การสิ้นสุดยุคฐานการผลิตราคาถูก ธุรกิจน้ำตาลในจีนเอาตัวรอดอย่างไร

24 Dec 2020

ไฮไลท์

  • ภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ภาคธุรกิจน้ำตาลเริ่มกลับมามีกำไรจากการประกอบธุรกิจ หลังเผชิญปัญหาขาดทุนจากต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นและการทะลักเข้าของน้ำตาลราคาถูกจากต่างประเทศ
  • ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้เร่งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของกว่างซีพัฒนาขึ้นอย่างยั่งยืน อาทิ การปฏิรูปกลไกการกำหนดราคารับซื้ออ้อย การส่งเสริมการทำธุรกิจแบบ contract farming การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและชีวภาพในการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์อ้อย
  • ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) รัฐบาลกว่างซีได้ออกแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลเพื่อพัฒนาระบบนิเวศใหม่และยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานการผลิต การปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตเชิงคุณภาพ

 

ขมน้ำตาล หวานบอระเพ็ดวลีสั้น ๆ ที่อธิบายได้ถึงสถานการณ์ความพลิกผันของอุตสาหกรรมการผลิตอ้อยและน้ำตาลในกว่างซี(และจีน)ตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี เมื่อต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและแรงกดดันจากการทะลักเข้าของน้ำตาลราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลในกว่างซี(และจีน)สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน

ในภาพรวม ตลอดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (ปี 2559-2563) อุตสาหกรรมน้ำตาลกว่างซีมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ทั้งเรื่องกำลังการผลิตที่ทำได้มากกว่าปีละ 6 ล้านตัน (ปลายแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 อยู่ที่ 5.1 ล้านตัน) การที่ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณมากกว่า 17,000 ล้านหยวน เพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อยพันธุ์ดีที่ให้ปริมาณผลผลิตสูง และการส่งเสริมการใช้อุปกรณ์เครื่องจักรทางการเกษตรเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ อัตราการกระจุกตัวของภาคอุตสาหกรรม (industrial concentration) และอัตราการใช้กำลังผลิต (capacity utilization) ยังได้เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำตาลด้วยวิธีการควบรวมกิจการให้เป็นเครือบริษัท (ปัจจุบัน มีกลุ่มบริษัท 10 ราย จากเดิม 17 ราย ในปี 2558) และการพัฒนาสายธุรกิจและผลิตภัณฑ์น้ำตาลให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น (เกือบ 20 ชนิด)

สถานการณ์ธุรกิจน้ำตาลในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สำหรับฤดูหีบอ้อย 2563/2564 ที่ได้เปิดหีบอ้อยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน มีโรงงานน้ำตาลที่ได้เปิดหีบอ้อยแล้ว 73 แห่ง ช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้เร่งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของกว่างซีพัฒนาขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการ…

(1) ปฏิรูประบบการซื้อขายวัตถุดิบ โดยได้ยกเลิกกลไกการกำหนดราคารับซื้ออ้อย (เดิมที รัฐเป็นผู้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานของราคารับซื้ออ้อยแต่ละเกรด เพื่อสร้างหลักประกันด้านราคาให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย) และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น

(2) ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจแบบเกษตรพันธสัญญา หรือ contract farming ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาล และได้ออกข้อกำหนดว่าด้วยการบริหารจัดการ contract farming สำหรับอ้อยที่ใช้ผลิตน้ำตาลในกว่างซี ซึ่งได้ระบุการปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบตามสัญญาของคู่สัญญาไว้อย่างชัดเจน (จากเดิมที่ใช้วิธีการจัดสรรเขตพื้นที่อ้อยให้แต่ละโรงงานและมักเกิดปัญหาการแย่งพื้นที่อ้อยของโรงงานและชาวไร่อ้อยลักลอบนำอ้อยไปขายให้โรงงานอื่น)

(3) นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้บริหารจัดการและติดตามตรวจสอบสัญญาคำสั่งซื้อได้อย่างแม่นยำ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดและราคาสินค้า จัดตั้งกลไกการทำงานระดับท้องที่ตามลำดับขั้น (อำเภอ-ตำบล-หมู่บ้าน) เพื่อช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในสัญญา

(4) ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและชีวภาพเพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์อ้อยที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อโรค และให้ผลผลิตน้ำตาลสูง พร้อมสร้างแรงจูงใจด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยสายพันธุ์ใหม่ประมาณไร่ละ 840 หยวน โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลรับผิดชอบฝ่ายละครึ่ง รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายเงินอุดหนุนและอ้อยสายพันธุ์ใหม่ให้กับเกษตรกรได้ทราบโดยทั่วถึง

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้เห็นชอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) เพื่อพัฒนาระบบนิเวศใหม่ (business ecosystem) ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน และขับเคลื่อนการพัฒนาของอุตสาหกรรมน้ำตาลกว่างซีจากปริมาณมุ่งสู่คุณภาพใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานการผลิต การปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตเชิงคุณภาพ

สาระสำคัญของแผนพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลกว่างซี อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างอุปทานส่วนเกิน (supply-side structural reform) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนห่วงโซ่อุตสาหกรรมสู่ระบบอัจฉริยะ การพัฒนาแบรนด์และสินค้า การส่งเสริมความร่วมมือที่เปิดกว้างสู่ภายนอก การประสานกลไกภาครัฐกับกลไกตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนการพัฒนาและความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมในห่วงโซ่การผลิต โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2568 รายได้ผลประกอบการของอุตสาหกรรมน้ำตาลจะมีมูลค่าทะลุ 1 แสนล้านหยวน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีน ได้มีการกำหนดโควต้าน้ำตาลนำเข้าไว้ปีละราว 1.94 ล้านตัน โดยน้ำตาลในโควต้าจะเสียภาษีในอัตรา 15% และน้ำตาลนอกโควต้าต้องเสียในอัตรา 50% ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การที่ราคาน้ำตาลในตลาดต่างประเทศมีราคาต่ำ แม้ว่าน้ำตาลนอกโควต้าต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงก็ตาม แต่การนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศก็ยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าราคาน้ำตาลที่ผลิตในประเทศอยู่มากพอสมควร จึงเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมานำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนได้พิจารณาและประกาศบริษัทที่ได้ยื่นขอโควต้าการนำเข้าน้ำตาลในปี 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในปีหน้า ได้กำหนดโควต้าน้ำตาลนำเข้าไว้ปีละราว 1.945 ล้านตัน เป็นโควต้าสำหรับรัฐวิสาหกิจ 70% และโควต้าสำหรับบริษัทเอกชน 30% สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ประกาศกระทรวงพาณิชย์จีนที่ 44/2563 (ภาษาจีน)

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์
www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 20, 21 ธันวาคม 2563
       เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com  (中新社广西) วันที่ 20 ธันวาคม 2563

 

โครงสร้างอุปทานส่วนเกินโควต้าน้ำตาลน้ำตาลอ้อยsupply-side structural reform

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน