ส้มว่อกานกว่างซี “โกอินเตอร์” ไปไกลถึงแคนาดา

10 Apr 2020

ไฮไลท์

  • ส้มว่อกาน (Wogan Orange/沃柑) ผลไม้ที่ได้รับการขนานนามเป็น “ราชานีแห่งส้ม” เป็นผลไม้ชนิดแรกที่เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการส่งออกไปต่างประเทศด้วยแบรนด์และผู้ส่งออกท้องถิ่นของนครหนานหนิงที่กำลังโกอินเตอร์ไปยังประเทศแคนาดา
  • ศุลกากรยงโจวเป็น key success factor ของการส่งออกส้มว่อกานในครั้งนี้ โดยทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับไร่ส้ม ทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางและข้อปฏิบัติ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการส่งออก
  • “ส้มว่อกาน” ถือเป็นก้าวแรกของธุรกิจผลไม้ท้องถิ่นของนครหนานหนิงที่โกอินเตอร์ไปต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานคุณภาพผลไม้ของกว่างซี และโอกาสทางการค้าสำหรับภาคธุรกิจนำเข้าของไทยสำหรับการค้าแบบสองทาง เนื่องจากปัจจุบัน การส่งออกผลไม้ไทยมายังประเทศจีนด้วยการขนส่งทางบกผ่านเส้นทาง R9 และ R12 นั้นส่วนใหญ่จะเป็นการตีรถเปล่ากลับประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นทุนเสียเปล่า หากมีสินค้าขากลับจะช่วยส่งเสริมให้การค้าระหว่างสองประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ส้มว่อกาน (Wogan Orange/沃柑) ผลไม้ที่ได้รับการขนานนามเป็น “ราชินีแห่งส้ม” เป็นผลไม้ชนิดแรกที่เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการส่งออกไปต่างประเทศด้วยแบรนด์และผู้ส่งออกท้องถิ่นของนครหนานหนิง เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 ส้มว่อกานน้ำหนัก 20 ตัน มูลค่า 40,700 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ผ่านการตรวจกักกันโรคจากศุลกากรยงโจว (ศุลกากรประจำนครหนานหนิง) เพื่อมุ่งหน้าไปยังแคนาดา

ส้มล็อตนี้มาจากไร่ Ming Ming GuoYuan Group (鸣鸣果园) ในเขตอู่หมิงของนครหนานหนิง และผ่านการคัดบรรจุโดยบริษัท Guangxi Dongming Agricultural Development Co., Ltd.(广西东鸣现代农业发展有限公司)

ศุลกากรยงโจวเป็น key success factor ของการค้าและการส่งออกส้มว่อานในครั้งนี้ โดยทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับไร่ส้ม ทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางและข้อปฏิบัติในด้านการส่งออก เพื่อให้มั่นใจว่าระบบตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นไปตามมาตรฐาน เช่น

  • แนะนำให้บริษัทเข้าร่วมแพลตฟอร์มการจำหน่ายที่พัฒนาขึ้นโดยสมาคมควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (China Entry & Exit Inspection and Quarantine Association) เพื่อขยายช่องทางการตลาดในประเทศ
  • ประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายการส่งออกผลไม้และข้อกำหนดด้านการตรวจสอบและกักกันโรคในต่างประเทศที่เป็นปัจจุบัน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการตรวจกักกันโรคเพื่อยกระดับศักยภาพการตรวจสอบและควบคุมโรคด้วยตนเอง
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเตรียมเอกสารประกอบการส่งออกให้ครบถ้วน และให้บริการนัดหมายศุลกากรล่วงหน้าสำหรับ “สินค้าเกษตรสด” โดยใช้รูปแบบยื่นสำแดงปุ๊บตรวจปล่อยปั๊บ ซึ่งช่วยลดเวลาการผ่านพิธีการศุลกากรให้เร็วมากขึ้น

รู้หรือไม่… ประเทศจีนมีพื้นที่ปลูก “ส้มว่อกาน” ราว 833,333 ไร่ โดยเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและมณฑลยูนนานเป็นแหล่งปลูกส้มว่อกานแหล่งใหญ่ของประเทศ มีพื้นที่ปลูกรวมกันถึง 90% ของทั้งประเทศ คาดว่าในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 อัตราการติดผลของส้มว่อกานจะมีสูงถึง 85% (ต้นส้มใหม่ที่ติดผลเป็นครั้งแรกจะมีอัตราการติดผลสูง) และผลผลิตส้มว่อกานทั้งประเทศจะมีประมาณ 4.25 ล้านตัน

สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง มีพื้นที่การปลูกส้มว่อกานราว 5.25 แสนไร่ คิดเป็น 63% ของประเทศ (มณฑลยูนนานมีพื้นที่ 2.25 แสนไร่ คิดเป็น 27%) แหล่งผลิตส้มว่อกานที่มีชื่อเสียงของมณฑลอยู่ในเขตอู่หมิงของนครหนานหนิง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกส้มเกือบ 1.66 แสนไร่ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ หมายความว่า ส้มว่อกาน 5 ผลในจีน มี 1 ผลมาจากเขตอู่หมิง

นอกจากนี้ “ส้มว่อกานอู่หมิง” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indications – GI) เมื่อเดือนธันวาคม 2562

“ส้มว่อกาน” ถือเป็นก้าวแรกของธุรกิจผลไม้ท้องถิ่นของนครหนานหนิงที่โกอินเตอร์ไปต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานคุณภาพผลไม้ของกว่างซี และโอกาสทางการค้าสำหรับภาคธุรกิจนำเข้าของไทยสำหรับการค้าแบบสองทาง เนื่องจากปัจจุบัน การส่งออกผลไม้ไทยมายังประเทศจีนด้วยการขนส่งทางบกผ่านเส้นทาง R9 และ R12 นั้นส่วนใหญ่จะเป็นการตีรถเปล่ากลับประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นทุนเสียเปล่า หากมีสินค้าขากลับจะช่วยส่งเสริมให้การค้าระหว่างสองประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 6 มีนาคม 2563
เว็บไซต์ www.gxmmgy.com/ (鸣鸣果园集团) ประจำวันที่ 5 มีนาคม 2563
รูปประกอบ www.freepix.com

Geographical IndicationsMing Ming GuoYuan Groupสินค้าเกษตรสดส้มว่อกานGIR12R9

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน