การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน : โอกาสทองของอุตสาหกรรมใหม่และธุรกิจภาคบริการ

11 Jan 2013

รัฐบาลจีนกำลังจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหรรมเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางที่เสนอในที่ประชุมงานเศรษฐกิจที่เพิ่งปิดฉากลงในกลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา จากข่าวสารที่ BIC ได้รวบรวมมา การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของจีนในปีนี้จะมีลักษณะเด่น 3 ประการ ได้แก่ การยกระดับเทคโนโลยีชั้นสูงในอุตสาหกรรมการผลิต การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และการส่งเสริมธุรกิจภาคบริการ


อุตสาหกรรมการผลิต: ยกระดับเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์

จากข่าวสารของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตของจีนในปี 2556 จะมุ่งเน้นใน 2 ด้าน ได้แก่ การปรับลดเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าสมัย และการยกระดับเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยมาตรการเพื่อการปรับโครงสร้างดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

1.ยกระดับมาตรฐานการประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการลดมลภาวะจากอุตสาหกรรมเคมีและอุตสาหกรรมหนัก

2. ดำเนินตามกฏการประเมินและตรวจสอบการประหยัดพลังงานของโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆอย่างเคร่งครัด

3.สนับสนุนการร่วมมือกันระหว่างบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีตลอดจนปรับโครงสร้างการผลิตให้ดีขึ้น

4.ส่งเสริมบริษัทนำร่องที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงและมีขีดความสามารถการแข่งขันที่แข็งแกร่งเพื่อกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างที่ชัดเจนในการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ อาทิ การผลิตเครื่องจักรกล การผลิตอุปกรณ์พลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์และเซลล์แสงอาทิตย์


อุตสาหกรรมใหม่: พัฒนาอย่างรวดเร็ว

ตามที่ BIC ได้รายงานก่อนหน้า จีนให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก รัฐบาลของมณฑลหลายแห่งได้ประกาศแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เชิงยุทธศาสตร์ประจำปี 2554-2558 โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน วัสดุที่ใช้นวัตกรรมใหม่ อินเตอร์เน็ตของสิ่งต่างๆรอบตัว (The Internet of Things) ชีววิทยา วิศวกรรมทางทะเล ทั้งนี้ ธุรกิจพลังงานทดแทน รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีการโทรคมนาคม วัสดุที่ใช้นวัตกรรมใหม่ ตลอดจนอุปกณ์พยาบาล ล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ยกตัวอย่าง ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 รายได้ของอุตสาหกรรมใหม่เชิงยุทธศาสตร์ของมณฑลเจียงซีได้เติบโตร้อยละ 14.5 คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 839,307 ล้านหยวน โดยในตัวเลขดังกล่าวรายได้ของอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ประเภทโลหะมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่ง สำหรับเมืองอื่น เช่น เซินเจิ้นนั้น มีแผนก่อสร้างศูนย์วิจัยระดับประเทศและมณฑลทั้งสิ้น 145 แห่งภายในปี 2556 ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนา (R&D) ประจำปี 2555 ของเมืองเซินเจิ้นยังคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 4 ของ GDP ของเมือง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมใหม่เชิงยุทธศาสตร์ของเมืองเซินเจิ้นมีมูลค่าทั้งสิ้น 1.5 ล้านล้านหยวน มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโลยีชั้นสูงครองสัดส่วนร้อยละ 33.6 ของ GDP ของเซินเจิ้น และมูลค่าเพิ่มของธุรกิจภาคบริการสมัยใหม่ครองสัดส่วนร้อยละ 69.2 ของมูลค่าเพิ่มรวมของธุรกิจภาคบริการ


ธุรกิจภาคบริการ: ส่งเสริมโดยภาครัฐ

ในปี 2556 ธุรกิจบริการมีโอกาสเติบโตที่สูง เนื่องจากนโยบายการปรับโครงสร้างของรัฐบาลกลางที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจภาคบริการเป็นอย่างมาก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศแผนการพัฒนาธุรกิจภาคบริการประจำปี 2554-2558 โดยกำหนดเป้าหมายให้มูลค่าของธุรกิจภาคบริการเพิ่มจากร้อยละ 43 ของ GDP ในปี 2554 เป็นร้อยละ 47 ของ GDP ในปี 2558 ทั้งนี้ GDP ของธุรกิจภาคบริการจะครองสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม นอกจากนี้ แผนดังกล่าว ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจภาคบริการในเขตเมืองใหญ่อีกด้วย

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ในปี 2556 รัฐบาลจีนจะดำเนิน 3 มาตรการดังต่อไปนี้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาของธุรกิจภาคบริการ

1. ให้ความสำคัญและนำร่องการพัฒนาธุรกิจบริการเชิงการผลิต

2. ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจภาคบริการในชีวิตประจำวัน และส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจบริการจัดหาพยาบาลและแม่บ้าน ธุรกิจบริการผู้สูงอายุ เป็นต้น

3.ให้ความสำคัญต่อธุรกิจภาคบริการในเขตชนบทเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในเขตชนบทให้ดีขึ้น

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน