“พลังงานลมนอกชายฝั่ง” ไพ่ใบใหม่ของกว่างซี กับโอกาสความร่วมมือของไทย

5 Mar 2024

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” เป็นความท้าทายที่ทั่วโลกต้องรับมือและเร่งหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน รัฐบาลหลายชาติเริ่มกำหนดทิศทางในการบริหารจัดการพลังงาน ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนทางพลังงานควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด-พลังงานทางเลือก รวมถึงประเทศจีน

รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายอย่างแข็งขัน เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” และ “สังคมคาร์บอนต่ำ” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึงระดับสูงสุดภายในปี 2573 และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) หรือลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2603 ตามที่รัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นกับประชาคมโลกในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 75 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563

ท่านทราบหรือไม่ว่า… ในประเทศจีน การใช้ ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนสูงเกือบร้อยละ 60 ส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42 ของอุตสาหกรรมพลังงานในจีน

ท่ามกลางความกระหายพลังงาน หนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลจีนคาดหวังว่าจะนำไปสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การเพิ่มสัดส่วนการบริโภคเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิล (non-fossil fuel) ในโครงสร้างการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศจีน โดย “พลังงานลมนอกชายฝั่ง” ถือเป็น 1 ในพลังงานทางเลือกที่จีนให้ความสนใจและต้องการนำมาเป็นพลังงานทดแทน

ใน “แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ระยะ 5 ปี (ระหว่างปี 2564 – 2568) ฉบับที่ 14” ที่ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ได้ระบุสาระสำคัญ โดยกำหนดให้ “อ่าวเป่ยปู้” ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ  “อ่าวตังเกี๋ย” เป็น 1 ใน 5 ฐานการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งของจีน ร่วมกับพื้นที่คาบสมุทรซานตง พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี พื้นที่ตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน และพื้นที่ตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง

โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง(เมือง)ฝางเฉิงก่าง เป็นโครงการต้นแบบของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งแรกของจีนตะวันตกเฉียงใต้ ลงทุนโดยบริษัท Guangxi Investment Group Co.,Ltd. (广西投资集团有限公司) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนราว 24,500 ล้านหยวน เริ่มการก่อสร้างเมื่อเดือนมีนาคม 2566 และคาดว่าการก่อสร้างจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2567

โครงการดังกล่าวประกอบด้วยฟาร์มกังหันลม 3 จุดบริเวณนอกชายฝั่งทะเลใกล้เมืองฝางเฉิงก่าง (จุด A , จุด F1, จุด F2) มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง[*] 1.8 ล้านกิโลวัตต์ โดยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 ฟาร์มกังหันลมจุด A เริ่มใช้งานบางส่วนแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อโครงการเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ จะสามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้มากกว่าปีละ 5,000 ล้านกิโลวัตต์ ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าขั้นพื้นฐาน 5 ล้านหลังคาเรือน ลดการใช้ถ่านหินมาตรฐาน (Standard Coal) 1.5 ล้านตัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ราว 4 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 33.65 ล้านต้น


ความเป็น “ที่สุด” ของโครงการสาธิตโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง(เมือง)ฝางเฉิงก่าง มีดังนี้

⮚ เป็นโปรเจกต์พลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งแรกในจีนที่ฐานกังหันลมทั้งหมดใช้แท่นยึดติดพื้นทะเล (Jackup Rig Offshore Platform) เนื่องจากสภาพทางธรณีวิทยาพื้นท้องทะเลในอ่าวเป่ยปู้เป็นหินเมฟิก (Basic rock) ที่มีเนื้อแข็ง ทำให้การขุดเจาะฐานหินมีความยากลำบาก กอปรกับบริเวณโดยรอบของฟาร์มกังหันลมเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณการจราจรทางเรือหนาแน่น จึงเพิ่มความยากลำบากในการก่อสร้างขึ้นไปอีก

⮚ มีการจัดตั้ง Workstation ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเลแห่งแรกของกว่างซี ระหว่างบริษัท Guangxi Investment Group Co.,Ltd. กับมหาวิทยาลัยกว่างซี (广西大学) และสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

⮚ เป็นโปรเจกต์พลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งแรกในจีนที่ใช้ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของกังหันลมนอกชายฝั่งประเภทกำลังการผลิตเดี่ยว (Single Capacity Offshore Wind Turbine) ขนาด 8.5 เมกะวัตต์ขึ้นไปทั้งหมด ตัวใบพัดเป็นวัสดุ คอมโพสิตอีพ็อกซี่เรซินเสริมใยแก้ว (Fiberglass Epoxy Composite) ซึ่งมีความแข็งแรง ต้านทานลมพายุได้ดี รับแรงลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดี ผนวกกับเทคโนโลยีกังหันลมแบบกึ่งต่อตรง (Semi-Direct Drive/半直驱) ที่เหมาะสำหรับการใช้งานที่ความเร็วลมต่ำ-ปานกลาง

⮚ เป็นโปรเจกต์พลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งแรกในจีนที่ใช้สถานีเพิ่มแรงดันไฟฟ้าแบบแบ่งเป็นโซน (Module) ที่มีกำลังการผลิตเดี่ยว (Single Capacity Offshore Booster Station) มากที่สุด ซึ่งช่วยประหยัดต่อขนาด ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับฟาร์มกังหันลมในสเกลเดียวกัน จะต้องใช้สถานีเพิ่มแรงดันไฟฟ้า จำนวน 2 -3 สถานี

⮚ เป็นโปรเจกต์พลังงานลมนอกชายฝั่งที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการ อาทิ ดาวเทียมระบุพิกัดเป๋ยโต่ว + 5G + Wi-Fi และการพัฒนา 1 ศูนย์ 2 แพลตฟอร์ม คือ ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่แบบครบวงจร (多融合大数据中心) แพลตฟอร์มการจัดการเตือนภัยล่วงหน้าแบบครบวงจร (综合预警管理平台) และแพลตฟอร์มการจัดการอัจฉริยะแบบเบ็ดเสร็จ (智能一体化管理平台) ซึ่งช่วยบริหารจัดการด้านการความปลอดภัย สามารถควบคุมแบบรวมศูนย์ (Centralized Monitoring) ประหยัดกำลังคน ประหยัดต้นทุนในการบำรุงรักษา และเพิ่มความรวดเร็วในการรับมือภาวะฉุกเฉิน

⮚ มีการใช้กังหันลมแบบกึ่งต่อตรง และแบบป้อนสองทาง (Doubly-Fed Induction Generator หรือ DFIG) กำลังสูงสุด 18 เมกะวัตต์ เท่ากับการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าชั่วโมงละ 18,000 ยูนิต เส้นผ่านศูนย์กลางรอบวงใบพัดยาวสุด 290 เมตร หน่วยกังหันลมหมุนทุกหนึ่งรอบสามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าราว 60 ยูนิต สามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ 100 ล้านยูนิต/ปี สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ 1 แสนหลังคาเรือน หน่วยกังหันลมช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราวปีละ 70,000 ตัน

จากข้อมูลพบว่า กว่างซีมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งอีก จำนวน 8 แห่ง ครอบคลุมถึงที่เมืองชินโจวและเมืองเป๋ยไห่ โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการเตรียมงานก่อสร้าง

การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งของเมืองฝางเฉิงก่าง เป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน การพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแบบคลัสเตอร์ (Cluster) โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก อาทิ การผลิตหอคอยกังหันลม และใบพัดกังหันลมเป็นหลัก อุตสาหกรรมเสริม อาทิ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และกระปุกเกียร์กังหันลม รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ การผลิตไฮโดรเจนจากน้ำทะเล ฟาร์มทะเล ซึ่งช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ผลักดันให้เกิดนวัตกรรม และเกิดการสร้างธุรกิจใหม่

ตัวอย่างเช่น ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของจีนอย่างกลุ่มบริษัท Mingyang Group (明阳集团) และบริษัท Powerchina Sinohydro Engineering Bureau 4 Co.,Ltd. (水电四局) ได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของกังหันลมบนบกและกังหันลมนอกชายฝั่ง (เริ่มสายการผลิตแล้ว) และกำลังก่อสร้างโรงงานผลิตใบพัดกังหันลมที่มีความยาวพิเศษ โรงงานหอคอยกังหันลม โรงงานสายเคเบิ้ลที่เมืองฝางเฉิงก่างแล้ว

ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่สังคมพลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และได้คลอดแผนขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2561 – 2580

เมื่อ “พลังงานทางเลือก” กำลังกลายเป็นพลังงาน “ที่ต้องเลือก” ภายใต้ข้อจำกัดที่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตอุปกรณ์กังหันลมได้เอง เมืองฝางเฉิงก่างจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับภาคธุรกิจไทยที่กำลังมองหาพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนาความร่วมมือทางการค้าการลงทุนด้านพลังงานลม เรียนรู้ประสบการณ์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจพลังงานลมในกว่างซีได้เช่นกัน

ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้พยายามเน้นย้ำถึงการส่งเสริมการลงทุนจากธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะประเด็นการปฏิบัติด้วยความเสมอภาคและทัดเทียมทางกฎหมาย การแข่งขัน และการคุ้มครอง/สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนของธุรกิจต่างชาติ และการจัดตั้งกลไกการทำงานเพื่อให้บริการและติดตามความคืบหน้าในการลงทุน รวมถึงการให้บริการรับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักลงทุนต่างชาติแล้วด้วย



จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.cec.org.cn (中国电力企业联合会) วันที่ 30 มกราคม 2567
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网-广西频道) วันที่ 29 มกราคม 2567
เว็บไซต์ http://paper.people.com.cn (人民日报) วันที่ 21 ธันวาคม 2566
เว็บไซต์ http://bbwb.gxzf.gov.cn (北部湾办) วันที่ 18 ตุลาคม 2566

ฝางเฉิงก่างพลังงานลมนอกชายฝั่ง

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน