บทเรียนจากฮ่องกง 7: HKSTP บันไดสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

12 Sep 2018

ฮ่องกงนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการขนส่งในภูมิภาคแล้ว ปัจจุบันยังได้ตำแหน่งใหม่จากรัฐบาลจีนให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation and Technology: I&T) ในเขต Greater Bay Area (GBA) อีกด้วย ซึ่งรัฐบาลฮ่องกงก็ได้ขานรับนโยบายนี้อย่างเป็นรูปธรรมทั้งด้วยการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนและผลักดันระบบนิเวศสำหรับด้าน I&T อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ่มเพาะจากหน่วยงานต่าง ๆ การให้เงินทุนสำหรับ startup ด้าน I&T ซึ่งล้วนแต่ช่วยส่งเสริมให้ระบบนิเวศ startup ของฮ่องกงเติบโตเร็วติดอันดับต้นของโลก โดยในปี 2560 ฮ่องกงมี startup เพิ่มเป็นเกือบ 2,500 ราย (เติบโตร้อยละ 16 จากปีก่อนหน้า) และมีบุคลากรทำงานในธุรกิจ startup กว่า 6,000 คน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 21) แผนพัฒนาเขต GBA ที่รัฐบาลจีนผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย I&T นี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดผนึกจุดแข็งของฮ่องกงเข้ากับเซินเจิ้น (เมืองต้นแบบ smart city ของจีน) ซึ่งภาค I&T ของฮ่องกงกับเซินเจิ้นรวมกันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

บทความในวันนี้ เราจึงจะว่ากันด้วยเรื่องของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (Hong Kong Science & Technology Park: HKSTP) อีก 1 ใน 3 เสาหลักในการสนับสนุน startup ด้าน I&T ของฮ่องกง ควบคู่กับ Cyberport และ HKPC ที่เคยกล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้านี้

 

1. รู้จักกับ Hong Kong Science & Technology Park (HKSTP)

HKSTP ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ที่ Shatin ในเขต New Territories โดยเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกงและเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน I&T ในฐานะศูนย์บ่มเพาะ startup ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งช่วยเชื่อมโยง startup เข้ากับนักลงทุนจากจีนและต่างชาติ

ปัจจุบัน HKSTP มีพื้นที่ 3 เฟสรวม 138 ไร่ อาคารต่าง ๆ รวม 21 หลังที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 3.5 ล้านตารางฟุต เป็นที่ตั้งสำนักงานของกว่า 650 บริษัท (กว่า 2 ใน 3 เป็นบริษัทสัญชาติฮ่องกง) จึงนับเป็นศูนย์รวม startup และบริษัทด้าน I&T มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีพนักงานในธุรกิจเหล่านี้กว่า 13,000 คน จาก 22 ประเทศ/ เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ด้านพลังงานทดแทน ไปจนถึงการวิจัยพัฒนายา โดยนอกจากจะใช้พื้นที่เป็นสำนักงานของบริษัทด้าน I&T แล้ว ยังมีห้องปฏิบัติการและพื้นที่สำหรับการจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE) ให้เช่า อีกทั้งภายในบริเวณ HKSTP ยังเป็นชุมชนใหญ่ที่เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงคลับเฮ้าส์ โดยภายในปี 2562 อาคาร Smart Building ซึ่งเป็นอาคารอัจฉริยะที่ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติอีก 2 หลังก็จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยตอกย้ำความเป็น “Smart Region” ให้ HKSTP นอกจากนี้ HKSTP ยังมีแผนสร้าง InnoCell ให้เป็นพื้นที่ทำงานและที่อยู่อาศัยสำหรับบุคลากรด้านเทคโนโลยีในอุทยานฯ ได้แบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด เพื่อต่อยอดและสร้างสรรค์พัฒนางานต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้มี startup กว่า 500 แห่งที่ผ่านโครงการบ่มเพาะของ HKSTP ไปแล้ว ซึ่ง 3 ใน 4 ของจำนวนนี้ ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ startup ที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะของ HKSTP หลายบริษัทก็ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมด้านธุรกิจ I&T ในระดับสากลอีกด้วย จนกระทั่งเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา HKSTP ก็กลายเป็นองค์กรแรกของฮ่องกงที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนให้เป็น “ผู้บ่มเพาะ startup ด้านเทคโนโลยีในระดับชาติ”

 

HKSTP มีโครงการริเริ่มวิจัยและมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีหลัก 5 สาขา ได้แก่ การแพทย์ชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมวัสดุและความแม่นยำ ซึ่งกลุ่มเทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นหัวใจหลักในการพัฒนานวัตกรรมใน 3 เวทีที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ นั่นก็คือ (1) เมืองอัจฉริยะ (2) เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุ และ (3) หุ่นยนต์ โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ HKSTP ได้ที่ลิงค์ http://www.emotionlab.tv/projects/HKSTP-MISSION-VIDEO-HK-motion-graphics/

2. การอัดฉีดงบประมาณภาครัฐ

ด้วยความสำคัญที่รัฐบาลฮ่องกงให้แก่การพัฒนา I&T จึงได้จัดสรรงบประมาณถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงให้สำหรับการนี้ในปีงบประมาณ 2561 (ซึ่งมากกว่าในปีก่อนหน้าถึง 5 เท่า) เพื่อผลักดันและเร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เร่งเสริมทัพทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีชีวภาพ AI Smart City และ FinTech ซึ่งเป็นจุดแข็งของฮ่องกง และกำลังเป็นกระแสนิยมไปทั่วโลกและจากการที่ HKSTP เป็นหัวเรือใหญ่ด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา การทดลอง การระดมทุน ไปจนถึงการพัฒนาผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ทำให้ HKSTP ได้รับการจัดสรรงบประมาณเค้กงบประมาณชิ้นใหญ่ถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง (จากงบประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงที่ให้ภาค I&T) ซึ่งภายใต้งบประมาณ 4 หมื่นล้านที่ว่านี้ แบ่งเป็น (1) สำหรับพัฒนา HKSTP ที่ Shatin ในปัจจุบัน จำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งร้อยละ 30 จะใช้ก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครื่องอำนวยความสะดวกในศูนย์วิจัย ส่วนที่เหลือจะใช้ในการก่อสร้าง smart campus เพื่อเป็นพื้นที่อาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เช่าโครงการ (2) การก่อสร้างอุทยานนวัตกรรมและเทคโนโลยีฮ่องกง – เซินเจิ้นที่ Lok Ma Chau Loop ซึ่งเป็นโครงการใหม่ขนาดมหึมากว่าของเดิมถึง 4 เท่าที่ตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนฮ่องกง – เซินเจิ้น โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับเฟสแรกไป 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดย HKSTP เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินการ และ  (3) จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา โดยใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงในการดึงดูดสถาบันวิจัยชั้นนำของโลกให้มาทำโครงการวิจัยที่ HKSTP หรือให้ทุนแก่บริษัทเทคโนโลยีด้านชีวภาพ AI และหุ่นยนต์ สำหรับทำการวิจัยและพัฒนาขั้นกลางและขั้นปลาย ไปจนถึงสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ตามเป้าหมาย โดย HKSTP จะรับผิดชอบการกำหนดเกณฑ์ให้ทุนวิจัยและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดสรรผู้สมัคร

3. เส้นทางในอนาคตของ HKSTP

การผนึกกำลังระหว่างฮ่องกง – เซินเจิ้นเพื่อสร้างอุทยานนวัตกรรมและเทคโนโลยีฮ่องกง – เซินเจิ้น (HK/SZ I&T Park) ก็จะช่วยเสริมกำลังของเขตเศรษฐกิจบริเวณอ่าว GBA ให้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีสากลอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน HKSTP ก็มุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดการบริการให้ครบวงจร โดยจัดหาทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเติบโตพร้อมทั้งความต้องการที่หลากหลายของระบบนิเวศด้าน I&T ฮ่องกง โดยมีแผนขยายการดำเนินงานในอนาคต ดังนี้

1)  HKSTP ส่วนขยายใหม่ขั้นที่ 1: ตั้งอยู่บนพื้นที่ 127,000 ตารางฟุตด้านตะวันตกของ HKSTP ศูนย์หลักเฟส 3 โดยจะมีอาคารใหม่ 2 หลังพร้อมอุปกรณ์วิจัยและพัฒนาที่ครบครัน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ห้องทดลองและที่ทำงานขนาด 834,600 ตารางฟุตสำหรับงานวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีสุขภาพ AI/ หุ่นยนต์ โดยกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562

2)  InnoCell: จะอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของ HKSTP เป็นอาคาร 15 ชั้น 500 ยูนิตบนพื้นที่ 32,000 ตารางฟุต ซึ่งถือเป็นต้นแบบของอาคารเชิงนวัตกรรมด้วยแนวคิด “ที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงาน” โดย InnoCell จะเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับบุคลากรและ startup ในโครงการบ่มเพาะ จะมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2564

3)  ศูนย์ความแม่นยำในการผลิต (Precision Manufacturing Centre): จะใช้อาคารอุตสาหกรรมเดิมในเขต Tai Po มาปรับปรุงตกแต่งใหม่ให้เป็นฐานการผลิตสำหรับบริษัทคู่ค้าด้าน AI/ หุ่นยนต์ IoT และระบบงานอัตโนมัติ

4)  ศูนย์การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า (Advance Manufacturing Centre – AMC): ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม Tseung Kwan O เพื่อผลักดันฮ่องกงสู่อุตสาหกรรมการผลิตยุคใหม่และใช้นวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ทันสมัยต่าง ๆ สำหรับรองรับนวัตกรรมสินค้าราคาสูงหรือตามความต้องการผลิตแบบเฉพาะ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ที่ต้องการนวัตกรรมขั้นสูงในการผลิตสินค้าเฉพาะกลุ่มและต้องการผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง (prototype) โดยบริษัทที่เข้ามาใช้บริการยังได้รับความสะดวกสำหรับบริการเสริมเช่น ด้านการขนส่ง การจัดเก็บสินค้า การขึ้นตัวอย่างสินค้า การประกอบสินค้าสำหรับออเดอร์เล็ก ๆ เป็นต้น โดยจะแล้วเสร็จในปี 2564

5)  ศูนย์เทคโนโลยีข้อมูล (Data Technology Hub): จะเป็นศูนย์ข้อมูลดิจิทัลบนอาคารพื้นที่รวม 290,700 ตารางฟุตในเขตอุตสาหกรรม Tseung Kwan O จะให้บริการหลักด้านข้อมูลดิจิทัลและการสื่อสารเพื่อให้บริการทางการเงินและการค้าที่ไม่ซับซ้อน, บริการบูรณาการระบบ IT ไปจนถึงออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ บริการรองรับศูนย์ให้ข้อมูล การกู้ข้อมูลฉุกเฉิน เป็นต้น โดยจะแล้วเสร็จในปี 2563

6)  อุทยานนวัตกรรมและเทคโนโลยีฮ่องกง – เซินเจิ้น (HK/SZ I&T Park): จะเป็นระบบนิเวศด้าน I&T และเป็นชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่ขนาด 544 ไร่ที่มีอาคาร 12 ชั้นขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 12 ล้านตารางฟุต ซึ่งนอกจากจะใหญ่กว่า HKSTP ที่ Shatin ถึง 4 เท่า ยังตั้งอยู่ในทำเลที่ใกล้ต่อการขนส่งทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน แหล่งการผลิต อีกทั้งยังสามารถดึงดูดบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมจากฝั่งจีนในการข้ามมาทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งรัฐบาลมองว่าอุทยานใหม่นี้จะดึงดูดบริษัทชั้นนำด้าน IT และสถาบันวิจัยต่าง ๆ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาของจีนแผ่นดินใหญ่และต่างประเทศให้มาจัดตั้งสถาบันวิจัยและสร้างความร่วมมือกันด้านงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมและจะเป็นกำลังสำคัญของฮ่องกงในการพัฒนาเชิงนวัตกรรมเทคโนโลยี และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

4. บทบาทการส่งเสริมธุรกิจและการลงทุน

HKSTP มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อ startup เข้ากับนักลงทุนและช่องทางการระดมทุนผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย โดยได้เสริมสร้างระบบนิเวศการลงทุนสำหรับ startup ผ่านการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับบรรดานักลงทุนทั้งที่เป็นสถาบันและบุคคล ซึ่งเป็นการช่วยต่อสายป่านการเงินให้แก่บริษัทที่เข้ามาอยู่ใน HKSTP จนทำให้บริษัทที่เป็นหุ้นส่วนของ HKSTP สามารถระดมทุนได้ถึงกว่า 1.2 พันล้านฮ่องกงดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2560

โดยที่ HKSTP ต้องการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม จึงได้จัดตั้งกองทุน Corporate Venture Fund (CVF) ที่ประกอบด้วยเงินทุนจาก HKSTP เองและจากนักลงทุนภาคเอกชน เพื่อเอาไว้ช่วยสนับสนุน startup ด้านเทคโนโลยี ให้สามารถพัฒนาไอเดียของตน และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการทางนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ โดยผลตอบแทนที่ได้รับจาการลงทุนก็จะนำกลับมาทบคืนกลับเข้าในกองทุนเพื่อใช้ช่วยเหลือธุรกิจรายอื่น ๆ ต่อไป

บริษัทที่เข้าข่ายจะสมัครขอรับการสนับสนุนจากกองทุน CVF นี้จะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกง และมีความสัมพันธ์กับ HKSTP ทางใดทางหนึ่ง เช่น เป็นผู้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะของ HKSTP เคยสำเร็จหลักสูตรโครงการบ่มเพาะ HKSTP หรือเป็นผู้เช่าพื้นที่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้จากลิงค์ของ HKSTP https://www.hkstp.org/en/how-we-serve/incubation-programmes/

 

ปรับปรุงล่าสุด : 12 กันยายน 2561
โดย : น.ส. กัญญาพัชร ชัยเดช

เทคโนโลยีนวัตกรรมHKSTPI&TInnovation & Technologyวิจัยและพัฒนาอุทยานนวัตกรรมและเทคโนโลยี

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน