ส่องแผนพัฒนางานขนส่งและโลจิสติกส์ เชื่อมจีนตะวันตกกับอาเซียน มุ่งพลิกโฉมกว่างซีให้เป็น Gateway การค้าการลงทุนกับต่างประเทศภายใน 3 ปี

9 Nov 2021

ไฮไลท์

  • กว่างซีประกาศแผนปฏิบัติการยกระดับระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564 – 2566) โดยมุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในทุกมิติ ทั้งการขนส่งทางเรือ ทางรถไฟ ทางถนน และทางแม่น้ำ เพื่อเสริมสร้างบทบาทการเป็น “พื้นที่แห่งโอกาส” ในการพัฒนาความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกกับอาเซียน และการเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI)
  • เป้าหมายสำคัญของแผนปฏิบัติดังกล่าว อาทิ การส่งเสริมบทบาทของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในฐานะ International Gateway ผ่านการพัฒนระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเทียบเรือในทุกมิติ การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางรถไฟ การเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการรองรับงานขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุน
    โลจิสติกส์ต้องลดลง และการเสริมแกร่งให้แหล่งรองรับการค้าการลงทุนภายในมณฑล เพื่อส่งเสริมพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าไปอีกขั้น
  • การพัฒนาระเบียง NWLSC ในกว่างซีมีนัยสำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน กล่าวได้ว่า กว่างซีเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยจะสามารถ “เชื่อมต่อ” เศรษฐกิจภายในประเทศของไทยให้เข้ากับเศรษฐกิจของจีนตะวันตกผ่านระเบียง NWLSC ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศแผนปฏิบัติการยกระดับระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564 – 2566) หรือที่เรียกสั้นๆว่า NWLSC (New Western Land and Sea Corridor) โดยมุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในทุกมิติ ทั้งการขนส่งทางเรือ ทางรถไฟ ทางถนน ทางแม่น้ำ และทางอากาศ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพในการบริการด้านการขนส่งให้มีความคล่องมากขึ้นอีก และเสริมสร้างบทบาทการเป็น “พื้นที่แห่งโอกาส” ในการพัฒนาความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกกับอาเซียน

เป้าหมายสำคัญของแผนปฏิบัติการยกระดับระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก ระหว่างปี พ.ศ.2564 – 2566 มีดังนี้

—— บทบาทของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในฐานะ International Gateway มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก (ท่าเทียบเรือ เส้นทางเดินเรือ) ของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของขนาด (รองรับเรือบรรทุกขนาด 2-3 แสนตันได้จากทั่วโลก) ความเฉพาะด้าน (รองรับสินค้าหลายประเภท เช่น สินค้าโภคภัณฑ์อย่างแร่อลูมิเนียม รถยนต์ และสินค้าเกษตรสด) และความเป็นอัจฉริยะ (เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า AI และ IoT) ท่าเรือเทียบมีปริมาณขนถ่ายสินค้าได้มากกว่า 400 ล้านตัน ตู้คอนเทนเนอร์ 8 ล้าน TEUs (ในจำนวนนี้ เป็นตู้สินค้าในระบบการค้าต่างประเทศ 1.6 ล้าน TEUs) เส้นทางเดินเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มีมากกว่า 90 เส้นทาง (ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือต่างประเทศมากกว่า 60 เส้นทาง และเส้นทางเดินเรือสมุทรระยะไกลมากกว่า 19 เส้นทาง) และการบริการเส้นทางเดินเรือ (direct service) และบริการเรือด่วน (express vessel) ระหว่างกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ รวมถึงท่าเรือใกล้เคียงในอาเซียนให้มีความถี่มากขึ้น

credit : www.ichongqing.info

—— โครงข่ายการคมนาคมขนส่งมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยมี “รถไฟ” เป็นเส้นทางหลัก และ “ถนน” (Express way) เป็นส่วนเสริม โดยเฉพาะการก่อสร้างส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟสายใหม่ในมณฑล เส้นทางรถไฟไปยังชายแดนเวียดนาม (ด่านผิงเสียง-Langson ด่านตงซิง-Mongcai และด่านหลงปัง-Caobang) และเส้นทางเชื่อมกับมณฑลรอบข้าง (โดยเฉพาะมณฑลกุ้ยโจว มณฑลหูหนาน และมณฑลกวางตุ้ง) การขยายงานก่อสร้างสถานีรถไฟขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือชินโจว การก่อสร้างรางรถไฟเป็นเส้นคู่เข้า-ออกกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ และการสร้างถนนและสะพานเชื่อมเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ไว้ด้วยกัน การยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำซีเจียง (เชื่อมกับพื้นที่ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง) การสร้างศูนย์ชลประทานหลายแห่งในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำซีเจียง (เพื่อควบคุมระดับน้ำในการลำเลียงเรือบรรทุกสินค้าในแม่น้ำซีเจียง) และการขุดคลองขนส่งผิงลู่ (คล้ายคลองปานามา เพื่อเชื่อมแม่น้ำซีเจียงกับทะเลอ่าวเป่ยปู้ที่เมืองชินโจว)

—— ขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการรองรับงานขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นอีก การขนส่งสินค้า “ทางรถไฟ” มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เที่ยวขบวนรถไฟที่ให้บริการในโมเดลการขนส่ง “เรือ+รถไฟ” มีมากกว่า 8,500 เที่ยวขบวน (ลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 4.25 แสน TEUs) เที่ยวขบวนรถไฟจีน-เวียดนามผ่านด่านรถไฟผิงเสียงมีมากกว่า 1,500 เที่ยวขบวน การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนรวมโลจิสติกส์ต้องลดลง การยกระดับมาตรฐานและการพัฒนาโมเดลการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการผ่านพิธีการศุลกากรให้ก้าวหน้าไปอีกระดับ โครงข่ายเส้นทางบินมีความถี่มากขึ้น โมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal transportation) ระหว่างจีน-อาเซียนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และส่งเสริมการใช้ “เอกสารการขนส่งฉบับเดียว” สำหรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

——การพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ เขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานหนานหนิง (Nanning Airport Economic Demonstration Zone) เขตทดลองความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามแดนกับเวียดนาม 3 แห่ง (อำเภอระดับเมืองตงซิง อำเภอระดับเมืองผิงเสียง และเมืองไป่เซ่อ) เขตนำร่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนแบบครบวงจรแห่งชาติ 2 แห่ง (ในนครหนานหนิง และเมืองชายแดนฉงจั่ว) และเขตสินค้าทัณฑ์บน การส่งเสริมความร่วมมือด้านการผลิต (capacity) ระหว่างมณฑลและระหว่างประเทศมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น (เป็นฐานรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม) อุตสาหกรรมเลียบท่าเรือ เลียบชายแดน และรอบสนามบินเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนานิคมโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมประสบผลสำเร็จอย่างชัดเจน การส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์และงานโลจิสติกส์เฉพาะด้าน โดยเฉพาะโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น โลจิสติกส์สำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์สำหรับสินค้าทัณฑ์บน

บีไอซี เห็นว่า การอิ่มตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเล ทำให้พ่อค้านักลงทุนต้องหักพวงมาลัยมุ่งสู่ “จีนตะวันตก” เป็นจุดเริ่มต้นของ “กระแส Go West” หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนสู่พื้นที่ตอนในทางภาคตะวันตกของประเทศจีน พร้อมกับปรากฎการณ์การไหลเข้าของแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคตะวันตก ทำให้เศรษฐกิจและสังคมในจีนตะวันตกมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยที่การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เป็นตัวจักรที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลายมณฑลในจีนตะวันตก(และจีนตอนกลาง)จึงได้ร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (NWLSC) เพื่อสร้างช่องทางการค้า(ใหม่)กับต่างประเทศ โดย “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ซึ่งมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้และเมืองชายแดนติดประเทศเวียดนาม เป็นหนึ่งในผู้เล่นตัวสำคัญของระเบียง NWLSC ในฐานะข้อต่อระหว่างพื้นที่จีนตอนในกับต่างประเทศ

การพัฒนาระเบียง NWLSC ในกว่างซีมีนัยสำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน กล่าวได้ว่า กว่างซีเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยจะสามารถ “เชื่อมต่อ” เศรษฐกิจภายในประเทศของไทยให้เข้ากับเศรษฐกิจของจีนตะวันตกผ่านระเบียง NWLSC ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564
เว็บไซต์
www.gxzf.gov.cn (广西政府网) วันที่ 22 ตุลาคม 2564

NWLSCNew Western Land and Sea Corridorระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตกInternational Gateway

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน