โมเดลต้นแบบ ‘ตั้งบริษัทง่าย’ ต้องที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยหนานหนิง

13 May 2024

ในบรรดาเมืองเอกของมณฑลต่างๆ ในจีน “นครหนานหนิง” เป็นเมืองเอกที่ตั้งอยู่ใกล้ชาติสมาชิกอาเซียนมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ นครหนานหนิงได้แสดงบทบาทสำคัญในการเป็น “ประตูสู่อาเซียน” ที่จีนใช้ดำเนินนโยบายเปิดสู่อาเซียน และอาเซียนสามารถใช้เป็นแพลตฟอร์มผูกโยงความสัมพันธ์กับจีนในมิติต่างๆ ได้ด้วยเช่นกัน

ในมิติด้านการค้าการลงทุน เมื่อพูดถึงเมืองที่มีศักยภาพในจีนตะวันตกเฉียงใต้ ต้องมีชื่อของ “นครหนานหนิง” เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ที่หลายคนคงรู้จักในฐานะสถานที่ถาวรของการจัดมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo โดย “นครหนานหนิง” ได้วาง positioning ของตนเองไว้อย่างชัดเจนว่าจะเป็น ‘พื้นที่แห่งโอกาส’ ในการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่อาเซียน และเป็น ‘สถานีกลาง’ ของการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียน

ในฐานะเมืองเอกของเขตฯ กว่างซีจ้วง ตลอดหลายปีมานี้ รัฐบาลกว่างซีมุ่งดำเนินนโยบายการปฏิรูปและเปิดสู่ภายนอก (Reform and Opening-up) ของ “นครหนานหนิง” อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของการลงทุนเพื่อสนับสนุนนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศที่ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง” ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงนครหนานหนิงอย่างรอบด้าน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บีไอซีได้เขียนเรื่องโอกาสการลงทุนใน “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง” โดยเหตุผลที่ต้องการเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการไทยได้หันมาพิจารณาความน่าสนใจของ ‘ตลาดน่าลงทุนแห่งใหม่ในจีน(กว่างซี)’

“เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง” เปรียบเสมือน ‘นาทดลอง’ ของการนำร่องใช้นโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุน ทั้งด้านภาษี เงินรางวัล เงินอุดหนุน ตลอดจนการบริการของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิง เป็นหมุดหมายในสายตาของนักลงทุน

กล่าวได้ว่า นครหนานหนิง ‘ยืนหนึ่ง’ ในกว่างซี ทั้งด้านจำนวนธุรกิจต่างชาติและธุรกิจต่างชาติรายใหม่ โดยข้อมูลจากสำนักกำกับดูแลการตลาดนครหนานหนิง (Nanning Municipal Administration for Market Regulation/南宁市市场监管局) ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 นครหนานหนิงมีบริษัทต่างชาติรวม 2,504 ราย เฉพาะปี 2566 มีบริษัทต่างชาติจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ จำนวน 312 ราย ในจำนวนนี้ มี 128 รายจัดตั้งอยู่ในเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิง

เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิงให้น้ำหนักกับการบริการเชิงการผลิต (producer services) เป็นแก่นหลัก และผลักดันการบูรณาการเชิงลึกระหว่างอุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่กับอุตสาหกรรมการผลิตที่ล้ำสมัย เพื่อให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร โดยเฉพาะในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรมทางการเงิน และโลจิสติกส์

ท่ามกลางสมรภูมิการแย่งชิงลูกค้า(นักลงทุน)ของเมืองต่างๆ ในจีนที่ ‘โปรใครเด็ด ใครได้ไป’ ทำให้พื้นที่ลงทุนต่างๆ ต้องริเริ่มมาตรการพิเศษเพื่อซื้อใจนักลงทุน รวมถึงเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิง ข้อมูลระบุว่า ตลอด 4 ปี นับตั้งแต่ที่ได้จัดตั้งเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยนครหนานหนิงได้ริเริ่มมาตรการพิเศษกระตุ้นการลงทุนแล้ว 188 มาตรการ เฉพาะปี 2566 เขตทดลองฯ ได้คลอด 56 มาตรการพิเศษเพื่อสนับสนุนและเร่งให้เกิดการลงทุนในพื้นที่

ผลงานเด่น อาทิ มาตรการการยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการภาครัฐที่เรียกว่า “ให้ใบอนุญาตก่อน ตรวจสอบเอกสารทีหลัง” ซึ่งเริ่มทดลองใช้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 และต่อมาได้รับคัดเลือกจากสำนักงานกลางสภาแห่งรัฐ (General Office of the State Council of the People’s Republic of China) ให้เป็น ‘มาตรการต้นแบบ’ ที่จะนำไปขยายผลใช้งานในพื้นที่อื่นทั่วประเทศจีน

พัฒนาการสำคัญของมาตรการ “ให้ใบอนุญาตก่อน ตรวจสอบเอกสารทีหลัง” เดิมที การดำเนินธุรกิจในจีน ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจประเภทใดก็ตาม ผู้ดำเนินธุรกิจจะต้องมีทั้ง (1) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หรือ Business License / 营业执照  ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดเป็นผู้ออกใบอนุญาต และ (2) ใบอนุญาตการดำเนินกิจการเฉพาะสาขา หรือ Operation Permit / 经营许可证  ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแยกตามสาขาธุรกิจเป็นผู้ออกใบอนุญาต เช่น หน่วยงานกำกับดูแลด้านอาหารและยา เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง จึงจะสามารถเริ่มดำเนินกิจการได้ ซึ่งใช้เวลานานหลายเดือนในการตรวจสอบและอนุมัติ จึงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนดำเนินธุรกิจในจีน

ต่อมาช่วงเดือน ธันวาคม 2558 รัฐบาลจีนได้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการแยกตรวจสอบและอนุมัติใบอนุญาตแยกตามประเภทธุรกิจ (证照分离) เพื่อลดความซับซ้อนยุ่งยากในการจัดตั้งธุรกิจ โดยธุรกิจทั่วไปสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้เมื่อได้รับ Business License อาทิ การจำหน่ายเครื่องสำอาง การผลิตเสื้อผ้า การแปรรูปโลหะ ขณะที่ธุรกิจบางประเภทที่จำเป็นต้องขออนุญาตเป็นการเฉพาะจะต้องมีทั้ง Business License และ Operation Permit จึงจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ อาทิ การผลิตและแปรรูปอาหาร การนำเข้าและส่งออกสินค้า การประกันภัย เกมออนไลน์ การบริการข้อมูลอินเทอร์เน็ต

บนพื้นฐานที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 เขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง ได้ริเริ่มการดำเนินมาตรการ “ให้ใบอนุญาตก่อน ตรวจสอบเอกสารทีหลัง” โดยบริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่เข้ามาตั้งกิจการในเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง จะได้รับ Operation Permit ฉบับชั่วคราว (อายุใบอนุญาต 6 เดือน) และเริ่มดำเนินธุรกิจได้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตรวจสอบเงื่อนไข/คุณสมบัติในภายหลัง อาทิ การตรวจสอบเอกสาร และการตรวจสอบสถานประกอบการ/โรงงาน และบริษัทต้องยื่นเอกสารที่เหลือให้ครบภายใน 6 เดือน เพื่อเปลี่ยน Operation Permit ฉบับชั่วคราวเป็นใบอนุญาตปกติ

นางฝาน เยี่ยนเซียง (Fan Yanxiang/樊艳香) เจ้าหน้าที่ของบริษัท Guangxi Huaguisheng Investment Consulting Services Co., Ltd. (广西华桂盛投资咨询服务有限公司) เปิดเผยว่า เมื่อก่อน การขอ Operation Permit ต้องเตรียมเอกสารเป็นจำนวนมาก และต้องไปยื่นขอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง แถมยังต้องรอกระบวนการตรวจสอบอีกอย่างน้อย 3 เดือน สิ้นเปลืองทั้งเวลา กำลังคน และกำลังทรัพย์มาตรการ “ให้ใบอนุญาตก่อน ตรวจสอบเอกสารทีหลัง” ช่วยบริษัทประหยัดต้นทุนและอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งบริษัท (Market Access) และเป็นแรงผลักดันให้ภาคธุรกิจพัฒนาอย่างมีพลวัต

ที่สำคัญ! เมื่อไม่นานมานี้ เขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง ได้ประกาศขยายประเภทกิจการที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการ “ให้ใบอนุญาตก่อน ตรวจสอบเอกสารทีหลัง” ทั้งธุรกิจประเภทบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด (เดิมให้เฉพาะบริษัทจำกัด) จาก 13 ประเภทใบอนุญาต ขยายเป็น 31 ประเภทใบอนุญาต อาทิ กิจการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ กิจการนำเที่ยว การผลิตสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอาหาร กิจการที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย (หอพัก ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม โรงภาพยนตร์ สถาบันเทิง) กิจการยา ร้านอาหารเครื่องดื่มขนาดเล็ก

บีไอซี ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการบริหารเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบว่า ภายใต้หลักด้วยความเสมอภาคและความทัดเทียมทางกฎหมาย นักลงทุนต่างชาติได้รับประโยชน์จากมาตรการข้างต้นเช่นเดียวกับธุรกิจจีน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยได้ปรับปรุงนโยบายรัฐให้มีความยืดหยุ่นและเอื้ออำนวยต่อนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับแก้ระเบียบ ลดขั้นตอน ลดข้อจำกัดของทุนต่างชาติในการเข้าสู่ตลาด รวมถึงปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ ความเสมอภาคและความทัดเทียมทางกฎหมาย การแข่งขัน และการคุ้มครอง/สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

อย่างที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิงได้จัดตั้งกลไก “พี่เลี้ยง” ไว้คอยให้บริการและติดตามความคืบหน้าในการลงทุน และคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุนต่างชาติด้วยความเสมอภาคและความทัดเทียมทางกฎหมาย การแข่งขัน อย่างการจัดตั้งเคาน์เตอร์รับเรื่องร้องเรียน (Customer Service & Support) และอนุญาโตตุลาการเพื่อช่วยเหลือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

ดังนั้น ภาคธุรกิจไทยที่กำลังมองหาพื้นที่ลงทุนใหม่ในจีน บีไอซี เชื่อว่า นครหนานหนิงจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการจะเจาะตลาดจีนตะวันตกซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีพลวัตสูง โดยภาครัฐและภาคเอกชนไทยสามารถผูกโยงโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเข้ากับโปรเจกต์ต่างๆ ในเขตฯ กว่างซีจ้วงแบบสองทาง ทั้งการเชิญเข้ามา และการก้าวออกไป เพื่อรองรับทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของสองฝ่าย



จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ http://gxftz.gxzf.gov.cn (广西自贸试验区南宁片区) วันที่ 27 มีนาคม 2567
เว็บไซต์ http://dsjfzj.gxzf.gov.cn (广西大数据发展局) วันที่ 22 มีนาคม 2567
เว็บไซต์ www.nanning.gov.cn (南宁市人民政府) วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567
เว็บไซต์ https://tzcjj.nanning.gov.cn (南宁市投资促进局) วันที่ 18 มกราคม 2567
ภาพประกอบ Wechat Official Account – (南宁晚报微信公众号) วันที่ 10 พฤษภาคม 2566

เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน