ล้ำสมัย!! นครหนานหนิงเปิดใช้ “สถานีผลิตและเติมไฮโดรเจนจากแอมโมเนีย” ที่แรกในจีน

4 Jan 2024

“จีน” เป็นประเทศที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก อันเป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ “จีน” จึงเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลกและเป็นหนึ่งในประเทศที่(เคย) ต้องประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

ปี 2551 รัฐบาลจีนได้เริ่มแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและเร่งรัดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับเข้มข้น และตั้งเป้าเป็น “ผู้นำด้านพลังงานสะอาด” ของโลก โดยการสนับสนุนการพัฒนา “พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดในหลากหลายรูปแบบ” เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลจีนเดินหน้าและกำลังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) ถือเป็นอีกหนึ่งพลังงานสะอาดที่จีนให้ความสนใจ เพราะเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตพลังงานเป็นการเผาไหม้ที่สะอาด ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และการเผาไหม้ให้ค่าพลังงานต่อหน่วย (energy density) สูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแก๊ซโซลีนและถ่านโค้ก 2 – 4 เท่า จึงได้รับการวางตัวเป็น “พลังงานแห่งอนาคต” ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยเฉพาะภาคการขนส่งที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก

แนวคิดการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนของจีนเริ่มต้นในปี 2549 และเริ่มปรากฏชัดเจนใน  แนวทางการบริหารงานภาครัฐ หรือวาระแห่งชาติ ประจำปี 2562 โดยในรายงานดังกล่าวได้ระบุถึง “การส่งเสริมการพัฒนาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน”

ต่อมาในปี 2565 รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน ระยะกลาง-ระยะยาว” (ระหว่างปี 2564-2578) โดยมุ่งเป้าไปที่ภาคการคมนาคมขนส่ง ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้จีนเข้าใกล้ “เป้าหมายคาร์บอนคู่” ที่รัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นกับประชาคมโลก (คาร์บอนคู่ คือ เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด (carbon emission peak)) ในปี 2573 และบรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์  (carbon neutral) ในปี 2603

ที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนหลากหลายรูปแบบ อาทิ การผลิตไฮโดรเจนด้วยการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าในกระบวนการแยกน้ำ) การผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซธรรมชาติ (ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากในกระบวนการผลิต) การผลิตไฮโดรเจนจากเมทานอล (สถานีผลิตและเติมไฮโดรเจนจากเมทานอลที่แรกในจีนอยู่ที่เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง) และการผลิตไฮโดรเจนจากแอมโมเนีย (ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้เปิดตัว “สถานีผลิตและเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากแอมโมเนียแบบครบวงจร” (มีชื่อภาษาจีนว่า สถานีบริการเจิ้นซิง/广西石油南宁振兴加能站) ที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์เป็นที่แรกในประเทศจีน

เจ้าหน้าที่ของ China Sinopec (中国石化) ให้ข้อมูลว่า China Sinopec เป็นผู้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนด้วยแอมโมเนีย โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของแอมโมเนียเป็นก๊าซไนโตรเจนและก๊าซไฮโดรเจน และนำก๊าซไฮโดรเจนไปผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์เพื่อนำไปใช้ตอบสนองความต้องการพลังงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่

ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2566 จีนมียอดขายรถพลังงานไฮโดรเจนรวม 18,197 คัน รองจากเกาหลีใต้ (34,000 คัน) ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และมีสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 417 แห่ง ซึ่งมากที่สุดในโลก

ทั้งนี้ สถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศจีน ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านการจัดเก็บ (วัตถุอันตรายไวไฟ) และการขนส่ง (ใช้รถขนส่งจากโรงงานไปให้กับสถานีบริการ) ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำ (รถขนส่งได้เพียงคันละ 300 กิโลกรัม) มีต้นทุนการบริหารจัดการที่ค่อนข้างสูง รวมถึงปัญหาของความปลอดภัยในกระบวนการขนถ่ายด้วย

สถานีบริการเจิ้นซิงในนครหนานหนิงได้ “ก้าวข้าม” ข้อจำกัดข้างต้น โดยสามารถทำการผลิตไฮโดรเจนได้ในตัวสถานี ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์สูงถึงร้อยละ 99.999 ในปริมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน (240 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง) ช่วยลดต้นทุนจากเดิมได้ร้อยละ 60

ที่สำคัญ แอมโมเนียเป็นพาหะทางเคมีของไฮโดรเจนที่สามารถจัดเก็บและขนส่งได้ง่าย เติมให้กับรถยนต์ได้อย่างสะดวก นับเป็นก้าวสำคัญของสถานีการเติมไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์

เจ้าหน้าที่ของ China Sinopec ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า อุปกรณ์การผลิตไฮโดรเจนในตัวสถานีบริการ ใช้พื้นที่น้อยเพียง 80 ตารางเมตร แต่สามารถตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในพื้นที่เมืองรอบข้างได้ด้วย (อย่างเช่นเมืองเป๋ยไห่ เมืองหลิ่วโจว) อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถถอดประกอบ ติดตั้ง และเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก

ในบริบทที่ประเทศไทยกำลังให้ความสนใจกับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนเช่นกัน ข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเปิดเผยว่า ปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์การนำไฮโดรเจนไปใช้ในภาคพลังงาน และการจัดตั้งคณะทำงานไฮโดนเจนของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อพิจารณาเสนอแนะเป้าหมาย นโยบาย จัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน รวมถึงการจัดตั้งกลุ่ม Hydrogen Thailand เพื่อใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน เป็น “กุญแจ” สู่การความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

บีไอซี เชื่อว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงและ China Sinopec กว่างซีจะเป็นพันธมิตรสำคัญของภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่จะมีความร่วมมือแลกเปลี่ยนระหว่างกันในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยเฉพาะการผลิตไฮโดรเจนจากแอมโมเนีย ซึ่งมีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการผลิตไฮโดรเจนด้วยวิธีอื่น ทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง รวมทั้งระบบและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไปในอนาคต

จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง  ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西频道) วันที่ 9 ธันวาคม 2566
เว็บไซต์ https://news.cctv.com (央视新闻) วันที่ 9 ธันวาคม 2566
เว็บไซต์ http://auto.ce.cn (中国经济网) วันที่ 5 ธันวาคม 2566
ภาพประกอบ https://news.cctv.com

สถานีเติมไฮโดรเจนไฮโดรเจน

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน