กว่างซีเริ่มตารางบินฤดูร้อน เพิ่มความถี่เที่ยวบินกรุงเทพฯ พร้อมลุ้นเปิดบินเชียงใหม่ พัทยา
29 Mar 2023
ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (รหัส IATA : NNG) เรียกสั้นๆว่า “สนามบินหนานหนิง” เปิดตารางบินฤดูร้อนปี 2566 พร้อมให้บริการเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางมากกว่า 100 แห่ง เป็นเส้นทางบินในประเทศ 135 เส้นทาง และเส้นทางบินต่างประเทศ 15 เส้นทาง โดยตารางบินฤดูร้อนจะสิ้นสุดในวันที่ 28 ตุลาคม 2566
ตามรายงาน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 สนามบินหนานหนิงเริ่มตารางบินฤดูร้อน มีสายการบินจากทั้งในและต่างประเทศ 40 ราย พร้อมให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร 150 เส้นทางบิน คาดว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศเฉลี่ยวันละ 462 เครื่องครั้ง เพิ่มขึ้น 4.7% จากตารางบินฤดูหนาวที่ผ่านมา
สำหรับเที่ยวบินในประเทศ สนามบินหนานหนิงได้ฟื้นฟูเส้นทางบิน บุกเบิกเส้นทางบินใหม่ และเพิ่มความถี่ของเส้นทางบินเดิมไปยังหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญและเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศจีน อาทิ นครเฉิงตู นครฉงชิ่ง นครเทียนจิน นครเจิ้งโจว นครหนานจิง นครอู่ฮั่น นครฉางซา นครหลานโจว นครอิ๋วชวน เมืองชิงต่าว และเมืองจางเจียเจ้ โดย China Southern Airlines และ Shenzhen Airlines ยังคงเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ของสนามบินหนานหนิง
สำหรับเที่ยวบินต่างประเทศ สนามบินหนานหนิงเปิดให้บริการเส้นทางบินไปยังกรุงเทพฯ กรุงพนมเปญ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ และกรุงมะนิลาแล้ว และมีแผนจะฟื้นฟูเส้นทางบินไปยังนครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย เวียงจันทน์ กรุงย่างกุ้ง และบันดาร์เสรีเบกาวัน
ในโอกาสที่เหมาะสม สนามบินหนานหนิงจะเปิดเส้นทางบินไปยังเมืองท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ เชียงใหม่ พัทยา และญาจาง รวมทั้งจะเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินตามอุปสงค์ของตลาดด้วย โดย GX Airlines (北部湾航空) สายการบินท้องถิ่นของกว่างซีเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ของสนามบินหนานหนิง
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายใต้สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นจากกระแสนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนด้วย แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้ เกิดกระแสข่าวที่ผู้ใช้ชื่อสังคมออนไลน์ในจีน (โดยเฉพาะ TikTok) ได้วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างเกี่ยวกับการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายในแหล่งท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก รวมถึงการเหยียด/ไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย และบั่นทอนแรงจูงใจของชาวจีนในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ได้ออกคำชี้แจงอย่างทันท่วงทีเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างความมั่นใจในการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทยให้กับชาวจีน โดยระบุว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความปลอดภัย และการสร้างความประทับใจของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยนับตั้งแต่สาธารณรัฐประชาชนจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน รวมทั้งได้มีการเพิ่มช่องทางการสื่อสารเพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลและแจ้งเหตุฉุกเฉินต่อตำรวจท่องเที่ยวที่พร้อมดูแลอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และขอให้นักท่องเที่ยวจีนมั่นใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยให้ความสำคัญและมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ซึ่งสะท้อนได้จากการที่ประเทศไทยยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก และมีหลายเมืองที่ได้รับการจัดอันดับจากองค์กรต่าง ๆ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และมีความปลอดภัย
บีไอซี เห็นว่า ในบริบทที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และในฐานะที่ชาวไทยทุกคนเป็นเจ้าบ้านที่ดี ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมกันรักษาภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว ช่วยกันสอดส่องดูแลและจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รักษาคุณภาพการบริการ และมาตรการด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้ “ท่องเที่ยวไทย” ยังครองใจนักเดินทางชาวจีน รวมทั้งการศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค next normal หลังสถานการณ์โควิด-19 เพื่อปรับแผนการตลาดไว้รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะกระแสการท่องเที่ยวด้วยตนเองแบบอิสระ หรือ FIT (Free and Independent Traveler) ที่มีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Y) ที่มีกำลังซื้อสูง เหตุผลสำคัญมาจากความนิยมในการใช้งานแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลที่แพร่หลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Tiktok, Kuaishou (快手) หรือเว็บบล็อกอย่าง Little Red Book (小红书), Weibo (微博) รวมถึงแอปพลิคชันอื่นๆ ที่ใช้อำนวยความสะดวกด้านการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งแอปช่วยแปลภาษาและแผนที่เดินทาง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยตนเองมีความสะดวกและง่ายดายเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ หลังสถานการณ์โควิด 19 ยังมีเรื่องของกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนให้ความสนใจเป็นทุนเดิมอยู่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็อาจมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว การมาพักผ่อนระยะสั้น-ยาวเพื่อการพักฟื้นร่างกายและสภาพจิตใจ (Staycation) รวมถึงกลุ่ม Workation ที่ต้องการทำงานในขณะท่องเที่ยวไปด้วย และกลุ่มใหม่อย่าง work from anywhere ด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์ Nanning Evening (南宁晚报) วันที่ 26 มีนาคม 2566
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 26 มีนาคม 2566