ศึกษาขั้นตอนการเปิดร้านค้าออนไลน์ Tmall.com ของบริษัท King Power
25 Oct 2016มุมมองของคิงเพาเวอร์ที่มีต่อตลาดออนไลน์ของจีน
ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะทุกวันนี้มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการในการเพิ่มช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น คิงเพาเวอร์เองมีเว็ปไซต์ออนไลน์อยู่แล้ว คือ www.kingpower.com อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง บริษัทจึงมีเป้าหมายในการขายผ่านช่องทางต่าง ๆ ทางออนไลน์เพิ่มเติม เพื่อผลักดันสินค้าแบรนด์ไทย และสินค้าปลอดภาษีสู่ตลาดจีน
การเตรียมตัวของ “คิงเพาเวอร์” ก่อนเข้าสู่ตลาดจีนโดยความร่วมมือกับ “Tmall”
เนื่องจากปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซของจีนมีขนาดใหญ่มาก มีผู้ให้บริการสำหรับขายสินค้าออนไลน์เจ้าใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมาก ได้แก่ 1) Taobao.com 2) Tmall.com 3) JD.com 4) Amazon.com และ 5) Suning.com ดังนั้น ก่อนการเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซของจีน นักลงทุนควรจะศึกษาให้รอบคอบว่า platform ใด ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงการบริการได้สะดวกที่สุด และพร้อมที่จะช่วยเหลือในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนด้านต่าง ๆ ได้ ตามรายละเอียดดังนี้
Platform ใด เหมาะสมที่สุดต่อการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนของคิงพาวเวอร์
เงื่อนไข platform สำหรับคิงพาวเวอร์ ได้แก่ เข้าใจง่าย ง่ายต่อการใช้งาน มีผู้เข้าชมจำนวนมาก มีวิธีการชำระเงินที่เหมาะสมมีบริการจัดส่งที่ถูกต้อง และมีกลุ่มผู้บริโภคหลักที่สอดคล้องกับสินค้าที่บริษัทจะนำไปเจาะตลาดออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการวางจำหน่ายสินค้าและสร้างตราสินค้า ซึ่งเห็นว่า Tmall ของ Alibaba Group ตอบโจทย์ของคิงพาวเวอร์ได้มากที่สุด เนื่องจาก Tmall เป็น platform แบบ B2C (Business to Customer)
Tmall มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ 1.Tmall.com สำหรับภายในประเทศ ซึ่งต้องมีบริษัท โกดังเก็บสินค้า และระบบโลจิสติกส์ในประเทศจีนเท่านั้น และ 2.Tmall.co.hk หรือ Tmall Global สำหรับทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการค้าระหว่างประเทศกับประเทศจีน โดยที่บริษัทจะต้องอยู่ในต่างประเทศ สินค้าที่จะขายจะต้องเป็นสินค้าที่ส่งจากประเทศที่ผลิตโดยตรง และมีการขนส่งสินค้าถึงลูกค้าจากประเทศต้นทางเท่านั้น โดยคิงเพาเวอร์เลือกใช้บริการ Tmall Global
ปัจจุบันคิงเพาเวอร์มี 2 เว็ปไซต์ ใน Tmal Global คือ
(1) www.kingpower.tmall.hk – เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับสินค้าไทย ขนมไทย ผลไม้อบแห้ง สินค้าประเภทสปา เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมสินค้าไทย โดยจะส่งสินค้าไปที่ประเทศจีนโดยตรง โดยในการขนส่งจะมีการระบุที่อยู่ผู้รับสินค้าในจีนให้ชัดเจน ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนสูงที่สุดคือ ทองม้วน ผลไม้อบแห้ง และยาหม่อง
ภาพหน้าเว็ปไซต์ www.kingpower.tmall.hk
(2) www.kingpowerdutyfree.tmall.hk เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับสินค้าปลอดภาษีสินค้า อาทิ น้ำหอม เครื่องสำอางค์ สุรา เป็นต้น ให้บริการสำหรับลูกค้าที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งสินค้าก่อนเดินทาง 24 ชั่วโมง โดยจะต้องระบุสนามบินที่จะรับสินค้าให้ชัดเจน ปัจจุบันมีสนามบินที่สามารถรับสินค้าได้ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต และสนามบินอู่ตะเภา
ภาพหน้าเว็ปไซต์ www.kingpowerdutyfree.tmall.hk
2. ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูลกฎหมาย และกฏระเบียบ ของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนเป็นอย่างไร ขั้นตอนการสมัครเป็นสมาชิกของ Tmall อ้างอิงกฏหมายทางการค้าของฮ่องกง เนื่องจาก Tmall จดทะเบียนในฮ่องกง แต่ในกรณีการนำสินค้าเข้าไปขายในจีนจะอ้างอิงกฏหมายของจีนทั้งหมด
3. การศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนในแต่ละกลุ่มสินค้า รวมถึงรสนิยมการบริโภคก่อนการลงทุน พบว่าผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่จะเลือกสินค้าที่มีคุณภาพดีและเป็นของแท้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นหลัก ซึ่งจากข้อมูลของ Alibaba พบว่าผู้บริโภคชาวจีนที่มีประมาณ 630 ล้านคน และนิยมสั่งสินค้าออนไลน์เป็นผู้บริโภคเพศหญิงกว่า 66% และส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่แต่งงานและมีบุตรแล้วกว่า 48% ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงมากในจีน ส่วนสินค้าที่ชาวจีนนิยมซื้อมากที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่สูงถึง 31% รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็ก 17% และสินค้าอาหาร 11%
4. การทำแผนการตลาด เนื่องจาก Alibaba เป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่และมีเครือข่ายที่ให้บริการครบวงจร สำหรับช่วยผู้ประกอบการที่สนใจลงทุน โดยมี Market Tools เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการประชาสัมพันธ์ร้านค้าหรือผลิตภัณฑ์โดยผ่านเว็บไซต์อื่น ๆ ที่อยู่ในเครือของ Alibaba ที่จะช่วยทำให้การส่งเสริมการจำหน่ายเป็นไปอย่างกว้างขว้าง คิงพาวเวอร์จึงต้องทำแผนการตลาดให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่ Alibaba จัดสรรให้ในการเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดได้สำเร็จ
5. การเตรียมบุคลากรให้เพียบพร้อม คิงเพาเวอร์มี (1) ทีมงามที่คอยบริหารจัดการงานทางเทคนิคและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีความสวยงามและมีข้อมูลที่ทันสมัย ดูแลเรื่องคุณภาพสินค้า การอัพเดทภาพของสินค้าและคำบรรยายใต้ภาพลงบนเว็บไซต์ (2) ทีมงานที่ดูแลด้านการตลาดและวางแผนการส่งเสริมการขาย หรือการจัด event ต่าง ๆ ร่วมกับทาง Tmall และ (3) ทีมงานติดต่อกับลูกค้าและสำรวจพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค ตลอดจนการสอบถามข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ ทีมงานเหล่านี้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และสามารถสื่อสารภาษาจีนได้อย่างดี
ทีมงานศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนฟังการบรรยายจากผู้แทนของบริษัทคิงเพาเวอร์
นอกจากนี้ Tmall มีตัวชี้วัดในการประเมินความพึงพอใจของลูกค้า 3 ด้าน คือ คุณภาพสินค้า การบริการ และความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า หากร้านค้าผ่านการประเมินก็จะมีโอกาสที่จะได้ร่วมการส่งเสริมการจำหน่ายและประชาสัมพันธ์กับทาง Tmall สำหรับการตรวจดูผลการตอบรับของผู้บริโภคทาง Tmall จะใช้โปรแกรม “AliWangWang” ซึ่ง Alibaba ได้พัฒนาช่องทางการติดต่อนี้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ขายพูดคุยกับผู้ซื้อได้โดยตรงแบบ Real time ซึ่งทำให้การซื้อขายเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น
เงื่อนไขการสมัครใช้บริการ Platform ของ Tmall
– สินค้าที่จะนำมาขายห้ามเป็นสินค้าที่ผลิตจากประเทศจีน
– สินค้าที่เข้ามาจำหน่ายจะต้องเป็นสินค้าที่ผ่านพิธีการทางศุลกากรนำเข้าแล้ว
– ต้องมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพของสินค้า
– มีระบบการชำระเงิน
Alibaba มีช่องทางการชำระเงินออนไลน์เรียกว่า ”Alipay” (หรือ 支付宝) โดยจะผูกเข้ากับบัตรเครดิต ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีความปลอดภัยสูง เนื่องจาก Alipay เน้นการคุ้มครองลูกค้า โดยผู้ซื้อสามารถกำหนดเงื่อนไขการรับสินค้าก่อน จากนั้นจึงอนุมัติให้ชำระเงินแก่ผู้ขายได้ ทั้งนี้ต้องยืนยันภายใน 20 วัน มิฉะนั้น ระบบจะชำระเงินให้โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม กรณีที่ได้สินค้าไม่ตรงตามความต้องการ หรือไม่ได้รับสินค้า ผู้ซื้อก็จะได้รับเงินคืนเช่นกัน นอกจากนี้ Alibaba ยังอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการชำระเงินโดยผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินค่าสินค้าเป็นเงินหยวน หรือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ความรวดเร็วของการส่งมอบสินค้าถึงมือผู้บริโภค
ต้องเป็นขนส่งระหว่างประเทศและสินค้าจะต้องถูกส่งออกจากประเทศต้นทางไปประเทศจีนเท่านั้น และบริษัทขนส่งจะต้องสามารถเชื่อมต่อกับ Platform ของ Tmall ได้ในกรณีลูกค้าต้องการเช็คว่าสินค้าอยู่ที่ระหว่างการส่งภายในระยะเวลา 7 วัน นอกจากนี้ Tmall มีโกดังในจีนทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ นครหางโจว นครกว่างโจว มหานครเซี่ยงไฮ้ และเมืองหนิงโป สำหรับเก็บสินค้าที่ส่งมาจากต่างประเทศ โดยโกดังดังกล่าวจะตั้งอยู่ในเขต Free Zone โดยไม่มีการเก็บภาษีในกรณีที่ยังไม่มีการซื้อขายกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันคิงพาวเวอร์ใช้บริการโกดังเก็บสินค้าที่เมืองหนิงโป
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
1) ค่าธรรมเนียมรายปี ประมาณ 5,000 – 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ
2) ค่ามัดจำ เป็นเงินฝากสำหรับการสั่งซื้อสินค้าในกรณีที่ลูกค้ามีปัญหาที่ต้องการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าจะใช้เงินในส่วนนี้ชำระไปก่อน
3) ค่า Commission ขึ้นอยู่กับการตกลงกับทาง Tmall ว่าจะจ่ายกี่เปอร์เซ็นต์จากยอดขายต่อหนึ่งใบเสร็จ
นางสาวแขลดาพร แสงจันทร์ศิวดล ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู
แหล่งที่มา การเข้าร่วมฟังบรรยายจากผู้แทนของบริษัทคิงเพาเวอร์