บทบาทจีนที่มากขึ้นในเวทีโลก

7 Jan 2013

เสียงสะท้อนจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงทิศทางของนโยบายการต่างประเทศของจีน ภายหลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ระบุว่า “ประเทศจีนได้ปรับนโยบายการต่างประเทศให้เป็นเชิงรุกและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ ด้วยการเพิ่มความร่วมมืออันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของจีน ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นๆ”

นาย Zhang Yuyan ผอ.สถาบันการเมืองและเศรษฐกิจโลก ให้ความเห็นว่า “ประเทศจีนจะมีการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับกับการที่จะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ และควรใช้สถานการณ์ของโลกที่มีความซับซ้อนและผันผวน เป็นโอกาสให้จีนเข้าไปมีบทบาทในหลากหลายมิติของความร่วมมือระหว่างประเทศ”

นาย Lu Shiwei นักวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัย Tsinghua ให้ความเห็นว่า “ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา รายงานทิศทางนโยบายการต่างประเทศต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคฯ อย่างชัดเจนว่า ประเทศจีนจะมีนโยบาย การต่างประเทศเชิงรุกมากขึ้น และให้ความสำคัญโครงการในด้าน Soft Power ยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศจีนมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมได้มากขึ้น”

นาย Yuan Peng ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนและสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า “ทั้งสองประเทศควรหลีกหลี่ยงและระมัดระวังเกี่ยวกับประเด็นที่มีประเทศอื่นเข้ามาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้ รวมทั้ง ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากร วัฒนธรรม และการทหาร ระหว่างสองประเทศให้มากขึ้น”

นอกจากนี้ นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว ให้ความเห็นว่า “ประเทศจีนควรเร่งสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเอาใจใส่เกี่ยวกับปัญหาข้อพิพาทอาณาเขต” ซึ่งสอดคล้องกับการให้ข่าวของ นาง Fu Ying รมช.กระทรวงการต่างประเทศจีน ที่ระบุว่า “ประเทศจีนตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะเน้นการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว ด้วยสันติวิธี”


ทั้งนี้ มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

1. ทิศทางการพัฒนาประเทศของจีนในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลเป็นอย่างยิ่งจากแนวคิดการเปิดและปฏิรูปประเทศของท่านเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีน รุ่นที่ 2 ผ่านวิธีการ “คลำหินในแม่น้ำ ด้วยการทดลองแล้วขยายผล ซึ่งมีการพัฒนามาโดยตลอด” ทั้งในยุคท่านเจียง เจ๋อหมิน ผู้นำจีน รุ่นที่ 3 และท่านหู จิ่นเทา ผู้นำจีน รุ่นที่ 4 จนมาถึง ท่านสี จิ้นผิง ผู้นำจีน รุ่นที่ 5 ในปัจจุบัน ซึ่งนโยบายการต่างประเทศที่มีความยืดหยุ่นและเชิงรุกมากขึ้นนี้ จะส่งเสริมให้จีนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในมิติ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งไม่เพียงเฉพาะรัฐบาลจีนที่จะมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นเท่านั้น แต่ภาคเอกชนและภาคประชาชนจีนก็จะมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นด้วย เนื่องจากได้รับ การส่งเสริมจากรัฐบาลจีนให้บุกโลก (Go Global) มากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงฆ์จากการแข็งตัวของค่าเงินหยวน ที่จะส่งเสริมศักยภาพของรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนจีนในการบุกโลกดังกล่าว อีกด้วย

2. สำหรับนัยต่อประเทศไทย เห็นว่า ประเทศไทยควรใช้โอกาสที่ประเทศจีนมีนโยบายการต่างประเทศที่มีความยืดหยุ่นและเชิงรุกมากขึ้นนี้ เชื่อมโยงและขยายความสัมพันธ์ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีให้ลึกซึ้งและรอบด้านมากยิ่งขึ้น ทั้งจากการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ระหว่างไทยและจีน รวมทั้ง การใช้โอกาสที่ประเทศไทยมีบทบาทในการเป็นผู้ประสานงานอาเซียนจีน (Coordinating Country for ASEAN-China) เพื่อพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคที่จะให้อาเซียนหรือเอเชียเป็นแกนกลางและมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ได้แก่ ASEAN, ASEAN+3, ASEAN+6, RCEP (Regional Comprehensive. Economic Partnership) ซึ่งขณะนี้ มีความท้าทายจาก TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนกลาง ซึ่งอาจทำให้ภูมิภาคอาเซียนและเอเชียได้รับผลกระทบให้มีบทบาทในเวทีโลกลดน้อยลง ดังนั้น ประเทศไทยควรต้องมีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะ การสร้างความสมดุลย์ระหว่างความสัมพันธ์ของไทยและสองประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ จีนและสหรัฐอเมริกา และสำหรับภาคเอกชนไทย ควรเตรียมความพร้อมและใช้ประโยชน์จากการบุกโลกของจีน “ให้ เป็นโอกาสทางธุรกิจ เชื่อมโยงธุรกิจไทยให้เป็นส่วนหนึ่งในสายโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจจีน โดยการเป็นคู่ค้าหรือพันธมิตรกับผู้ประกอบการจีน นอกจากนี้ ควรศึกษาและเตรียมความพร้อมในการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่าง ประเทศ” ทั้งการค้าและการลงทุน ในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) และภาคการเงิน (Financial Sector) รวมทั้ง การตั้งรับในกรณีที่ธุรกิจจีนเข้ามาเป็นคู่แข่งในประเทศไทยด้วย

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน