อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของหนานชางเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพิ่มขึ้น 44 เท่า

23 Aug 2022

นครหนานชาง มณฑลเจียงซี เป็นหนึ่งในเมืองที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน โดยรัฐบาลจีนอนุมัติให้นครหนานชางเป็นหนึ่งใน 22 เขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแบบครบวงจร ตั้งแต่ปี 2561 และรัฐบาลเจียงซีได้จัดตั้งฐานอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแห่งแรกของมณฑลที่นครหนานชางเมื่อปี 2564 โดยได้ดึงดูดวิสาหกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนกว่า 30 แห่ง มาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ เช่น บริษัท Kangye International จำกัด และบริษัท Topeasychina จำกัด ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 การค้าผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของหนานชางเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ารวม 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้ารวม 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 44 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ นครหนานชางได้เร่งดำเนินการตามแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในปี 2565 โดยมีความคืบหน้าสำคัญ ได้แก่

(1) การบูรณาการรูปแบบการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน + รถไฟจีน-ยุโรป + คลังสินค้าในต่างประเทศ” โดยส่งเสริมการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างนครหนานชาง-กรุงมอสโก ในการขนส่งสินค้าชิ้นส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 เขตปลอดภาษีหนานชางได้ขยายสาขาคลังสินค้าในต่างประเทศเพิ่มรวม 18 แห่ง รวมมีคลังสินค้าทั้งหมด 39 แห่งในทวีปเอเชีย โอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

(2) การขยายการเปิดด่านนำเข้าสินค้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติหนานชาง เพื่อรองรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสู่ตลาดมณฑลเจียงซีมากยิ่งขึ้น อาทิ การเปิดด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (ได้รับการอนุมัติ  เมื่อเดือน พ.ค. 2565) และด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง (ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือน พ.ค. 2565) ทำให้นครหนานชางมีช่องทางการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง เช่น แซลมอนและทูน่าจากต่างประเทศโดยตรง

(3) การบ่มเพาะวิสาหกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่มีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 100 ล้านหยวน อาทิ บริษัท Jiangxi Realtime Electronic Commerce จำกัด วิสาหกิจด้านอีคอมเมิรซ์ข้ามพรมแดนชั้นนำของจีน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทมีรายได้ส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน 7.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(4) การพัฒนาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเสี่ยวหลานในนครหนานชาง โดยเร่งการก่อสร้างท่าเรือบกนานาชาติเซียงถังเพื่อรองรับการขยายการขนส่งสินค้าผ่านทางรางและทางน้ำมากยิ่งขึ้น โดยท่าเรือบกนานาชาติเซียงถังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างศูนย์โลจิสติกส์แห่งชาติในช่วงการดำเนินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2021 -2025) ฉบับที่ 14 ของจีน

โดยสรุป นครหนานชางเร่งส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน โดยการพัฒนาระบบการบริหารจัดการคลังสินค้าในต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสูง การเชื่อมโยงระบบโลจิสติสก์ระหว่างประเทศ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากรถไฟบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศ เช่น รถไฟจีน-ลาว ซึ่งช่วยเพิ่มช่องทางขนส่งสินค้าส่งออกจากเจียงซีไปยังอาเซียนมากยิ่งขึ้น อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า และวัตถุดิบทางการเกษตร อาทิ เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย โดยใช้ระยะเวลาการขนส่งจากหนานชางไปยังเวียงจันทน์ประมาณ 5 วัน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเร่งศึกษาการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเพื่อขยายช่องทางการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดมณฑลตอนในอย่างเจียงซีมากยิ่งขึ้นได้

แหล่งอ้างอิง http://jx.people.com.cn/n2/2022/0727/c186330-40055235.html

http://swt.jiangxi.gov.cn/art/2022/7/8/art_30292_4023603.html

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน