ผลสำรวจระบุชัดชาวเซี่ยเหมินมีความสุขที่สุด

4 Jan 2013

4 ม.ค. 56 (นสพ. เซี่ยเหมินยื่อเป้า, 厦门日报) – รายงานข่าวอ้างอิงผลสำรวจดัชนีชี้วัดความสุขของประชากรในมณฑลฝูเจี้ยน ประจำปี 2555 จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐบาลมณฑล ผลปรากฏว่าประชากรในฝูเจี้ยนประเมินคะแนนความสุขที่ตนเองมีอยู่ในระดับค่อนข้างดี โดยเฉพาะในกลุ่มตัวอย่างที่ประเมินว่าตนเองมีความสุขมากและค่อนข้างมีความสุขคิดเป็นร้อยละ 91.1

คำถามในแบบสอบถามดังกล่าวแบ่งเป็น 7 ห้วข้อย่อย คือ ความสุขโดยรวม ความก้าวหน้าในชีวิต คุณภาพชีวิต สภาพพื้นฐานทางจิตใจและความคิด (精神生活) สภาพแวดล้อมในสังคม สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และการให้บริการของภาครัฐ โดยคะแนนสภาพพื้นฐานทางจิตใจและความคิดได้คะแนนเป็นอันดับที่หนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 73.98 ความสุขด้านสิ่งแวดล้อมธรรมชาติเป็นอันดับที่สอง และคะแนนความสุขต่อการให้บริการของรัฐอยู่ในลำดับสุดท้าย

เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างในเขตเมืองรวม 9 เขต และในเขตเกาะผิงถาน (平潭) พบว่ากลุ่มตัวอย่างในแต่ละแห่งมีความคิดเห็นต่อความสุขในเขตพื้นที่ที่ตนเองอาศัยแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ในที่นี้พบว่าชาวเซี่ยเหมินเห็นว่าตนเองมีความสุขมากที่สุด

ผลสำรวจยังพบว่าสภาวะกดดันในการดำรงชีวิตส่งผลโดยตรงต่อความสุขของประชากร โดยกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 – 24 ปี ให้คะแนนความสุขสูงที่สุด รองลงมาคือวัย 55 – 64 ปี และกลุ่มคนทำงานวัย 45 – 54 ปี ให้คะแนนความสุขต่ำที่สุด อีกทั้งผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า การมีหลักประกันทางรายได้เป็นรากฐานสำคัญของความสุข กลุ่มผู้มีการศึกษาสูงเห็นว่าตนเองมีความสุขค่อนข้างมาก กลุ่มข้าราชการ พนักงานบริษัทและนักเรียนรู้สึกว่ามีความสุขที่สุด

รายงานข่าวยังระบุว่า ทางคณะกรรมการสันนิบาตประชาธิปไตยมณฑลฝูเจี้ยน (民盟福建省委) ได้หยิบยกหัวข้อเรื่องความสุขในมณฑลเป็นประเด็นศึกษาพิเศษ โดยได้เชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญมาคิดแบบสอบถามพร้อมวิเคาราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อใช้ประโยชน์ในการนำเสนอคำแนะนำเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาระบบประกันสังคมให้ดียิ่งขึ้น

BIC ขอรายงานเพิ่มเติมว่า “คุณมีความสุขไหม?” (你幸福吗?) เป็นหนึ่งในประโยคยอดนิยมของปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นประโยคสั้น ๆ แต่สะท้อนถึงสภาพสังคมจีนปัจจุบันในหลายมิติ ทั้งสภาพการดำรงชีวิต ความกินดีอยุ่ดีและนโยบายภาครัฐ แม้จีนจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กระนั้น ยังคงมีปัญหาที่ยังคงรอการแก้ไขอีกมาก เช่น การกระจายรายได้ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเขตเมืองและชนบท ระบบประกันสังคม เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน