กว่างซีนำเข้าผลไม้ ‘อาเซียน’ มากที่สุดในจีน

14 Jul 2016

รัฐบาลกลางให้การสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นช่องทาง‘ (Gateway) ของการนำเข้าผลไม้จากอาเซียนสู่ตลาดจีน ขณะนี้ มีด่านที่ได้รับอนุมัติการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศแล้ว 6 แห่ง ครอบคลุมทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ

ผลไม้เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวจากปัจจัยความเสี่ยงของโรคและแมลงที่ติดมากับผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นภัยคุกคามระบบนิเวศภายในประเทศ รวมถึงปัญหาสารเคมีตกค้างที่มีส่วนกระทบถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

ดังนั้น เมื่อปี 2552 รัฐบาลกลางโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีน หรือ AQSIQ ได้เริ่มนำมาตรการการกำหนดสิทธิการนำเข้าผลไม้ของด่านทั่วประเทศจีน  ปัจจุบัน มีด่าน(สากล)ที่ได้รับอนุมัติการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศแล้วทั้งหมด 86 ด่าน



ในเขตฯ กว่างซีจ้วงมีด่าน(สากล)ที่ได้รับอนุมัติแล้ว 6 แห่ง ได้แก่



ด่านทางบก
: ด่านโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border,友谊关口岸) ด่านหลงปัง(Longbang Border,龙邦口岸)  ด่านตงซิง (Dongxing Border,东兴口岸)

ด่านทางทะเล : ด่านท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang Port,防城港口岸) ด่านในเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว (Qinzhou Bonded Port Area,钦州保税港区)

และด่านทางอากาศ : ด่านในท่าอากาศยานเหลียงเจียงเมืองกุ้ยหลิน (Guilin Liangjiang International Airport,桂林两江国际机场)

ทั้งนี้ ด่านข้างต้นไม่นับรวมถึงด่านชั้นสอง ซึ่งเป็นด่านการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน (เวียดนาม) ที่ให้สิทธิเฉพาะชาวชายแดนของสองประเทศสามารถทำการค้าขายระหว่างกันได้ ทั้งในรูปแบบการค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดน และการค้าผ่านจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดน

จากจุดเด่นทางกายภาพที่มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งติดกับประเทศอาเซียน อยู่ใกล้แหล่งผลิตผลไม้ ตลอดจนนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้ผู้ค้าผลไม้ใช้ กว่างซีเป็นช่องทางการนำเข้าและเป็นฐานกระจายผลไม้นำเข้าจากอาเซียนไปยังตลาดภายในประเทศ

นายหวัง ซวี่เหว่ย (Wang Xuwei,王继伟) รองผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคเขตฯ กว่างซีจ้วง หรือสำนักงาน CIQ ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์นำเข้าผลไม้ของกว่างซีมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจาก 5.1 แสนตันเมื่อปี 2555 เพิ่มเป็น 1.0367 ล้านตันในปี 2558 ขึ้นแท่นอยู่ในอันดับที่หนึ่ง แซงหน้าเมืองเซินเจิ้นและนครเซี่ยงไฮ้ ส่วนช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ (ปี 2559) มียอดการนำเข้าผลไม้ 5.424 แสนตัน

ทั้งนี้ อำเภอระดับเมืองผิงเสียง (Pingxiang City,凭祥市) ซึ่งตั้งอยู่ติดกับจังหวัด Langson ของเวียดนามเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการนำเข้าผลไม้มากที่สุดของกว่างซี โดยมีด่านสากลโหย่วอี้กวาน และด่านการค้าชายแดนผู่จ้าย (Puzhai Border,浦寨口岸) เป็นด่านนำเข้าผลไม้ที่สำคัญของเมือง แต่ละปีมีปริมาณการนำเข้าส่งออกผลไม้มากกว่า 1 ล้านตัน

ปีที่แล้ว (ปี 2558) เมืองผิงเสียงมีการนำเข้าส่งออกผลไม้กว่า 1.41 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 21 ของทั้งประเทศ ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.2559 ที่ผ่านมา มีการนำเข้าผลไม้ทั้งหมด 16,130 ล็อต ปริมาณ 4.39 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 196 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เจ้าหน้าที่สำนักงาน CIQ เมืองผิงเสียงประจำสำนักงานด่านผู่จ้าย ให้ข้อมูลว่า ผลไม้ที่นำเข้าผ่านด่านผู่จ้าย ส่วนใหญ่คือ แตงโม ลำไย แก้วมังกร มะม่วง และทุเรียน

นายซู เต๋อม่าว (Su Demao,苏德茂) ประธานสมาคมนำเข้าส่งออกผลไม้จีน-อาเซียนประจำเมืองผิงเสียง กล่าวถึงข้อดีของการนำเข้าผลไม้ผ่านทางบกเข้ามายังด่านในเมืองผิงเสียงว่า ผลไม้ยังคงมีความสดใหม่ ลดอัตราความสูญเสียของผลไม้ที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง และขายเร็วได้เงินไว เมื่อเปรียบเทียบการนำเข้าผลไม้ไทยทางเรือไปยังนครกว่างโจวที่ต้องใช้เวลาขนส่ง 12-13 วัน หากเปลี่ยนมาการขนส่งทางบกผ่านเข้าด่านในเมืองผิงเสียงใช้เวลาเพียง 5 วันก็สามารถจำหน่ายผลไม้ได้ทั้งหมดแล้ว  

 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหตุผลง่ายๆ ที่ผู้ค้าผลไม้นิยมใช้ ผิงเสียงเป็นด่านนำเข้า (05 ก.ค. 2559)

เมืองผิงเสียงพร้อมผุด "ตลาดสินค้าเกษตร" ประชิดชายแดนเวียดนาม สิ้นปีนี้ (27 พ.ค. 2559)

ด่านผิงเสียงของกว่างซีใช้ "รังสี" กักกันโรคพืชในผลไม้นำเข้าเป็นที่แรกในจีน (17 พ.ค. 2559)

ข่าวล่ามาแรง!! กว่างซีเป็นด่านนำเข้าผลไม้นัมเบอร์วันของจีน มีแล้ว 6 ด่าน (16 พ.ค. 2559)

กว่างซีหนุนโหย่วอี้กวานและ ผู่จ้ายเป็นด่านนำเข้าผลไม้จากอาเซียน (16 พ.ค. 2559)

"สหกรณ์ค้าชายแดน" พลิกมิติใหม่การค้าชายแดนกว่างซี (04 มี.ค. 2559)

ทำไม?? จึงพูดว่า "กว่างซี" เป็นฐานกระจายผลไม้อาเซียนที่ใหญ่ที่สุดของจีน (17 ก.พ. 2559)

อาเซียนด่านนำเข้าด่านสากล

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน