บทเรียนจากฮ่องกง 4: บทบาทส่งเสริมการลงทุนต่างชาติของ InvestHK

16 Jul 2018

หลังจากที่เราได้ไปทำความรู้จักกับหน่วยงานส่งเสริม startup ของฮ่องกงอย่าง Cyberport และ HKTDC กันไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ มาวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการลงทุนและ startup จากต่างชาติในฮ่องกงกันบ้าง ซึ่งในครั้งนี้ ศูนย์ BIC ฮ่องกงก็ได้ไปจับเข่าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของ InvestHK เพื่อนำข้อมูลเชิงลึกมาฝากกัน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจไทยที่กำลังมองหาลู่ทางออกมาลงทุนที่ฮ่องกง หรืออยากเข้าตลาดจีนโดยผ่านฮ่องกงในอนาคต  

รู้จัก InvestHK

InvestHK เป็นหน่วยงานของรัฐบาลฮ่องกงที่จัดตั้งขึ้นในปี 2543 ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติ (รวมถึงจากจีนแผ่นดินใหญ่) ที่มีความประสงค์จะจัดตั้งและขยายธุรกิจในฮ่องกง ทั้งที่เป็นธุรกิจประเภทบริษัทจำกัด หรือประเภท startup ซึ่งคำว่า “นักลงทุนต่างชาติ” ในที่นี้ ยังรวมถึงคนฮ่องกงโพ้นทะเลที่ถือสัญชาติอื่น หรือชาวต่างชาติที่ทำงานหรือพำนักอาศัยในฮ่องกงและสนใจเริ่มธุรกิจของตน รวมทั้งบริษัทที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนส่วนหนึ่งด้วย

InvestHk มีทีมงานคอยให้บริการแนะนำข้อมูลตลาด แนวโน้มของธุรกิจ รวมถึงขั้นตอนการขอใบอนุญาตจัดตั้งธุรกิจใน 10 สาขา ได้แก่ (1) บริการธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะ (2) สินค้าผู้บริโภค (3) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (4) บริการด้านการเงิน (5) FinTech (6) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (7) นวัตกรรมและเทคโนโลยี (8) ท่องเที่ยวและการโรงแรม (9) การคมนาคมและอุตสาหกรรม และ (10) ธุรกิจ startup

ปัจจุบัน InvestHK มีสำนักงานตั้งอยู่มากกว่า 30 แห่งทั่วโลก และเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจดำเนินการสำเร็จไปแล้วกว่า 4,200 โครงการ ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่

หน้าที่และความรับผิดชอบของ StartmeupHK

สำหรับธุรกิจ startup นั้นจะมีทีมเฉพาะได้แก่ StartmeupHK มาเป็นพี่เลี้ยง โดยทำหน้าที่แตกต่างจากทีมอื่นที่อาจจะเน้นด้านการจดทะเบียนบริษัท เปิดบัญชีธนาคาร การขอวีซ่าและขั้นตอนพิธีการต่าง ๆ แต่ StartmeupHk จะทำหน้าที่เหมือนที่ปรึกษาการพัฒนาธุรกิจ และให้คำปรึกษาแก่ทุกประเภทธุรกิจที่จัดเป็น startup ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ โดยทีมงานจะให้ข้อมูลระบบนิเวศธุรกิจ แนะนำเครือข่ายธุรกิจ โครงการวิจัยและพัฒนาของสถาบันต่าง ๆ หรือแนะนำกลุ่มนักลงทุน บริษัทรายใหญ่ที่อาจสนใจร่วมทุนในนวัตกรรมทางธุรกิจ แหล่งเงินทุน วิธีการระดมทุน และ โครงการบ่มเพาะต่าง ๆ โดยจะช่วยเหลือจนมั่นใจว่าผู้ประกอบการสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้จริงในตลาดฮ่องกง

ทิศทางการลงทุนและระบบนิเวศธุรกิจของฮ่องกงในปัจจุบัน

ในอดีตนักธุรกิจฮ่องกงมักจะเน้นลงทุนในตลาดหุ้นและการซื้อหุ้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักลงทุนเหล่านี้เริ่มหันมาลงทุนทางด้านธุรกิจ FinTech IoT หรือ startup เชิงนวัตกรรมกันมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลของลูกหลานที่ไปศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งบางคนก็ได้เริ่มทำธุรกิจ startup ที่ต่างประเทศมาแล้ว โดยทายาทรุ่นใหม่หลายคนก็หันมาลงทุนเชิงนวัตกรรมเพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าธุรกิจของครอบครัวตนให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น และคนรุ่นใหม่จากธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร หรือเทคโนโลยีก็ผันตัวมาเป็น startup กันเพิ่มขึ้น จึงทำให้ระบบนิเวศธุรกิจและ startup ในฮ่องกงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทีม StartmeupHk ได้มีการทำสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ startup และระบบนิเวศธุรกิจซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยผลสำรวจล่าสุดในปี 2560 จำนวน startup ในฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากปีก่อนหน้า (จาก 1,926 แห่ง เป็น 2,229 แห่ง) โดยมีจำนวนจุดทำงาน (working station) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 (จาก 5,618 จุด เป็น 6,240 จุด) ในขณะที่จำนวนบุคลากรที่ทำงานในธุรกิจ startup เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 (จาก 5,229 เป็น 6,320 คน) ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี และถือเป็นระบบนิเวศ startup ที่เติบโตเร็วติด 1 ใน 5 ของโลก

 

     

 

ข้อได้เปรียบของฮ่องกงสำหรับนักลงทุน

ฮ่องกงได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจเสรีที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 24 และถือเป็นอันดับ 1 ในหลายด้าน เช่นความเป็นอิสระในการลงทุน ศักยภาพในการแข่งขัน ความเป็นศูนย์กลางด้านการเงินในเอเชีย นอกจากนี้ ฮ่องกงยังเป็นประตูสำคัญสู่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย โดยจุดเด่นที่สำคัญของฮ่องกง ได้แก่

 

1)    เป็นศูนย์กลางเอเชียที่สามารถเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นได้อย่างรวดเร็ว

 

2)    ด้วยระบบการบริหารแบบ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ฮ่องกงจึงใช้กฎหมาย Common Law ตามระบบอังกฤษในการคุ้มครองทางกฎหมายทั้งในส่วนธุรกิจและตัวบุคคล ทำให้ฮ่องกงมีกฎหมายที่น่าเชื่อถือและมีมาตรฐานสากล

 

3)    มีระบบภาษีที่โปร่งใส อัตราภาษีต่ำ และไม่ซับซ้อน โดยฮ่องกงมีภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง และใช้อัตราภาษีแบบเดียวกันในทุกประเภทธุรกิจ และล่าสุดจากปีปีงบประมาณ 2561-2652 มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจ SMEs/ startup โดยจะคิดอัตราภาษีที่ร้อยละ 8.25 สำหรับผลกำไรแรกไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ส่วนเกินจากนั้นจะคิดที่อัตราปกติ (ร้อยละ 16.5) ทั้งนี้ ฮ่องกงเก็บภาษีเพียง 4 ประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax) ในอัตราร้อยละ 16.5 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (คิดที่ร้อยละ 2 – 17 ของรายได้หรือคิดที่อัตราคงที่ร้อยละ 15) ภาษีอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรแสตมป์ นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีข้อตกลงการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (CDTAs) กับหลายประเทศ

 

 

4)    อยู่ใกล้กับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเพิร์ล (แม่น้ำจูเจียง) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญและมีกำลังซื้อสูงของจีน นอกจากนี้ ฮ่องกงและจีนยังมีความตกลงตกลง Closer Economic Partnership Arrangement (CEPA) ระหว่างกัน ทำให้ฮ่องกงได้รับสิทธิประโยชน์จากความตกลงนี้หลายด้าน

5)    ต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 100% โดยไม่มีข้อจำกัด มีระบบนิเวศธุรกิจที่มีความเป็นสากล เป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับภูมิภาคในเอเชีย เป็นที่ตั้งของสำนักของบริษัทต่างชาติและบริษัทจีนเกือบ 4,000 บริษัทและมีบุคลากรกว่า 250,000 คนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการทำธุรกิจ นอกเหนือจากภาษากวางตุ้งและจีนกลาง

6)    ได้รับการจัดเป็นอันดับ 4 ของโลกด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ ทั้งยังมีศักยภาพในการแข่งขันสูง

7)    มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์และทันสมัยระดับโลก เช่น การคมนาคมที่สะดวกและเชื่อมโยงทั้งในฮ่องกงและต่างประเทศอย่างไร้รอยต่อ โดยทั้งสะพานฮ่องกง – จูไห่ – มาเก๊าและรถไฟความเร็วสูงฮ่องกง – กว่างโจว ที่จะเปิดบริการในปี 2561 นี้ จะทำให้การเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ Greater Bay Area รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเด่นที่หาไม่ได้ในระบบนิเวศอื่น ๆ

8)    มีสนามบินนานาชาติระดับ world-class ที่มีจำนวนผู้โดยสารต่างชาติมากเป็นอันดับ 3 ของโลก มีการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศคับคั่งที่สุดในโลก และมีการขนส่งทางเรือที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ปลอดภาษีและมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก อีกทั้งยังมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตโทรคมนาคมที่ทันสมัยครอบคลุมกว่าร้อยละ 92 ครัวเรือนในฮ่องกงและมีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 220% เป็นต้น

9)    พร้อมไปด้วยบุคลากรมืออาชีพที่มีคุณภาพ สื่อสารได้อย่างน้อย 2 ภาษา อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชียหลายแห่ง มีสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่สามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาทำงาน

สาขาที่ฮ่องกงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ฮ่องกงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม ซึ่งจะมีเงินสนับสนุนบริษัทที่มีโครงการวิจัยพัฒนาทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยจะมีเงินทุนหรือโครงการสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจนวัตกรรมจากภาคส่วนต่าง ๆ  นอกจากนี้ ยังเน้นในเรื่อง IoT เมืองอัจฉริยะ FinTech อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด Hong Kong Monetary Authority (HKMA) ได้กำหนดแนวทางดำเนินการเพิ่มเติมของผู้ให้บริการธุรกิจบัตรเงินสดและอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น และเมื่อเดือน พฤษภาคม 2561 เพิ่งอนุมัติแนวทางการดำเนินการ virtual banking อย่างเป็นทางการ

ขั้นตอนการจัดตั้ง startup ในฮ่องกง

1)    เลือกประเภทธุรกิจที่ต้องการจัดตั้ง เช่น บริษัทจำกัด (Limited company) สำนักงานสาขา (Branch office) หรือสำนักงานตัวแทน (Representative office)

2)    เลือกชื่อบริษัทหรือเครื่องหมายการค้า ชื่อที่ต้องการจดทะเบียนต้องไม่ซ้ำซ้อนกับชื่อในระบบทะเบียนธุรกิจฮ่องกง โดยสามารถตรวจสอบชื่อในระบบได้ที่ https://www.icris.cr.gov.hk/csci/

3)    จดทะเบียนนิติบุคคล/ จดทะเบียนบริษัท การยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลในฮ่องกงไม่มีข้อจำกัดเรื่องทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ และสามารถยื่นจดทะเบียนบริษัทควบคู่กันได้ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทได้ที่ลิงค์ https://www.investhk.gov.hk/en/setting-hong-kong/incorporate-company.html

4)    เปิดบัญชีธนาคาร จะทำได้หลังจากที่จดทะเบียนนิติบุคคล/ จดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว โดยเอกสารประกอบจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทบริษัทและกฎระเบียบแต่ละธนาคาร โดยการเปิดบัญชีในฮ่องกงสำหรับดำเนินธุรกิจจะมีข้อได้เปรียบทางด้านภาษีมากกว่าเปิดบัญชีในจีนแผ่นดินใหญ่ (แม้จะขยายธุรกิจไปยังตลาดจีนแล้วก็ตาม)

5)    เลือกสถานที่จัดตั้งบริษัท เนื่องจากราคาค่าเช่าในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ co-working space ในฮ่องกงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือ startup โดยมีให้เลือกทั้งแบบที่อยู่ใจกลางเมืองหรือรอบนอก หรือตามศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งสะดวกและมีอุปกรณ์ครบครัน

6)    การขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะประเมินคุณสมบัติในการออกใบอนุญาตทำงาน ซึ่งจะไม่ได้จำกัดจำนวนเงินขั้นต่ำในบัญชีแต่จะขึ้นอยู่กับความสมเหตุสมผลของเอกสารและแผนธุรกิจที่สัมพันธ์กัน แต่ข้อพึงระวังคือ หากเดินทางเข้ามาในฮ่องกงด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว แม้จะดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนต่าง ๆ ได้แต่จะไม่สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้จนกว่าจะได้รับวีซ่าทำงานอย่างถูกต้อง

ความท้าทายและโอกาสจาก Belt & Road Initiative และ Greater Bay Area

Belt & Road Initiative และ Pan-Pearl River Delta (PPRD) จะเป็นโอกาสธุรกิจสำหรับบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้านพลังงาน ก่อสร้าง หรือเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า ในขณะที่ startup และ SMEs น่าจะมีโอกาสสูงในพื้นที่ Greater Bay Area โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับ BioTech พลังงานสีเขียว AI หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีนวัตกรรม

ศักยภาพความร่วมมือระหว่างไทยกับฮ่องกง

ฮ่องกงยังขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี IT การเขียนโปรแกรม และการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว (TravelTech) ก็กำลังมาแรงและเป็นสาขาที่ไทยมีความพร้อม ซึ่งผู้ที่สนใจจะเข้าสู่ตลาด startup ในฮ่องกงก็อาจลองเข้าร่วมงาน StartmeupHk Festival 2019 ระหว่างวันที่ 21 -25 มกราคม 2562 ซึ่งจะรวมไอเดียธุรกิจ startup ด้านนวัตกรรมต่าง ๆ  ที่จะเป็นโอกาสจับคู่และต่อยอดธุรกิจได้ โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ https://www.investhk.gov.hk/en/events/startmeuphk-festival-2019.html

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธุรกิจไทยมักเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์มาฮ่องกงผ่านตัวแทนจำหน่าย แต่ภายใต้โมเดลธุรกิจนี้ เจ้าของผลิตภัณฑ์จะไม่สามารถควบคุมราคาและ Brand positioning ของตนได้ จึงเป็นที่น่าเสียดายโอกาสการเติบโตธุรกิจในตลาดฮ่องกง ซึ่งไม่ใช่มีเพียงแค่ประชากร 7 ล้านคน แต่ยังมีนักท่องเที่ยว 60 ล้านคนต่อปี มีกำลังซื้อสูง และมีความเชื่อมโยงกับทั่วโลก โดยในปี 2561 ไตรมาสแรก มูลค่าตลาดค้าปลีกฮ่องกงเติบโตถึงร้อยละ 14.3 (จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) และคาดว่ามูลค่าตลาดรวมจะอยู่ที่ 4.84 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกงในปี 2561 ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นหนึ่งใน 3 สินค้าขายดีที่สุดในหมู่นักท่องเที่ยว (รองจากอัญมณีและเสื้อผ้า) InvestHK จึงสนับสนุนให้เจ้าของสินค้าผู้บริโภค โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามเข้ามาเปิดร้านหรือสำนักงานที่ฮ่องกงเพื่อปักธงสำหรับเข้าสู่ตลาดฮ่องกงและจีน และใช้ในฮ่องกงเป็นเวทีต้นแบบสำหรับบุกตลาดในเอเชียเพื่อต่อยอดธุรกิจต่อไป ซึ่งในชั้นแรกอาจเริ่มจาก one-man shop หรือ pop-up store หรือแม้กระทั่งสำนักงานใน co-working space ก็ได้

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจลงทุนในฮ่องกง สามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้นได้จาก www.investhk.gov.hk หรือสามารถติดต่อตัวแทน InvestHk ในประเทศไทย เพื่อขอรับคำปรึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ปรับปรุงล่าสุด : 16 กรกฎาคม 2561
โดย : น.ส. กัญญาพัชร ชัยเดช

startupลงทุนฮ่องกงInvestHK

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน