บทที่ 2 ของโลจิสติกส์จีนตะวันตกเชื่อมโลก: “รถไฟ+เรือ” ในเส้นทางเฉิงตู-กว่างซี

26 Dec 2017

      บทบาทของเขตฯ กว่างซีจ้วงในการเป็น Hub ระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) มีความโดดเด่นชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อแวดวงโลจิสติกส์จีนเล็งเห็นข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และความพร้อมของท่าเรือในกว่างซีในการเป็นจุดเชื่อมโยงพื้นที่จีนตอนในกับต่างประเทศ

      หลังการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟ“หรงกุ้ย”(蓉桂)ซึ่งเป็นเที่ยวขบวนขนส่งสินค้าระหว่างนครเฉิงตู (ชื่อย่อว่า Rong/)กับเขตฯ กว่างซีจ้วง (ชื่อย่อว่า Gui/) เป็นเวลาเดือนครึ่ง พบว่า เส้นทางขนส่งดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

      รถไฟขนส่งสินค้า “หรงกุ้ย” เป็นเส้นทางขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “ราง+เรือ” เส้นที่ 2 จากพื้นที่ภาคตะวันตก ผ่านท่าเรือในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) ไปยังอาเซียนและภูมิภาคอื่นทั่วโลก ต่อจากเส้นทาง “อวี๋กุ้ยซิน” (渝桂新) ระหว่างนครฉงชิ่ง-เขตฯ กว่างซีจ้วง-สิงคโปร์

      ความเคลื่อนไหวสำคัญของเส้นทางรถไฟ “หรงกุ้ย” มีดังนี้

  •   3 พฤศจิกายน 2560 ปล่อยขบวนรถไฟ “หรงกุ้ย” เที่ยวปฐมฤกษ์จากนครเฉิงตู มีตู้สินค้า 64 TEUs ใช้เวลา 52 ชั่วโมง
  •   5 พฤศจิกายน 2560 ขบวนรถไฟ “หรงกุ้ย” เที่ยวปฐมฤกษ์เดินทางถึงสถานี Qinzhou Port East ในท่าเรือชินโจว และขนถ่ายขึ้นเรือบรรทุกตู้สินค้าเพื่อส่งออกไปยังเวียดนาม และบังกลาเทศ
  •   ข้อมูล ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2560 ขบวนรถไฟขาล่อง (นครเฉิงตู-ท่าเรือชินโจว) มีทั้งหมด 8 เที่ยว รวมจำนวนตู้สินค้า 582 TEUs โดยทั้งหมดเป็นการค้าต่างประเทศ
  •   สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ อะไหล่ยานยนต์ โซเดียมซัลเฟต (anhydrous sodium sulfate) ไทเทเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) และปุ๋ยเคมี
  •   ท่าเรือจุดหมายปลายทาง ได้แก่ ท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ / ท่าเรือโฮจิมินห์ของเวียดนาม / ท่าเรือไฮฟาของอิสราเอล / ท่าเรือมะนิลาของฟิลิปปินส์ / ท่าเรือกลังของมาเลเซีย และท่าเรือโคลัมโบของศรีลังกา

      เส้นทางรถไฟดังกล่าวนับเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางรางที่มีความสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูง และมีต้นทุนต่ำ มีบริษัท COSCO Shipping Logistics (中远海运物流有限公司) เป็นผู้ให้บริการ นับเป็นช่องทางการค้าช่องทางใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมจากภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก

      ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า “หรงกุ้ย” เริ่มต้นจากสถานี Chengdu Chengxiang (成都城厢站) ผ่านสถานี Guiyang South (贵阳南站) สิ้นสุดเส้นทางที่สถานี Qinzhou Port East (钦州港东站)เป็นโมเดลการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อระหว่าง “รถไฟ+เรือ”

      เจ้าหน้าที่บริษัท COSCO ให้ข้อมูลว่า รถไฟขนส่งสินค้า “หรงกุ้ย” ใช้เวลาการขนส่งเฉลี่ย 52-70 ชั่วโมง ประหยัดเวลาลง 10-15 วันเมื่อเทียบกับการขนส่งแบบเดิมที่ใช้วิธีการล่องผ่านแม่น้ำแยงซีเกียงไปยังท่าเรือทางภาคตะวันออก

      ปัจจุบัน ขบวนรถไฟ “หรงกุ้ย” ให้บริการสัปดาห์ละ 1 เที่ยวทุกวันศุกร์ และมีเที่ยวขบวนเสริม 1 เที่ยวในวันอาทิตย์ (เที่ยวพิเศษในกรณีที่มีสินค้าส่งออกเป็นจำนวนมาก)

      ขณะนี้เส้นทางรถไฟ “หรงกุ้ย” จะให้บริการเฉพาะ “ขาล่อง” (นครเฉิงตู-ท่าเรือชินโจว) ซึ่งบริษัท COSCOอยู่ระหว่างการเจรจากับการรถไฟนครหนานหนิง (Nanning Railway Bureau/南宁铁路局) หน่วยงานกำกับดูแลด้านการรถไฟในกว่างซีเรื่องการปรับลดค่าขนส่งเที่ยวรถไฟขาขึ้น (ท่าเรือชินโจว-นครเฉิงตู)

      หากข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบแล้ว บริษัท COSCO พร้อมเปิดให้บริการรถไฟขาขึ้นได้ทันทีอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 เที่ยว และจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการเปิดช่องทางนำเข้าสินค้า “เรือ+รถไฟ” อีกหนึ่งช่องทางสำหรับผู้ค้าจีนกับต่างประเทศ

      BIC เห็นว่า จีนแผ่นดินใหญ่ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระบบรางร่วมกับระบบอื่น (เรียกสั้นๆ ว่า railway plus) โดยรากฐานสำคัญเกิดขึ้นจากความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานทางรางที่สามารถเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ เป็นการเดินเกมรุกของรัฐบาลจีนในการสร้างความเชื่อมโยงกับนานาประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงพื้นที่จีนตอนในและการเชื่อมโยงที่มุ่งไปยังอาเซียน

      จากบริบทข้างต้น เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นมณฑลเดียวในภูมิภาคตะวันตกที่มีทางออกสู่ทะเล และมีพรมแดนติดกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเลรัฐบาลกลางจึงกำหนดยุทธศาสตร์ให้กว่างซีเป็นประตูสู่อาเซียน (Gateway to ASEAN)และข้อต่อของยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ดังนั้น กว่างซีนับเป็นผู้เล่นตัวสำคัญในเกมนี้

      ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีมุ่งพัฒนามณฑลสู่การเป็น Hub เชื่อมโยงการขนส่งทางบก+เรือ โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว) เป็นตัวเชื่อมการขนส่งทางรถไฟ+เรือ และนครหนานหนิงเป็นฐานการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยังกรุงฮานอยของเวียดนาม ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้วทั้งสิ้น

 

ลิงก์น่าสนใจ

เทรนด์ขนส่ง ระบบรางกำลังมาแรงในกว่างซี(12 .. 2560)

โลจิสติกส์เฉิงตู หรงโอว+เคลื่อนขบวนขนส่งสินค้าสู่อาเซียนแล้ว(1 .. 2560)

บทความ
:อวี๋กุ้ยซินพลิกโฉม โลจิสติกส์จีนเชื่อมโลกแล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไร (21 .. 2560)

เปิดหวูดปฐมฤกษ์ “รถไฟขนสินค้าข้ามชาติกว่างซี-เวียดนาม” ตอกย้ำยุทธศาสตร์Gateway to ASEAN(29 .. 2560)

4 มณฑลจีนตะวันตกจรดน้ำหมึก ร้อยโซ่ทองคล้องยุทธศาสตร์ Belt and Road(4 .. 2560)

กว่างซีเร่งกระชับความร่วมมือด้านท่าเรือกับประเทศอาเซียน(31 .. 2560)

กว่างซีตั้งเป้า ฮับโลจิสติกส์ของภูมิภาค(18 .. 2560)


จัดทำโดย :     นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา
:   เว็บไซต์www.gx.chinanews.com (中新社) วันที่ 23 ธันวาคม 2560 

                 เว็บไซต์
www.cet.com.cn(中国经济新闻网)

อวี๋กุ้ยซินขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรงกุ้ยเฉิงตูกว่างซี

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน