กว่างซีร่ายแผนขนส่งร่วม ‘รถไฟ+เรือ’ เชื่อม One Belt One Road

3 Aug 2017

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกำลังร่วมผลักดันการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ตอนใน(จากมหานครฉงชิ่ง)ออกสู่ทะเลไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยมีกว่างซีเป็น ข้อต่อสำคัญของแผนงานดังกล่าว นายจาง เสี่ยวชิน (Zhang Xiaoqin, 张晓钦) รองประธานเขตฯ กว่างซีจ้วง (เทียบเท่ารองผู้ว่าการมณฑล) กล่าวในงานแถลงข่าวที่สำนักงานสารนิเทศคณะรัฐมนตรีจีน ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 10 ..2560 ที่ผ่านมา

เมื่อไม่นานมานี้ มหานครฉงชิ่งและเขตฯ กว่างซีจ้วงได้มีการเปิดทดลองเดินรถไฟขนส่งสินค้าส่งออก (อาทิ กระดาษและรถจักรยานยนต์) เที่ยวแรกจากมหานครฉงชิ่งมายังท่าเรือชินโจว ใช้เวลาเดินทาง 48 ชั่วโมง เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรก่อนนำสินค้าลงเรือเพื่อส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ เพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ประเทศอินโดนีเซียได้เป็นผลสำเร็จ

เส้นทางโลจิสติกส์เส้นทางนี้มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า "อวี๋กุ้ยซิน" (渝桂新) เป็นเส้นทางขนส่งร่วม (Combined Transport) หรือการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) เส้นทางใหม่ที่เริ่มต้นจากมหานครฉงชิ่ง ผ่านนครกุ้ยหยาง (มณฑลกุ้ยโจว) เข้าสู่เขตฯ กว่างซีจ้วงผ่านนครหนานหนิง และสิ้นสุดเส้นทางที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ท่าเรือชินโจว และท่าเรือเป๋ยไห่) เพื่อต่อเรือบรรทุกสินค้าไปยังประเทศสิงคโปร์

 

 

ภาพประกอบ BIC Guangzhou

ปัจจุบัน ระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคตะวันตกของจีนส่วนใหญ่เป็นการขนส่ง "แนวนอน" กล่าวคือ การส่งออกสินค้าจะใช้การขนส่งจากภาคตะวันตกไปยังพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศ (มหานครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู) มากกว่าการมุ่งลงใต้ ซึ่งการขนส่งแนวนอนมีระยะทางที่ค่อนข้างไกล และต้องใช้เวลาในการขนส่งนาน

ในบริบทที่ (1) กว่างซีมีจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งจากการเป็นมณฑลชายฝั่งทะเลเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคตะวันตกของจีน มีความพร้อมในระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางรางและทางเรือที่สามารถเชื่อมต่อแบบไร้ตะเข็บ และ (2) การขยายเส้นทางรถไฟจากมหานครฉงชิ่งต่อไปยังนครหลานโจว มณฑลกานซู และนครซีอาน มณฑลซ่านซี

กว่างซีได้ตั้งเป้าหมายว่าเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวเปรียบเสมือน "เส้นเลือดใหญ่" ในเส้นทางเหนือใต้เส้นแรกของภูมิภาคตะวันตกของประเทศจีน โดยที่ "กว่างซี" มีบทบาทสำคัญในการเป็น "ข้อต่อ" สำคัญของระบบโลจิสติกส์ดังกล่าว

ที่สำคัญ "กว่างซี" จะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของกรอบยุทธศาสตร์ One Belt (เส้นทางรถไฟฉงชิ่งซินเจียงยุโรป) กับ One Road (เส้นทางฉงชิ่ง(รถไฟ)-กว่างซี(เรือ)-สิงคโปร์) ทำให้กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นวงแหวนที่มีความสมบูรณ์ และเป็นมิติใหม่ของเส้นทางการค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงทางบก+ทางน้ำอย่างสมบูรณ์เส้นทางหนึ่งของจีน

เส้นทางโลจิสติกส์เหนือใต้นับเป็นเส้นทางใหม่ที่มีมูลค่าทางการตลาดอันมหาศาล หากเปรียบเทียบการขนส่งระหว่างเส้นทางเหนือใต้ (รถไฟ+เรือ) กับเส้นทางการขนส่งแบบเดิม (ตะวันตกตะวันออกผ่านแม่น้ำแยงซีเกียง) โดยมี มหานครฉงชิ่งเป็นตัวตั้ง  พบว่า

(1) เส้นทางเหนือใต้จากมหานครฉงชิ่งถึงท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีระยะทางเพียง 1,450 กิโลเมตร ซึ่งสั้นกว่าการขนส่งผ่านแม่น้ำแยงซีสู่ปากแม่น้ำทางภาคตะวันออกของประเทศจีนที่มีระยะทางยาวถึง 2,400 กิโลเมตร  (ระยะทางสั้นกว่า 950 กิโลเมตร)

(2) ปัจจัยในด้านระยะทางที่สั้นกว่า และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า ทำให้การขนส่งใช้ระยะเวลาสั้นกว่ามาก กล่าวคือ เส้นทางเหนือใต้ใช้เวลาเพียง 2 วัน ขณะที่เส้นทางตะวันตกตะวันออกใช้เวลานานถึง 14 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายลงได้มาก

นอกจากนี้ หากใช้ "นครหลานโจว" มณฑลกานซูเป็นตัวตั้ง เมื่อเทียบกับการขนส่งไปออกทะเลทางฝั่งตะวันออกของประเทศ พบว่า การใช้เส้นทางเหนือใต้เพื่อการขนส่งสินค้าไปถึงประเทศสิงคโปร์สามารถร่นระยะทางการขนส่งได้ครึ่งหนึ่ง และร่นระยะเวลาการขนส่งได้ราว 5 วัน

ตามรายงาน ในระยะต่อไป เส้นทางโลจิสติกส์ "ฉงชิ่งกว่างซีสิงคโปร์" (ช่วงเส้นทางฝั่งใต้) จะมุ่งให้ความสำคัญกับการผลักดันความร่วมมือหลายด้าน อาทิ

       การพัฒนางานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) โดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศในระบบงานขนส่งร่วม "ทะเล+รถไฟ" และ "ถนน+รถไฟ"

       การผลักดันความร่วมมือร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างท่าเรือ และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีนคาบสมุทรอินโดจีน เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการคมนาคม และเติมเต็มศักยภาพการขนส่งระหว่างมณฑล

       การพัฒนาระบบศุลกากรแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร

       การพัฒนางานบริการด้านโลจิสติกส์ ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ

       การพัฒนางานบริการด้านข้อมูลสารสนเทศ ส่งเสริมความร่วมมือด้าน e-Commerce, Big Data, Internet of Thing (IOT) และระบบพิกัดนำร่องผ่านดาวเทียม

 

ลิงค์ข่าว

มิติใหม่แห่งระบบขนส่ง ฉงชิ่งกว่างซีสิงคโปร์ (18 .. 2560)

กว่างซีOne Belt One Roadอวี๋กุ้ยซินMultimodal Transportการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบรถไฟ+เรือ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน