“หลิ่วโจว” เมืองใหญ่อันดับ 2 ของกว่างซี พลิกโฉมพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม

10 Jan 2013

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : “บูรณาการโครงสร้างพื้นฐาน ขยายขนาดความเป็นเมืองเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน คือ เป้าหมายในปี 56 ของ หลิ่วโจว เมืองอุตสาหกรรมอันดับ 2 ของกว่างซี

เป้าหมายดังกล่าวได้รับการเปิดเผยในรายงานเกี่ยวกับพัฒนาการและเป้าหมายการดำเนินงานพัฒนาเมืองฯ ซึ่งนายเฉิน กัง (Chen Gang, 陈刚) เลขาธิการพรรคฯ ประจำเมืองหลิ่วโจว ได้สรุปแก่ที่ประชุมคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมืองหลิวโจว ครั้งที่ 8 สมัยที่ 11 เมื่อไม่กี่วันมานี้

สาระสำคัญของรายงานดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

– ปีที่ผ่านมา รายได้ชาวเมืองทะลุ 20,000 หยวน



ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ เมืองหลิ่วโจวสามารถรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างน่าพึงพอใจ

จากสถิติเบื้องต้น พบว่า ปีที่ผ่านมา (ปี 55) มูลค่า GDP ของเมืองหลิ่วโจวเท่ากับ 178,040 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 11.5 มูลค่าผลผลิตมวลรวมภาคอุคสาหกรรม 370,000 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 17.4 มูลค่ารวมการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 342,000 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 18.5

มูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 168,000 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 28.7 รายได้การคลัง 26,020 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 13.3 และมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค 65,980 ล้านหยวนขยายตัวร้อยละ 16

นอกจากนี้ รายได้เฉลี่ยต่อหัวที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเท่ากับ 21,870 หยวน ขยายตัวร้อยละ 11.5 รายได้เฉลี่ยสุทธิของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทเท่ากับ 6,694 หยวน ขยายตัวร้อยละ 17 ทั้งนี้ พบว่า ตัวเลขรายได้ และอัตราขยายตัวของรายได้ประชากรมีการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

หากเปรียบเทียบกับสถิติในปี 49 (ปีปฐมฤกษ์ของแผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 11) พบว่า ตัวเลขเศรษฐกิจมีการเติบโตเท่าตัว  โดยมูลค่า GDP ขยายตัวสูงขึ้นถึง 2.2 เท่า คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 14 เปอร์เซนต์

ด้านผลผลิตมวลรวมภาคอุตสาหกรรม มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.4 เท่า เฉลี่ยปีละ 22.6 เปอร์เซนต์ รายได้การคลังเพิ่มขึ้น 2.8 เท่า เฉลี่ยปีละ 18.4 เปอร์เซนต์

รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวเมืองเพิ่มขึ้น 2 เท่า เฉลี่ยปีละ 12.1 เปอร์เซนต์ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวชนบทเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า เฉลี่ยปีละ 14.9 เปอร์เซนต์

มูลค่ารวมสินทรัพย์ของบริษัทรัฐวิสาหกิจมีมูลค่า 206,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 7.6 เท่าจากปี 49 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 39.5 เปอร์เซนต์ ยอดการผลิตรถยนต์ (อุตสาหกรรมเสาหลักของเมืองฯ) 1.718 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3.2 เท่า เฉลี่ยปีละ 21.1 เปอร์เซนต์ ปริมาณการผลิตวัสดุเหล็กคิดเป็นน้ำหนัก 10.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เฉลี่ยปีละ 11.3 เปอร์เซนต์

 

หลิ่วโจวพัฒนาสู่เมืองน่าอยู่



เมืองหลิ่วโจววางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิด 1 ศูนย์กลาง 2 เมือง พัฒนาพื้นที่เลียบฝั่งแม่น้ำ และเน้นการพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันออก

ปีที่ผ่านมา เมืองหลิ่วโจวมีการขยายพื้นที่เมืองแล้วเสร็จ 172.1 ตร.กม. เพิ่มขึ้น 62.1 ตร.กม. (ปี 49 มีพื้นที่เมือง 110 ตร.กม.) และมีประชากรในเขตเมือง 1.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.94 แสนคน (ปี 49 มีจำนวนประชากรเขตเมือง 1.006 ล้านคน)

เมืองหลิ่วโจวมีการพัฒนางานก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการคมนาคม และธุรกิจการค้า

หลิ่วโจวถือเป็นเมืองชุดแรกของกว่างซี และประเทศจีนที่มีการดำเนินงานตรวจวัดมาตรฐานคุณภาพอากาศที่เรียกว่า “PM 2.5” [1]  

คุณภาพอากาศในเขตเมืองแตะระดับมาตรฐานร้อยละ 96.2 จำนวนวันที่คุณภาพอากาศได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นจาก 312 วันในปี 49 เป็น 352 วันในปีที่ผ่านมา

พื้นที่ป่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.3 ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเท่ากับร้อยละ 45.7

ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเศษฝุ่นละอองเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่อง

ด้านประหยัดพลังงาน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเมืองหลิ่วโจวสามารถประหยัดการใช้พลังงานลงได้ร้อยละ 13.5

ปริมาณฝนกรดในเขตเมืองลดลงจากร้อยละ 52.4 ในปี 49 เหลือเพียงร้อยละ 17.3 ในปี 55 ที่ผ่านมา

เมืองหลิ่วโจวยังได้รับการขนานนามเป็น เมืองป่าไม้แห่งชาติ และคาดว่าจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญชุดแรกของประเทศที่ได้รับการกำหนดเป็น เมืองสาธิตด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ และผ่านการตรวจสอบอนุมัติจากคณะนักวิชาการคณะกรรมการด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (National Afforestation (Greening) Committee, 全国绿化委员鬼) ให้เป็น ต้นแบบเมืองสีเขียวแห่งชาติ

 

– เป้าหมายการปฏิบัติงานในปี 56

เมืองหลิ่วโจวได้วางกรอบการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิด 5 ดี 5 ดี[2]  และกำหนดเป้าหมายหลักด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปีนี้ โดยมุ่งเป้าสู่การเป็น สังคมเสี่ยวคัง (หรือสังคมที่ประชาชนอยู่ดีกินดี) ดังนี้

– มูลค่า GDP ทะลุ 200,00 ล้านหยวน เติบโตมากกว่าร้อยละ 12

– มูลค่าผลผลิตมวลรวมภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 17.5

– การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และรายได้การคลัง เพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 10

– มูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

– รายได้ต่อหัวที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ของประชากรในเขตเมือง ขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 10

– รายได้เฉลี่ยสุทธิของประชากรในเขตชนบท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 15



นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดวิสัยทัศน์ของเมืองฯ เป็นเมืองที่มีโครงสร้างธุรกิจที่สมดุล  มีจัดบริหารจัดการที่เป็นวิทยาศาสตร์  มีระบบโครงสร้างพื้นฐานครบครัน มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง และมีภาพลักษณ์ทางสังคมที่ยอดเยี่ยม

 

คำอธิบายเพิ่มเติม

[1] PM2.5  คือ มาตราฐานตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยการวัดค่าฝุ่นละอองที่มีระดับอนุภาคไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยมากกว่าฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า



[
2]  แนวคิด 5 ดี 5 ดี(五美五好) คือ ภูมิทัศน์ดี สิ่งแวดล้อมดี ภาพลักษณ์ดี อากาศดี และสังคมสงบดี  ส่วนอีก 5 ดี คือ ทุกคนได้รับการพัฒนาที่ดี ทุกครอบครัวได้รับสวัสดิการที่ดี ทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่ดี ทุกวันมีอารมณ์ดี และทุกครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน