จีนตะวันตกชู “ท่าเรือชินโจว” เป็น Hub โลจิสติกส์เชื่อมจีนสู่โลก

15 Apr 2019

ไฮไลท์

  • เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Lad-Sea Trade Corridor- ILSTC) เป็นเส้นทางขนส่งและโลจิสติกส์ที่กำลังทวีบทบาทด้านการค้าต่างประเทศ เพราะเป็นตัวเชื่อมยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI)
  • หัวเมืองเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันตกของจีนมีการใช้ประโยชน์จากเส้นทาง ILSTC เพื่อลำเลียงสินค้าในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (multimodal transportation) โดยมี “ท่าเรือชินโจว” เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่ง
  • ท่าเรือแม่น้ำกั่วหยวน ซึ่งเป็นท่าเรือแม่น้ำขนาดใหญ่ในนครฉงชิ่งได้เปิดให้บริการเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟเพื่อลำเลียงสินค้ามายังท่าเรือชินโจวเป็นครั้งแรก แทนการขนส่งผ่านทางแม่น้ำแยงซีเกียงไปที่นครเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากประหยัดเวลาได้มากกว่า มีความคุ้มค่าสูง เมื่อเทียบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลา

นครฉงชิ่งเร่งใช้ประโยชน์จากเส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Lad-Sea Trade Corridor- ILSTC) โดยล่าสุด มีการลำเลียงสินค้าทางรถไฟจากท่าเรือแม่น้ำกั่วหยวนไปที่ท่าเรือชินโจวของกว่างซีก่อนส่งออกไปยังอาเซียน รวมถึงเมืองเจนไน ประเทศอินเดีย

นัยสำคัญของการลำเลียงสินค้าผ่านเส้นทาง ILSTC ครั้งนี้ คือ การเชื่อมต่อเส้นทางโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อของ 3 เส้นทางที่ท่าเรือกั่วหยวนของนครฉงชิ่ง ได้แก่ เส้นทาง ILSTC ไปอาเซียน เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป และเส้นทางขนส่งแม่น้ำแยงซีเกียง

การพัฒนาเส้นทาง ILSTC มีนครฉงชิ่งและประเทศสิงคโปร์เป็น Hub คู่ มีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ และมีเมืองสำคัญและด่านชายแดนทางบก-ทางน้ำในภาคตะวันตกเป็นข้อต่อสำคัญเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางดังกล่าว โดยเป็นการเชื่อมโยงโมเดลโลจิสติกส์แบบหลายรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ โดยมีจีนตะวันตกกับอาเซียนเป็นแกนหลัก และขยายต่อไปยังเอเชียกลางและยุโรป

ท่าเรือกั่วหยวน (Guoyuan Port/果园港) เป็นท่าเรือแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำแยงซีเกียง มีท่าเทียบเรือขนาด 5000 ตัน ที่ใช้งานแล้วจำนวน 16 ท่า จึงกล่าวได้ว่า ท่าเรือกั่วหยวนเป็น “ชุมทาง” การขนส่งต่อเนื่องทางราง ทางถนน และทาง(แม่)น้ำ และมีบริการขนส่งสินค้าเส้นทางจีน(ฉงชิ่ง)-ยุโรป

นายจาง กั๋วจื้อ (Zhang Guozhi/张国智) รองผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารเขตเมืองใหม่เหลียงเจียง นครฉงชิ่ง ให้ข้อมูลว่า สินค้าที่ลำเลียงผ่านเส้นทาง ILSTC เป็นสินค้าที่ผลิตในนครฉงชิ่ง รวมถึงมณฑลใกล้เคียง เช่น นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน โดยสินค้าเหล่านี้จะส่งมายังท่าเรือชินโจวก่อนขนถ่ายไปยังประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อตลาดในประเทศกับตลาดต่างประเทศ

นายหู เฉียง (Hu Qiang/胡强) รองผู้จัดการทั่วไปของ บริษัท Sinotrans Chongqing จำกัด (中国外运重庆有限公司) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้การขนส่งสินค้าจากมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งไปเวียดนามส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งทางแม่น้ำแยงซีเกียงหรือไม่ก็ขนส่งทางรถไฟไปทางภาคตะวันออกของจีนที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งต้องใช้เวลาขนส่งมากกว่า 20 วัน แต่ปัจจุบัน การใช้เส้นทาง ILSTC ขนส่งด้วยรถไฟมาถึงท่าเรือชินโจวใช้เวลาเพียง 2 วัน ก่อนเปลี่ยนถ่ายขึ้นเรือไปเวียดนาม ซึ่งใช้เวลารวมกันไม่เกิน 10 วัน ประหยัดเวลาลงได้กว่า 60-70% ผลิตภาพการขนส่งสูง (เทียบจากต้นทุนค่าใช้จ่ายกับต้นทุนค่าเสียเวลา) และมีความคุ้มค่าสูง

นายหูฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่า สินค้าส่งออกหลายประเภทของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งที่ส่งไปอาเซียน   เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง มีความเหมาะสมกับเส้นทาง ILSTC เช่น เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ กระจกนิรภัย คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก นอกจากนี้ สินค้าโภคภัณฑ์จากอาเซียน อาทิ ยางพารา ก็สามารถใช้เส้นทางดังกล่าวเพื่อส่งออกมายังประเทศจีนได้เช่นกัน

 

จัดทำโดย นายพรชัย ตันติบุตร นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยทักษิณ
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 13 มีนาคม 2562
รูปประกอบ
www. pixabay.com

โลจิสติกส์ท่าเรือชินโจวMultimodal TransportationBelt and Road Initiative (BRI)New International Lad-Sea Trade Corridor- ILSTCรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน