ฤๅมวยไทยจะกลายเป็น “ฮีโร่” ที่เพิ่มโอกาสทางธุรกิจของคนไทยในจีน

7 Jan 2013

ครูบุญ เจ้าของธุรกิจมวยไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่เป็นคนไทยในประเทศจีน

“เคล็ดลับความสำเร็จของผมอยู่ที่ความดี” โดย คุณบุญสิทธิ์ เมฆสวรรค์บำรุง (ครูบุญ) เจ้าของธุรกิจสโมสรบุญมวยไทย นครกว่างโจว

มวยไทยถือเป็นศิลปะประจำชาติไทย ซึ่งแรกเริ่มเป็นการฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร จนแพร่หลายมาสู่ชาวบ้าน และเป็นที่นิยมในหมู่ชาวไทยจวบจนปัจจุบัน คงจะไม่ยากเท่าไรนัก หากจะหาศูนย์ฝึกมวยไทยหรือครูฝึกฝีมือดี ๆ สักคนในประเทศไทย ทว่าก็คงจะไม่ง่ายนักที่จะหาศูนย์ฝึกมวยไทยฉบับไทยแท้ในประเทศจีนเช่นกัน

หลังจากที่ศูนย์ BIC กว่างโจวได้พาไปเยี่ยมชมค่ายมวยของนายหลิว กั๋วฉี (刘国其) ประธานสโมสรมวยไทย มวยสากลอาชีพประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนำมวยไทยเข้ามาเผยแพร่ยังประเทศจีนนั้น วันนี้ศูนย์ BIC กว่างโจวจะพาไปเยี่ยมชมค่ายบุญมวยไทย (Boon Muay Thai) ที่นครกว่างโจว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นค่ายมวยที่มีเจ้าของเป็นคนไทยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศจีน

BIC: ขอให้ครูบุญแนะนำตัวเองและอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เปิดสโมสรมวยไทยในจีน

ครูบุญ: ผมเป็นชาวเชียงใหม่ที่ชื่นชอบมวยไทยมาตั้งแต่เด็ก ฝึกฝนเรื่อยมาและยึดเป็นอาชีพจนมีโอกาสได้ขึ้นชกที่เวทีมวยลุมพินี หลังจากมีผลงานที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คุณหลิว กั๋วฉี ติดต่อให้ไปเป็นครูสอนที่สโมสรของเขาที่นครกว่างโจวประเทศจีน ระหว่างนั้นมีการเดินทางไปมาระหว่างไทย-จีนในเส้นทางครูสอนมวยจนกระทั่งถึงปี 2549 จึงตัดสินใจเปิดสโมสรมวยเป็นของตัวเอง สำหรับตัวผม ผมรักมวยไทยมากเป็นชีวิตจิตใจและเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผมอยากเปิดสโมสรมวยไทย นอกจากอยากที่จะช่วยเผยแพร่ศิลปะมวยไทยให้ชาวต่างชาติรู้จักแล้ว ยังเป็นสโมสรมวยไทยที่มีเจ้าของเป็นนักมวยไทยในอดีตด้วย

BIC: ขอให้ครูบุญแนะนำสโมสร “ครูบุญมวยไทย” มีคอร์สอบรมและสอนมวยไทยแบบใดบ้าง

ครูบุญ:จริง ๆ สโมสรของเราจัดตั้งในรูปแบบของ “ยิม” ซึ่งเป็นสถานที่ออกกำลังกายเหมือนฟิตเนสบ้านเรา ปัจจุบันมีสมาชิกพันกว่าคน ร้อยละ 70 เป็นชาวจีน โดยกิจกรรมของสโมสรฯ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1. มวยอาชีพ แต่ละวันจะมี 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า 9.30-11.30 น. และช่วงเย็น 16.30-18.30 น. ผู้ที่สนใจเรียนมวยไทยกับทางสโมสรฯ สามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะสมในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ 1. มวยอาชีพ แต่ละวันจะมี 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า 9.30-11.30 น. และช่วงเย็น 16.30-18.30 น. ผู้ที่สนใจเรียนมวยไทยกับทางสโมสรฯ สามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะสมในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

ระยะเวลา

ค่าใช้จ่าย (หยวน)

หมายเหตุ

1 เดือน

2,000

ไม่รวมค่าที่พัก

3 เดือน

4,000

6 เดือน

6,000

12 เดือน

10,000

2. มวยสมัครเล่น แต่ละวันจะมี 3 ช่วง คือ ช่วงเช้า 9.30-11.30 น. ช่วงเย็น 16.30-18.30 น. และช่วงค่ำ 19.30-21.30 น. ผู้ที่สนใจเรียนมวยไทยกับทางสโมสรฯ สามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะสมในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

ระยะเวลา

ค่าใช้จ่าย (หยวน)

1 ครั้ง

100

10 ครั้ง

500

1 เดือน

1,200

3 เดือน

1,500

6 เดือน

2,500

12 เดือน

3,980

นอกจากนี้ ยังมีคอร์สสอนตัวต่อตัว และคอร์สปิดภาคฤดูร้อนสำหรับเด็กนักเรียนด้วย ซึ่งผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.boonmuaythai.com/en/class.php?id=22

อุปกรณ์ฝึกซ้อมทุกชนิดนำเข้าจากประเทศไทย

BIC: ตลาดสโมสรมวยในประเทศจีนดูเหมือนว่าจะมีการแข่งขันมากขึ้นทุกวัน บุญมวยไทยมีจุดเด่นอะไร

ครูบุญ: ยิมของเราจะเน้นที่การเรียนการสอนแบบมืออาชีพ โดยเชิญนักมวยมืออาชีพชาวไทยมาเป็นครูที่สโมสรฯ ถึง 8 ท่าน ซึ่งต่างกับบางค่ายที่มีอาจารย์ไทยเพียงคนเดียวถ่ายทอดให้คนจีนแล้วให้คนจีนสอนต่อ นอกจากนี้ ขนาดของคลาสเรียนของเราไม่ใหญ่มาก ทำให้ครูสามารถสอนนักเรียนได้ค่อนข้างตัวต่อตัวจึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้เรียน

BIC: เคล็ดลับความสำเร็จของบุญมวยไทย

ครูบุญ: ผมใช้ “ความดี” ในการต่อสู้กับทุกสิ่ง ผมยังจำได้อย่างแม่นยำว่าช่วงสามเดือนแรกที่มาเปิดเอง ไม่มีนักเรียนเข้ามาสมัครสมาชิกเลยสักคน บอกตามตรงว่าเกือบท้อเหมือนกัน แต่ผมพยายาม “คิดดี ทำดี”

1) คิดดี คือ ยิมของผมตั้งขึ้นมานอกจากจะเพื่อสร้างกิจการของตนเองแล้ว สิ่งสำคัญผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเผยแพร่ศิลปะมวยไทยดั้งเดิมให้แพร่หลายในต่างประเทศ นับวันมวยไทยแท้เริ่มถูกลอกเลียนแบบหรือดัดแปลงโดยชาวต่างชาติแล้วนำไปอ้างอิงเป็นของตนจนลูกศิษย์หลายคนก็ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วมาจากไทย และ

2) ทำดี คือ ผมยึดหลัก “ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า” หลักสูตรของผมเน้นคุณภาพเป็นหลัก จะเห็นได้จากอาจารย์ฝึกสอนเป็นครูไทยที่คร่ำหวอดในวงการมวยไทยมานาน อุปกรณ์ฝึกซ้อมทุกชนิดเรานำเข้าจากประเทศไทย เราพยายามถ่ายทอดสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้เรียนแบบเป็นกันเอง จึงทำให้ผู้ที่เคยมาเรียนแนะนำและบอกต่อกันเป็นทอด ๆ ซึ่งก็ทำให้มีสมาชิกมากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนทำการตลาดมากมาย

BIC: ทำไมจึงเลือก “กว่างโจว” เป็นทำเลเปิดสโมสรฯ

ครูบุญ: สาเหตุที่เลือกเปิดสโมสรมวยไทยในนครกว่างโจว ก็เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับสภาพพื้นที่จากการที่เคยเป็นครูสอนมวยไทยให้กับค่ายมวยของคุณหลิวฯ นับรวมการเข้ามาเป็นครูสอนถึงปัจจุบันอยู่ในนครกว่างโจวมาเกือบสิบปี จึงไม่มีอุปสรรคด้านภาษาทั้งจีนกลางและกวางตุ้งตลอดจนการดำเนินเรื่องติดต่อหน่วยงานในพื้นที่ และเล็งเห็นถึงโอกาสในนครกว่างโจวที่มีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง กอรปกับการที่คนท้องถิ่นเองก็มีความสนใจในวิถีหมัดมวยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเนื่องจากมณฑลกวางตุ้ง (เมืองฝอซานที่ติดกับนครกว่างโจว) เป็นแหล่งกำเนิดวิชามวยหย่งชุนมวยที่มีชื่อเสียงของจีนอีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ “นครกว่างโจว” เป็นตลาดมวยที่ดีในประเทศจีน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีฐานะค่อนข้างดี มีกำลังจับจ่ายและยังเป็นเมืองที่มีสาธารณูปโภคครบครัน ความสะดวกเพียบพร้อมเหมาะกับชาวจีนมณฑลอื่นที่สนใจจะเดินทางมาฝึกมวยไทยเป็นระยะเวลานาน จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้เรียนที่มาเรียนที่นี่ไม่เพียงแต่ชาวกวางตุ้งเท่านั้น ยังมีชาวจีนจากภาคเหนือทั้งจากมณฑลเหอหนาน มณฑลซานตงมาสมัครเพื่อฝึกมวยอาชีพด้วย ดังนั้น หากสโมสรของเรามีชื่อเสียงและมีคุณภาพจริง ก็จะจับกลุ่มลูกค้าได้ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

BIC: อุปสรรคของบุญมวยไทย

ครูบุญ: เงินลงทุนถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญทีเดียว เนื่องจากสายป่านไม่ยาวเราก็เปิดใหญ่ไม่ได้ การทำประชาสัมพันธ์ การตลาดก็ต้องลดลงไป ทำให้บางทียังไม่เป็นที่รู้จักเท่าที่ควร นอกจากนี้ การขอวีซ่าเข้ามาทำงานในประเทศจีนค่อนข้างลำบาก มีกฎระเบียบและขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้ปัจจุบันครูฝึกชาวไทยยังคงใช้วีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาเป็นครูผู้สอน

BIC: มีอะไรอยากจะฝากให้ผู้ประกอบการที่อยากจะเข้ามาทำธุรกิจมวยไทยในจีน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย

ครูบุญ: สำหรับผู้ประกอบการไทย ธุรกิจมวยไทยในประเทศจีนมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงหลังที่มีการจัดการแข่งขันมวยไทยตามพื้นที่ต่าง ๆ ก็เป็นการส่งเสริมการรับรู้ให้กับชาวจีนให้รู้จักมวยไทยได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่สนใจมาเปิดตลาดที่จีนควรพิจารณาเรื่องปัจจัยเงินลงทุนและความสัมพันธ์ (Guangxi, 关系) หรือเส้นสาย ช่วงแรกผมนึกว่าคงจะไม่ยากนักมีเงินไม่กี่แสนก็น่าจะเปิดได้ แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีการดำเนินการที่ค่อนข้างยุ่งยากและนาน ทั้งการหาพื้นที่ เช่าพื้นที่ การขอใบอนุญาต นอกจากนี้บางพื้นที่ยังมี “มาเฟีย” มาเก็บค่าคุ้มครองอีกด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็จะเชื่อมมาจุดที่สองคือ การรู้จักกับคนในพื้นที่เป็นอย่างดีหรือมีคู่ค้าทางธุรกิจเป็นคนจีนในพื้นที่ก็จะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาต การเตรียมเอกสาร เป็นต้น

สำหรับหน่วยงานภาครัฐ อยากจะขอให้หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนมวยไทยในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะที่จีน เนื่องจากชาวจีนนิยมศิลปะป้องกันตัวและคงไม่ยากนักที่จะปลุกกระแสมวยไทยฝนตลาดจีน ที่ผ่านมาการจัดการแข่งขันจะอยู่ในลักษณะชาวจีนเป็นผู้จัดและเชิญเราไปชก ซึ่งทางฝ่ายจีนก็สามารถตั้งกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเขา ทำให้หลาย ๆ ครั้งนักชกไทยเป็นฝ่ายแพ้ ซึ่งอาจกระทบต่อชื่อเสียงของฝีไม้ลายมือมวยไทย หากฝ่ายไทยเป็นผู้จัดรายการแข่งขันมวยที่ประเทศจีน ก็สามารถตั้งกฎเกณฑ์การแข่งขันแบบไทยที่ได้มาตรฐาน ทำให้การแข่งขันโปร่งใสรวมถึงยังเป็นการเผยแพร่มวยไทยต้นตำรับให้กับชาวจีนได้เข้าใจด้วย

ทั้งนี้ ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนและสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวที่เข้ามาเยี่ยมเยียน ไม่ละเลยธุรกิจมวยไทยและแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา ล่าสุดถือเป็นเรื่องที่ดีที่สหพันธ์มวยไทยอาชีพโลกร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัด “การแข่งขันมวยเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา” ที่นครกว่างโจวเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2555 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติแล้วยังเป็นการส่งเสริมมวยไทยให้ชาวโลกรู้จักและเป็นที่กล่าวขานสำหรับนานาชาติ และยังใช้กิจกรรมดังกล่าวเป็นสื่อในการเชิญชวนชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อีกด้วย

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าคนจีนทำไมถึงสนใจมวยไทยกันนัก ยิ่งบางคนถึงกับเรียนเพื่อจะยึดเป็นอาชีพ เค้ามีอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนมวยไทย เรามาติดตามไปพร้อม ๆ กับการสัมภาษณ์สมาชิกใน “บุญมวยไทย” ระหว่างการติดตามคณะผู้ผลิตรายการ “24 ชั่วโมง…ไทยไม่เคยหลับ" ของสถานี MCOT กันเลยคะ

BIC: อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนมวยไทยที่สโมสรฯ แห่งนี้

คุณหวง: ผู้เรียนหลักสูตรมวยอาชีพ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่นี่มีการสอนมวยไทยดั้งเดิม มีครูมวยไทยหลายคน ผมเชื่อว่าลูกศิษย์จะเก่งได้ ต้องมีครูดี ซึ่งที่นี่สอนแบบเอาใจใส่ ค่อนข้างตัวต่อตัว ทำให้มั่นใจได้ว่าจะได้เทคนิคดีจากครูทุกครั้งที่มา ความใฝ่ฝันของผมคือ อยากจะฝึกฝนฝีมือจนเข้าไปสู่เวทีอู่หลินเฟิง (武林风) ของจีนซึ่งมีชื่อเสียงเปรียบได้กับสนามมวยเวทีลุมพินีของไทยและในอนาคตจะนำวิชาความรู้ไปเปิดเป็นสโมสรของตัวเองได้

คุณหลี่: เจ้าของธุรกิจส่วนตัว พูดคุยว่าเข้ามาฝึกเพราะเชื่อว่ากีฬามวยนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังป้องกันตนเองได้อีกด้วย โดยเฉพาะที่จีนมีโจรลักขโมยค่อนข้างมาก ถือว่า “ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว”

หากกล่าวถึงกีฬามวย เชื่อได้ว่าหลาย ๆ คนจะคิดว่าคงจะนิยมในหมู่ผู้ชาย อย่างไรก็ตามบีไอซีเหลือบไปเห็นสาว ๆ จีนหลายคนเข้ามาฝึกที่สโมสรฯ แห่งนี้เช่นกัน ว่าแล้วจึงได้เข้าไปสอบถามคุณหงส์ สาวสวยสมาชิกของสโมสรฯ ถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้รู้สึกสนใจมวยไทย เธอตอบว่าเคยดูภาพยนตร์เรื่อง “องค์บาก” รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับฝีมือศิลปะการต่อสู้แบบไทย เธอยังเชื่ออีกว่าเรื่องที่สาว ๆ หลายคนกังวลว่าจะทำให้มีกล้ามเหมือนนักกีฬานั้นไม่จริง แท้ที่จริงแล้ว หากได้รับการฝึกฝนอย่างถูกวิธีและพอเหมาะ กลับจะช่วยกระชับสัดส่วน



ภาพซ้าย: บรรยากาศฝึกซ้อมใน “บุญมวยไทย”

ภาพขวา: คุณหงส์ สาวสวยสมาชิกของสโมสรฯ

BIC: ฮีโร่ของไทยด้านศิลปะการต่อสู้ที่รู้จัก

ทั้งสามคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า บัวขาว ป.ประมุข ซึ่งโด่งดังอย่างมากจากสังเวียนการชกมวยไทย K1 ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2539 ที่ประเทศญี่ปุ่น และจากสังเวียน Thai Fight ที่จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 และโทนี่ จา (จา พนม) จากองค์บาก

จากประสบการณ์ทางธุรกิจของครูบุญคงจะสะท้อนเส้นทางตลาดมวยไทยในจีนได้ว่าถึงแม้จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็ยังสดใสไม่น้อย ล่าสุดจากกระบอกเสียงน้อย ๆ ของผลงานบีไอซีได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานของไทยรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสโมสรมวยไทยในจีน โดยเฉพาะในตลาดกว่างโจวมากขึ้น ส่งผลให้สหพันธ์มวยไทยอาชีพโลกและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณากว่างโจวเป็นพื้นที่จัด “การแข่งขันมวยเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา” ผลสำเร็จดังกล่าวกลายเป็นกำลังใจอันสำคัญให้ธุรกิจมวยไทยในจีนไม่ว่าจะดำเนินกิจการโดยคนไทยหรือคนจีนเห็นการส่งเสริมและสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทย บีไอซีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจะทำให้ มวยไทยกลายเป็น “ฮีโร่” ที่เพิ่มโอกาสทางธุรกิจของคนไทยในจีนอย่างยั่งยืนในอีกไม่ช้า

************************************

จัดทำโดย นางสาวอภิญญา สงค์ศักดิ์สกุล ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว

บทความที่เกี่ยวข้อง

“มวยไทยในจีน โอกาสที่ยังห่างไกลหรือเพียงใกล้แค่เอื้อม?”ได้ที่ https://wordpress-575750-3524419.cloudwaysapps.com/thaibizchina/th/interesting-facts/detail.php?IBLOCK_ID=70&SECTION_ID=10277&ELEMENT_ID=10277

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน