เสฉวนเมินแม่น้ำแยงซีเกียง หันใช้รถไฟขนส่งสินค้า “มุ่งลงใต้”

25 Jun 2018

      มณฑลเสฉวนเปิดทดลองวิ่งรถไฟขนส่งสินค้าสำหรับการค้าต่างประเทศในเส้นทาง เมืองหลูโจว-ท่าเรือชินโจวนับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของพื้นที่จีนตะวันตกในการพัฒนางานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ในโมเดล “รถไฟ + เรือ” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “เส้นทางมุ่งลงใต้”  

      ข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟ เมืองหลูโจว-ท่าเรือชินโจว มีดังนี้

  •   เริ่มต้นสถานีที่ “เขตท่าเรือ (แม่น้ำ) เสฉวนใต้ในเขตทดลองการค้าเสรีเสฉวน” (South Sichuan Port Area, China (Sichuan) Pilot Free Trade Zone/四川自贸区川南临港片区) เมืองหลูโจว (Luzhou City/泸州市) มณฑลเสฉวน และสิ้นสุดสถานีที่ท่าเรือเมืองชินโจวของกว่างซี
  •   เมืองหลูโจวเป็นเมืองที่ 2 ของมณฑลเสฉวนที่เปิดใช้เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าเพื่อออกสู่ทะเลที่ท่าเรือเมืองฺชินโจว ต่อจากนครเฉิงตู
  •   ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าออกสู่ทะเลเส้นที่ 2 ของเขตท่าเรือเสฉวนใต้ ต่อจากเส้นทางเมืองหลูโจว-ท่าเรือหวงผู่ (Huangpu Port) นครกว่างโจว
  •   ขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 18 โบกี้ ภายในบรรจุชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ใช้เวลาในการขนส่งเพียง 4 วัน
  •   สินค้าเหล่านี้ถูกลำเลียงขึ้นเรือไปยังสิงคโปร์ก่อนส่งต่อไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนและทวีปแอฟริกา

      นายจู ชิวรุ่น (Zhu Qiurun/朱秋润) ผู้อำนวยการประจำสำนักบริหารเขตท่าเรือเสฉวนใต้เขตทดลองการค้าเสรีมณฑลเสฉวน ให้ข้อมูลว่า เส้นทางรถไฟดังกล่าวมีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูง เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางถนนมากกว่า 50% และใช้เวลาสั้นกว่าการขนส่งทางแม่น้ำ (แยงซีเกียง) มากถึง 20 วัน จึงเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลที่มีความสะดวกและรวดเร็วมากที่สุดเส้นทางหนึ่งของเมืองหลูโจวและพื้นที่ข้างเคียง

      ขบวนรถไฟดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเมืองหลูโจวและพื้นที่ตอนใต้ของมณฑลเสฉวน โดยพื้นที่เหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางเดินเรือของท่าเรือชินโจวเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียนและเอเชียใต้ เป็นการสนับสนุน “ช่องทางเลือก” ในการกระจายสินค้าของท่าเรือหลูโจว และเป็นการวางรากฐานให้กับท่าเรือหลูโจวในการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้านำเข้าส่งออกและพื้นที่รองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม

      ขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกในภูมิภาค โดยเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง

      BIC เห็นว่า ปัจจุบัน ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “รถไฟ + เรือ” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “เส้นทางมุ่งลงใต้” ซึ่งมีท่าเรือเมืองชินโจวเป็น “ข้อต่อ” สำคัญ เริ่มมีบทบาทชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากความได้เปรียบด้านต้นทุน ระยะทาง และระยะเวลาขนส่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนน และทางแม่น้ำแยงซีเกียง ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกหันมาใช้เส้นทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

      ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการอาเซียน (รวมถึงไทย) สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการส่งออกสินค้าเพื่อเจาะตลาดพื้นที่จีนตอนในและตลอดไปถึงประเทศในฝั่งยุโรปได้เช่นกัน โดยเส้นทางรถไฟจากท่าเรือเมืองชินโจวได้เชื่อมต่อกับโครงข่ายเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) อย่างสมบูรณ์แล้ว

 

ลิงก์ข่าว

ลู่ทางสินค้าเกษตรไทยเจาะจีนตอนใน ต้องที่นี่ กว่างซี (8 มิ.ย. 2561)

ภาคธุรกิจจีนชิงโอกาสลงทุนในเส้นทางโลจิสติกส์ มุ่งลงใต้ (5 มิ.ย. 2561)

นครหนานหนิงเปิดใช้ ศูนย์โลจิสติกส์ระบบรางขนาดยักษ์ รองรับการเป็น Hub ขนส่งสินค้าจีน-อาเซียน-ยุโรป (21 พ.ค. 2561)

เส้นทางมุ่งลงใต้จีน-สิงคโปร์ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์พัฒนาตลาดผลไม้จีน-อาเซียน (3 พ.ค. 2561)

จัดทำโดย นางสาวภาสิริ เอี่ยมศิริ นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยกว่างซี

เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2561

ภาพประกอบ www.straitstimes.com

เส้นทางมุ่งลงใต้Multimodal Transportationมุ่งลงใต้งานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเมืองหลูโจว

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน