14 มณฑลจีน ปั้นเส้นทางขนส่ง “บก+ทะเล” แห่งภาคตะวันตก

13 Nov 2019

ไฮไลท์

  • รัฐบาลกลางได้ประกาศ “แผนแม่บทเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC) พร้อมยกฐานะความสำคัญของเส้นทางดังกล่าวให้เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติแล้ว
  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีบทบาทสำคัญในเส้นทาง NWLSC เนื่องจากรัฐบาลกลางได้กำหนดให้ “กลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” และ “ด่านพรมแดนทางบก” ของกว่างซี เป็น Hub สำคัญที่มณฑลทางภาคตะวันตกของจีนสามารถใช้เป็นประตูเชื่อมออกสู่ต่างประเทศ โดยอาศัยโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการขนส่งในรูปแบบ “รถไฟ+เรือ”
  • เส้นทาง NWLSC เป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน (ตอนใน) หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป โดยสามารถใช้บริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยและการขนส่งทางบกจากภาคอีสานไทยผ่านเข้าด่านโหย่วอี้กวานของกว่างซี

 

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 รัฐบาลกลางได้ประกาศ “แผนแม่บทเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC /西部陆海新通道) พร้อมยกระดับความสำคัญของเส้นทางดังกล่าวขึ้นเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติแล้ว

เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก หรือเดิมใช้ชื่อว่า “เส้นทางมุ่งลงใต้” (Southern Transportation Corridor/南向通道) เป็นข้อริเริ่มที่รัฐบาลกลางใช้ส่งเสริมการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน มีบทบาทในการเป็นตัวเชื่อมโยงยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) กับเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) และเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt)

แผนแม่บทฯ ครอบคลุม 13 มณฑล/เขตปกครองตนเอง/เทศบาลนครของจีน (กรอบยุทธศาสตร์ “การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก” หรือ Great Western Development Strategy) ได้แก่ นครฉงชิ่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลกานซู่ มณฑลเสฉวน มณฑลส่านซี มณฑลยูนนาน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ มณฑลชิงไห่ เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เขตปกครองตนเองทิเบต และมณฑลไห่หนาน

เพื่อให้แผนแม่บทดังกล่าวมีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2562 รัฐบาล 12 มณฑลทางภาคตะวันตก ร่วมกับรัฐบาลมณฑลไห่หนาน และรัฐบาลเมืองจ้านเจียงของมณฑลกวางตุ้ง ได้ร่วมกันลงนามกรอบข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเส้นทาง NWLSC ร่วมกันที่นครฉงชิ่ง เพื่อพัฒนาให้เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำ การดำเนินพิธีการศุลกากรที่มีประสิทธิภาพสูง คุณภาพบริการด้านโลจิสติกส์ชั้นยอด ระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่มีความสะดวกรวดเร็ว และศักยภาพการขนส่งที่สูง

ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าสายหลักมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

(1) เส้นทางขนส่งทางรถไฟ สายนครฉงชิ่ง-มณฑลกุ้ยโจว-เขตฯ กว่างซีจ้วง วิ่งให้บริการรวม 1,349 เที่ยว

(2) เส้นทางขนส่งทางรถไฟระหว่างประเทศ สายนครฉงชิ่ง-เขตฯ กว่างซีจ้วง-กรุงฮานอย(เวียดนาม) วิ่งให้บริการรวม 103 เที่ยว

(3) เส้นทางขนส่งทางบกระหว่างประเทศ สายนครฉงชิ่ง-อาเซียน(เวียดนาม) มีปริมาณรถบรรทุกขาออกเกือบ 1,600 เที่ยว

บทบาทของกว่างซี รัฐบาลกลางได้กำหนดให้ “กลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” และ “ด่านพรมแดนทางบก” ของกว่างซี เป็น Hub สำคัญของเส้นทาง NWLSC ที่มณฑลทางภาคตะวันตกของจีนสามารถใช้เป็นประตูเชื่อมออกสู่ต่างประเทศ โดยอาศัยโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการขนส่งในรูปแบบ “รถไฟ+เรือ”

ปัจจุบัน เส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ไปยังนครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน มณฑลยูนนนาน มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลกานซู่ ได้เปิดให้บริการเป็นเที่ยวประจำแล้ว ขณะที่การขนส่งทางเรือจากท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ไปยังประเทศสิงคโปร์ก็มีให้บริการเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 เที่ยว และมีเที่ยวเรือไปยังเมืองฮ่องกงทุกวัน ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งตู้สินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีการขยายตัวเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจีน

ด้านการขนส่งสินค้าทางบกระหว่างประเทศพบว่า มีปริมาณสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน หลายปีก่อน ปริมาณรถบรรทุกสินค้าที่ด่านโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border Gate) อยู่ประมาณวันละ 300 คัน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็นวันละ 1,300 คัน ในปี 2561 มีปริมาณขนส่งตู้สินค้า 3.5 แสนTEUs ซึ่งขยายตัวมากกว่าร้อยละ 90

บีไอซี เห็นว่า การยกฐานะความสำคัญให้เส้นทาง NWLSC เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์แห่งชาติที่จีนใช้เปิดภาคตะวันตกสู่ภายนอก เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนตะวันตกกับอาเซียน และเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน (ตอนใน) หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยอยู่แล้ว

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 10, 14 ตุลาคม 2562
         เว็บไซต์  www.ndrc.gov.cn (国家发改委)

รถไฟ+เรือSilk Road Economic Belt21st Century Maritime Silk RoadGreat Western Development StrategyNew Western Land-Sea Corridor - NWLSCNWLSCSouthern Transportation CorridorYangtze River Economic Beltการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน