ภาคธุรกิจจีนชิงโอกาสลงทุนในเส้นทางโลจิสติกส์ “มุ่งลงใต้”

6 Jun 2018

      เส้นทาง “มุ่งลงใต้” จีน-สิงคโปร์ เป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างมณฑลทางภาคตะวันตกของจีนกับประเทศในอาเซียนและเอเชียกลาง (เชื่อมไปไกลถึงฝั่งยุโรป) โดยเน้นการพัฒนาระบบงานขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ที่มี “ท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว” ของกว่างซีเป็นข้อต่อสำคัญของเส้นทางนี้

       บริษัท Guangxi Xiaohe Supply Chain Management (广西效合供应链管理有限公司) เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใช้ประโยชน์จาก “เส้นทางขนส่งผลไม้ทางเรือจีน-ไทย” (สายเรือ SITC) เพื่อนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยผ่านเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว

      นายจาง ซวี่เฟิง (Zhang Xufeng/张旭峰) รองผู้จัดการบริษัท Guangxi Xiaohe Supply Chain Management กล่าวว่า การพัฒนาเส้นทาง “มุ่งลงใต้” ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และปีนี้ บริษัทฯ วางแผนจะเปิดบริษัทใหม่ที่นครฉงชิ่งและนครเฉิงตู ซึ่งเป็นเมืองสำคัญในกรอบโลจิสติกส์นี้

      เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวได้วางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ (positioning) ในกรอบเวลา 5 ปีภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 (ระหว่างปี 2559-2563) เป็น (1) ช่องทาง/เส้นทางระหว่างประเทศที่เชื่อมสู่อาเซียน (2) จุดยุทธศาสตร์การพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกสู่พื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน (3) ข้อต่อสำคัญของยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) และ (4) ศูนย์กลาง (Hub) เส้นทางการค้า “บก+ทะเล” ระหว่างประเทศ

      ระบบงานขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเส้นทาง “มุ่งลงใต้” ในฐานะ “จุดเชื่อม” ระบบงานขนส่งทาง “บก+ทะเล” บนเส้นทางดังกล่าว ที่ผ่านมา เขตท่าเรือฯ ได้เร่งพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง อาทิ

  •   การพัฒนาโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือ เช่น ลานสินค้า สถานีรถไฟขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในบริเวณท่าเรือ อุปกรณ์เครน
  •   การบูรณาการร่วมกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างมณฑล โดยเฉพาะพิธีการศุลกากรและงานตรวจปล่อยสินค้าในกลุ่มผลไม้ สินแร่ วัสดุไม้ และรถยนต์ประกอบสำเร็จ
  •   การเปิดให้บริการเที่ยวขนส่งตู้สินค้าในโมเดล “เรือ+รถไฟ” กับหัวเมืองสำคัญในภาคตะวันตก โดยเฉพาะกับนครฉงชิ่งที่เปิดเป็นเที่ยวประจำทั้งขาขึ้นและขาล่องแล้ว และกำลังทดลองเที่ยวขนส่งตู้สินค้าเย็น (Reefer Container) นอกจากนี้ ยังมีนครเฉิงตู และนครหลานโจว
  •   การเพิ่มเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์ให้มีความถี่มากขึ้น
  •   การพัฒนาเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าเส้นทางใหม่ไปยังอินเดียและเอเชียกลาง

     เจ้าหน้าที่คณะกรรมการบริหารเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว ให้ข้อมูลว่า ปีนี้ เขตท่าเรือฯ วางแผนงาน 5 ด้าน เพื่อพัฒนาให้ท่าเรือก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง (Hub) เส้นทางการค้าใหม่ “บก+ทะเล” ได้แก่ (1) การรวมศูนย์งานโลจิสติกส์การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ (2) การจัดตั้งพื้นที่นำร่องการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ (3) การศึกษานโยบายสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางมุ่งลงใต้ (4) การพัฒนาโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับเส้นทางมุ่งลงใต้ และ (5) การพัฒนาระเบียบ/ขั้นตอนการดำเนินพิธีการศุลกากรและตรวจปล่อยสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service/Single Window)

      เจ้าหน้าที่ฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขตท่าเรือฯ จะพัฒนาความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกแบบรอบด้านกับอาเซียน โดยมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม 5 สาขา ได้แก่ (1) การเดินเรือและโลจิสติกส์ (2) การค้าระหว่างประเทศ (3) การแปรรูป (4) การบริการทางการเงิน และ (5) การค้าบริการแบบมืออาชีพ (Professional Service Trade) เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่

 

ลิงก์ข่าว

นครหนานหนิงเปิดใช้ ศูนย์โลจิสติกส์ระบบรางขนาดยักษ์ รองรับการเป็น Hub ขนส่งสินค้าจีนอาเซียนยุโรป (21 .. 2561)

จีนเชิญนานาประเทศร่วมพัฒนา เส้นทางมุ่งลงใต้จีนสิงคโปร์ (10 .. 2561)

เส้นทางมุ่งลงใต้จีนสิงคโปร์ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์พัฒนาตลาดผลไม้จีน-อาเซียน (3 .. 2561)

เมืองผิงเสียง ชูโมเดลโลจิสติกส์ รถ+รถไฟเชื่อมอาเซียน-จีน-ยุโรป (18 เม.. 2561)

ท่าเรือชินโจว ทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการส่งออก (ไทย) (17 เม.. 2561)

กว่างซีเดินเครื่องเต็มสูบ พัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์จีน-สิงคโปร์ (16 มี.. 2561)

  กว่างซีจับมือสิงคโปร์พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เชื่อมจีน(ตอนใน)สู่โลก (15 .. 2560)

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา
เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2561

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/rail-corridor-to-boost-s-e-asia-west-china-trade-links

 

เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวMultimodal Transportationขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบมุ่งลงใต้เส้นทาง “มุ่งลงใต้” จีน-สิงคโปร์

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน