเที่ยวและสปาที่มีชื่อเสียงของไทยก็ได้รับการยอมรับจากชาวจีนจนมีชื่อเสียงอย่างเด่นชัด

การจัดตั้งธุรกิจสปาไทยในจีน เริ่มเป็นที่แพร่หลายและนิยมมากขึ้นภายในหมู่คนจีน เนื่องจากเป็นการบริการการนวดเพื่อผ่อนคลายและมีผลเพื่อบำรุงความงาม ซึ่งเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์เสน่ห์ของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ชาวจีนที่ได้สัมผัสการบริการสปาแบบไทยในจีนมีจำนวนไม่น้อยนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติจึงให้ความสนใจเปิดธุรกิจสปาไทยในจีนเพื่อรองรับความต้องการของชาวจีนที่มีอยู่ การจัดตั้งธุรกิจสปาไทยในจีนของผู้ประกอบการจากไทย มีข้อควรคำนึงที่สำคัญ ดังนี้

1. รูปแบบของการจัดตั้งกิจการ

นักลงทุนต่างชาติต้องจัดตั้งธุรกิจสปาในรูปแบบตามที่จีนกำหนดภายใต้บริษัทร่วมทุน (Joint Venture) หรือ บริษัทต่างชาติ (Whole Foreign Oriented Enterprise) นักลงทุนชาวต่างชาติสามารถที่จะตัดสินใจเลือกรูปแบบการลงทุนได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแผนดำเนินการธุรกิจที่ได้ตั้งไว้

นักลงทุนต่างชาติที่จะจัดตั้งธุรกิจสปาในจีนนั้นควรที่จะสมัครเป็นธุรกิจตามรูปแบบที่ได้กำหนดไว้โดยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จีนกำหนด โดยขอบเขตในการจัดตั้งธุรกิจสปานั้นเป็นการกำหนดความต้องการในการบริการ หรือ ขอบเขตของการบริการที่ครอบคลุม โดยในครั้งแรกจะได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ ซึ่งควรตระหนักไว้ว่าการจัดตั้งธุรกิจสปานั้นไม่ควรทำนอกเหนือขอบเขตที่จีนได้กำหนดไว้

ธุรกิจสปาไทยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลจากหน่วยงานจีนในเดียวกันกับกิจการประเภทสถานเสริมความงาม ซึ่งครอบคลุมไปถึงการดูแลเล็บ การทำเลเซอร์หรือทรีทเมนต์ รวมทั้งการสร้างการบริการต่าง ๆ ในปัจจุบันจึงยังไม่มีขอบเขตกิจกรรมทางธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการจัดตั้งธุรกิจสปาของต่างชาติในประเทศจีน

2. ข้อกำหนดด้านเงินทุน

การจัดตั้งธุรกิจสปาจะต้องมีทุนจดทะเบียนเป็นของตนเองก่อนจึงจะได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ ทุนจดทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของเงินสด ทั้งนี้สามารถใช้ทุนจดทะเบียนในรูปแบบสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินสดแทนได้ ผู้ก่อตั้งกิจการจะต้องส่งรายงานความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจในท้องถิ่น เพื่อกำหนดแผนการลงทุน โดยสำนักงานพาณิชย์ในท้องถิ่นจะประเมินว่าจำนวนทุนจดทะเบียนที่ระบุมีความเหมาะสมกับการดำเนินการของบริษัทหรือไม่ การจัดตั้งบริษัทในจีนจึงไม่มีทุนจดทะเบียนที่แน่นอนแต่มาจากการอนุมัติที่ได้พิจารณาจากเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ ทุนจดทะเบียนบริษัทสามารถชำระเป็นเงินก้อนครั้งเดียวหรือผ่อนชำระได้ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจากต่างชาติควรศึกษากฏระเบียบในการลงทุนจัดตั้งบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่นควบคู่กับแนวปฏิบัติในการจัดตั้งธุรกิจของรัฐบาลกลางประกอบควบคู่กันไปด้วย

3. ขั้นตอนในการจัดตั้งธุรกิจสปา

ขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทสปาต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากการได้รับหนังสือรับรองและใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากรัฐบาล ขั้นตอนทั้งหมดใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 5 – 6 เดือน โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ตามที่ทางการจีนได้กำหนดไว้ทีละขั้นตอน

4. ระบบภาษีในจีน

ภาษีธุรกิจ รายได้จากการบริการของบริษัทสปาทั่วไปต้องเสียภาษีร้อยละ 5 โดยคำนวณจากรายได้ขั้นพื้นฐานของบริษัท ผู้เสียภาษีจะต้องเสียภาษีให้กับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นโดยจะคิดจากรายได้โดยรวม โดยจำนวนภาษีจะแบ่งเป็นประเภทตามที่ได้กำหนดไว้

ภาษีเงินได้นิติบุคคล การดำเนินการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทสปาโดยทั่วไปมีอัตราขั้นพื้นฐานร้อยละ 25 สำหรับธุรกิจขนาดเล็กร้อยละ 20 การเก็บภาษีจะคำนวณจากกำไรประจำปีของบริษัท โดยจะมีการเก็บข้อมูลทุก ๆ 3 เดือน

ภาษีเงินได้ส่วนบุคคล พนักงานของบริษัท และนักลงทุนต่างชาติต้องเสียภาษีภายใต้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ โดยจะเก็บจากรายได้รายเดือนโดยอัตราเริ่มตั้งแต่ร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 45

5. ข้อกำหนดในนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศ

การนำเงินลงทุนจากต่างประเทศมาเพื่อใช้ก่อตั้งกิจการครั้งแรกอยู่ภายใต้อำนาจการกำกับดูแลของสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศ (State Administration of Foreign Exchange: SAFE) ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบก่อนการเคลื่อนย้ายเงินมาลงทุนในประเทศจีน รวมทั้งการชำระเงินตราต่างประเทศ หากนำเข้าสินค้าเข้ามาในจีนจะต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศ ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบการชำระเงินตราต่างประเทศโดยสำนักบริหารเงินตราต่างประเทศก่อน สำหรับการโอนเงินออกนอกประเทศ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในจีน หลังจากที่ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว ธุรกิจสปาจะต้องเขียนใบคำขอโอนเงิน พร้อมใบเสร็จที่แสดงการเสียภาษีต่อสำนักบริหารเงินตราระหว่างประเทศ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วธนาคารจึงจะสามารถดำเนินการโอนเงินออกไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

6. ระเบียบปฏิบัติสำหรับการจ้างงาน

บริษัทต่างชาติสามารถจ้างชาวต่างชาติหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อปฎิบัติงานได้ภายใต้จำนวนที่ต้องขออนุมัติจากสำนักงานแรงงานท้องถิ่น อย่างไรก็ตามวีซ่าการทำงานในภาคบริการ ถ้าแรงงานในกลุ่มงานของภาคบริการนั้น ๆ ไม่จัดอยู่ในประเภทแรงงานขาดแคลนของของจีน จีนก็จะไม่ทำการอนุญาตวีซ่าให้ ปัจจัยในการพิจารณาอนุมัติขึ้นอยู่กับความแตกต่างของแต่ละท้องถิ่นซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนในปัจจุบัน

การขอวีซ่าทำงานและใบอนุญาตพำนักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติ

การขอวีซ่าการทำงานของลูกจ้างชาวต่างชาติจะต้องใช้จดหมายเชิญเข้าทำงานที่ได้รับจากนายจ้างซึ่งได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้สำหรับการขอใบอนุญาตทำงานสามารถขอได้จากสำนักแรงงานท้องถิ่น และการขอใบอนุญาตพำนักอาศัยสามารถขอได้จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำกรมรักษาความสงบภายใน ในท้องถิ่น ( Entry – Exit Administrative Service Center, Public Security Bureau, 公安局出入境管理分局)

7. การครอบครองอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง

ธุรกิจสปาไทยในจีนควรมีสถานประกอบการเป็นของตนเอง ซึ่งสามารถเช่าหรือซื้อก็ได้โดยจะต้องมีสัญญาเช่าที่ถูกต้อง หรือการเป็นการซื้อจะต้องมีใบรับรองความเป็นเจ้าของเป็นหลักฐาน โดยที่อยู่อย่างเป็นทางการที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าจะต้องระบุลงในใบอนุญาตประกอบการที่ได้จดทะเบียนไว้ตรงกันด้วย และที่อยู่ควรเป็นที่อยู่อย่างเป็นทางการของบริษัทเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้ที่อยู่จดทะเบียนรวมกันกับกิจการอื่นได้

การจัดตั้งธุรกิจสปาไทยในจีนควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเช่นสำนักงานที่ปรึกษากฏหมายหรือสำนักงานบัญชีมืออาชีพในท้องถิ่นเพื่อยื่นเรื่องขอจัดตั้งกิจการได้ ความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในคู่มือจัดตั้งธุรกิจสปาไทยในจีน 

การจัดตั้งธุรกิจ
เปิดสถานบริการสุขภาพ

การการจัดตั้งสถานบริการสุภาพ

ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และขนาดของประชากร ประกอบกับมีการวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีจึงช่วยปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็งขึ้นจนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก โดยในปัจจุบัน รัฐบาลจีนมีการผ่อนคลายกฏเกณฑ์ในการลงทุนมากขึ้น จึงทำให้นักลงทุนจากต่างชาติเริ่มให้ความสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจในจีนมากขึ้น ซึ่งธุรกิจโรงพยาบาลก็เป็นหนึ่งในประเภทธุรกิจที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 12 ในปัจจุบัน

ประเทศจีนเริ่มเปิดกว้างสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลและลดการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศลง หลังจากเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2001 อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีของธุรกิจในภาคส่วนนี้ยังไม่ได้เปิดกว้างอย่างเต็มที่ การจัดตั้งธุรกิจยังมีข้อบังคับให้จำเป็นต้องมีหุ้นส่วนธุรกิจเป็นชาวจีน จนเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมาธุรกิจโรงพยาบาลได้ถูกถอนออกจากรายการการลงทุนจากต่างประเทศที่ต้องควบคุม จึงทำให้นักลงทุนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจากฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันสามารถจัดตั้งธุรกิจโรงพยาบาลโดยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวได้ ขณะที่นักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ ยังมีความจำเป็นต้องจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบบริษัทร่วมทุนกับชาวจีนอยู่ แม้ว่านโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะมีแนวคิด การผ่อนคลายกฏระเบียบข้อบังคับการเข้ามาลงทุนกิจการด้านการรักษาพยาบาลมากขึ้นแล้วก็ตาม

การจัดตั้งธุรกิจด้านการรักษาพยาบาลในจีนโดยทุนจากต่างชาติ มีข้อควรคำนึงที่สำคัญ ดังนี้

1. รูปแบบการตั้งกิจการ

นักลงทุนที่มาจากประเทศอื่น นอกเหนือจากฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน จะต้องจัดตั้งกิจการด้านการรักษาพยาบาลในรูปแบบบริษัทร่วมทุนระหว่างชาวจีนกับชาวต่างชาติ ได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) กิจการการร่วมทุน (Equity Joint Venture) และ 2. กิจการแบบร่วมดำเนินงาน (Cooperative Joint Venture) โดยผู้ร่วมลงทุนทั้งสองฝ่ายทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่หน่วยงานจีนได้กำหนดไว้

2. เงื่อนไขของธุรกิจรักษาพยาบาลที่ลงทุนโดยชาวต่างชาติ

การลงทุนในสถาบันการแพทย์โดยชาวต่างชาติจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาสถาบันทางการแพทย์ของส่วนท้องถิ่นที่สถาบันแห่งนั้นได้ตั้งอยู่ โดยจะต้องมีที่ปรึกษาการจัดตั้งที่มีประสบการณ์หรือที่ปรึกษาด้านกฏหมายเข้ามาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตและจัดตั้งกับหน่วยงานท้องถิ่น

3. ขอบเขตของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต

ขอบเขตของธุรกิจที่ธุรกิจรักษาพยาบาลจะสามารถกระทำได้ จะต้องได้รับการอนุมัติและระบุไว้ในใบอนุญาตประกอบธุรกิจ การกระทำที่ไม่ได้ระบุไว้ธุรกิจรักษาพยาบาลจะไม่สามารถดำเนินการได้ 4. ข้อกำหนดด้านเงินลงทุน

ธุรกิจรักษาพยาบาลที่ลงทุนโดยชาวต่างชาติ จะต้องมีทุนจดทะเบียน ซึ่งฝากไว้ในบัญชีธนาคารของจีน โดยผู้ลงทุนสามารถกำหนดจำนวนเงินทุนจดทะเบียนได้ภายใต้ข้อกำหนดที่ระบุไว้ และสามารถเลือกวิธีการจ่ายเงินทุนจดทะเบียนได้ตามความสะดวก ซึ่งแต่ละวิธีจะกำหนดระยะเวลาในการชำระที่แน่นอน

หากธุรกิจรักษาพยาบาลได้รับอนุญาตให้สามารถกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อจุดประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ ปริมาณเงินกู้ระหว่างประเทศที่ธุรกิจรักษาพยาบาลสามารถกู้ยืมได้จะต้องต่ำกว่าจำนวนเงินทุนที่ได้จดทะเบียนไว้

5. ขั้นตอนในการจัดตั้งธุรกิจรักษาพยาบาลที่ลงทุนโดยชาวต่างชาติ

ขั้นตอนในการจัดตั้งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นโดยจะต้องติดต่อทีละหน่วยงาน ทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการจะประมาณ 7-8 เดือน ซึ่งธุรกิจรักษาพยาบาลจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติให้เรียบร้อยทุกขั้นตอนก่อนจึงจะสามารถเริ่มดำเนินการได้

6. ระบบภาษีในจีน

ภาษีธุรกิจ ธุรกิจรักษาพยาบาลทั้งที่หวังผลกำไรและมิได้หวังผลกำไร จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีธุรกิจ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีก่อน

ภาษีท้องถิ่น ภาษีท้องถิ่นจะมีอัตราตามท้องถิ่นที่สถาบันทางการแพทย์ตั้งอยู่

ภาษีเงินได้นิติบุคคล ธุรกิจรักษาพยาบาลจะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 25 ยกเว้นธุรกิจรักษาพยาบาลประเภทมิได้หวังผลกำไรที่จะได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษี

ภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีรายได้ส่วนบุคคลจัดเก็บเป็นรายเดือน โดยหักจากเงินเดือนที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้รับจากสถาบันทางการแพทย์ ซึ่งอัตราภาษีจะอยู่ระหว่างร้อยละ 3-45 ตามข้อกำหนดปลีกย่อย

7. ข้อกำหนดในนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศ

การแลกเปลี่ยนเคลื่อนย้ายเงินตราข้ามพรมแดนระหว่างประเทศจะถูกตรวจสอบและดูแลโดยสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศ (State Administration of Foreign Exchange: SAFE) ซึ่งกิจกรรมระหว่างประเทศส่วนมาก สามารถกระทำได้โดยปราศจากการควบคุม ยกเว้นการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการพิเศษเพิ่มเติม

8. ข้อกำหนดด้านการจ้างงาน

8.1 ข้อบังคับในคุณสมบัติของนักปฏิบัติการทางการแพทย์จากต่างประเทศ

นักปฏิบัติการทางการแพทย์จากต่างประเทศ จะสามารถให้บริการทางการแพทย์ในจีนได้หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ โดยคุณสมบัติที่จำเป็น จะแตกต่างไปตามประเภทของนักปฏิบัติการทางการแพทย์

8.2 ความรับผิดชอบต่อสวัสดิการสังคมของลูกจ้างท้องถิ่น

ธุรกิจรักษาพยาบาลในฐานะนายจ้าง จะต้องจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสังคมแก่ลูกจ้างท้องถิ่นชาวจีน โดยอัตราในการจัดตั้งเงินกองทุนนี้จะขึ้นอยู่กับเมืองที่สถาบันทางการแพทย์ตั้งอยู่

8.3 การขอวีซ่าทำงานและใบอนุญาตพำนักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติ

การขอวีซ่าการทำงานของลูกจ้างชาวต่างชาติจะต้องใช้จดหมายเชิญเข้าทำงานที่ได้รับจากนายจ้างซึ่งได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้สำหรับการขอใบอนุญาตทำงานสามารถขอได้จากสำนักแรงงานท้องถิ่น และการขอใบอนุญาตพำนักอาศัยสามารถขอได้จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำกรมรักษาความสงบภายใน ในท้องถิ่น ( Entry – Exit Administrative Service Center, Public Security Bureau, 公安局出入境管理分局)

9. การครอบครองอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง

ธุรกิจรักษาพยาบาลที่ลงทุนโดยชาวต่างชาติ จะต้องมีสถานประกอบการเป็นของตนเอง โดยอาจเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นที่ตั้งในการจดทะเบียนและสถานที่ในการปฏิบัติการโดยขนาดพื้นที่ของสถานประกอบการจะขึ้นอยู่กับประเภทของสถาบันทางการแพทย์ที่จัดตั้ง

ธุรกิจรักษาพยาบาลในจีน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเช่นสำนักงานที่ปรึกษากฏหมายมืออาชีพในท้องถิ่นเพื่อยื่นเรื่องขอจัดตั้งกิจการในนามของผู้ลงทุนได้ ความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในคู่มือจัดตั้งธุรกิจรักษาพยาบาลในจีน 

การจัดตั้งธุรกิจ
การเปิดร้านค้าออนไลน์

ภาพรวม E-Commerce จีน
ตลาด E-Commerce ของจีนนับเป็นที่น่าจับตามอง ปัจจุบันเป็นตลาด E-Commerce ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังสามารถขยายตัวต่อจากการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลที่พร้อมเปิดกว้างสำหรับตลาดสินค้านำเข้า เช่น จัดตั้งพื้นที่ทดลอง Cross Border E-Commerce (CBEC) ใน 35 เมือง และขยายวงเงินด้านภาษีสำหรับการสั่งซื้อสินค้านำเข้าทางออนไลน์ เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเริ่มบุกตลาด E-Commerce จีน

ขนาดของตลาด E-Commerce จีน (ณ ธ.ค. 2018)

  • จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 828.51 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 59.6 ของประชากรทั้งหมด โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 816.98 ล้านคนที่ใช้งานผ่านมือถือ
  • ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
    • ร้อยละ 73.3 อาศัยอยู่ในเขตเมือง และร้อยละ 26.7 อาศัยอยู่ในเขตชนบท
    • ร้อยละ 52.7 เป็นเพศชาย และร้อยละ 47.3 เป็นเพศหญิง
    • กระจายอยู่ในทุกช่วงอายุ (1) น้อยกว่า 10 ปี ร้อยละ 4.1 (2) 10-19 ปี ร้อยละ 17.5 (3) 20-29 ปี ร้อยละ 26.8 (4) 30-39 ปี ร้อยละ 23.5 (5) 40-49 ปี ร้อยละ 15.6 (6) 50-59 ปี ร้อยละ 5.9 (4) มากกว่า 60 ปี ร้อยละ 6.6
  • จำนวนผู้นักชอปออนไลน์ 610.11 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่ชอปผ่านมือถือ 591.91 ล้านคน

ข้อมูลจาก : the 43rd china statistical report on internet development

บทความที่มีประโยชน์เกี่ยวกับ การเปิดร้านค้าออนไลน์ในจีน
– ผู้ประกอบไทยควรรู้ ศาลอินเตอร์เน็ตและกฎหมาย e-commerce ใหม่ของจีน
– รู้จักกับ Cross-Border E-Commerce ของแดนมังกร
– เรียนรู้ตลาดขาช้อป Cross Border E-Commerce ในแดนมังกร
– ศึกษาขั้นตอนการเปิดร้านค้าออนไลน์ Tmall.com ของบริษัท King Power
– How to do online business in China? มารู้จักวิธีเปิดร้านออนไลน์ใน Taobao.com กันเถอะ!!
– เปิดร้านค้าออนไลน์ในเว็บ Taobao.com แล้ว ทำอย่างไรจะให้ร้านค้านั้นเป็นที่รู้จัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน