ฉุดไม่อยู่ ขนส่ง “เรือ+ราง” ที่กว่างซี โต 56.5% ในไตรมาสแรก ปี 2565

20 Apr 2022

ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นทางเลือกที่ผู้นำเข้า-ส่งออกให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมีข้อได้เปรียบ ทั้งในด้านประสิทธิภาพงานขนส่ง ความสะดวกรวดเร็วที่ได้รับจากการใช้บริการ ตลอดจนต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายที่ลดลง

ที่ผ่านมา บีไอซี ได้นำเสนอพัฒนาการของโมเดลงานขนส่ง “เรือ+ราง” ในกว่างซีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโมเดลดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ภาคธุรกิจไทยในการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับจีน โดยเฉพาะตลาดจีนตอนในทางภาคตะวันตก และสามารถขยายตลาดต่อไปถึงเอเชียกลาง และยุโรปได้ด้วย

นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟผ่านเขตฯ กว่างซีจ้วงมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความเคลื่อนไหวใหม่ที่น่าสนใจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” และโมเดลการขนส่งรถไฟระหว่างประเทศจีน-เวียดนาม เริ่มตั้งแต่การเปิดเส้นทาง “สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ – ท่าเรือชินโจว – นครหลานโจว” เพื่อลำเลียงรถยนต์นำเข้า ต่อด้วยการเปิดเส้นทาง “อาเซียน – ท่าเรือชินโจว – นครซีอาน” เพื่อลำเลียงสินค้าจากอาเซียน และการเปิดเส้นทาง “อินเดีย – ท่าเรือชินโจว – นครกุ้ยหยาง – นครฉงชิ่ง” เพื่อลำเลียงน้ำตาลดิบ ดินขาว และทรายควอตซ์

ข้อมูลล่าสุด ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 ขบวนรถไฟลำเลียงตู้สินค้าในโมเดลการขนส่ง เรือ+ราง ที่ท่าเรือชินโจว มีปริมาณการลำเลียงตู้สินค้าสะสม 170,000 TEUs เพิ่มขึ้น 56.5% (YoY) คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 62,00 TEUs แบ่งเป็นตู้สินค้าที่ขนถ่ายจากเรือขึ้นรถไฟ 107, 000 TEUs เพิ่มขึ้น 57.2% (YoY) คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 39,000 TEUs และเป็นตู้สินค้าที่ขนถ่ายจากรถไฟขึ้นเรือ 63,000 TEUs เพิ่มขึ้น 55.3% (YoY) คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 22,000 TEUs

ขณะที่การขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม ปัจจุบัน สินค้าที่มีการนำเข้า-ส่งออกผ่านขบวนรถไฟลำเลียงตู้สินค้าจีน-เวียดนาม มีมากกว่า 200 ชนิด ครอบคลุมทั้งวัตถุดิบยาสมุนไพร ผลไม้ และอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีขบวนรถไฟลำเลียงตู้สินค้าวิ่งสะสม 98 เที่ยว เพิ่มขึ้น 27.3% (YoY) รวมจำนวนตู้สินค้า 2,940 ตู้ เพิ่มขึ้น 34.1% (YoY) เป็นขบวนรถไฟที่ลำเลียงสินค้าจากจีนไปเวียดนาม 57 เที่ยว เพิ่มขึ้น 128% (YoY) สินค้าส่งออกของจีน ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องจักรกล และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การนำเข้าผลไม้จากอาเซียน (เวียดนามและไทย) ก็มีแนวโน้มเติบโตได้ดีเช่นกัน ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2565 ด่านรถไฟผิงเสียงมีปริมาณการนำเข้าผลไม้รวมแล้วกว่า 11,366 ตัน

ไฮไลท์สำคัญ คือ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 นครหนานหนิง ได้เปิดเที่ยวขบวนรถไฟลำเลียงสินค้าระหว่างประเทศในเส้นทาง “นครหนานหนิง – เวียงจันทน์” จากสถานีต้นทางที่ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง(Nanning international railway port/南宁国际铁路港) ผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน มณฑลยูนนาน ไปยังเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยใช้เวลาการขนส่ง 3 วัน (ประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางเรือที่ต้องผ่านขึ้นท่าเรือที่ประเทศเวียดนาม หรือประเทศไทย ก่อนจะลากตู้ไปยัง สปป.ลาว ได้อย่างน้อย 10-15 วัน) โดยทุกฝ่ายจะร่วมกันผลักดันให้เป็นเที่ยวประจำในอนาคต

กล่าวได้ว่า ยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) ที่มีโมเดลแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง” เป็นพระเอก ถือเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญที่ช่วยเพิ่มปริมาณการค้าให้กับเขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลในภาคตะวันตกของจีน เทรนด์การขนส่งดังกล่าวมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โอกาสของผู้ประกอบการไทย สามารถใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งสินค้าเพื่อการกระจายสินค้าไปยังเขตฯ กว่างซีจ้วงหรือมณฑลอื่นทั่วประเทศจีนได้ หรือเป็นทางผ่านเพื่อนำสินค้าไปเปิดตลาดใหม่ในเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก  ไม่ว่าจะเป็นโมเดลการขนส่งสินค้า เรือ+ราง ซึ่งปัจจุบันสามารถวิ่งไปยัง 34 สถานีใน 14 เมืองทั่วประเทศจีน และมีขบวนรถไฟเที่ยวประจำ 6 เส้นทางระหว่างท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กว่างซีไปยัง (1) นครฉงชิ่ง (2) มณฑลเสฉวน (3) มณฑลยูนนาน (4) มณฑลกุ้ยโจว (5) เมืองทางภาคตะวันออกของกว่างซี และ (6) เมืองทางภาคเหนือของกว่างซี  โดยขณะนี้มีสินค้ากว่า 640 ชนิด จาก 107 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลกใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งดังกล่าวแล้ว หรือใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม และการขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-สปป.ลาว ได้เช่นกัน

จุดเด่นของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ คือ ผู้ใช้บริการสามารถมองภาพการขนส่งได้ทั้งวงจร ช่วยให้สามารถคำนวณเวลาที่ใช้และต้นทุนการขนส่งได้ง่าย โดยใช้ประโยชน์จากนโยบายการกำหนดค่าขนส่งแบบ “ราคาเดียว” ตลอดเส้นทาง และมีขั้นตอนการดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่ลดลง เพราะมีการกำหนดนโยบายการใช้ใบตราส่งสินค้าใบเดียวเลขเดียวตลอดเส้นทาง ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งได้มากขึ้น ทำให้สินค้าถึงมือผู้รับปลายทางได้ค่อนข้างรวดเร็วและตรงเวลา เมื่อสินค้าถึงมือผู้รับเร็ว เจ้าของสินค้าก็จะได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้นด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 02 และ 04 เมษายน 2565
       เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 02 เมษายน 2565

ท่าเรือชินโจวILSTCระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่เรือ+ราง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน