“เทคโนโลยีสารสนเทศ” แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมกว่างซีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

25 Jun 2018

      ในรายงานดัชนี China ‘Internet Plus’ 2018 (中国互联网+”指数报告(2018)) จัดทำโดยบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Tencent (腾讯) ชี้ว่า เมื่อปี 2560 กว่างซีมีดัชนี ‘Internet Plus’อยู่อันดับที่ 13 ของประเทศจีน (ขยับขึ้นมา 4 อันดับจากปีก่อนหน้า) โดยมีอัตราการเติบโตสูงกว่า 80% สะท้อนให้เห็นว่า กว่างซีมีศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่โดดเด่น

      ผลงานข้างต้นเป็นผลจากการที่กว่างซีเร่งผลักดันการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยมีแนวทางการพัฒนาระบบสารสนเทศของกว่างซีใน 3 ส่วน ได้แก่

      1. ใช้ “เส้นทางสายไหมข้อมูลสารสนเทศ” (Information Silk Road) เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

      เมื่อปี 2558 กว่างซีได้ริเริ่มโครงการ China-ASEAN Information Harbor (CAIH) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกลาง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนา “เส้นทางสายไหมข้อมูลสารสนเทศ” เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน

      หลายปีที่ผ่านมา กว่างซีได้พัฒนาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อผลักดันการพัฒนา CAIH ร่วมกับวิสาหกิจรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง อาทิ Alibaba (阿里巴巴) / HUAWEI (华为) / ZTE (中兴) และธนาคาร CCB (中国建设银行) โดยมีโมเดลการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ที่กำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดใน CAIH ไม่ว่าจะเป็นเมืองอัจฉริยะ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ อีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต

      ในระยะต่อไป กว่างซีจะเร่งก่อสร้าง ‘CAIH Big Data Center’ (中国东盟信息港大数据中心) การเดินหน้าโครงการ CAIH Village แบบเต็มรูปแบบเพื่อเป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และอาศัยโครงการเหล่านี้เป็นตัวเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิม และขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกว่างซี

      2. ใช้ ‘Internet Plus’ เป็นเครื่องมือสร้างช่องทางทำเงินและลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยี (Digital Divide) ในพื้นที่ชนบท

      กว่างซีดำเนินยุทธศาสตร์ Broadband Guangxi’ โดยเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์และอินเทอร์เน็ตใยแก้วความเร็วสูง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยี ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล (พื้นที่ยากจน) มีโอกาสได้ใช้อินเทอร์เน็ตและได้รับประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต

      ตัวอย่างเช่น คุณ Lai Yuanyuan (赖园园) สาวอำเภอหรงอัน (Rong’an/融安县) เมืองหลิ่วโจว หลังจากกลับมาจากการเรียนต่อที่ประเทศไทยเมื่อปี 2555 เธอตัดสินใจกลับบ้านเกิดเปิดร้านขายส้มกิมจ๊อออนไลน์ เฉพาะปี 2559 เธอขายส้มกิมจ๊อผ่านทางออนไลน์และออฟไลน์ได้กว่า 10.4 ล้านหยวน และในปี 2560 ช่วงที่ส้มกิมจ๊อเพิ่งออกสู่ตลาด เธอได้รับออร์เดอร์กว่า 3 ล้านหยวน

      Lai Yuanyuan ใช้โมเดล Internet Plus สร้างช่องทางการจำหน่ายส้มกิมจ๊อไปทั่วประเทศเพื่อช่วยเกษตรกรชาวส้มไร่ส้มในพื้นที่ห่างไกลและผู้ด้อยโอกาส “สร้างโอกาส สร้างงาน และสร้างเงิน”

      3. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล

      หลายปีที่ผ่านมา กว่างซีเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrialization) กับเทคโนโลยีสารสนเทศ (Informanization) ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว

      กว่างซีได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศของเมืองต่าง ๆ ไว้ชัดเจน กล่าวคือ เมืองเป๋ยไห่เน้นการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นหลัก นครหนานหนิงเน้นการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก และเมืองกุ้ยหลินเน้นอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมและเซลล์แสงอาทิตย์เป็นหลัก

      ปัจจุบัน คลาวด์คอมพิวติ้ง อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ ซอฟต์แวร์สำหรับอุตสาหกรรม โซลูชันสำหรับอุตสาหกรรม ดาวเทียมเป๋ยโต่ว และการดูแลและบริหารจัดการระบบรักษาความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเป็น “จุดเติบโตใหม่” ของระบบอุตสาหกรรมในกว่างซี

      ปัจจุบัน กว่างซีกำลังดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนานวัตกรรมและอินเทอร์เน็ตสำหรับอุตสาหกรรมในเชิงลึก ภายใต้กรอบการทำงาน “หนึ่งแพลตฟอร์ม สองมาตรฐาน สามปฏิบัติการ” กล่าวคือ (1) การพัฒนาแพลตฟอร์มคลาวด์เพื่ออุตสาหกรรม (2) การกำหนดมาตรฐานอินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรมและมาตรฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในนิคมอุตสาหกรรม และ (3) การปฏิบัติการเพื่อยกระดับขีดความสามารถของภาคธุรกิจในการผสมผสานอุตสาหกรรมกับเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จากระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง และผลักดันการผลิตอัจฉริยะเพื่อการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกันในเชิงลึก

 

ลิงก์ข่าว

China-ASEAN Information Harbor รุก สปป.ลาว ตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีคลาวด์จับตลาดอาเซียน (13 มิ.ย. 2561)

หนานหนิงโปรโมท จงกวนชุนแพลตฟอร์มธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรมจีน-อาเซียน (08 มิ.ย. 2561)

China Mobile วางรากฐานกว่างซีสู่ระบบ เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) (21 พ.ค. 2561)

กว่างซีปั้นแพลตฟอร์ม Pan-Sugar Spot Trading สร้างเกราะให้ธุรกิจน้ำตาลจีน (17 พ.ค. 2561)

พลังประชารัฐส่งนครหนานหนิงเขยิบเข้าสู่ Smart City (30 ม.ค. 2561)

หนานหนิง เป๋ยไห่ กุ้ยหลิน เมืองยุทธศาสตร์การลงทุนในอุตสาหกรรมไอที (8 .. 2560)

 

จัดทำโดย นายชิว เจียเหว่ย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง 

เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา เว็บไซต์
www.gx.xinhuanet.com (中国新华网)ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2561

ภาพประกอบ
https://www.pexels.com/photo/personal-computer-motherboard-4316/

CAIHChina-ASEAN Information HarborChina ‘Internet Plus’ 2018Information Silk Roadยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเทคโนโลยีสารสนเทศเส้นทางสายไหมข้อมูลสารสนเทศ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน