ขนสินค้า “ขึ้นรถไฟ-ลงเรือ” แบบไร้รอยต่อที่ท่าเรือชินโจวของกว่างซี

19 Mar 2019

ไฮไลท์

  • ท่าเรือชินโจว (Qinzhou Port) ในอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซีมีบทบาทสำคัญในฐานะ Hub เชื่อมระบบงานขนส่งทางเรือกับรถไฟ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองของภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในจีนและต่างประเทศ
  • เมืองชินโจวเริ่มโครงการก่อสร้าง “ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์” สถานีรถไฟท่าเรือชินโจวตะวันออก เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ ILSTC ที่คาดว่าธุรกิจในภาคตะวันตกของจีนจะใช้ท่าเรือแห่งนี้ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • โครงการเฟสแรกคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในเดือนมิถุนายนปีนี้ ช่วยให้การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออกที่ท่าเรือชินโจวระหว่าง “เรือกับรถไฟ” เป็นการขนส่งแบบไร้รอยต่อ นั่นหมายความว่า สามารถขนย้ายตู้สินค้าจากเรือขึ้นรถไฟเพื่อส่งไปยังพื้นที่ตอนในของจีน พร้อมขนย้ายตู้สินค้าจากพื้นที่ตอนในของจีนจากทางรถไฟเพื่อขึ้นเรือที่ท่าเรือชินโจวได้โดยตรง

 

โค้งสุดท้ายของโครงการก่อสร้าง “ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์” สถานีรถไฟท่าเรือชินโจวตะวันออกเพื่อรองรับ “เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) ซึ่งคาดว่าพื้นที่เขตปฏิบัติการของศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เฟสแรกจะพร้อมใช้งานภายในเดือนมีนาคม 2562

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์” มีดังนี้

ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์” เป็น Key Project ในสถานีรถไฟท่าเรือชินโจวตะวันออกที่รัฐบาลเมืองชินโจวสร้างขึ้นเพื่อรองรับปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ระหว่าง “เรือ+รถไฟ” ตามกรอบยุทธศาสตร์ “เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกและทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ปีละ 3 ล้าน TEUs เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ “ท่าเรือชินโจว” บรรลุเป้าหมายการเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า 10 ล้าน TEUs ได้

สำหรับโครงการเฟสแรก ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วน คือ (1) เขตปฏิบัติการสถานีตะวันออก ที่จะใช้รองรับงานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟในประเทศเป็นหลัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการปูรางรถไฟ คาดว่าจะพร้อมใช้งานได้ในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และ (2) เขตปฏิบัติการท่าเรือ ที่จะใช้รองรับงานขนถ่ายตู้สินค้าเชื่อมระหว่างเรือกับรถไฟเป็นหลัก โดยเริ่มการก่อสร้างไปเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา และคาดหมายว่าโครงการทั้งหมดจะก่อสร้างเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2562

ตามรายงาน โครงการเฟสแรกได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 9 แสน TEUs ประกอบด้วยรางขนส่งตู้สินค้าความยาว 800 เมตร จำนวน 2 ราง รางเบี่ยงความยาว 850 เมตร จำนวน 1 ราง และลานตู้สินค้าเนื้อที่ 6.4 หมื่นตารางเมตร และในอนาคต จะก่อสร้างรางขนส่ง 800 เมตรเพิ่มอีก 1 ราง และรางขนถ่ายตู้สินค้า 400 เมตรเพิ่มอีก 4 ราง

เข้าใจง่ายๆ คือ ในเดือนมิถุนายน 2562 การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออกที่ท่าเรือชินโจวระหว่าง “เรือกับรถไฟ” จะเป็นการขนส่งแบบไร้รอยต่อ โดยสามารถขนย้ายตู้สินค้าจากเรือขึ้นรถไฟเพื่อส่งไปยังพื้นที่ตอนในของจีน พร้อมขนย้ายตู้สินค้าจากพื้นที่ตอนในของจีนจากทางรถไฟเพื่อขึ้นเรือที่ท่าเรือชินโจวได้โดยตรง

จึงกล่าวได้ว่า ท่าเรือชินโจว” เป็นตัวเลือกการขนส่งสินค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ค้าไทยในการส่งออกสินค้าไปยังจีน โดยเฉพาะพื้นที่จีนตอนใน (ภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่าง) เนื่องจากท่าเรือแห่งนี้มีข้อได้เปรียบด้านระยะทางที่ใกล้กับไทย มีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำ มีความสะดวกรวดเร็ว และมีความคล่องตัวในการขนส่งสูงเมื่อเทียบกับท่าเรือใหญ่แห่งอื่น ๆ ที่มีความแออัด ทำให้มีต้นทุนค่าเสียเวลา

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 14 มีนาคม 2562
       เว็บไซต์ www.bbg-psa.com (北部湾港集团)
       เว็บไซต์ www.bbw.gov.cn (广西北部湾经济区规划建设管理办公室)
รูปประกอบ www. pixabay.com

 

ILSTCNew International Land-Sea Trade Corridorเส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่Ÿ ท่าเรือชินโจวศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สถานีรถไฟท่าเรือชินโจวตะวันออก

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน