FIGURE & PUBLICATION

ข้อมูลและสื่อ

ไทยกับจีน
ความสัมพันธ์ไทย-จีน

ไทยกับจีนมีความผูกพันและติดต่อกันมาอย่างยาวนานนับแต่โบราณกาล โดยสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้) ของจีนซึ่งมีบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชนชาติไทย และที่เด่นชัดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับจีน ซึ่งมีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน และไทยได้รับเทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผามาจากจีนในช่วงเวลาดังกล่าว ความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างไทยกับจีน น่าจะเริ่มมีขึ้นในช่วงนี้ด้วยจากการอพยพของชาวจีนในช่วงสงครามสมัยราชวงศ์หยวนและในช่วงต้นราชวงศ์ หมิง และนับจากนั้นมา ก็ได้มีการติดต่อค้าขายกันมาโดยตลอดและมีชาวจีนจำนวนมากเข้ามาตั้งรกราก ในไทย โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกและสงครามกลางเมืองของจีนในทศวรรษที่ 1930-1950 มีชาวจีนจำนวนมากจากมณฑลทางใต้ของจีน อาทิ กวางตุ้ง ไห่หนาน ฝูเจี้ยน และกวางสี หลบหนีภัยสงครามและความ อดอยากเข้ามาสร้างชีวิตใหม่ในประเทศไทย จึงอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดดุจพี่น้องระหว่างไทย กับจีนได้มีมาอย่างยาวนาน เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

แม้กระแสทางการเมืองโลกในยุคสงครามเย็นจะทำให้ไทยกับจีนขาดการติดต่อกันในระดับทางการอยู่ระยะหนึ่ง แต่กระแสการเมืองโลกดังกล่าวก็ไม่อาจจะตัดความผูกพันและความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างแนบแน่นระหว่างประชาชนไทย-จีน ได้ ดังนั้น นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2518 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและราบรื่น และเป็นแบบอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มี ระบบการปกครองแตกต่างกัน โดยมีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

ด้านการเมือง

ในทศวรรษแรกหลังจากที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ไทยและจีนประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันอันนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนั้น ซึ่งได้ช่วยสนับสนุน การพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสนามรบกลายเป็นตลาดการค้า นอกจากนี้ พื้นฐานความเข้าใจและความใกล้ชิดดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนอีกด้วย

การที่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ต่างก็ทรงให้ความสำคัญและทรงใส่พระทัยต่อความสัมพันธ์ฉันมิตรที่มีต่อจีนส่งผลสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ยิ่งใกล้ชิด แน่นแฟ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนจีนอย่างเป็นทางการในฐานะผู้แทนพระองค์ฯ ซึ่งถือเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการในรอบหลายสิบปี ระหว่างวันที่ 16-31 ตุลาคม 2543 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนจีนแล้วหลายครั้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจีนครบทั้ง 31 มณฑลและมหานคร ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลในฐานะทูตสันถวไมตรีจากหน่วยงานของจีนหลายรางวัล และเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกของโลกที่ทรงศึกษาภาษาจีนในมหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นระยะเวลา 1 เดือน ในปีนี้ พระองค์ท่านยังได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 ในฐานะผู้แทนพระองค์ด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ก็เสด็จเยือนจีนบ่อยครั้ง เป็น เจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงแสดงดนตรี “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ในจีน นอกจากนี้ พระราชวงศ์พระองค์อื่นๆ ก็ได้เสด็จฯ เยือนจีนอยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน ผู้นำของจีนนับแต่อดีตจนถึงปัจุบันได้เยือนประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นต้นมา นายเติ้ง เสี่ยวผิง ได้เยือนไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1978 นับจากนั้นประธานาธิบดีจีนทุกสมัยก็ได้เยือนประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังเช่น นายหลี่ เซียนเนี่ยน นายหยาง ซ่างคุน และนายเจียง เจ๋อหมิน จนถึงประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายหู จิ่นเทา ซึ่งได้เยือนประเทศไทยในฐานะประธานาธิบดีเมื่อเดือนตุลาคม 2003 ในระดับนายกรัฐมนตรีนั้น นับตั้งแต่ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เยือนจีนในฐานะแขกของนายเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีของไทยทุกยุคทุกสมัยล้วนแต่เคยเยือนจีนทั้งสิ้น ในปีนี้ นายกรัฐมนตรีไทยได้เดินทางเยือนจีนถึง 3 ครั้ง รวมทั้งได้เข้าร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 ด้วย ขณะที่นายกรัฐมนตรีจีนทุกสมัยก็เยือนไทยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นายหลี่ เผิง ซึ่งเยือนไทยรวม 4 ครั้ง นายจู หรงจี ซึ่งเยือนไทยเมื่อปี 2001 และนายเวิน เจียเป่า ซึ่งเคยเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมเมื่อเดือนเมษายน 2003 ด้วย

ด้านเศรษฐกิจ

หลังจากทศวรรษแรกของการสถาปนาความสัมพันธ์ที่ทั้งสองประเทศได้ประสบผลในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันแล้วนั้น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าได้กลายเป็นองค์ประกอบที่นับวันยิ่งมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะหลังจากที่จีนได้เริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อปี 1978 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศได้พัฒนาและขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว ในด้านการค้า มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน เพิ่มขึ้นจากปีแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตที่ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 64,223 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015 ในด้านการลงทุน ไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในจีนตั้งแต่เมื่อปี 1979 และก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในเอเชียเมื่อปี 1997 ปัจจุบันตัวเลขของทางการจีนก็ยังระบุว่า ไทยยังคงมีการลงทุนในจีนนับพันโครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมนับพันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จีนมีการลงทุนในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ในด้านการท่องเที่ยว ไทยและจีนต่างเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวยอดนิยมของประชาชนทั้งสองประเทศ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยประมาณ 7.9 ล้านคนต่อปี (สถิติปี 2558)

ด้านสังคมและวัฒนธรรม

ด้วยความผูกพันยาวนานและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดทำให้ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนพัฒนาไปอย่างใกล้ชิดและแนบแน่นมาโดยตลอด ประชาชนของทั้งสองประเทศมีการไปมาหาสู่เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านประจำชาติ ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดีและได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากประชาชนของแต่ละฝ่าย ไปจนถึงความร่วมมือทางด้านศาสนาจากการที่ไทยเป็นเมืองพุทธและจีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีคนนับถือศาสนาพุทธมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง คือ ประมาณ 100 ล้านคน นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ในด้านนี้ยังได้รับการส่งเสริมโดยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ของไทย โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงสนพระทัยในภาษา วัฒนธรรรม และประวัติศาสตร์ของจีน ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน รวมทั้งเยาวชนของไทยในการศึกษาเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งทรงริเริ่มการแสดงดนตรี “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมนับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในด้านอื่นๆ

กล่าวโดยสรุป ในปัจจุบันไทยกับจีนมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่เจริญรุดหน้าในทุกด้าน และนับวันจะยิ่งพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องและลึกซึ้ง ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ดังนั้น ในช่วงศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีน ไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคหวังว่าจะความร่วมมือกับจีนมากยิ่งทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน โดยจีนจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและโลกโดยรวม

ความตกลงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน

ภาครัฐบาล

  • ข้อตกลงทางการค้า  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1978
  • พิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย – จีน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1978
  • ข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย – จีน  เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1985
  • ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน มีการลงนามเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1985 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 1985
  • ความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน มีการลงนามเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 1986 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1986
  • ข้อตกลงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมไทย-จีน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2001
  • ความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2003
  • ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วันที่ 18 ตุลาคม 2003
  • บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ วันที่ 18 ตุลาคม 2003 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (Memo of Understanding : MOU) ร่วมกับ China Council for the Promotion of International Trade ของประเทศจีน

ภาคเอกชน

  • ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) กับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 1993
  • ข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับ หอการค้ามณฑลเหอเป่ย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2000
  • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภา

ไทยกับจีน
สถิติการค้าไทย-จีน

สถิติที่สำคัญไทย – จีน (2018)

มูลค่าการค้าไทย-จีนจีนคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทย (เป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1  ของไทย) 2018 การค้าไทย-จีนมีมูลค่า USD 80,136.44 ล้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.67 ไทยขาดดุลการค้า USD 19,785.54 ล้าน)  
สินค้าส่งออกของไทยมูลค่าการส่งออกสินค้าไปจีน 2018 USD 30,175.45 ล้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.27 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
สินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน 2018 USD 49,960.99 ล้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.93 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
การลงทุนในปี 2018 จีนเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ของไทย (รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์) โดยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 131 โครงการ เป็นเงินลงทุนประมาณ 55,475 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 101.62 จากปี 2017
การท่องเที่ยวในปี 2018 นักท่องเที่ยวจีนมาไทยรวม 10.5 ล้านคน  มียอดใช้จ่าย 580,699 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1      
สำหรับนักท่องเที่ยวไทยไปจีนในปี 2016 มี จำนวน 832,600 คน
คนไทยในจีนประมาณ 27,000 คน  (เป็นนักเรียน/นักศึกษาประมาณ 25,000 คน)
สำนักงานไทยในจีนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง / สถานกงสุลใหญ่อีก 9 แห่ง คือ เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว คุนหมิง ฮ่องกง เฉิงตู เซี่ยเหมิน ซีอานหนานหนิง ชิงต่าว

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง (มี.ค. 2562)

ไทยกับจีน
สถิติการค้าไทย-จีน (รายมณฑล)

สถิติการค้าไทย-จีน รายมณฑล ปี 2559

ตารางสถิติการค้าไทย-จีน รายมณฑล (ปี 2557-2559)

ดาวน์โหลดไฟล์ตารางสถิติการค้าไทย-จีน

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน