เที่ยวงานนิทรรศการของเล่นที่ฮ่องกง

11 Jan 2013

เมื่อวันที่ 7-10 ม.ค. 2556 Hong Kong Trade Development Council ได้จัดงาน Hong Kong Toys & Games Fair ขึ้น โดย “งานนิทรรศการของเล่น” ดังกล่าวเป็นนิทรรศการจัดแสดงสินค้าประเภทของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ดึงดูดผู้ประกอบได้กว่า 1,800 ราย จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อาทิ ออสเตรเลีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงประเทศไทย โดยมีผู้ประกอบการด้านของเล่นจากประเทศไทยมาร่วมงานกว่า 30 ราย

ในโอกาสนี้ บีไอซีได้เที่ยวชมงานอย่างทั่วถึง พบว่าบูธของเล่นหลากหลายประเภทตั้งอยู่ตามโซนที่แบ่งไว้ อาทิ ของเล่นเพื่อการศึกษา ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์และของเล่นที่ใช้รีโมตควบคุม ของประดับตกแต่ง ชิ้นส่วนของเล่น ของเล่นกลางแจ้ง/อุปกรณ์กีฬา ของเล่นที่ทำจากกระดาษ/บรรจุภัณฑ์ของเล่น ของเล่นประเภทตุ๊กตา และบริการรับรองคุณภาพของเล่น เรียกได้ว่างานนี้เป็นแหล่งรวมของเล่นทุกประเภท ทั้งสำหรับเด็กเล็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งรวม “ผู้ค้า” และ “ลูกค้า” ทั้งจากตะวันออกและตะวันตก โดยบีไอซีมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการไทยส่วนหนึ่งที่มาร่วมงาน และพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบปัญหาใกล้เคียงกัน ดังนี้

งานของเล่นปีนี้ค่อนข้างซบเซาในภาพรวม


                                                 

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่รู้สึกว่า งานนิทรรศการของเล่นปีนี้เงียบเหงากว่าที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้เป็นเฉพาะกับงานนิทรรศการของเล่นที่ฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานนิทรรศการของเล่นในประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยน่าจะเป็นผลมาจากเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำเข้าของเล่นรายใหญ่ คุณสุดาพร สุกัญจนศิริ จากบริษัท SANTA จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตของประดับสำหรับเทศกาลคริสต์มาสเปิดเผยว่า จุดประสงค์ในการเข้าร่วมงานนิทรรศการของเล่นที่ฮ่องกง นอกจากเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ แล้ว ยังเป็นการมาพบลูกค้าเก่าเพื่อรับออเดอร์สินค้าด้วย เพราะลูกค้าหลายรายชอบสั่งสินค้าโดยเห็นตัวอย่างจริงมากกว่าชมทางอินเตอร์เน็ต

ไทยยังเสียเปรียบจีนในด้านต้นทุนการผลิต


                                                 

ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงกว่าจีนมากเป็นอุปสรรคสำคัญที่เกิดกับผู้ประกอบการไทยหลายราย โดยคุณชัชพร ทองขวัญ ผู้จัดการฝ่ายขายและส่งออก บริษัท Cartoon Characters จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตตุ๊กตารายใหญ่ในไทยเปิดเผยว่า ไทยสู้จีนไม่ได้ในด้านต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรง แต่หากพูดถึงคุณภาพและการออกแบบแล้ว เรายังคงได้เปรียบ เพราะคนไทยมีความละเอียดประณีตมากกว่า ซึ่งคนไทยควรใช้ข้อได้เปรียบดังกล่าวในการเจาะตลาดบนหรือตลาดพรีเมี่ยม (premium) และนำเสนอสินค้าคุณภาพสูงมากกว่าการแข่งขันด้านราคา โดยคุณชัชพรฯ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวจีนมีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ และให้ความสนใจสินค้าไทยมากขึ้น เพราะมองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นมาอีกระดับ นอกจากนี้ ค่าแรงในจีนยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวจึงอาจส่งผลให้จีนไม่ใช่ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอีกต่อไป ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรดำเนินการในตอนนี้คือ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อเจาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงในตลาดจีน

ความหวังใหม่กับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


                                                 

นอกจากจะมองเห็นศักยภาพของตลาดจีนแล้ว ผู้ประกอบการไทยบางส่วนยังเห็นศักยภาพตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นตลาดภายในภูมิภาคขนาดใหญ่ถึงประมาณ 500-600 คน และทำเลที่ตั้งอันเหมาะสมที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคย่อมส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งนี้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ยังคงผันผวน ผู้ประกอบการไทยอาจเริ่มมองหาคู่ค้าเพื่อนบ้านเพื่อมุ่งหาตลาดใกล้ตัว แทนที่จะไปมุ่งเจาะตลาดอินเตอร์เพียงอย่างเดียว  

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน