กว่างซียืมแรงไต้หวันแก้ปัญหาและพัฒนาท่าเรืออ่าวเป่ยปู้

11 Jan 2013

หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : การที่ กว่างซี เป็นพื้นที่หน้าด่านความร่วมมือภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ทำให้กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากวิสาหกิจชาวไต้หวัน

หลังจบงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน  ครั้งที่ 9 (9th CAEXPO) เมื่อช่วงเดือน ก.ย.55 บริษัท Taiwan International Ports Corporation (台湾港务股份有限公司) วิสาหกิจชั้นนำทางธุรกิจขนส่งทางน้ำขนาดใหญ่ของไต้หวันได้นำคณะลงพื้นที่สำรวจท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเมืองชินโจว ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

พร้อมพบปะหารือเพื่อแสวงหาความร่วมมือในระยะยาวร่วมกับหน่วยงานด้านการบริหารจัดการท่าเรือ กลุ่มธุรกิจท่าเรือ และสำนักงานกิจการทางทะเลของเขตฯ กว่างซีจ้วง (Maritime Safety Administration of Guangxi, 广西海事)

นายเฉิง เจียน หยี่ (Cheng Jian Yu, 程建宇) นายท่าประจำบริษัท Port of Kaohsiung (台湾高雄港股份公司) กล่าวว่า กว่างซีในฐานะประตูเชื่อมโยงจีนแผ่นดินใหญ่กับอาเซียน ธุรกิจโลจิสติกส์จึงมีศักยภาพการเติบโตสูง

ขณะที่ไต้หวันเองถือว่ามีประสบการณ์ความพร้อมด้านงานขนส่งทางทะเลและโลจิสติกส์ และมีเครือข่ายระหว่างประเทศกว้างขวาง จึงเชื่อว่าการที่วิสาหกิจไต้หวันเข้ามาที่กว่างซีจะช่วยผลักดันและยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ท่าเรือในท้องถิ่นได้เป็นอย่างมาก

 

การแก้ปัญหาการด้อยโอกาส

การเริ่ม แผนการลดภาษี ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไต้หวัน (ECFA) เปรียบเสมือนกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งนับวันก็ยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และนำมาซึ่งโอกาสความร่วมมือให้กับวิสาหกิจชาวกว่างซีและไต้หวัน

จากข้อมูล ปี 2555 จีนกับอาเซียนมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 362,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนครองตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่ของอาเซียน 3 ปีซ้อน ขณะที่อาเซียนก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน

อนึ่ง หากจะวิเคราะห์ถึง สภาพความพร้อมโดยทั่วไปของกว่างซี แม้ว่ากรอบข้อตกลง CAFTA และECFA จะนำมาซึ่งโอกาสอันมหาศาล ทว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ท่าเรือของกว่างซียังมีขนาดเล็ก ด้อยเทคโนโลยี ระบบบริหารจัดการล้าสมัย ฟังก์ชั่นไม่ครบครัน บริษัทด้านโลจิสติกส์รายย่อยขาดศักยภาพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ท่าเรือทั้งสิ้น

เจ้าหน้าที่บริษัทโลจิสติกส์รายหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียน ชี้ถึงสภาพปัญหาด้านโลจิสติกส์ของกว่างซีว่า บริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์บริเวณตลาดการค้าชายแดนจีน-เวียดนามมีขนาดเล็ก ไร้ระเบียบ และกระจัดกระจาย เนื่องจากขาดศักยภาพ จึงอาศัยการแข่งขันด้านราคา เพื่อดึงลูกค้า ทำให้ตลาดขาดความเป็นระบบ และยากที่จะรักษาสิทธิของลูกค้า

นายซู เถิง (Su Teng, 苏腾) รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ประจำคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Development and Reform Commission, 广西发改委) กล่าวว่า กว่างซีจำเป็นต้องบูรณาการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ท่าเรือ ปรับปรุงเทคโนโลยีสารสนเทศด้านโลจิสติกส์ท่าเรือ นอกเหนือจากงานด้านบริหารจัดการ และการสร้างความเป็นระบบระเบียบทางการตลาด

วิสาหกิจด้านโลจิสติกส์ คลังสินค้า ท่าเรือของไต้วหัน ฮ่องกง และมาเก๊ามีความได้เปรียบด้านเงินทุน เทคโนโลยี และเครือข่ายธุรกิจ ดังนั้น กว่างซีจึงควรดึงดูดวิสาหกิจเหล่านี้เข้ามาเติมเต็มส่วนขาดของตนเอง

 

ปัจจัยดึงดูดวิสาหกิจเข้าลงทุนในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้

นาย จ้าว อี (Zhao Yi, 赵祎) รองประธานบริษัท Taiwan Dongsen International Group (台湾东森国际集团有限公司) กล่าวว่า การที่ตลาดอาเซียนนับวันยิ่งขยายใหญ่ขึ้น ทำให้พวกเราต้องหันมาทบทวนความสำคัญของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีกันใหมอีกครั้ง

การที่ประเทศฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกายังตกอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจอาเซียนกลับอยู่ในช่วงขาขึ้น เป็นแรงดึงดูดให้ธุรกิจโลจิสติกส์ท่าเรือของกว่างซีมีอนาคตสดใส

ส่วนไต้หวัน เทคโนโลยีและความมากประสบการณ์ด้านงานโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ รวมทั้งโมเดลธุรกิจที่มีความสมบูรณ์ เป็นสิ่งสำคัญที่กว่างซีต้องการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของตนเอง และวิสาหกิจไต้หวันเองก็สามารถอาศัยโอกาสดังกล่าวสร้างความยิ่งใหญ่แข็งแกร่งให้กับวิสาหกิจตนเอง

นายหลี หย่ง อี้ (Li Yong Yi, 李咏逸) ประธานกลุ่มบริษัท Taiwan Kaohsiung Chung Shin Port Group (台湾高雄中信港口集团) ซึ่งเข้าลงทุนในกว่างซีแล้ว กล่าวว่า ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นเส้นทางออกสู่ทะเลของพื้นที่ภาคตะวันตกที่มีความสะดวกรวดเร็วที่สุด อีกทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมสู่ตลาดอาเซียน จึงมีคุณค่าน่าลงทุน ดังนั้น การเลือกลงทุนในท่าเรือเมืองชินโจวของกลุ่มบริษัทฯ จึงถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิด

การดึงวิสาหกิจโลจิสติกส์ท่าเรือขนาดใหญ่ของไต้หวันเข้าลงทุนในลักษณะร่วมทุน หรือลงทุนโดยตรง เป็นการบุกเบิกพัฒนาและกระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ท่าเรือระหว่างกว่างซีกับไต้หวัน เพื่อบรรลุเป้าหมายความสำเร็จร่วมกันนายซ่ง อี้ จิ้น (Song Yi Jin, 宋益进) เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ ประจำบริษัท Taiwan Ji Long Ports (台湾基隆港务公司) กล่าวให้ข้อมูล

ตามข้อมูล ปัจจุบันมีวิสาหกิจไต้หวันเข้าร่วมเจรจาการลงทุนด้านท่าเรือ คลังสินค้า และโลจิสติกส์กับทางฝ่ายกว่างซีแล้วกว่า 70 ราย ในจำนวนนี้ มีการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกันแล้ว 37 ราย

โดยโครงการขนาดใหญ่ที่สุด คือ ศูนย์โลจิสติกส์คลังสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในท่าเรือเมืองชินโจว โดยคาดว่าจะครอบคลุมตลาดในพื้นที่มณฑลภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รวมถึงอาเซียนด้วย

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน