ลงทุนใน “เขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี” สิทธิประโยชย์เพียบ

9 Jan 2020

ไฮไลท์

  • เขตการปกครองตนเองกว่างซีเป็น 1 ใน 6 มณฑลที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางให้จัดตั้ง “เขตทดลองการค้าเสรีจีน” (ชุดที่ 5) ของประเทศจีน โดยกว่างซีได้กำหนดพื้นที่จัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีใน 3 เมือง ได้แก่ นครหนานหนิง (เมืองเอก) เมืองชินโจว (เมืองท่า) และเมืองฉงจั่ว (เมืองชายแดน)
  • รัฐบาลกว่างซีมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยได้ปรับปรุงนโยบายให้มีความยืดหยุ่นและเอื้ออำนวยต่อนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับแก้ระเบียบ ลดขั้นตอน ลดข้อจำกัดของทุนต่างชาติในการเข้าสู่ตลาด รวมถึงปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ
  • การพัฒนาและต่อยอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เป็นจุดเด่นของอาเซียน(กับจีน) ทั้งภาคบริการ การเงิน และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เพื่ออาศัยห่วงโซ่อุตสาหกรรมข้างต้นเป็นตัวขับเคลื่อนห่วงโซ่บริการ (service chain) ด้านอื่นๆ
  • รัฐบาลกว่างซีได้นำกลไกการแจกเงินรางวัลสูงสุดถึง 100 ล้านหยวน และการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับบริษัทที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นมาใช้เพื่อดึงดูดนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลกให้เข้ามาจัดตั้งสำนักงานในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)

 

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 รัฐบาลกลางอนุมัติให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจัดตั้ง “เขตทดลองการค้าเสรีจีน” (ชุดที่ 5) พร้อมกับอีก 5 มณฑล ได้แก่ มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู มณฑลเหอเป่ย มณฑลยูนนาน และมณฑลเฮยหลงเจียง โดยกว่างซีได้กำหนดพื้นที่จัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีใน 3 เมือง ได้แก่ นครหนานหนิง (เมืองเอก) เมืองชินโจว (เมืองท่า) และเมืองฉงจั่ว (เมืองชายแดน)

ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ เป็นจุดยุทธศาสตร์ใหม่ของการพัฒนาและการเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางตอนล่างของประเทศจีน เป็นทางออกสู่ทะเลของพื้นที่ภาคตะวันตกของภาคกลางตอนล่าง เป็นข้อต่อของเส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (ILSTC) และเป็นจุดเชื่อมต่อของยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI)

เขตทดลองการค้าเสรี (Pilot Free Trade Zone) หรือ PFTZ เป็นพื้นที่พิเศษที่ได้รับนโยบาย/สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนมากกว่าข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) เป็นเขตพื้นที่ที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าต่างประเทศแบบปลอดภาษี รวมถึงการนำเข้าสินค้าสำหรับการแปรรูปเพื่อส่งออก

เพื่อส่งเสริมดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ เขตฯ กว่างซีจ้วงได้ออก “นโยบายสนับสนุนการพัฒนาเชิงคุณภาพของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” ที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน อาทิ

  • ปฏิรูปและบูรณาการระบบการทำงาน

โดยเฉพาะการ “กระจายอำนาจ” ในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจให้กับหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น และผลักดันการปฏิรูป เช่น การตรวจสอบและอนุมัติด้วยตนเองในมณฑล การให้บริการภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ (e-Government) และการเดินทางติดต่อภาครัฐให้จบในครั้งเดียว (ปกติ ด้วยระเบียบที่มีความยุ่งยากซ้ำซ้อน ทำให้ผู้ที่มาติดต่อหน่วยงานภาครัฐจีนต้องวิ่งติดต่อหลายครั้งกับหลายหน่วยงาน)

ในบริบทที่รัฐบาลกลางได้มอบอำนาจให้รัฐบาลมณฑลสามารถตรวจสอบอนุมัติ(โครงการ)ได้เอง โดยหลักการจะมอบอำนาจ/มอบหมายให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแลในเขตทดลองนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด หากเป็นการตรวจสอบอนุมัติที่ต้องผ่านรัฐบาลกลาง ให้เขตทดลองฯ นั้นเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรก (high priority) ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการตรวจสอบอนุมัติและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างมาก

  • พัฒนาและต่อยอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมในด้านต่างๆ

ด้านการบริการ มุ่งส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่โดดเด่นของอาเซียน(กับจีน) และอาศัยห่วงโซ่อุตสาหกรรมข้ามแดน (cross border industry chain) เป็นตัวขับเคลื่อนห่วงโซ่บริการ (service chain) อาทิ โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การบริการด้านการเงินระหว่างประเทศ การวิจัยและพัฒนาความร่วมมือ และการว่าจ้างบริการจากภายนอก (outsource) รวมทั้งสนับสนุนให้เขตทดลองทุกแห่งจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรม กองทุนร่วมลงทุน ศูนย์วิจัยและพัฒนา ศูนย์การออกแบบ ศูนย์ตรวจสอบและซ่อมบำรุง ห้องปฏิบัติการทดลองระดับชาติ ศูนย์จัดแสดงและจัดจำหน่าย ศูนย์ชำระบัญชี และศูนย์บริการด้านทรัพยากรบุคคล

ด้านการพัฒนาธุรกรรมการเงินข้ามพรมแดน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การเป็น “ประตูการเงินมุ่งสู่อาเซียน” นั้น มุ่งเร่งผลักดันให้สถาบันการเงินพัฒนาบริการการเงินข้ามพรมแดน (ให้มีการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถควบคุมความเสี่ยงได้ และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน) สำหรับผู้ที่อยู่ในเขตทดลองทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการออกตราสารหนี้ข้ามพรมแดน การควบรวมกิจการข้ามพรมแดน และการจัดการเงินทุนข้ามแดนแบบรวมศูนย์ และการสนับสนุนให้นครหนานหนิงเป็น “ศูนย์กลางการเงินจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Financial Town)

ด้านโลจิสติกส์ มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางหลักของ “เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (NWLSC) สนับสนุนการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ ระบบงานท่าเรือแบบไร้เอกสาร (paperless) บริการด้านท่าเรือและเส้นทางเดินเรือ ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (multimodal transportation) และระบบงานเอกสาร(ใบตราส่งสินค้า)ชุดเดียวในระบบงานขนส่ง นอกจากนี้ ยังผลักดันการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระหว่างประเทศนครหนานหนิง สถานีรถไฟระหว่างประเทศนครหนานหนิง และเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานนครหนานหนิง สนับสนุนการพัฒนาของอำเภอระดับเมืองผิงเสียงในฐานะข้อต่อ(ทางบก)ที่สำคัญในระบบงานโลจิสติกส์ และการพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศในเชิงลึกเพื่อผลักดันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน

  • แจกเงินรางวัล/จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อดึงนักลงทุนตั้งสำนักงานใหญ่

กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจ Top 500 ของโลก ธุรกิจ Top 500 ของจีน บริษัทข้ามชาติ บริษัทที่เป็นผู้นำในสาขาธุรกิจ บริษัท SMEs ที่เป็นผู้นำด้านใดด้านหนึ่งในสาขาธุรกิจ และรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ โดยบริษัทเหล่านี้สามารถเข้ามาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค หรือสำนักงานใหญ่ที่มีหน้าที่ฟังก์ชันเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่งในเขตทดลองฯ ได้

สำหรับธุรกิจที่มีคุณสมบัติสอดคล้องมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามเงื่อนไข อาทิ

  • เงินอุดหนุน 1% ของทุนจดทะเบียนสำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 50 ล้านหยวน
  • เงินอุดหนุน 2% ของทุนจดทะเบียนสำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 50–200 ล้านหยวน
  • เงินอุดหนุน 3% ของทุนจดทะเบียนสำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนเกินกว่า 200 ล้านหยวน

ทั้งนี้ บริษัทมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนสะสมสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านหยวน โดยจะแบ่งชำระให้บริษัทเป็นเวลา 5 ปี ปีละ 20%

นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายเงินรางวัลให้กับบริษัทที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic contribution) เป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งบริษัท (ประเมินจากการชำระภาษี การใช้จ่าย การจ้างงาน และอื่นๆ) โดยมีเงื่อนไข อาทิ

  • เงินรางวัล 60% ของยอดเงินที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นของปีนั้นๆตั้งแต่ 1-5 ล้านหยวน
  • เงินรางวัล 70% ของยอดเงินที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นของปีนั้นๆเกินกว่า 5 ล้านหยวน

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลกว่างซีมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยได้ปรับปรุงนโยบายรัฐให้มีความยืดหยุ่นและเอื้ออำนวยต่อนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับแก้ระเบียบ ลดขั้นตอน ลดข้อจำกัดของทุนต่างชาติในการเข้าสู่ตลาด รวมถึงปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ โดยเมื่อปีที่แล้ว (2562) รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศให้หน่วยงานภาครัฐในกว่างซีเร่งบูรณาการทำงานเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 พันธกิจที่รัฐบาลกลางได้วางแนวทางไว้เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ (อีก 5 ด้าน คือ การจ้างงาน การเงิน การค้าต่างประเทศ การลงทุน และการทำงานให้บรรลุตามเป้าหมาย) รายละเอียดเพิ่มเติม กว่างซีย้ำนโยบายส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติ

 

 

จัดทำโดย นางสาว นครชนก ศรีประเสริฐ นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยพะเยา
ผู้เรียบเรียง นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 25 ธันวาคม 2562
ภาพประกอบ www.pixabay.com

WTOChina-ASEAN Financial TownNWLSCcross border industry chaine-GovernmentEconomic contributionPFTZPilot Free Trade Zoneservice chain

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน