การค้า
ส่งออกไปจีน

How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

” ส่งออกสินค้าไทยไปจีน ” เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันกำลังให้ความสนใจ สิ่งสำคัญอันดับแรกคงไม่ใช่ว่าจะขายไปให้ใครหรือจะขายได้ปริมาณเท่าไร แต่ควรเป็นการสำรวจก่อนว่า ตัวเราได้ทำการบ้านเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออกสินค้าไปจีนได้เพียงพอแล้วหรือยัง?

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนขอเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่กำลังสนใจจะส่งออกสินค้าไปจีน ด้วยการถ่ายทอดข้อมูล “ปูพื้นฐานความพร้อม” ก่อนการส่งออกสินค้าไปยังจีนผ่านบทความ How to export to China ซึ่งครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่การตรวจสอบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ของทั้งไทยและจีน รวมถึงการเตรียมพร้อมในตัวสินค้า เอกสารที่ต้องใช้ในการส่งออก และการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เป็นต้น

บทความในตอนแรกจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสำรวจว่า สินค้าของตนมีความพร้อมสำหรับส่งออกไปจีนหรือไม่ โดยจะแนะนำข้อมูลกฎระเบียบของจีนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศว่า สินค้าใดนำเข้าได้บ้าง มีข้อจำกัดอย่างไร ต้องมีมาตรฐานระดับไหน และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแน่ใจว่าสินค้าที่ตนมีอยู่พร้อมที่จะส่งออกไปจีนได้โดยจะไม่ติดอุปสรรค ณ ปลายทาง ซึ่งมีรายละเอียดที่ควรพิจารณาแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!
จากบทความตอนแรกที่ได้กล่าวถึงกฎระเบียบของจีนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าสู่จีนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้าที่จะได้รับ ซึ่งเป็นข้อมูลให้ผู้ส่งออกของไทยใช้พิจารณาว่าสินค้าของตนเองมีความพร้อมที่จะส่งออกไปจีนหรือไม่ หากว่าสินค้ามีความพร้อมตามข้อกำหนดของทางการจีนและประเมินว่ามีโอกาสเติบโตในตลาดจีนแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อไป คือ การศึกษากฎระเบียบในส่วนของไทย

ทั้งนี้ จำเป็นต้องศึกษาว่าไทยอนุญาตให้ส่งออกสินค้าประเภทใดบ้าง และสินค้าแต่ละประเภทมีข้อกำหนดและขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกอย่างไร ตลอดจนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนจึงขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าวข้างต้นผ่านบทความตอนที่ 2 เรื่อง “ศึกษาเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกไทย”

รู้จักสินค้า.. ก่อนเดินหน้าส่งออก

ในเบื้องต้น ก่อนการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนหรือประเทศอื่นๆ จำเป็นจะต้องศึกษาดูว่าทางการไทยอนุญาตให้ส่งออกสินค้าประเภทใดบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตัวสินค้าที่สนใจจะส่งออก โดยปัจจุบันไทยได้แบ่งสินค้าส่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. สินค้ากำหนดมาตรฐานส่งออก
  2. สินค้ากำหนดมาตรการส่งออก
  3. สินค้ากำหนดโควต้าส่งออก และ
  4. สินค้าทั่วไป

1) สินค้ากำหนดมาตรฐานส่งออก

พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับสินค้าส่งออกของไทย เพื่อเป็น การรักษามาตรฐานที่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด และควบคุมคุณภาพของสินค้าที่จะส่งออกจากไทย ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศ และสร้างศักยภาพในการแข่งขันแก่สินค้าส่งออกของไทยด้วย

ปัจจุบัน ไทยกำหนดสินค้าที่มีมาตรฐานส่งออก 10 รายการ ได้แก่ ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวฟ่าง แป้งมันสำปะหลัง ปลาป่น ไม้สักแปรรูป ปุยนุ่ย ถั่วเขียว และถั่วเขียวผิวดำ โดยสามารถดูข้อมูลอ้างอิงได้จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ของไทย www.moc.go.th

หมายเหตุ :

(1) การส่งออกสินค้า 10 รายการข้างต้น ผู้ประกอบการจะต้องยื่นเรื่องเพื่อขอบัตรประจำตัวผู้ส่งออกก่อน (จะกล่าวถึงรายละเอียดในลำดับต่อไป) โดยหลังจากที่ได้รับบัตรประจำตัวผู้ส่งออกแล้ว จำเป็นจะต้องยื่นคำร้องเพื่อขอเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่มีมาตรฐานดังกล่าวกับสำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนในการยื่นจดทะเบียนได้ที่ http://ocs.dft.go.th เมนู “ผู้ทำการค้า ขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐาน”

(2) หลังจากที่ยื่นคำร้องแล้ว จะต้องนำสินค้าที่ต้องการส่งออกให้สำนักงานตรวจสอบมาตรฐาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือนิติบุคคล/ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ ทำการตรวจสอบสินค้าดังกล่าว

(3) หลังจากสินค้าผ่านเกณฑ์การตรวจสอบแล้ว จะได้รับ “ใบรับรองมาตรฐานสินค้า” จากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งจะใช้เป็นเอกสารประกอบการส่งออกสินค้า 10 รายการข้างต้น

2) สินค้ากำหนดมาตรการส่งออก

พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดมาตรการสำหรับ การส่งออกสินค้าจากไทย เพื่อเป็นการจัดระเบียบควบคุมการส่งออกให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลไทยกำหนดเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและประโยชน์ของชาติ ตลอดจนเป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศด้วย

ปัจจุบัน ไทยแบ่งสินค้าที่มีมาตรการการส่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าห้ามส่งออก สินค้าที่ต้อง ขออนุญาตส่งออก และสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง/ขึ้นทะเบียน/ขึ้นบัญชีประกอบการส่งออก

สินค้าห้ามส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามส่งออก “ทราย” เพื่อสงวนไว้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ และเพื่อเป็นการป้องกันการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

สินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออก

1) สินค้าเกษตรกรรม ได้แก่

  • ข้าว / ข้าวส่งออกภายใต้โควต้าภาษีของสหภาพยุโรป
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
  • ไม้และไม้แปรรูป
  • กาแฟ
  • กากถั่ว
  • ถ่านไม้
  • ช้าง
  • กุ้งกุลาดำมีชีวิต
  • หอยมุกและผลิตภัณฑ์
  • ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิต

2) สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่

  • น้ำตาลทราย
  • ถ่านหิน
  • เทวรูป
  • พระพุทธรูป
  • ทองคำ
  • สินค้ารี-เอ็กซ์ปอร์ต
  • แร่ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบ

สินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง/ขึ้นทะเบียน/ ขึ้นบัญชีประกอบการส่งออก

  1. ผัก ผลไม้
  2. ดอกกล้วยไม้
  3. ลำไย
  4. ทุเรียน
  5. กุ้ง ปลาหมึก และผลิตภัณฑ์
  6. ปลาทูน่าบรรจุภาชนะอัดลม
  7. สับปะรดกระป๋อง
  8. เครื่องนุ่งห่ม ด้าย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์ทออื่นที่มิใช่เครื่องนุ่งหุ่ม
  9. รถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ส่งออกไปไต้หวัน
  10. เพชรที่ยังไม่เจียระไน

หมายเหตุ : สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการของสินค้าแต่ละประเภทได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ http://www.dft.go.th (หน้ามาตรการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของไทย) หรือติดต่อขอคำปรึกษาเพิ่มเติม ได้ที่สำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 0-2547-4771-86

3) สินค้าที่มีโควต้าส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดโควต้าการส่งออกสินค้าบางประเภท เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณสินค้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ โดยปัจจุบันได้จำกัดปริมาณการส่งออกสินค้าสำคัญ 4 รายการ ได้แก่ 1) ข้าว 2) มันสำปะหลัง 3) น้ำตาล และ 4) ยางพาราโดยสามารถศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับ การส่งออกสินค้าทั้ง 4 รายการดังกล่าวได้จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0-2547-4771-86 หรือสายด่วนหมายเลข 1385 เว็บไซต์ http://www.dft.go.th

4) สินค้าทั่วไป

สินค้าทั่วไป หมายถึง สินค้าอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากประเภทสินค้า 3 ประเภทข้างต้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกได้โดยเสรี

เตรียมตัวทำบัตร.. ยื่นขออนุมัติเป็นผู้ส่งออก

เมื่อตรวจสอบแล้วว่าสินค้าที่ต้องการส่งออกสามารถส่งออกไปจีนได้ตามกฎระเบียบการนำเข้าของจีนและกฎระเบียบการส่งออกของไทยแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องดำเนินการ คือ การยื่นขอบัตรที่ใช้ประกอบในการส่งสินค้าไปต่างประเทศกับกระทรวงพาณิชย์ และลงทะเบียนเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ออกของกับกรมศุลกากรไทย

1. บัตรประจำตัวผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้า

หากต้องการจะทำธุรกิจส่งออกจำเป็นจะต้องมีบัตรใบนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงสถานะการเป็น ผู้ส่งออก ซึ่งต้องใช้สำหรับติดต่อกับกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น การขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า การขออนุมัติเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่มีมาตรฐานและมาตรการส่งออก เป็นต้น โดยสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับการทำบัตรได้ที่สำนักบริการการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-5474754 หรือสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 ต่อ 4101, 4161 หรือศึกษารายละเอียดการจัดเตรียมเอกสารเบื้องต้นด้วยตนเอง และดาวน์โหลดแบบฟอร์มยื่นคำขอออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ http://www.dft.go.th/LinkClick.aspx?fileticket=WFwcHdPpdu0%3d&tabid=101

2. การลงทะเบียนเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ออกของกับกรมศุลกากรไทย

เดิมทีผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกจะต้องทำบัตรฐานข้อมูลประจำตัวกับกรมศุลกากรไทย เพื่อใช้แสดงสำหรับดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากร แต่ปัจจุบันกรมศุลกากรได้เปิดให้บริการพิธีการศุลกากรการส่งออกระบบไร้เอกสาร (paperless) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และได้ยกเลิกใช้บัตร Smart Card ดังกล่าวแล้ว ซึ่งผู้ที่จะทำธุรกิจส่งออกจำเป็นต้องลงทะเบียนกับกรมศุลกากรก่อนจึงจะสามารถใช้บริการดังกล่าวได้ โดยสามารถศึกษาวิธีการลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร http://www.customs.go.th เมนูหลัก “ผู้ประกอบการ” เมนูย่อย “การลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า – ส่งออก / การขออนุญาตเป็นตัวแทนออกของ” หรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศุลกากร หมายเลข 1164

เข้าร่วมสมาชิกหน่วยงาน.. รับข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์

นอกจากผู้ส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศจะศึกษาข้อมูลหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการส่งออกจากหน่วยงานต่างๆ ของไทยแล้ว ยังอาจพิจารณาสมัครเป็นสมาชิกของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ด้วย เช่น การสมัครสมาชิกรายชื่อผู้ส่งออกสินค้าไทย (Exporter List E.L.) กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสมาชิกสามารถได้รับการสนับสนุนด้านบริการต่างๆ ของกรมฯ อาทิ การรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎระเบียบที่อัพเดทใหม่ ข่าวสารการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกต่างๆ เป็นต้น โดยกรมฯ ได้จะจัดแบ่งประเภทของสมาชิกผู้ส่งออกตามประสบการณ์ด้านการส่งออกเป็น 4 กลุ่มประเภทใหญ่ ได้แก่ 1) สมาชิกที่มีประสบการณ์การส่งออกแล้ว 2) สมาชิกที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการส่งออก 3) สมาชิกประภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (OTOP) และ 4) สมาชิกประเภทกลุ่มธุรกิจบริการ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครสมาชิกได้ที่ http://www.ditp.go.th/Exporter/Intro.htm

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภา ผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือสมาคมการค้าที่สำคัญของไทยตามประเภทสินค้าที่ต้องการส่งออก อาทิ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมยางพาราไทย สมาคมอาหารแช่แข็งไทย เป็นต้น

สำหรับบทความตอนที่ 2 นี้ น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทราบวิธีการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกสินค้าไทย และทราบกฎระเบียบเกี่ยวกับสินค้าที่จะส่งออกจากไทยได้ในระดับหนึ่งแล้ว โปรดติดตามบทความตอนต่อไป ซึ่งจะแนะนำถึงการเตรียมสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการส่งออกไปยังจีน เร็วๆ นี้

How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

บทความในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงกฎระเบียบของไทยเกี่ยวกับการส่งออกสินค้า ซึ่งครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับประเภทสินค้าที่สามารถส่งออกได้ และสินค้าที่มีการกำหนดมาตรฐานและมาตรการการส่งออก ตลอดจนได้แนะนำถึงการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย โดยหากได้ศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนและเตรียมตัวพร้อมที่จะส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อไป คือ การจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการส่งออกจากไทยและนำเข้าสู่จีน

ในการจัดเตรียมเอกสาร ผู้ส่งออกไทยต้องศึกษาว่า เอกสารใดที่หน่วยงานไทยจะตรวจสอบก่อนปล่อยสินค้าออกจากไทย และเอกสารใดที่หน่วยงานจีนจะตรวจสอบก่อนอนุญาตให้นำเข้าสู่จีน ตลอดจนหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบออกเอกสารดังกล่าวให้กับผู้ส่งออกของไทย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอบทความตอนที่ 3 เรื่อง “จัดเตรียมเอกสารก่อนส่งออกไปจีน” สำหรับให้ผู้ส่งออกไทยได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นและเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการส่งออกสินค้าไปจีน

ก่อนออกจากไทย.. เอกสารใดต้องใช้บ้าง?

โดยทั่วไปแล้ว ก่อนการส่งสินค้าออกจากไทยจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบกับการส่งออกสินค้านั้นๆ เช่น ใบอนุญาตส่งออก ใบรับรองมาตรฐานสินค้า ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ในการผ่านพิธีการทางศุลกากรของไทย หากจัดเตรียมไม่ครบศุลกากรไทยจะไม่อนุญาตให้นำสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าแต่ละประเภทจะมีขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารที่แตกต่างกัน และหน่วยงานไทยผู้รับผิดชอบด้านการออกเอกสารดังกล่าวก็แตกต่างกันด้วย อาทิ ปลาน้ำจืด จะต้องขอใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำจาก กรมประมง น้ำตาล จะต้องใบอนุญาตส่งออกจากกระทรวงอุตสาหกรรม หรือผลิตภัณฑ์ยา จะต้องขอใบรับรองวิธีการ ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานยาจากกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ เป็นต้น โดยข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารการส่งออกแบ่งตามรายการสินค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th เมนูหลัก “กฎระเบียบ” เมนูย่อย “กฎระเบียบขั้นตอนการส่งออกรายสินค้า” หรือสามารถคลิกหมวดหมู่รายการสินค้าดังต่อไปนี้ เพื่อลิงค์ไปยังเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการค้าฯ ในหน้ากฎระเบียบการจัดเตรียมเอกสารส่งออกและหน่วยงานที่รับผิดชอบออกเอกสาร

สินค้าอาหาร

  • อาหาร
  • เครื่องดื่ม

สินค้าเกษตร

  • ไม้ดอก ไม้ประดับ
  • ข้าว
  • ยาง

สินค้าไลฟ์สไตล์ / OTOP

  • เฟอร์นิเจอร์
  • ของใช้ในบ้าน
  • ของขวัญและเครื่องตกแต่งบ้าน
  • ของเล่น
  • เครื่องเขียนและสิ่งพิมพ์

สินค้าอุตสาหกรรม

  • เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์
  • วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง
  • ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า
  • พลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์
  • เครื่องจักรกล
  • เชื้อเพลิง

สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม

  • เคมีภัณฑ์
  • เครื่องสำอาง
  • ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม

สินค้าอื่นๆ

  • ผลิตภัณฑ์สำหรับทารก
  • เบ็ดเตล็ด
  • ธุรกิจบริการ

สินค้าแฟชั่น

  • อัญมณีและเครื่องประดับ
  • เครื่องหนัง
  • รองเท้า
  • สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
มีเอกสารใด.. ที่ต้องใช้ผ่านด่านจีน?

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความตอนที่ 1 การส่งออกสินค้าไปยังจีนนอกจากจำเป็นต้องเตรียมสินค้าให้ได้ตามข้อกำหนดทางการจีนแล้ว ยังจะต้องจัดเตรียมเอกสารอื่นๆ ที่ต้องยื่นขอตั้งแต่อยู่ที่ไทยเพื่อใช้ในจีนอีกด้วย

ทั้งนี้ หลังจากจัดเตรียมเอกสารสำหรับผ่านพิธีการศุลกากรฝั่งไทยตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเรียบร้อยแล้ว ยังต้องเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบคุณภาพ ควบคุมและกันกันโรคของจีน ณ ด่านจีน (CIQ) ด้วย อาทิ

หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ประเภท Form E

สินค้าส่งออกจากไทยที่ต้องการใช้สิทธิลดภาษีนำเข้าจีนตามเงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรีจีน – อาเซียนนั้น จะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ประเภท ‘Form E’ ซึ่งเป็นการรับรองว่า สินค้าที่จะส่งออกดังกล่าวประกอบด้วยวัตถุดิบภายในประเทศ มีการผลิตหรือผ่านขั้นตอนกระบวนการผลิตภายในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการส่งออกสามารถยื่นขอหนังสือรับรองดังกล่าวได้จากหน่วยงานไทยที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่

  1. กรมการค้าต่างประเทศ (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ www.dft.go.th เมนูหลัก “บริการจากกรม” เมนูย่อย “บริการอิเล็กทรอนิกส์” หัวข้อ “ระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า” หัวข้อย่อย “ดาวน์โหลด”)
  2. หอการค้าแห่งประเทศไทย (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ http://www.thaichamber.org เมนูหลัก “TCC SERVICES” เมนูย่อย “รับรองเอกสารเพื่อการส่งออก C/O”)
  3. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ www.fti.or.th เมนูหลัก “ผลิตภัณฑ์และบริการ” เมนูย่อย “ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า”)

ใบรับรองมาตรฐานสินค้าอื่นๆ เฉพาะรายการ

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความตอนที่ 1 ถึงเรื่องข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าจีน ซึ่งต้องมีการยื่นขอใบรับรองต่างๆ ก่อน เช่น ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง ใบอนุญาตนำเข้ายางพาราหรือสินค้าหมวดพิเศษ ใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น โดยสามารถศึกษาระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานและรายละเอียดของใบรับรองต่างๆ ที่ทางการจีนกำหนดได้ที่เว็บไซต์ www.aqsiq.gov.cn หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บริษัท ซี.ซี.ไอ.ซี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) โทรศัพท์ (02) 237-7740 เว็บไซต์ www.ccicthai.com

ใบรับรองเครื่องหมาย CCC Mark (China Compulsory Certificate)

“CCC Mark” เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าอุตสาหกรรมที่จะส่งเข้าสู่ประเทศจีน เพื่อจำหน่ายหรือใช้ในกระบวนการผลิตต่อ ซึ่งจะต้องตีประทับบนตัวสินค้านั้นๆ โดยกำหนดให้ใช้กับสินค้า 10 ประเภท ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า
  • ผลิตภัณฑ์ด้านการสื่อสาโทรคมนาคม
  • อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย
  • รถยนต์
  • วัสดุก่อสร้าง
  • ผลิตภัณฑ์ยางพารา
  • เครื่องจักรกลการเกษตร
  • กระจกนิรภัย
  • เคื่องดนตรี / ของเล่น
  • อุปกรณ์การแพทย์

ทั้งนี้ ใบรับรองสินค้าประเภทต่างๆ ข้างต้นจะต้องยื่นขอและได้รับอนุมัติจากหน่วยงานจีน โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นขอ CCC Mark และหน่วยงานที่รับผิดชอบการออกใบรับรองได้ที่

1) ศูนย์รับรองคุณภาพแห่งประเทศจีน http://www.cqc.com.cn เมนูหลัก “Certification” หัวข้อ “Product Certification”

2) ศูนย์ความรู้เพื่อการค้าและการลงทุนกับจีน http://www.chineselawclinic.moc.go.th เมนู “การขอฉลากสินค้า” หัวข้อ “มาตรฐานบังคับ CCC Mark”

รับรองลายมือชื่อ.. สำหรับหนังสือที่ต้องแปล

เอกสารบางประเภทที่ออกจากฝั่งไทยและต้องการนำเข้าไปใช้ในจีน จำเป็นจะต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และ/หรือรับรองว่า ลายมือชื่อ/ตราประทับที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อและตราประทับของผู้ที่มีอำนาจลงนามของหน่วยงานที่รับผิดชอบดังกล่าวจริง ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการการรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวง การต่างประเทศ โดยเอกสารที่อาจต้องทำการรับรองก่อนใช้ในจีน อาทิ

หนังสือรับรองจากหน่วยงานไทย

หนังสือรับรองที่กล่าวในข้างต้น อาทิ ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร ใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์ ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งออกโดยหน่วยงานไทย

เอกสารทางการค้า

เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งทางการจีนอาจเรียกตรวจสอบสำหรับกรณีนำเข้าสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะสินค้าที่มีข้อกำหนดมาตรการ ทางการค้า อาทิ สินค้ามีโควต้า เป็นต้น

หมายเหตุ :

(1) ศึกษารายละเอียดการเตรียมเอกสารเพื่อขอยื่นคำร้องขอรับรองเอกสารและค่าธรรมเนียมการรับรองของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้ที่ http://www.consular.go.th เมนู “บริการ” หัวข้อ “รับรองเอกสาร”

(2) หลังจากที่กรมการกงสุลรับรองลายมือชือของเอกสารแล้ว จะต้องผ่านการรับรองลายมือชื่ออีกครั้งจากหน่วยงานจีนที่อยู่ในไทยก่อน กล่าวคือ สถานทูตจีนหรือสถานกงสุลจีนที่ตั้งอยู่ในไทย โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบริการรับรองเอกสาร รับรองลายมือชื่อ ได้ที่ http://th.china-embassy.org/th/lsfw/gzrz/t571146.htm

สำหรับบทความในตอนที่ 3 นี้น่าจะทำให้ผู้ส่งออกไทยทราบข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ประกอบ การส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนในเบื้องต้นแล้ว โปรดติดตามบทความตอนต่อไป ซึ่งจะแนะนำถึงข้อมูลเกี่ยวกับ การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร เร็วๆ นี้

How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

บทความในตอนที่ผ่านมาได้อธิบายถึงการจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน ซึ่งมีทั้งเอกสารที่ศุลกากรไทยใช้ตรวจปล่อยสินค้าออกจากไทย และเอกสารที่ศุลกากรจีนใช้ตรวจสอบก่อนอนุญาตให้นำเข้าสินค้าสู่จีน ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่เตรียมเอกสารทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว คือ การดำเนินการเพื่อจัดส่งสินค้าจากไทยสู่จีน

สำหรับขั้นตอนการขนส่งสินค้านั้น ผู้ส่งออกจำเป็นจะต้อง ศึกษาข้อกำหนดการส่งมอบสินค้า (Incoterms) รวมถึงการประกันภัยสินค้า ในกรณีที่ Incoterms ครอบคลุมความรับผิดชอบด้านประกันภัยถึงผู้ส่งออกด้วย อีกทั้งการผ่านพิธีศุลกากรของทั้งฝั่งไทยและฝั่งจีน โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าวผ่านบทความตอนที่ 4 เรื่อง “การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร” ซึ่งเป็น ตอนจบของบทความชุด How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

“Incoterms” รู้จักไว้.. เลือกใช้ตามความเหมาะสม

ระหว่างการตกลงซื้อขายสินค้า ผู้ส่งออกจะต้องหารือกับผู้ซื้อแล้วว่าจะใช้เงื่อนไขการมอบสินค้า (Incoterms) แบบไหน โดยแต่ละ Incoterms ได้กำหนดให้ผู้ขายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงควรศึกษาทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนตัดสินใจว่าจะส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อในลักษณะใด โดยปัจจุบันสภาหอการค้านานาชาติ (ICC: International Chamber of Commerce) ได้กำหนด Incoterms ล่าสุดประจำปี ค.ศ. 2010 ไว้เป็นแนวทางสำหรับคู่ค้าใช้พิจารณาเลือกใช้รวมทั้งสิ้น 10 ประเภท ได้แก่

EXW (Ex Works)

ผู้ขายรับภาระจัดเตรียมสินค้าสำหรับส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ขาย (ส่งมอบ ณ โรงงาน) โดยผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดกระบวนการขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางของตนเอง

FCA (Free Carrier)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งซึ่งกำหนดโดยผู้ซื้อ โดยผู้ขายต้องทําพิธีการส่งออก รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและความเสี่ยงภัยตลอดระยะการขนส่งจากสถานที่ของผู้ขายไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งด้วย ขณะที่ผู้ซื้อจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการขนสินค้าและ ความเสี่ยงภัยไปยังจุดหมายปลายทางของตนเอง

FAS (Free Alongside Ship)

ผู้ขายรับภาระนําสินค้าส่งไปยังกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนำสินค้าของขึ้นเรือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ความเสี่ยงภัยในการนำของขึ้นเรือและระหว่างขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง รวมถึงต้องรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกเองด้วย

FOB (Free On Board)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกด้วย ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว

CFR (Cost and Freight)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว

CIF (Cost, Insurance & Freight)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายจะต้องรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก อีกทั้งจ่ายค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง

CPT (Carriage Paid To)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าซึ่งระบุโดยผู้ซื้อ ณ เมืองท่าต้นทาง โดยผู้ขายจะรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้าด้วย ขณะที่ผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าถูกส่งมอบให้ แก่ผู้รับขนส่งสินค้า ณ เมืองท่าต้นทาง

CIP (Carriage and Insurance Paid To)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าซึ่งระบุโดยผู้ซื้อ ณ เมืองท่าต้นทาง โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า และค่าประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง

DAT (Delivered At Terminal)

เป็นเทอมใหม่แทน DEQ โดยผู้ขายตามเทอม DAT รับภาระขนถ่ายสินค้าลงจากยานพาหนะที่บรรทุกไปไว้ยังสถานที่ที่ผู้ซื้อจัดไว้ ณ อาคารขนถ่ายสินค้าที่ท่าปลายทางหรือสถานที่ที่ระบุไว้

DAP (Delivered At Place)

เป็นเทอมใหม่แทน DAF , DES , DEQ และ DDU โดยผู้ขายตามเทอม DAP ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ยกเว้นค่าภาษีและพิธีการนำเข้า รวมถึงจะต้องรับความเสี่ยงภัยจนสินค้าถึงจุดหมายปลายทาง

DDP (Delivered Duty Paid)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ปลายทางของผู้ซื้อ โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ค่าประกันภัยขนส่งสินค้า รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายในการนําของลงจากเรือและค่าขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ ผู้ซื้อระบุไว้ ตลอดจนต้องดําเนินพิธีการนําเข้าสินค้าและจ่ายค่าภาษีนําเข้าแทนผู้ซื้อด้วย

หมายเหตุ : สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Incoterms ได้ที่เว็บไซต์ www.livingstonintl.com เมนู Resources เลือก Shipping หัวข้อ “Incoterms® 2010”

ขนส่งออกไทย.. ติดต่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์

สำหรับเรื่องการขนส่งสินค้าออกจากไทยนั้น ตามปกติแล้ว ผู้ส่งออกจะติดต่อกับบริษัทโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยดำเนินการขนส่งสินค้าตามเงื่อนไขที่ได้เจรจาไว้กับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าในจีน โดยบริการของบริษัทโลจิสติกส์มีตั้งแต่การติดต่อบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เพื่อดำเนินการเรื่องการจองระวางเรือ (หรือพื้นที่ระวางสินค้าทางบก/อากาศ) การบรรจุสินค้า การขนส่ง การดำเนินพิธีศุลกากรขาออกจากไทย การจัดการเกี่ยวกับเอกสารส่งออกและนำเข้า หรือการประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัท Freight Forwarder บางรายอาจรับทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดหาและจัดการขนส่งสินค้าของผู้ส่งออกไปยังเมืองท่าปลายทาง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งสินค้า หรือทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งสินค้าโดยตรง ซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operator) หรือเป็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่เจ้าของเรือ (Non-Vessel Operating Common Carrier : NVOCC) ซึ่ง Freight Forwarder จะมีสถานะเสมือนหนึ่งผู้รับขนส่งสินค้าที่สามารถจะลงนามในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ได้ด้วย

ผู้ส่งออกสามารถค้นหารายชื่อบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและบริษัทชิปปิ้งได้ที่

  1. สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย http://www.ctat.or.th เมนูรายชื่อสมาชิก
  2. สำนักโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.tradelogistics.go.th เลือกเมนูค้นหา LSP- Logistics Service Provider
  3. ฝ่ายโลจิสติกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbdlogistics.com/search.html หน้าค้นหาผู้ประกอบการ โลจิสติกส์
ติดต่อประกันภัย.. ตามเงื่อนไข Incoterm

สำหรับเงื่อนไขเทอมการค้า (Incoterm) CIF และ CIP นั้น ผู้ขาย (ผู้ส่งออก) มีหน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมถึงเรื่องการประกันภัยระหว่าง การขนส่งสินค้าด้วย ดังนั้น ก่อนการขนส่งจึงต้องติดต่อกับบริษัทผู้ให้บริการประกันภัยขนส่งสินค้าเพื่อจัดซื้อประกันภัยดังกล่าว

การประกันภัยสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเลของไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งกำหนดขอบเขตการคุ้มครองครอบคลุมถึงเรื่องการประกันความเสียหายแก่เรือ การประกันภัยตัวเรือ (Hull) และทรัพย์สิน หรือการประกันภัยสินค้า (Cargo) ที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล รวมถึงยังขยายขอบเขตความคุ้มครองไปถึงการขนส่งสินค้าทางบกและทางอากาศ ซึ่งต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเลด้วย

ทั้งนี้ ผู้ซื้อประกันภัยสามารถเลือกเงื่อนไขและขอบเขตความคุ้มครองตามชุดเงื่อนไขการประกันภัยที่ในตลาดการประกันภัยทางทะเลและขนส่งของประเทศไทย (อ้างอิงใช้ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกลุ่มผู้รับประกันภัยที่ใช้ ในอังกฤษ) โดยมีชุดเงื่อนไขความคุ้มครองที่นิยมเลือกใช้รวม 3 ชุด ซึ่งมีขอบเขตความเสี่ยงภัยที่คุ้มครองลดหลั่นลงไปตามลำดับ ได้แก่ The Institute Cargo Clauses ‘A’ Clauses ‘B’ และ Clauses ‘C’ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภัยที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และการขอรับเงินประกันภัยได้ที่ www.oic.or.th/th/elearning/index2.php และสามารถค้นหารายชื่อบริษัทที่รับประกันวินาศภัยทางทะเลได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมประกันวินาศภัยไทย www.thaigia.com/Member.html

“E-Customs” บริการใหม่.. ผ่านพิธีศุลกากรไทยสะดวกสบาย

ปัจจุบัน กรมศุลกากรไทยใช้กระบวนการผ่านพิธีการทางศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาติดต่อ ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลด้านการส่งออกแบบไร้เอกสาร (paperless) พร้อมลงรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (digital signature) ของเจ้าของลายมือชื่อ โดยเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรยืนยันและตอบรับความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ส่งออกยื่นผ่านระบบแล้ว ก็ถือว่าเป็นการยื่นเอกสารผ่านพิธีการที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร

การผ่านพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การจัดทำใบขนสินค้าขาออก 2) การบรรจุสินค้าและการจัดทำใบกำกับการขนย้ายสินค้า 3) การขนย้ายสินค้าผ่านสถานีรับบรรทุก ณ ท่าเรือ/สนามบินที่ส่งออก 4) การตัดบัญชีใบกำกับการขนย้าย และ 5) การรับบรรทุกของส่งออก โดยสามารถศึกษาวิธีการดำเนินการแต่ละขั้นตอนเพิ่มเติมได้ที่ www.cdscom.co.th/contents/public/paperlesscustoms/Customs/export.pdf

ทั้งนี้ วิธีการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกกระทำได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผู้ส่งออกส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกด้วยตนเอง 2) ผู้ส่งออกมอบหมายให้ตัวแทนออกของ (Customs Broker) เป็นผู้ส่งข้อมูลแทน 3) ผู้ส่งออกใช้บริการที่เคานท์เตอร์กรมศุลกากรในการส่งข้อมูล และ 4) ผู้ส่งออกยื่นใบขนสินค้าขาออก พร้อมแนบรายละเอียดข้อมูลใบขนสินค้าและชำระค่าธรรมเนียมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ด่าน/ท่าเรือ/สนามบินที่ส่งของออก โดยทั่วไปผู้ส่งออกนิยมให้ “ตัวแทนผู้ออกของ” หรือ Custom Broker ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการผ่านพิธีการทางศุลกากรแทนตนเอง โดยสามารถค้นหารายชื่อตัวแทนผู้ออกของอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย www.eca.or.th

นอกจากนี้ บริษัทชิปปิ้งบางรายอาจมีสถานะเป็น Customs Broker ด้วย ผู้ส่งออกจึงอาจพิจารณาเลือกใช้บริการของบริษัทชิปปิ้งดังกล่าวในการดำเนินการพิธีการศุลกากรแทนผู้ส่งออกได้ โดยบริษัทชิปปิ้งจะช่วยจัดทำ ใบขนสินค้า ยื่นใบขนสินค้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากรเพื่อให้มีการตรวจปล่อยสินค้าออกจากไทย และเมื่อสินค้าส่งถึงที่หมาย ณ ประเทศจีนแล้ว ก็ดำเนินพิธีการศุลกากรฝั่งขาเข้าจีนเพื่อส่งมอบสินค้าที่นำเข้ามาให้แก่ผู้นำเข้าได้ด้วย

ผ่านพิธีการขาเข้า.. ช่วยแบ่งเบาด้วย “Customs Broker”

เมื่อสินค้าส่งถึงท่าเรือ/ท่าอากาศยานของจีนแล้ว จำเป็นจะต้องมีตัวแทนผู้ออกของ (Customs Broker) ในจีนที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรจีน สำหรับทำหน้าที่ดำเนินพิธีการศุลกากรฝั่งขาเข้าจีน เพื่อจัดการให้สินค้าได้รับอนุญาตตรวจปล่อยผ่านเข้าอาณาเขตของประเทศจีนจากศุลกากรจีนก่อน แล้วจึงจะสามารถจัดส่งสินค้าถึงผู้รับ (ผู้ซื้อ) ได้ในลำดับต่อไป

การผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าประเทศจีนนั้น อาจพิจารณาใช้บริการของบริษัท Customs Broker ที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นจีน หรือบริษัทจีนที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ฝั่งไทย ทั้งนี้ หากคู่ค้าจีนของผู้ส่งออกเป็นผู้นำเข้าสินค้าในจีนที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว อาจสอบถามคู่ค้าจีนถึงรายชื่อบริษัท Customs Broker ในจีนที่รับดำเนินพิธีการทางศุลกากรจีนได้เช่นกัน

หลังส่งสินค้าออกจากไทย.. อย่าลืมไปขอคืนภาษีอากร

ตามนโยบายสนับสนุนการส่งออกของประเทศไทย กระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าจากไทยไปต่างประเทศสามารถยื่นเรื่องกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอคืนภาษี/อากรบางประเภทได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ซื้อมาจากในไทย/สินค้าที่ผลิตหรือใช้วัตถุดิบในไทย และภาษี/อากรนำเข้าสำหรับสินค้าส่งออกที่ใช้วัสดุจากต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น หากได้ดำเนินการส่งสินค้าออกจากไทยไปจุดหมายปลายทางที่จีนเรียบร้อยแล้ว ผู้ส่งออกอย่าลืมดำเนินการเพื่อขอคืนภาษีอากรดังกล่าวด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

หน่วยงานที่รับผิดชอบกรมสรรพากร
สิ่งที่จะได้รับคืนภาษีสินค้าหรือวัตถุดิบที่หาซื้อจากในไทย โดยราคาที่ซื้อมามีภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย
วีธีการยื่นขอคืนภาษียื่นแบบแสดงรายการเพื่อชําระภาษีและขอคืนภาษีมูลค่า รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และใบกํากับภาษีที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อก็จะสามารถขอคืนภาษีได้โดยสามารถขอคืนได้ในรูปแบบเครดิตภาษี (นำส่วนต่างหักลบจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องชำระในเดือนถัดไป) หรือคืนในรูปแบบเงินสดผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เมนู “ความรู้เรื่องภาษี” เมนูย่อยด้านซ้าย “ผู้ประกอบการส่งออก”

2. การขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ

ตามมาตรา 19 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ได้กำหนดให้ผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศสามารถขอคืนค่าภาระภาษีอากรต่างๆ ได้ อาทิ อากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมภาษีอื่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งผู้นำของเข้าได้เสียหรือวางประกันไว้ขณะนำเข้า โดยเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้นำวัตถุดิบนั้นไปผลิตผสม ประกอบหรือบรรจุเป็นสินค้าส่งออกแล้ว ก็จะได้รับการคืนอากรโดยจะคำนวณค่าภาษีอากรที่คืนให้ตามสูตรการผลิต ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตและส่งออกภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้นำเข้า และต้องขอคืนเงินอากรภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป

หน่วยงานที่รับผิดชอบกรมศุลกากร
สิ่งที่จะได้รับคืนภาษี1. วัตถุดิบที่เห็นได้ชัดว่ามีอยู่ในของที่ผลิตเพื่อส่งออก
2. วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยตรงที่มีอยู่ในของที่ผลิตส่งออก แต่ไม่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน 
3. วัตถุดิบจำเป็นที่ใช้ในการผลิต
วีธีการยื่นขอคืนภาษีผู้นำของเข้าจะต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ (แบบ กศก.29) ต่อส่วนคืน และชดเชยอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ซึ่งต้องแจ้งความจำนงต่อกรมศุลกากร และยื่นเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถศึกษาขั้นตอนและเงื่อนไขการยื่นขอคืนได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร www.customs.go.th เมนูด้านซ้าย “สิทธิประโยชน์ทางศุลกากร” หัวข้อ “การคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ”

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความชุดเรื่อง How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!! ทั้ง 4 ตอน จะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดจีน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจมีคำถามเพิ่มเติมประการใด ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนทั้ง 9 แห่งมีความยินดีและพร้อมให้บริการข้อมูลทุกท่านเสมอ

การค้า
นำเข้าจากจีน

Coming Soon

การค้า
แก้ไขปัญหาทางการค้าในจีน

เมื่อเกิดปัญหาทางการค้าในจีน ทางออกเพื่อแก้ไขปัญหามักจบลงด้วยการระงับข้อพิพาทและฟ้องคดีซึ่งแบ่งเป็นระบบที่สำคัญ 5 ประเภท ดังนี้

1. ระบบการระงับข้อพิพาทโดยวิธีไกล่เกลี่ย

หลักการของระบบการไกล่เกลี่ย หมายถึง บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเกิดข้อพิพาททางแพ่งซึ่งไม่สามารถที่จะเจรจาหาข้อยุติด้วยกันเองได้ ตกลงมอบหมายให้บุคคลที่ 3 เป็นผู้ทำการไกล่เกลี่ยหาข้อยุติเพื่อระงับข้อพิพาท โดยผู้ไกล่เกลี่ยจะทำหน้าที่เกลี้ยกล่อมและชักจูงให้คู่กรณีตกลงยอมรับข้อเสนอแนะโดยสมัครใจจนถึงขั้นทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยทั่วไปผู้ไกล่เกลี่ยจะมาจากยินยอมร่วมกันของทั้งคู่กรณี เช่น คนกลางที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทั้งคู่กรณี นักกฏหมาย ฯลฯ

2. ระบบการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ

ระบบอนุญาโตตุลาการ หมายถึง ระบบทางกฎหมายอย่างหนึ่งที่คู่กรณีที่เกิดข้อพิพาททางแพ่ง ได้ตกลงกันว่าจะนำข้อพิพาทนั้นเข้าสู่การพิจารณาของบุคคลที่สามที่ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งขึ้นโดยสมัครใจกัน โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดตามระเบียบอนุญาโตตุลาการ โดยทั่วไปแล้ว อนุญาโตตุลาการเป็นกิจกรรมภาคเอกชนที่เกิดขึ้นในวงการธุรกิจ เป็นพฤติการณ์ที่กระทำโดยเอกชน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นพฤติการณ์ที่ทำการตัดสินชี้ขาดโดยเอกชน มิใช่ตัดสินชี้ขาดโดยรัฐ อนุญาโตตุลาการถูกกำหนดให้เป็นรูปแบบการแก้ไขข้อพิพาททางแพ่งที่เทียบเคียงกับการแก้ไขข้อพิพาทโดยการเจรจา ไกล่เกลี่ยและการดำเนินคดีต่อศาล แต่การอนุญาโตตุลาการอยู่ภายใต้การควบคุมแลของรัฐตามกฎหมาย รัฐจะให้ศาลเข้าไปแทรกแซงกิจการของอนุญาโตตุลาการในเรื่องผลการบังคับใช้ของข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ การกำหนดขั้นตอนดำเนินการอนุญาโตตุลาการ การบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและในกรณีที่คู่กรณีไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กิจกรรมต่างๆ ของอนุญาโตตุลาการจึงมีลักษณะทางยุติธรรมเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในระบบยุติธรรมของจีน

3. ระบบการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการฟ้องร้องคดี

การระงับข้อพิพาทโดยการฟ้องร้องคดีแบ่งเป็น 3 ระบบสำคัญ ได้แก่

3.1 ระบบการสอบสวนสืบสวน

การระงับข้อพิพาทวิธีนี้ คือ การนำปัญหาข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี โดยเริ่มจาก การสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่องค์กรตำรวจเพื่อตรวจสอบตามข้อบัญญัติของกฏหมายจีน ความรับผิดชอบในด้านการสืบสวนสอบสวนจะเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการรับเรื่องราวร้องทุกข์กล่าวโทษและตั้งข้อกล่าวหา การเริ่มต้นสอบสวน การรวบรวมพยานและหลักฐาน การควบคุมตัวและการจับกุม และการดำเนินการส่งฟ้อง

3.2 ระบบอัยการ

ระบบอัยการ หมายถึง ลักษณะ หน้าที่ ระบบจัดตั้ง หลักการการจัดตั้งและการจัดทำกิจกรรม รวมทั้งระเบียบการทำงานต่าง ๆ ขององค์กรอัยการของรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งอัยการประชาชนกำหนดว่า สำนักงานอัยการประชาชนเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลงานฝ่ายกฎหมายของรัฐ มีอำนาจในการใช้สิทธิทางอัยการของรัฐ สำนักงานอัยการประชาชนจัดตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของการประชุมผู้แทนประชาชนในระดับท้องถิ่นต่างๆ ทำหน้าที่รับผิดชอบและรายงานการดำเนินต่อการประชุมของสภาผู้แทนประชาชน

3.3 ระบบตุลาการ

จีนมีระบบการพิจารณาพิพากษาคดีโดยระบบศาล ซึ่งประกอบด้วยการจัดตั้งศาลประชาชน ผู้พิพากษา และกระบวนการพิจารณาพิพากษา รัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลประชาชนกำหนดไว้ว่า ศาลประชาชนเป็นองค์กรพิจารณาคดีของรัฐ ระบบศาลประกอบด้วยศาลประชาชนชั้นต่างๆ ในท้องถิ่นต่างๆ ศาลประชาชนชำนาญพิเศษเฉพาะกิจและศาลประชาชนสูงสุด การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลประชาชนทุกชั้นทุกประเภทอยู่ภายใต้อำนาจการกำกับดูแลของศาลประชาชนสูงสุด ศาลประชาชนท้องถิ่นทุกชั้นจัดตั้งขึ้นตามการแบ่งเขตท้องที่ของการปกครอง นอกจากนี้ ยังมีผลการจัดตั้งศาลประชาชนเฉพาะกิจขึ้นตามความจำเป็นแห่งบริหารราชการ ระบบศาลที่สำคัญมีดังนี้ ศาลประชาชนชั้นต้น ศาลประชาชนชั้นกลาง ศาลประชาชนชั้นสูง ศาลทหาร ศาลพาณิชย์นาวี ศาลการขนส่งทางรถไฟ ศาลประชาชนสูงสุด

3.4 ระบบทนายความ

ระบบทนายความ หมายถึง ระบบที่เกี่ยวกับลักษณะ หน้าที่ หลักการของการจัดตั้งองค์กร และการประกอบวิชาชีพของทนายความตามข้อบัญญัติของกฎหมาย และบรรทัดฐานทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้บริการทางกฎหมายต่อสังคมของทนายความ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ประกาศบังคับใช้ “กฎหมายว่าด้วยทนายความ” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 “ทนายความ” หมายถึง บุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความตามกฎหมายและให้บริการด้านกฎหมายแก่สังคม ทนายความเป็นพลังสำคัญส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการผลักดัน การสร้างระบบกฎหมายให้สมบูรณ์ การประกอบวิชาชีพทนายความนอกจากต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว ยังต้องมีจริยธรรมและมีวินัยในการประกอบวิชาชีพทนายความด้วย อีกทั้งต้องยึดถือหลักความจริงและหลักกฎหมายเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงานวิชาชีพทนายความด้วย ทนายความมีหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิประโยชน์อันชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายของคู่กรณี ดำรงไว้ซึ่งการใช้กฎหมายอย่างถูกต้องเพื่อความยุติธรรม

4. การระงับข้อพิพาทโดยระบบโนตาลีพับบลิค

โนตารีพับบลิค หมายถึง การรับรองเอกสารหรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านกฎหมายทางแพ่งโดยบุคคลที่มีคุณสมบัติและได้รับอนุญาตให้กระทำการรับรองได้ตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2000 กระทรวงยุติธรรมได้ประกาศบังคับใช้ “ข้อกำหนดว่าด้วยการปฏิรูปกิจการของโนตารีพับบลิค” โดยกำหนดให้ผู้ที่จะทำหน้าที่โนตารีพับบลิคนั้นจะต้องผ่านการสอบคุณสมบัติโดยกระทรวงยุติธรรม เมื่อสอบผ่านแล้วจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโนตารีพับบลิค มีอำนาจหน้าที่ในการรับรองเอกสารหรือข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งหนังสือรับรองที่ออกโดยโนตารีพับบลิคนั้นสามารถรับฟังได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

5. ระบบการชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

ระบบการชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ หมายถึง ความรับผิดของรัฐในการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ตรา “กฎหมายว่าด้วยการชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 มาตรา 2 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดไว้ว่า หากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐใช้อำนาจหน้าที่จนเป็นเหตุละเมิดสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ ประเภทของความรับผิด มี 2 ลักษณะ คือ 1) ความรับผิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางการปกครอง 2) ความรับผิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางอาญา


ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

การค้า
ธุรกรรมการเงินไทย-จีน

คู่มือการทำธุรกรรมเงินหยวน เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ

คู่มือการทำธุรกรรมเงินหยวนฉบับนี้ จัดทำขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) โดย มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกรรม โดยใช้เงินหยวน เพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน การค้าระหว่างประเทศทั่วโลก มีการใช้เงินสกุลหลักในการชำระเงินค่าสินค้า ได้แก่ เงินดอลลาร์ สรอ. เงินยูโร เงินเยน อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่วิกฤตการเงิน ในสหรัฐอเมริกา ใน ปี 2551 รวมทั้งวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ตั้งแต่ ปี 2553 ที่ได้ ทวีความรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มลุกลาม ต่อไปยังประเทศอื่นในยุโรป ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ มีการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ ผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลต่อเสถียรภาพของค่าเงินดอลลาร์สรอ.เงินยูโรและระบบการเงินโดยรวม

วิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐฯและยุโรป ส่งผลให้บทบาททางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรป มีความสำคัญลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่ยังไม่ฟื้นตัว ในขณะที่ประเทศจีน มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลกมากขึ้นตามลำดับในปี 2553 จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างเป็นทางการ แซงหน้าประเทศญี่ปุ่นซึ่งครองอันดับ 2 มาเป็นทศวรรษ โดยเป็นรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น นอกจากนี้ จีน ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของ โลก และ เป็นประเทศคู่ค้า ในการส่งออกและนำเข้าที่มีมูลค่าสูงสุด อันดับที่ 2 ของไทย (รองจากญี่ปุ่น) โดยมูลค่า นำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับจีน ในปี 2554 คิดเป็น 58 พัน ล้าน ดอลลาร์ สรอ. หรือ ร้อยละ 12.7 ของ มูลค่านำเข้า ส่งออกทั้งหมด และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับ ที่ 12 (ปี 2554-2558) ของจีน ที่ให้ความสำคัญกับอาเซียนในฐานะกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญ จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณการค้าระหว่างไทยและจีนจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ในปี 2552 จีน เริ่มผลักดันนโยบายสนับสนุนเงินหยวนสู่สากล หรือที่เรียกว่า “RMB Internationalization” และได้มีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการอนุญาตให้ใช้ เงินหยวนชำระค่าสินค้าบริการระหว่างประเทศในระดับ “ภูมิภาค” (Regionalization) และ ขยายไปทั่วโลก (Globalization) นโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ เงินหยวน หมุนเวียนนอกประเทศจีน โดยมี ฮ่องกง เป็นศูนย์กลางเงินหยวนนอกประเทศจีน “Offshore Yuan Business” ซึ่งบริษัทต่างชาติ สามารถระดมทุน ลงทุนในตราสารทางการเงินและซื้อขายเงินหยวน เพื่อการชำระค่าสินค้าบริการและการลงทุน ระหว่างประเทศ ได้อย่างคล่องตัวในฮ่องกง

ในการนี้ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Bank of China-PBC) ได้ร่วมกับธนาคารกลางประเทศต่างๆ จัดทำความตกลงทวิภาคี ในการแลกเปลี่ยนเงินสกุลหยวนและเงินท้องถิ่นของประเทศต่างๆ (Bilateral Currency Swap Arrangement) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ระบบการเงินในการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระเงินจากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลงนามความตกลงทวิภาคี เพื่อแลกเปลี่ยนเงินสกุลหยวนและบาท กับ PBC เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา

จากความสำคัญของเศรษฐกิจจีนต่ออาเซียนและประเทศไทย รวมทั้งนโยบายของจีน ที่จะผลักดันเงินหยวน ให้เป็นสกุลหลักของโลก เช่นเดียวกับ เงินสกุล หลักอื่นๆ เช่น ดอลลาร์ สรอ. ยูโร ซึ่งมีความผันผวนมากขึ้น จากปัญหาวิกฤตการเงินโลก นั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการไทย ที่มีการทำธุรกิจ การค้า การลงทุน กับประเทศจีน มีทางเลือกมากขึ้น ในการใช้เงินหยวน ซึ่งเป็นสกุลเงินของคู่ค้า ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับประเทศไทย และค่าเงินมีแนวโน้มเคลื่อนไหว ในทิศทางเดียวกัน รวมทั้ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและขยายโอกาสทางธุรกิจในประเทศจีน อันจะช่วยให้ธุรกิจไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ธนาคารกสิกร ไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) จึงร่วมกัน จัดทำคู่มือการทำธุรกรรมเงินหยวน เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการเล่มนี้ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่ธุรกิจไทย ให้ทราบถึงประโยชน์ของการใช้เงินหยวน ในการทำธุรกิจกับประเทศจีน ขั้นตอนการชำระเงินหยวน สำหรับธุรกิจนำเข้าและส่งออก บริการธุรกรรม เงินหยวน ของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ให้บริการเงินหยวน อันจะช่วยให้ผู้ประกอบการใช้ประกอบการตัดสินใจ เลือกใช้สกุลเงิน ที่เหมาะสมในการทำธุรกิจการค้ากับคู่ค้า ในประเทศจีนทั้งนี้ หากผู้ประกอบการท่านใด สนใจจะค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ท่านสามารถสอบถามจากธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการตามที่ระบุไว้ในคู่มือฉบับนี้

อนึ่ง คณะผู้จัดทำคู่มือการทำธุรกรรมเงินหยวน เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ จะดำเนินการปรับปรุงคู่มือ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ทั้งของทางการจีนและไทยรวม ทั้งข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบคู่มือฉบับล่าสุด ได้ที่ Website ของ ธนาคารประเทศไทย https://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/Pages/default.aspx

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน