มิติใหม่แห่งระบบขนส่ง ‘ฉงชิ่ง-กว่างซี-สิงคโปร์’

20 Jul 2017

เมืองชินโจว (Qinzhou City,钦州市) ของเขตฯ กว่างซีจ้วงชูบทบาทการเป็น ข้อต่อเชื่อมโยงการค้าของพื้นที่ตอนในทางภาคตะวันตกกับสิงคโปร์

ขอบคุณภาพประกอบ: BIC Guangzhou

เมื่อไม่นานมานี้ นครฉงชิ่งและกว่างซีได้เปิดทดลองเดินรถไฟขนส่งสินค้าส่งออกเที่ยวปฐมฤกษ์จากนครฉงชิ่งมายังท่าเรือชินโจว (ภาษาจีนเรียกว่า "อวี๋กุ้ยซิน" 渝桂新) ใช้เวลาเดินทาง 48 ชั่วโมง เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรก่อนนำสินค้าลงเรือเพื่อส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์

สินค้าที่มากับรถไฟขบวนนี้เป็นกระดาษและรถจักรยานยนต์ โดยสินค้าเหล่านี้จะถูกส่งออกจากท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวไปยังประเทศสิงคโปร์ก่อนที่จะส่งต่อไปยังประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ คาดหมายว่า ปีนี้จะมีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ด้วยรถไฟสายนี้ราว 1 หมื่น TEUs

ในบริบทที่นครฉงชิ่งกับอาเซียนมีกิจกรรมการค้าระหว่างกันอย่างใกล้ชิด อาเซียนเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของนครฉงชิ่ง ที่ผ่านมา สินค้าส่งออกมากกว่าร้อยละ 90 ของนครฉงชิ่งใช้การขนส่งทางเรือผ่านแม่น้ำแยงซีเกียงเพื่ออาศัยท่าเรือเซี่ยงไฮ้ในการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน (ประมาณ 15 วัน)

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเส้นทางขนส่งเส้นใหม่ที่มีระยะทางใกล้และมีต้นทุนต่ำ เส้นทางดังกล่าวเริ่มต้นสถานีที่นครฉงชิ่ง ผ่านนครกุ้ยหยาง (มณฑลกุ้ยโจว) เข้าสู่เขตฯ กว่างซีจ้วงผ่านนครหนานหนิง และสิ้นสุดเส้นทางที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ท่าเรือชินโจว และท่าเรือเป๋ยไห่) เพื่อต่อเรือบรรทุกสินค้าไปยังต่างประเทศ

นับเป็นมิติใหม่ของระบบงานขนส่งโลจิสติกส์ที่บูรณาการ ราง+เรือและ ในประเทศ+ต่างประเทศและเป็นช่องทางการขนส่งสินค้าออกสู่ทะเลที่มีความสะดวกรวดเร็วที่สุดของมณฑลตอนในทางภาคตะวันตกของประเทศจีน และเป็นส่วนสำคัญของนโยบายมุ่งลงใต้ภายใต้โครงการความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์จีน(ฉงชิ่ง) – กว่างซี – สิงคโปร์ ระยะทาง 4,080 กิโลเมตร

นายหวัง สยงชาง (Wang Xiongchang,王雄昌) รองประธานสามัญประจำคณะกรรมาธิการบริหารเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว ชี้ว่า เส้นทางรถไฟดังกล่าวเป็นตัวเชื่อมยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน

กล่าวคือ นครฉงชิ่งกับยุทธศาสตร์ One Belt หรือแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมที่มีเส้นทางรถไฟนครฉงชิ่ง-เขตฯ ซินเจียง-ทวีปยุโรป (ภาษาจีนเรียกว่า อวี๋ซินโอว渝新欧) เชื่อมกับเขตฯ กว่างซีจ้วงกับยุทธศาสตร์ One Road หรือเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถอาศัยท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ไปยังอาเซียน

"ปัจจุบัน พวกเราเล็งเห็นโอกาสของผลไม้อาเซียนในตลาดเอเชียกลาง ผลไม้จากอาเซียนสามารถอาศัยด่านท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวเป็นช่องทางเข้าสู่ตลาดภาคตะวันตกของประเทศจีน และอาศัยเส้นทางรถไฟอวี๋ซินโอวส่งไปจำหน่ายต่อยังเอเชียกลาง" นายหวังฯ กล่าว

 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

ช่องทางใหม่ของการขนส่งผลไม้(ไทย)เข้ากว่างซี (06 เม.. 2560)

ด่านท่าเรือชินโจวจะเริ่มทดลองนำเข้าผลไม้แล้ว (10 พ.ค. 2560)

"ท่าเรือฝางเฉิงก่าง" ทางเลือกใหม่ของการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน (14 .. 2558)

ยูนนานอาศัย "ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้" ออกทะเล เปิดระบบรางขนส่งร่วมสู่ท่าเรือฝางเฉิงก่างของกว่างซี (20 .. 2558)

กว่างซีขนส่งร่วมอวี๋กุ้ยซิน渝桂新

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน