มณฑลฝูเจี้ยนส่งเสริมการพัฒนาความเป็นดิจิทัลสู่ความเป็นดิจิทัลแห่งจีน

3 Nov 2020

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

การประชุมสุดยอดส่งเสริมความเป็นดิจิทัลของจีน ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่นครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยนระหว่างวันที่ 12 – 14 ตุลาคม 2563 ตามกลยุทธ์แผนการพัฒนา “ฝูเจี้ยนดิจิทัล” สู่ความเป็นดิจิทัลของจีนโดยมีนครฝูโจวเป็นเมืองนำร่อง โดยแผนพัฒนาดังกล่าวเสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนเมื่อปี 2543

ภายในงานฯ เกิดมูลค่าการตกลงความร่วมมือตามสัญญากว่า 4.18 หมื่นล้านหยวน ครอบคลุมสาขา 5G AI Big Data Cloud Computing IoT  โดยในปี 2562 นครฝูโจวมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลกว่า 3.9 แสนล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของมูลค่า GDP ทั้งเมือง และเป็นสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ

ปัจจุบัน มณฑลฝูเจี้ยนได้รับการจัดตั้งเป็น “มณฑลนำร่องรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติแบบบูรณาการ” “เขตทดลองการพัฒนานวัตกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ” และ “มณฑลนำร่องการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสาธารณะ” ในปี 2562 ยอดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของฝูเจี้ยนได้ทะลุ 1.73 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.7 ของมูลค่า GDP ทั้งมณฑล และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.8 ของมูลค่ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วประเทศ

ฝูเจี้ยนยังมีผลงานการพัฒนาและความเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยดัชนีบริการภาครัฐดิจิทัล (Digital Government Index) อยู่สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ “Minzhengtong”

ทั้งนี้ ในปี 2562 จีนมีมูลค่ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลทะลุ 35.8 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.2 ของมูลค่า GDP ทั่วประเทศ และจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 จีนมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 940 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่รัฐบาลพัฒนาโครงการเทคโนโลยีดิจิทัลขนาดใหญ่ กล่าวคือ โครงการส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของเครือข่ายดาวเทียมนำทาง “เป่ยโต่ว” (BeiDou Navigation Satellite Systemหรือ BDS) ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ซึ่งดำเนินการสำเร็จเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภายหลังการพัฒนาเทคโนโลยีมากว่า 26 ปี โดยความสำเร็จของระบบ “เป่ยโต่ว” นี้ ก่อให้เกิดการลงนามสัญญาความร่วมมือกับอีก 137 ประเทศทั่วโลก

ขณะที่จีนได้ก่อสร้างระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4G และ 5G ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ค่าใช้จ่ายทางค่าอินเทอร์เน็ตได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน จีนได้ก่อสร้างสถานีฐาน 5G มากกว่า 500,000 แห่งทั่วประเทศ และในปี 2562 ดัชนีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของจีนปรับตัวดีขึ้นเป็นอันดับที่ 45 จากอันดับที่ 65 ของโลก อย่างไรก็ตาม จีนจะต้องก่อสร้างสถานีฐาน 5G มากกว่า 11 ล้านแห่งจึงจะสนองตอบต่อความต้องการในการใช้ 5G ของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน จีนได้ก่อสร้างสถานีฐาน 5G คิดเป็นร้อยละ 4.5 ของเป้าหมายจำนวนสถานีฐาน 5G ทั้งหมด

โอกาสของไทย ไทยสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ระบบอีคอมเมิร์ชเพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตแก่ผู้บริโภคได้โดยตรง และเข้าถึงตลาดได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้จากตัวอย่างการพัฒนาของจีน โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ช่วยให้พื้นที่เขตชนบทของจีนหลุดพ้นจากความยากจน ปัจจุบัน ร้านค้าออนไลน์บนแอพพลิเคชั่น Taobao กว่าร้อยละ 25 เป็นร้านค้าจากเขตชนบท และในปี 2562 จีนมีมูลค่ารายได้จากอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ชทั้งหมด 4.4 ล้านล้านหยวน โดยในจำนวนนี้ คิดเป็นมูลค่าการค้าปลีกสินค้าเกษตรถึง 3.97 แสนล้านหยวน

อุตสาหกรรมดิจิทัลในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าภายในปี 2565 อุตสาหกรรมดิจิทัลจะมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 61 ของมูลค่า GDP ประเทศไทย ปัจจุบัน ไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกว่า 52 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มยอดขายบนตลาดออนไลน์มากขึ้น

*********

แหล่งอ้างอิง https://www.szzg.gov.cn/2020/szfj/gzdt/202010/t20201012_5408963.htm

https://www.szzg.gov.cn/2020/xwzx/mtbd/202010/t20201013_5414308.htm

5Gจีน ฝูเจี้ยน ดิจิทัล

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน