บทเรียนจากฮ่องกง 1: ระบบนิเวศธุรกิจ Startup ในฮ่องกง

25 May 2018

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจ startup เป็นแนวโน้มที่มาแรง ที่กำลังเป็นที่สนใจและกล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งโดยไทยเองก็พยายามส่งเสริมธุรกิจ startup ให้แข็งแกร่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในการนี้ ประสบการณ์ของฮ่องกงก็น่าจะเป็นอีกตัวอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจ startup ของไทย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในฮ่องกงจึงขอนำเรื่องราวการพัฒนาและสนับสนุน startup ของที่นี่มาฝาก โดยในตอนแรกนี้จะว่ากันด้วยเรื่องของภาพรวมระบบนิเวศธุรกิจ startup ในฮ่องกงกัน

แม้ว่าฮ่องกงจะขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน โลจิสติกส์ และเศรษฐกิจที่เสรี และมีการเติบโตของธุรกิจ startup ที่รวดเร็ว แต่การสำรวจระบบนิเวศธุรกิจ startup โดยบริษัท Compass ของซานฟรานซิสโก    ซึ่งแบ่งธุรกิจ startup ออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ (1) ขั้น Emergence (2) ขั้น Activation (3) ขั้น Integration และ (4) ขั้น Maturity จัดให้ฮ่องกงอยู่ในขั้นที่ 2 ตอนต้น ซึ่งจะยังมีช่องว่างอยู่ภายในระบบนิเวศ ทั้งในด้านบุคลากร ด้านเงินทุน และด้านนโยบาย ในขณะที่ระบบนิเวศอื่น ๆ พัฒนาไปกว่ามาก เช่น สิงคโปร์และเทลอาวีฟ ถือว่าอยู่ในขั้นที่ 4 แล้ว หรือขนาดบังกาลอร์ในอินเดียก็อยู่ในขั้นที่ 3 จึงเรียกได้ว่าฮ่องกงยังออกจะล้าหลังกว่าที่อื่น ๆ อยู่พอสมควร โดยในด้านบุคลากร ฮ่องกงยังมีความต้องการต่อบุคลากรทั้งในสายเทคนิคและผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นคนฮ่องกง หรือจากภายนอกก็ดี ที่จะสามารถช่วยสร้างความเติบโตให้แก่ระบบนิเวศได้ ส่วนเรื่องเงินทุน ปัญหาของฮ่องกงไม่ได้อยู่ที่การระดมทุนในขั้น series A/ series B แต่เป็นเรื่องของเงินทุนตั้งต้น (seed funding) ซึ่งยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าระบบนิเวศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ อยู่มาก

1. ผลการสำรวจโดย startmeup.hk เมื่อปี 2560 startmeup.hk ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐภายใต้ InvestHK ได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ startup ของฮ่องกงในปี 2559 ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจโดยสรุปคือ

   ·      ระบบนิเวศสำหรับธุรกิจ startup ในฮ่องกงปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา โดยในปี 2559 จำนวน startup ในฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปีก่อนหน้า (จาก 1,558 แห่ง เป็น 1,926 แห่ง) โดยมีจำนวนจุดทำงาน (working station) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เช่นกัน (จาก 4,535 จุด เป็น 5,618 จุด) ในขณะที่จำนวนพนักงานที่ทำงานในธุรกิจ startup เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 41 (จาก 3,721 เป็น 5,229 คน) ถือเป็นระบบนิเวศ startup ที่เติบโตเร็วเป็นอันดับ 5 ของโลก

   ·      นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีความแข็งแกร่งในฐานะแหล่งเงินทุน โดยเป็นประตูเชื่อมไปสู่นักลงทุนรายใหญ่ (high-net-worth individuals: HKWIs) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคถึง 5.1 ล้านคน ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกันถึง 17.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ระบบนิเวศของ startup ฮ่องกงเองนั้นคาดว่ามีมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

   ·      เมื่อหันมาดูจำนวนผู้ประกอบการ startup ที่อยู่ในโปรแกรมของภาครัฐกับภาคเอกชน พบว่าในปี 2558 ร้อยละ 63.8 ของผู้ประกอบการทั้งหมด 1,912 ราย อยู่ในการดูแลของภาคเอกชน ในขณะที่สัดส่วนดังกล่าวในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66.2 ของผู้ประกอบการทั้งหมด 2,039 ราย แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญขึ้นในการสนับสนุนธุรกิจ startup ของฮ่องกง

   ·      ในส่วนของจำนวนพื้นที่ co-working space และสถานที่สำหรับบ่มเพาะและสนับสนุนผู้ประกอบการ startup นั้น มีทั้งหมด 48 แห่งในปี 2559 โดยกระจุกอยู่ในเกาะฮ่องกงไปแล้ว 34 แห่ง อยู่ในเขตเกาลูน 11 แห่ง และที่เหลืออีก 3 แห่งอยู่ในเขต New Territories

   ·      กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการ startup ในฮ่องกงเป็นคนท้องถิ่น (ร้อยละ 62 ในปี 2559 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 ในปีก่อนหน้า) ในขณะที่ร้อยละ 35 มาจากแผ่นดินใหญ่หรือต่างประเทศ (ลดลงจากร้อยละ 43 ในปีก่อนหน้า) และที่เหลืออีกร้อยละ 3 เป็นคนเชื้อสายฮ่องกงในต่างประเทศที่กลับมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่บ้านเกิด (ลดลงจากร้อยละ 7 ในปีก่อนหน้า) แสดงถึงแนวโน้มที่คนฮ่องกงให้ความสำคัญกับธุรกิจ startup มากขึ้นจากที่เดิมจะมีค่านิยมในการทำงานในบริษัทใหญ่ที่มีความมั่นคง

   ·      และเมื่อลงรายละเอียดไปในบรรดาเจ้าของธุรกิจ startup จากนอกฮ่องกง จะพบว่ามาจากสหรัฐฯ มากที่สุด (ร้อยละ 20.7) รองลงมาได้แก่อังกฤษ (ร้อยละ 13) จีนแผ่นดินใหญ่ (ร้อยละ11.3) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 10.3) ตามด้วยออสเตรเลีย เยอรมนี แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฯลฯ

   ·      สำหรับสาขาธุรกิจที่ได้รับความนิยมที่สุด ได้แก่ด้าน (1) สารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี ซึ่งมีจำนวน 401 เจ้า เพิ่มขึ้นในช่วงปีเดียวถึงร้อยละ 47 รองลงมาได้แก่ (2) E-commerce การบริหารห่วงโซ่อุปทาน และเทคโนโลยีโลจิสติกส์ มีจำนวนรวม 249 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 75 อันดับ (3) ได้แก่บริการวิชาชีพเฉพาะและการให้คำปรึกษา มีอยู่ด้วยกัน 180 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 ตามด้วย (4) การออกแบบ มีจำนวน 158 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 (5) FinTech จำนวน 138 ราย เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 และ (6) ฮาร์ดแวร์ (เช่น IoT, เครื่องพิมพ์ 3 มิติ, ผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์สำหรับสวมใส่) จำนวน 128 ราย ลดลงร้อยละ 36 นอกจากนี้ ก็จะกระจัดกระจายกันออกไปในสาขาอื่น ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพและการแพทย์ นวัตกรรมทางสังคม การวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีสีเขียว เมืองอัจฉริยะ เกม เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีขายปลีก หุ่นยนต์ เป็นต้น

 

2. ผลการศึกษาของ Startup Genome Startup Genome ซึ่งออกรายงานเกี่ยวกับระบบนิเวศของธุรกิจ startup ทั่วโลกล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2561 ระบุว่าในช่วงปี 2555 – 2559 กิจกรรมระดมทุนในฮ่องกงได้เติบโตขึ้นถึง 11 เท่า โดยในปี 2559 ได้ทะลุระดับ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาขาที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ได้แก่     (1) FinTech จากความเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคมายาวนาน ทำให้มีธนาคารขนาดใหญ่ติด 100 อันดับแรกของโลกกว่า 70 แห่งดำเนินกิจการอยู่ในฮ่องกง และมีบริษัทด้าน FinTech กว่า 200 แห่งในฮ่องกง รวมทั้งมี accelerator เฉพาะทางในสาขานี้หลายราย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา FinTech การระดมทุนในสาขา FinTech คิดเป็นร้อยละ 27 ของการระดมทุนทั้งหมดในระบบนิเวศธุรกิจ startup ในฮ่องกง โดยบริษัท TNG ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการบ่มเพาะของ Cyberport สามารถระดมทุนใน Series A ได้ถึง 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นยอดระดมทุนใน Series A   ที่สูงเป็นประวัติการณ์ของฮ่องกง และอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลกรายหนึ่ง

 

    (2) เทคโนโลยีสุขภาพ ระบบดูแลสุขภาพของฮ่องกงได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลมากกว่าระบบนิเวศอื่น ๆ หลายแห่ง ในขณะที่เทคโนโลยีชีวภาพก็เติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา โดยการระดมทุนที่ประสบความสำเร็จสูงในปี 2560 ได้แก่ บริษัท IDS Medical Systems Group (idsMED) ซึ่งเป็นบริษัทแก้ไขปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานทางการแพทย์ของฮ่องกง และบริษัท Prenetics ผู้นำด้านการทดสอบพันธุกรรม เป็นต้น

 

    (3) สินค้าอิเลกทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (รวมถึง Internet of Things: IoT) ฮ่องกงมีทั้งความแข็งแกร่งของตนเอง และความได้เปรียบจากที่ตั้งในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล โดยเฉพาะระยะทางใกล้กับเซินเจิ้น จึงสามารถเข้าสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บุคลากรทางการผลิต และแหล่งทรัพยากรได้ง่าย โดยงาน Startup Launchpad (SULP) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้าน hardware ใหญ่ที่สุดในเอเชียที่จัดขึ้นที่ฮ่องกง ก็ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ startup และผู้เล่นอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม เช่น ผู้ค้าปลีก ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในฮ่องกงก็ยังมี accelerator เฉพาะทางสำหรับด้านนี้อีกหลายรายเช่นกัน

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังได้ประเมินศักยภาพของระบบนิเวศในฮ่องกง โดยเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกในด้านต่าง ๆ เช่น

    ·      ความเป็นสากล ฮ่องกงได้คะแนนร้อยละ 40 ในส่วนของลูกค้าต่างชาติ (ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ร้อยละ 23) ในขณะที่ความเชื่อมต่อกับโลก ซึ่งวัดความสัมพันธ์ของผู้นำธุรกิจ startup ที่สามารถเชื่อมต่อกับแหล่งความรู้ ความคิดริเริ่ม ผู้คน และองค์กรต่าง ๆ ในระบบนิเวศสำคัญของโลก ฮ่องกงได้คะแนน 9.7 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 6.1

   ·      ด้านบุคลากร ฮ่องกงได้รับคะแนนด้านการจ้างวิศวกรด้านซอฟต์แวร์ที่มีประสบการณ์ที่ร้อยละ 62 (ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ร้อยละ 72) และคะแนนการจ้างบุคลากรด้านการหาลูกค้าที่มีประสบการณ์ (ในธุรกิจ startup มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี) อยู่ที่ร้อยละ 49 (ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ร้อยละ 60) อย่างไรก็ดี ฮ่องกงได้คะแนนสูงถึงร้อยละ 71 เรื่องความสำเร็จในการขอตรวจลงตรา (ค่าเฉลี่ยโของโลกอยู่ที่ร้อยละ 41)

·      ด้านอื่น ๆ สัดส่วนผู้ก่อตั้งธุรกิจที่เป็นเพศหญิงร้อยละ 14 (ค่าเฉลี่ยโลกคือร้อยละ 16) ซึ่งเพิ่มขึ้นรวดเร็วจากร้อยละ 6 เมื่อปี 2558 และมีสัดส่วนผู้ก่อตั้งธุรกิจที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นสูงถึงร้อยละ 56 (ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ร้อยละ 19)

3. พัฒนาการล่าสุดและแนวโน้มในอนาคต  

    ·      ด้วยข้อจำกัดของฮ่องกงเองและรูปแบบธุรกิจ startup ส่งผลให้ลักษณะการทำงานเปลี่ยนแปลงไป โดยการมีสำนักของตัวเองจะมีต้นทุนสูง เนื่องจากค่าเช่าในฮ่องกงที่แพงติดอันดับโลก แถมต้องเช่าในระยะยาว ต้องลงทุนตกแต่งสถานที่และซื้ออุปกรณ์สำนักงาน รวมทั้งยังมีความไม่ยืดหยุ่นอื่น ๆ ในขณะที่ home office ที่เคยเป็นที่นิยมกันในอดีตก็จะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และการตัดขาดจากโลกภายนอก ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ co-working space จึงช่วยตอบโจทย์โมเดลธุรกิจ startup รุ่นใหม่ได้ดีกว่าทั้งในแง่ต้นทุน ความยืดหยุ่น การมีเครือข่ายมืออาชีพ และการเป็นส่วนหนึ่งของ community ทำให้แนวโน้มการใช้ co-working space มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นทางเลือกแทนที่บรรดา accelerator ด้วย จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการเติบโตของ startup ในฮ่องกง

   ·      ในขณะเดียวกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็พยายามจับมือกันพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของ startup และเติมเต็มช่องว่างในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น incubator/ accelerator อย่าง Cyberport/ Science Park หน่วยงานที่ให้ข้อมูลและบริการที่เป็นประโยชน์สำหรับการเชื่อมต่อกับนักลงทุนอย่าง startmeup.hk หรือหน่วยงานที่จัดกิจกรรมเป็นเวทีสร้างโอกาสโชว์ผลงานและพบนักลงทุนอย่าง HKTDC ที่จัดกิจกรรมและพื้นที่ให้ startup ในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดงาน Entrepreneur Day สำหรับผลงานของ startup โดยเฉพาะต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 10 รวมทั้งกำลังริเริ่มโครงการบ่มเพาะใหม่อย่าง Start-up Express

   ·      ล่าสุด กระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีฮ่องกงจะมีโครงการนำร่องระยะ 3 ปี เร่งกระบวนการนำเข้าบุคลากรจากภายนอกในสาขาสำคัญ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ A.I. cyber security หุ่นยนต์ การวิเคราะห์ข้อมูล FinTech เป็นต้น โดยได้กำหนดโควตาในปีแรกไว้ที่ 1,000 คนก่อน โดยบริษัทที่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการฯ ในช่วงแรกนี้ จะต้องเป็นผู้เช่าพื้นที่หรือเป็นสมาชิกโครงการบ่มเพาะของ Cyberport หรือ Science Park เท่านั้น แต่ในอนาคตก็อาจจะขยายไปยังบริษัทที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทั้งสององค์กรนี้ได้ ซึ่งก็น่าจะช่วยเพิ่มความเป็นสากลให้แก่ startup ในสาขาเหล่านี้ของฮ่องกงขึ้นไปอีกระดับ

 

ปรับปรุงล่าสุด : 24 พฤษภาคม 2561
โดย : น.ส. กัญญาพัชร ชัยเดช

                                                                                                            

 

startupHong KongInvestHKstartmeupHKstartupHKระบบนิเวศธุรกิจ startup ในฮ่องกง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน