“โดรน” อุตสาหกรรมแห่งอนาคตจากเซินเจิ้น

6 Aug 2018

ในปี 2523 รัฐบาลกลางประกาศให้เมืองเซินจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน นับแต่นั้นจากเมืองที่เต็มไปด้วยหมู่บ้านชาวประมงอันเงียบเหงา กลับกลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ซิลิคอนวัลเลย์" ของจีน เซินเจิ้นจึงเป็นที่ตั้งของบริษัทด้านเทคโนโลยนีชั้นนำของโลกมากมาย อาทิ  Airbus, Foxconn, Huawei, ZTE, Tencent, DJI และอีกมากมาย เป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์และสินค้าเทคโลยีขั้นสูงที่สำคัญของโลก นอกจากนี้เซินเจิ้นยังมีโครงการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านหยวน (project above designated size) กว่า 2,087 โครงการ มีความได้เปรียบด้านทรัพยากรมนุษย์เนื่องจากมีจำนวนผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกมากถึงร้อยละ 20 ของประชากร มีจำนวนนักวิจัยกว่า 2.02 แสนคน มีเม็ดเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 84,200 ล้านหยวน อีกทั้งยังเป็นเมืองที่ใช้อินเตอร์เน็ตยาวนานที่สุดในจีนเฉลี่ยคนละ 44.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ปัจจุบันเซินเจิ้นมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากมาย แต่เทคโนโลยีที่ถูกมองว่าเป็นคลื่นลูกใหม่และคาดว่าจะเข้ามายกระดับเทคโนโลยีของจีนไปอีกขั้นคือ "เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle (UAV) หรือ โดรน (Drone)" ในเซินเจิ้นมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโดรนกว่า 2,000 บริษัท เป็นบริษัทผู้ผลิตกว่า 600 บริษัท บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อีกกว่า 500 บริษัท โดยมี บริษัท DJI เป็นหัวหอกสำคัญที่ผลักดันให้เทคโนโลยีโดรนของเซินเจิ้นมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกสูงกว่าร้อยละ 70 ในปี 2560 เซินเจิ้นมีมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมโดรนเท่ากับ 4,443 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30,000 หยวน) คาดว่ามูลค่าการผลิตในปี 2565 จะสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 101,227 หยวน) คิดเป็น 12 เท่าของปี 2559

งานประชุมโดรนโลก ณ เมืองเซินเจิ้น

เซินเจิ้นเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมโดรนที่สำคัญของโลก จึงไม่แปลกเลยหากในพื้นจะเต็มไปด้วยบริษัท หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันในงานประชุมโดรนโลก ที่จัดโดยสหพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรมจีน สมาพันธ์อุตสาหกรรมโดรนจีน และสมาคมอุตสาหกรรมโดรนเซินเจิ้น

ล่าสุดงานประชุมโดรนโลกครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ณ เมืองเซินเจิ้น ในพื้นที่กว่า 15,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยกิจกรรมงานสัมนากว่า 80 หัวข้อ และงานจัดแสดงสินค้าและอุปกรณ์โดรนประเภทต่าง ๆ จากบริษัทในพื้นที่ ภายในงานยังมีตัวแทนจากองค์กรเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจาก 41 ประเทศทั่วโลก รวมถึงตัวแทนสถานทูตและสถานกงสุลจาก 21 ประเทศรวมถึงไทย การจัดงานมีจุดประสงค์ที่จะเป็นศูนย์รวมบุคคลากรด้านเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนในทุกระดับตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็น platform สำคัญในการแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายเทคโนโลยีโดรนให้ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น

รูปแบบการใช้งานโดรนในจีน

ในจีน "โดรน" ไม่เพียงแต่จำกัดการใช้งานด้านทหารหรือความบันเทิงและสันทนาการเท่านั้น เนื่องจากโดรนมีหลากหลายรูปแบบและยังได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมเกษตร การขนส่งและโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ยังมีการใช้งานด้านอื่น ๆ ที่กำลังนำเทคโนโลยีโดรนมายกระดับประสิทธิภาพของการทำงาน อาทิ งานศึกษาวิจัยทางภูมิศาสตร์ งานในภารกิจที่มีความเสี่ยง อาทิ การดับเพลิง การช่วยชีวิตและการรักษาความปลอดภัย

โดรนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ถือเป็นอุตสาหกรรมแรก ๆ ของโลกที่นำเทคโนโลยีโดรนเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพ โดยโดรนสำหรับโลจิสติกส์ได้ถูกนำมาใช้ในการขนส่งหลากหลายรูปแบบ อาทิ การส่งสินค้าที่ซื้อผ่าน e-commerce การขนส่งยารักษาโรคไปยังพื้นที่ห่างไกล การส่งอาหาร หรือสินค้าอื่น ๆ เป็นต้น บริษัทโลจิสติกส์ในจีนเริ่มหันมาให้ความสำคัญของการใช้โดรนในระบบโลจิสติกส์เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ลดข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการจัดส่งสินค้าและมีต้นทุนในระยะยาวที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้มนุษย์ในการขนส่งสินค้า

JD Group คือบริษัทอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองของจีนรองจากอาลีบาบา นับเป็นผู้บุกเบิกการนำโดรนเข้ามาใช้ในระบบโลจิสติกส์ โดยเริ่มต้นวิจัยและพัฒนาโดรนเพื่อการขนส่งมาตั้งแต่ปีในปี 2558 ภายใต้ความรับผิดชอบของ JDX innovation lab การนำโดรนเข้ามาใช้ส่งพัสดุจากแพลตฟอร์ม jd.com มีจุดประสงค์สำคัญที่จะส่งส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึงของจีน อาทิ เขตชนบทบนภูเขาสูง ต่อมาในปี 2559 JD.com เริ่มโครงการทดสอบการใช้โดรนอย่างเป็นทางการ ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงปักกิง มณฑลเสฉวน ซ่านซีและเจียงซู ปัจจุบัน JD Group มีโดรนขนส่งสินค้าจำนวน 40 ลำ สามารถบรรทุกสินค้าหนักตั้งแต่ 5 กิโลกรัมถึง 30 กิโลกรัม ครอบคลุมรัศมีระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรต่อการบิน 1 ครั้ง ในปี 2560 JD Group ใช้โดรนขนส่งสินค้าไปยังหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลของจีนแล้วกว่า 300,000 แห่ง

ในงานประชุมโดรนโลก ณ เมืองเซินเจิ้นที่ผ่านมา นางหลิว เยี่ยนกวง  ประธานบริหาร JD UVA กล่าวว่า JD Group ได้ทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับโดรนมาใช้ในการขนส่งพัสดุให้แก่ลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลของจีน และปัจจบัน JD Group ยังมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในระบบการเกษตรของบริษัท ซึ่ง JD Group นับเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซแห่งแรกของจีนที่มีพื้นที่ทางการเกษตรเป็นของตนเอง โดยบริษัทมั่นใจว่าโดรนจะเข้ามาขยายและพัฒนาศักยภาพของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบัน บริษัท Cainiao โลจิสติกส์ โดยอาลีบาบาเริ่มเข้ามาแข่งขันด้านการใช้โดรนการส่งสินค้าเช่นเดียวกัน โดยมีความร่วมมือกับบริษัท Beihang Unmanned Aircraft System ผลิตโดรนขนส่งสินค้าที่สามารถบินได้ไกลถึง 1,500 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน  Ele.me และ Alibaba’s Food เพิ่งได้รับอนุญาตให้ทดสอบการใช้โดรนในพื้นที่หลายแห่งในจีนอีกด้วย

โดรนกับอุตสาหกรรมการเกษตร

ในปี 2557 จีนกลายเป็นประเทศที่มีมูลค่าของอุตสาหกรรมเกษตรสูงถึง 400,000 ล้านหยวน (ประมาณ 79,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แซงหน้าสหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเทศที่มีมูลค่าทางการเกษตรสูงที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 45 ของมูลค่าการเกษตรทั้งโลก โดยต้นทุนของอุปกรณ์และเครื่องจักรทางการเกษตรของจีนลดลงมาตั้งแต่ปี 2557 กว่าร้อยละ 10 และร้อยละ 4 ในปี 2559 ซึ่งเกษตรกรจีนสามารถลดต้นทุนของการผลิตสินค้าเกษตรและได้รับกำไรที่สูงขึ้น สามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันเกษตรกรชาวจีนกว่าร้อยละ 90 ยังใช้อุปกรณ์ฉีดพ่นควบคุมด้วยมือ มียอดการผลิตเท่ากับ 8 ล้านเครื่องต่อปี คาดว่าอุปกรณ์ฉีดพ่นแบบดั้งเดิมอยู่ในมือเกษตรกรจีนรวมทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านเครื่อง อย่างไรก็ดี อุปกรณ์การเกษตรประเภทฉีดพ่นแบบดั้งเดิม เป็นอุปกรณ์ที่ควบคุมด้วยมือ มีข้อจำกัดในการใช้งานและการควบคุมปริมาณสารฉีดพ่นต่อพื้นที่ เป็นสาเหตุของผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่คงที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในพื้นที่ตอนกลางและฝั่งตะวันตกของจีนที่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีน้อย รัฐบาลจึงเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพึ่งพาเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน โดยในปี 2558 กระทรวงเกษตรจีนได้ออกแผนพัฒนารูปแบบการทำการเกษตร โดยหนึ่งในแผนดังกล่าวคือการสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนจากอุปกรณ์การเกษตรแบบดั้งเดิม แล้วหันมาใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น โดรน เพื่อการควบคุมและยกระดับประสิทธิการของการผลิตสินค้าการเกษตรให้ดียิ่งขึ้น 

ปัจจุบันบริษัทโดรนชั้นนำของโลกอย่าง DJI ได้นำเสนอรูปแบบการใช้โดรนเข้ากับอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเปิดตัวโดรนพ่นสารเคมีสำหรับการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2015 อาทิ โดรนรุ่น AGRASMG-1 ใช้พ่นสารเคมีในพื้นที่เกษตรกรรม สามารถบรรทุกของเหลวได้สูงสุด 10 กิโลกรัม บินครอบคลุมพื้นที่ 4000-6000 ตารางเมตร ในเวลาเพียง 10 นาที ประหยัดเวลามากกว่าการใช้แรงงานมนุษย์ถึง 40-60 เท่า สามารถบินได้สูงสุด 24 นาที (ระยะเวลาการบินขึ้นอยู่กับน้ำหนักขณะขึ้นบิน) นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถคำนวนและสำรวจพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถวาดแผนที่ดิจิตอลของพื้นที่การเกษตรได้อีกด้วย

นายหลี่ เจ๋อเซียง ประธานบริหารบริษัท DJI และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฮ่องกง กล่าวว่าผลิตภัณฑ์โดรนที่จะประสบความสำเร็จต้องมีคุณสมบัติที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด ณ เวลานั้นได้ ช่วยบริการและแก้ปัญหาที่ตรงจุด ส่วนปัจจัยที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการผลิตหุ่นยนต์ ได้แก่ สินค้าไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ไม่รองรับการเติบโตและขาดการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณที่เหมาะสม

กฎระเบียบและข้อจำกัดของโดรน

นายเฉิน จื้อเจี๋ย คณะกรรมการสถาบันวิศวกรรมแห่งประเทศจีน กล่าวว่าปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนได้พัฒนาไปสู่ระดับที่สูงและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งในอนาคตไม่เพียงแต่ใช้ประโยชน์ในการทหารเท่านั้น  แต่อาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการขนส่งสินค้าผิดกฎหมายหรือการโจมตีทางอากาศอีกด้วย นำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิด และก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชนเอง ดังนั้นภาครัฐจึงควรมีมาตรการควบคุมอากาศยานไร้คนขับ ในทุกระดับการใช้งาน ครอบคลุมการป้องกันปัญหาด้านความมั่นคง ความปลอดภัยและด้านการพัฒนาของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน นายเฉินฯ มองว่ากฎระเบียบควบคุมยังไม่ครอบคลุมมากพอ ซึ่งควรได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอย่างเหมาะสมต่อไป

อุตสาหกรรมโดรนกับประเทศไทย

โดรนเริ่มใช้อย่างแพร่หลายในไทยเพียง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น โดยการใช้งานส่วนใหญ่ยังคงจำกัดอยู่เพียงแค่การใช้เพื่อความบันเทิง อาทิ การถ่ายภาพ วีดีโอ ภาพยนต์และกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ โดยมีการควบคุมการใช้งานโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งกำหนดให้ผู้ใช้งานโดรนทุกประเภทจะต้องขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนดำเนินการบิน ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 28 พ.ย. 2560 พบว่ามีผู้ขึ้นทะเบียนโดรนทั้งหมด 5,280 เครื่อง แบ่งเป็นขึ้นทะเบียนในส่วนกลาง 2,344 เครื่อง ขึ้นทะเบียนในส่วนภูมิภาค 2,936 เครื่อง ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศระเบียบและควบคุมการใช้งานโดรนในไทยโดยอนุญาตการใช้งาน 2 ประเภท ได้แก่ (1) ประเภทที่ใชเพื่อวัตถุประสงคในการเลนเปนงานอดิเรก เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา และ (2) ประเภทที่ใชเพื่อวัตถุประสงคอื่น เช่น การถ่ายภาพ รายงานการจราจร การวิจัยและพัฒนาอากาศยานอื่น ๆ ซึ่งหากผู้ใดทำกระทำความผิดต่อกฎอย่างใดอย่างหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษา World UAV Federation กล่าวในงานประชุมโดรนโลก ณ เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เมื่อเดือนมิถุนายนว่า ผู้ผลิตโดรนควรคำนึงถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้ในงานที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ผลิตควรมีเทคโนโลยีที่สามารถจำกัดการใช้งานที่เสี่ยงต่ออันตรายหรือผิดกฎหมาย ไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่เริ่มใช้โดรนอย่างแพร่หลาย ควรศึกษาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดรนของจีนเพื่อนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น

ปัจจุบันถึงแม้การใช้โดรนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรืออุตสาหกรรมเกษตรในไทยยังมีน้อย เนื่องจากความจำกัดด้านเทคโนโลยีและต้นทุนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีโดรนในการยกระดับประสิทธิภาพและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ก็คงยังมีความสำคัญที่ไทยต้องจับตามอง ในขณะเดียวกันก็สามารถศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีโดรน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้โดรนเข้ามายกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย 



กวางตุ้งมณฑลกวางตุ้งเซินเจิ้นเมืองเซินเจิ้นdjiCainiao. อุตสาหกรรมโดรนจีนJDโดรนจีน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน