เทคโนโลยี 5G และ NB-IoT ปั้นท่าเรืออัจฉิยะ (Smart port) แห่งแรกในกว่างซี

14 Aug 2020

ไฮไลท์

  • ท่าเรือฝางเฉิงก่างพร้อมก้าวสู่ “ท่าเรืออัจฉิยะ” (Smart Port) เป็นแห่งแรกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G และเทคโนโลยีเครือข่ายพลังงานต่ำ (NB-IoT) จากบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง China Mobile สาขากว่างซี
  • เทคโนโลยี 5G และ NB-IoT ได้เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพในท่าเทียบเรือฝางเฉิงก่าง ความแรงและความเร็วของสัญญาณ 5G รวมถึงการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสั่งการผ่านห้องควบคุมระยะไกลแบบ Real-time และทำให้กิจกรรมที่ท่าเทียบเรือ มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
  • ในระยะต่อไป ท่าเรือจะนำเทคโนโลยี Edge Computing / Computer Vision / AI และการระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูงมาใช้ เพื่อพัฒนาและต่อยอดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในท่าเรือ และใช้เทคโนโลยี 5G ขับเคลื่อน การทำงานในท่าเทียบเรือให้เป็นระบบอัตโนมัติ ระบบดิจิทัล และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ท่าเรือฝางเฉิงก่างก้าวไปสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะอีกระดับ

 

“ท่าเรือฝางเฉิงก่าง” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (หรือที่คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย) ได้พัฒนาท่าเทียบเรือหมายเลข 9 ให้เป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งแรกของมณฑล โดยอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G และเทคโนโลยีเครือข่ายพลังงานต่ำ (NB-IoT) จากบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง China Mobile (中国移动) สาขากว่างซี

ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ กำลังทวีบทบาทสำคัญในการเป็น “ประตู” เชื่อมโยงการค้าและระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศจีนกับต่างประเทศ การใช้ประโยชน์จากกลุ่มท่าเรือแห่งนี้ มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ปริมาณการขนถ่ายสินค้าโดยรวมและปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ขยายตัวสูงเป็นอันดับ 1 ในบรรดาท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของจีน

ในอดีต การแลกเปลี่ยนข้อมูลของกิจกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นในท่าเทียบเรือฝางเฉิงก่างใช้ระบบสัญญาณ Wi-Fi ซึ่งไม่มีความเสถียรและจุดบอดจำนวนมาก จึงไม่สามารถบูรณาการทำงานของเครนยกตู้สินค้ากับการส่งผ่านข้อมูลแบบ Real-time ของกล้องเซนเซอร์รับภาพความละเอียดสูงในท่าเทียบเรือได้ ทำให้ต้องใช้ระบบ Manual ที่สิ้นเปลืองทั้งแรงงานคนและเวลา

เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของท่าเทียบเรือให้ตอบสนองปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ร่วมกับบริษัท China Mobile สาขากว่างซี ได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์/เครื่องมืออำนวยความสะดวกภายในท่าเทียบเรือให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยี 5G และ NB-IoT เป็นเทคโนโลยีหลัก (Core Technology) ที่เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพให้ท่าเทียบเรือฝางเฉิงก่างก้าวสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะในครั้งนี้ ความแรงและความเร็วของสัญญาณ 5G และการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสั่งการผ่านห้องควบคุมระยะไกลแบบ Real-time ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนแรงงานบริเวณหน้างาน และช่วยให้กิจกรรมการผลิตในท่าเทียบเรือมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

สำหรับแผนงานในระยะต่อไป บริษัท China Mobile สาขากว่างซี จะนำเทคโนโลยี Edge Computing / Computer Vision / AI และการระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูง มาใช้พัฒนาและต่อยอดกิจกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นในท่าเรือ และใช้เทคโนโลยี 5G ขับเคลื่อนการทำงานในท่าเทียบเรือให้เป็นระบบอัตโนมัติ ระบบดิจิทัล และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ท่าเรือฝางเฉิงก่างก้าวไปสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะอีกระดับ

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้แบ่งหน้าที่ของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ท่าเรือชินโจวเป็นท่าเรือศูนย์กลางสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ ท่าเรือฝางเฉิงก่างและท่าเรือเป๋ยไห่เป็นท่าเรือสำหรับสินค้าเทกอง (Bulk) โดยทั่วไปแล้ว เรือสินค้าจากต่างประเทศจะเข้ามาที่ท่าเรือชินโจวก่อนกระจายไปยังสองท่าเรือนี้

การพัฒนาเทคโนโลยีของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนถ่ายสินค้าในท่าเทียบเรือให้สูงขึ้น และช่วยดึงดูดให้ผู้ค้าหันมาใช้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการนำเข้า-ส่งออกเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร และความพร้อมของระบบงานขนส่ง เรือ+รางเพื่อทำการค้ากับจีน โดยเฉพาะกับพื้นที่ภาคตะวันตกตอนในของประเทศจีน

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 7 สิงหาคม 2563
ภาพประกอบ www.sohu.com

Smart Portท่าเรืออัจฉิยะเทคโนโลยีเครือข่ายพลังงานต่ำAIComputer VisionEdge ComputingNB-IoT

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน