ซอกแซกเซี่ยงไฮ้ : พากันไปเปิดดูกระเป๋าคนเงินเดือน 10,000 หยวนว่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง?

7 Jan 2013

หลายท่านคงอยากรู้เหมือนกันว่า คนวัยทำงานที่มีเงินเดือนประมาณ 10,000 หยวน (เกือบ 50,000 บาท) จะบริหารทรัพย์ในกระเป๋าตัวเองอย่างไรบ้าง? จะเน้นกิน/เน้นเที่ยว เพื่อให้รางวัลกับชีวิตในวันนี้ หรือจะเน้นเก็บ/เน้นประหยัด เพื่อชีวิตในวันหน้า แน่นอนว่าคนวัยทำงานในเซี่ยงไฮ้ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างดี จะเป็นเสมือนเหยื่อ (ผู้ซื้อ) ที่กำลังถูกผู้ล่า (ผู้ขาย) จับตามองว่า จะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบไหน เพื่อจะได้วางกลยุทธ์กวักเงินเข้ากระเป๋า (ผู้ขาย) ได้อย่างตรงจุด

ศูนย์ BIC เซี่ยงไฮ้ขอพาท่านอ่านซอกแซกตามไปดูการบริหารจัดการทรัพย์ของคนโสดอายุ 31 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท ที่ทำงานในเซี่ยงไฮ้ และที่รายรับอยู่ที่ประมาณ 10,000 หยวน/เดือน เพื่อค้นหาคำตอบว่าเขาใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง? โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทความฉบับนี้ ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นจากพื้นฐานของข้อมูลผลสำรวจจาก Stenvall Skold & Company ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มคนทำงานทั่วไปที่มีฐานะระดับปานกลางค่อนไปทางดีในเซี่ยงไฮ้

พฤติกรรมน่าสนใจ : "ขยันจ่าย” มากกว่า “ขยันเก็บ” !!

"เซี่ยงไฮ้” นับว่าเป็นเมืองชั้นนำแนวหน้าแห่งหนึ่งของจีน ซึ่งมีประชากรมากถึง 21 ล้านคน โดยมีชนชั้นกลางในวัยทำงานอาศัยอยู่ในตัวเมืองกว่า 3 ล้านคน กลุ่มคนเหล่านี้ คือ คนรุ่นใหม่ที่มี“พลังแห่งการช้อปปิ้ง” และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของเซี่ยงไฮ้ การศึกษาช่องทางการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีฐานะค่อนไปทางดี ด้วยการศึกษาพฤติกรรม“ควักเงินออกจากกระเป๋า” ของเขาเหล่านี้ จะเป็นข้อมูลหนึ่งที่ช่วยสะท้อนโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ที่กำลังสนใจนำสินค้ามาเสนอขายให้คนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

รายงานล่าสุดของ Stenvall Skold & Company ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มคนทำงานทั่วไปที่มีฐานะระดับปานกลาง – ดีในเซี่ยงไฮ้ โดยผลสำรวจได้คัดเลือกพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคนอายุ 31 ปี (โสด) จบการศึกษาระดับปริญญาโท ทำงานในเซี่ยงไฮ้และมีรายรับอยู่ในช่วงประมาณ 10,000 หยวน ซึ่งมีคุณลักษณะบ่งชี้พฤติกรรมของกลุ่มผู้ถูกสำรวจมากที่สุด พบว่า การบริหารเงินแบ่งออกเป็น 3 รายการสำคัญ นั่นคือ ค่าใช้จ่ายด้านภาษี (ร้อยละ 26) ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค(ร้อยละ 55) และเก็บออม (ร้อยละ 19)

จะเห็นได้ว่า คนวัยทำงานในเซี่ยงไฮ้“ขยันจ่าย”  มากกว่า“ขยันเก็บ”  โดยค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่จำเป็นจะต้องจ่ายอย่างเป็นประจำ ได้แก่

– ค่าอาหารการกิน (ร้อยละ 32 ของรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งหมด)

คนรุ่นใหม่ที่ทำงานในเซี่ยงไฮ้ต่างก็เผชิญกับสังคมการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ เน้นความสะดวกรวดเร็วเป็นหลัก จึงมักจะไม่ทำอาหารเอง และหันมาให้นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านแทน ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จึงหมดไปกับอาหารการกิน โดยมื้อเช้าจะเป็นการซื้อของกินเล่นง่ายๆ ที่ไม่ต้องเสียเวลาอะไรมาก ส่วนมื้อเที่ยงจะเป็นการสั่งอาหารมาส่งถึงออฟฟิศ หรือออกไปรับประทานที่ร้านบริเวณใกล้เคียง และมื้อเย็นก็จะนิยมแวะซื้อ/รับประทานข้างนอกก่อนกลับถึงบ้าน รวมถึงยังมีการกินดื่มในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่มในเซี่ยงไฮ้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ จึงเป็นสถานที่ละลายทรัพย์ชั้นดีที่คนวัยทำงานมีรายได้ระดับหนึ่งสนใจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกินสูงกว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ

– ค่าที่พักอาศัย (ร้อยละ 27 ของรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งหมด)

คนวัยทำงานในเซี่ยงไฮ้จำนวนมากต้องรับภาระค่าเช่าที่พักค่อนข้างหนัก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายพอๆ กับค่าอาหารการกิน (คนบางส่วนอยู่บ้านกับพ่อแม่ ไม่ต้องเสียค่าเช่า) โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ในเซี่ยงไฮ้กับพื้นที่อื่นของจีนพบว่า ค่าเช่าสำนักงาน/ค่าเช่าที่พักอาศัยสูงกว่าพื้นที่อื่นในจีนถึงร้อยละ 20 อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ค่าที่พักอาศัยจึงเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่จำเป็นต้องจ่ายแบบไม่มีทางเลือก โดยปกติบ้านพักในเซี่ยงไฮ้จะมีสภาพไม่สัมพันธ์กับราคา ซึ่งหากต้องการเช่าที่พักแบบอยู่คนเดียว หรือมีเงื่อนไขที่พักอยู่ในระดับดี (ทำเลดี/สภาพใหม่/อุปกรณ์เครื่องใช้ครบถ้วน) ก็จะต้องแบกรับภาระหนักขึ้นยิ่งกว่าเดิม

นอกจากค่าใช้จ่ายหลักข้างต้น ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มีสัดส่วนในรายจ่ายค่อนข้างมากแล้ว (เกือบร้อยละ 60 ของรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค) ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งบางคนเห็นว่าเป็นรายจ่ายฟุ่มเฟือย (แต่เป็นรายจ่ายค่อนข้างประจำของคนวัยทำงานในเซี่ยงไฮ้) เช่น

– ค่าใช้จ่ายตอบสนองความสุขส่วนตัว (ค่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ค่าใช้จ่ายเพื่อพักผ่อน/ความบันเทิง เป็นต้น)

เมื่อรวมค่าใช้จ่ายส่วนนี้แล้วทั้งหมดจะคิดเป็นจำนวนเงินถึง 850 หยวน (ประมาณร้อยละ 15 ของรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งหมด) ทั้งนี้ หากประมาณการว่ากลุ่มคนทำงานชนชั้นกลางที่อยู่ในตัวเมืองเซี่ยงไฮ้จำนวน 3 ล้านคนมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณเดือนละ 850 หยวน/คน ก็จะมีเงินสะพัดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจถึง 2,550 ล้านหยวน ซึ่งจำนวนเงินก้อนโตดังกล่าวจะช่วยหล่อเลี้ยงภาคการค้าปลีกและการบริโภคสินค้าที่สำคัญของเซี่ยงไฮ้ และสะท้อนให้เห็นถึงกำลังการใช้จ่ายคนวัยทำงาน และแนวโน้มการให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อความสุขของตนเองมากขึ้น

– ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเคเบิ้ลทีวี ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น)

ข้อมูลและการสื่อสารนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ข้อมูลจากผลสำรวจดังกล่าวพบว่า กลุ่มคนวัยทำงานส่วนใหญ่ในตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ใช้โทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ จึงทำให้แต่ละเดือนจะต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าบริการโทรศัพท์มือถือเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีค่าอินเทอร์เน็ตตามสายในบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ความเร็วสูง และค่าเคเบิ้ลสำหรับรับสัญญาณโทรทัศน์ ดังนั้นจึงทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร-รับข่าวสารเป็นรายจ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือนที่ไม่แพ้ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

– ค่าใช้จ่ายพิเศษสำหรับเทศกาลสำคัญ (วันตรุษจีน วันแรงงาน วันชาติจีน เป็นต้น)

สำหรับช่วงวันหยุดเทศกาลต่างๆ คนส่วนใหญ่มักจะเดินทางไปท่องเที่ยวหรือเดินทางกลับภูมิเลำเนา (สำหรับคนต่างถิ่นที่มาทำงานในเซี่ยงไฮ้) หรือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเลี้ยงสังสรรค์ และค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อของขวัญเพื่อมอบให้ผู้อื่น เป็นต้น ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมีการแบ่งค่าใช้จ่ายสำหรับช่วงวันหยุดพิเศษโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ นอกจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวทั้งหมดข้างต้นแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าเดินทาง (ไปทำงาน/ไปธุระ) ค่าสุขอนามัยส่วนตัว และค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ

“ขยันจ่าย” เพื่อกินเพื่อใช้.. สะท้อนโอกาสทางธุรกิจไม่น้อย

จากตัวอย่างของผู้ที่มีลักษณะบ่งชี้พฤติกรรมโดยรวมของคนวัยทำงานที่มีฐานะปานกลางค่อนไปทางดีในเซี่ยงไฮ้ข้างต้นจะเห็นได้ว่า มีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคค่อนข้างมาก (ร้อยละ 74 ของรายได้หลังหักภาษี) ขณะที่มีสัดส่วนการออมเพียงเล็กน้อย (ร้อยละ 26 ของรายได้หลังหักภาษี) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ หากไม่นับรวมค่าที่พักอาศัยจะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกินและค่าใช้จ่ายตอบสนองความสุขส่วนตัวคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47) ของรายจ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจสำหรับสินค้า/บริการ โดยหากเป็นสินค้าประเภทอาหารนั้น พฤติกรรมที่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านของคนเซี่ยงไฮ้ได้สะท้อนโอกาสให้กับธุรกิจร้านอาหาร (ปัจจุบันในเซี่ยงไฮ้มีร้านอาหารไทยเกือบ 40 ร้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมอาหารไทยของคนเซี่ยงไฮ้ได้เป็นอย่างดี) โดยธุรกิจอาหารแบบมีบริการขนส่ง Delivery ที่ช่วยตอบสนองคนวัยทำงานที่มีเวลาพักน้อยและนิยมสั่งอาหารเข้ามารับประทานถึงบ้าน/ออฟฟิศ และร้านอาหารสไตล์ที่สามารถนั่งดื่มแบบสบายๆ ที่ตอบสนองพฤติกรรมชอบไปเที่ยวเพื่อจิบเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่ไม่ต้องใช้เวลาปรุงมากหรือยุ่งยากที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบและเน้นความรวดเร็วเป็นหลัก เป็นต้น ก็น่าจะสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ในเซี่ยงไฮ้ได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน สินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อความบันเทิง/ความสุขส่วนตัวและสินค้าบริการที่ผ่านการสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่แล้ว ก็น่าจะดึงดูดความสนใจของกลุ่มผู้บริโภควัยทำงานได้เช่นกัน โดยคนรุ่นใหม่ในเซี่ยงไฮ้ส่วนใหญ่ค่อนข้างเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และสนใจที่จะทดลองซื้อ/ใช้ หากสินค้านั้นๆ มีความโดดเด่นและช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตนเอง ตลอดจนสินค้าที่มีออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ และมีบริการส่งให้ผู้รับถึงสถานที่นั้นๆ ก็มีโอกาสได้รับความนิยมเช่นกัน

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีก็สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนวัยทำงานรุ่นใหม่ที่นิยมพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับ-ส่งข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์/เครือข่ายสังคมออนไลน์ “weibo (微博)”) ซึ่งเป็นช่องทางที่นิยมอย่างยิ่งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย ชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ค้นหาข้อมูลสินค้าหรือแหล่งท่องเที่ยวที่สนใจ เป็นต้น ดังนั้น การทำธุรกิจในเมืองสมัยใหม่ของจีนจึงไม่ควรมองข้ามอินเทอร์เน็ตที่จะเป็นเครื่องมือในการโฆษณาและสร้างกระแสให้กับสินค้าที่จะมาทำตลาดในจีน

—————————————–



จัดทำโดย น.ส. เทพรัตน์ ตันติกัลยาภรณ์ และนายโอภาส เหลืองดาวเรือง

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้

แหล่งข้อมูล : รายงานวิจัยจากบจก. Stenvall Skold & Company (เซี่ยงไฮ้)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน