รัฐบาลกลางยก “ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” เป็นดาวรุ่งดวงใหม่สำหรับการค้าต่างประเทศ

29 Aug 2019

ไฮไลท์

  • แผนแม่บท “เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” หรือ ILSTC ซึ่งระบุว่าจะพัฒนาให้ท่าเรือรอบอ่าวเป้ยปู้เป็น “ท่าเรือสากล” พร้อมบูรณาการร่วมกับท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์หยางผู่ของมณฑลไห่หนาน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการถึงปี 2578
  • เส้นทาง ILSTC มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประสานแนวร่วมภาคีระดับภูมิภาคระหว่างจีนตะวันตกกับอาเซียน ผ่านโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) โดยมีเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ
  • กว่างซีกำลังเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถของท่าเรือที่ตั้งอยู่รอบอ่าวเป่ยปู้ โดยเฉพาะการสร้างท่าเทียบเรือและการขุดร่องน้ำเดินเรือเพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณสินค้าผ่านเข้า-ออกท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 

รัฐบาลกลางได้กำหนดให้ “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นผู้เล่นสำคัญในแผนแม่บท “เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (New International Land-Sea Trade Corridor- ILSTC)

คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หรือ NDRC (国家发改委) ได้ประกาศแผนแม่บท “เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” ซึ่งระบุว่าจะพัฒนาให้ท่าเรือรอบอ่าวเป้ยปู้เป็น “ท่าเรือสากล” พร้อมบูรณาการร่วมกับท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์หยางผู่ของมณฑลไห่หนาน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการถึงปี 2578

เส้นทาง ILSTC เป็นเส้นทางการค้าใหม่ทางภาคตะวันตกของจีนที่สามารถเชื่อมเส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (Maritime Silk Road of the 21st Century) และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Economic Belt (YREB) เข้าไว้ด้วยกัน จึงมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประสานแนวร่วมภาคีระดับภูมิภาค (regional coordinated development)

แผนแม่บทดังกล่าวมุ่งพัฒนาเส้นทางออกสู่ทะเลที่อ่าวเป่ยปู้ของภูมิภาคตะวันตกใน 3 เส้นทางหลัก ได้แก่

(1) นครฉงชิ่ง-นครกุ้ยหยาง-นครหนานหนิง-ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้

(2) นครฉงชิ่ง-เมืองหวายฮว่า(มณฑลหูหนาน)-เมืองหลิ่วโจว-ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้

(3) นครเฉิงตู-เมืองหลูโจว(เมืองอี๋ปิน)-เมืองไป่เซ่อ-ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้

เป้าหมายการดำเนินงาน มีดังนี้

  • ปี 2563 การบูรณาการเชิงทรัพยากรระหว่างท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กับท่าเรือหยางผู่ของมณฑลไห่หนานเริ่มเป็นรูปธรรม การพัฒนาและเชื่อมระบบงานขนส่งร่วม “ราง+เรือ” และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแบบไร้รอยต่อที่สามารถใช้งานได้
  • ปี 2568 ท่าเรือน้ำลึกอ่าวเป่ยปู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ท่าเรือสากลอ่าวเป่ยปู้และท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์หยางผู่ของมณฑลไห่หนานมีบทบาทความสำคัญที่ชัดเจน และพัฒนาประสานแนวร่วมภาคีกับท่าเรือจ้านเจียงของมณฑลกวางตุ้ง
  • ปี 2578 เส้นทาง ILSTC เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แบบ

ทั้งสองมณฑลได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อยกระดับขีดความสามารถของท่าเรือที่ตั้งอยู่รอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ท่าเรือเป๋ยไห่ของกว่างซี และท่าเรือหยางผู่ของมณฑลไห่หนาน) ในทางกายภาพ อาทิ

  • ท่าเทียบเรือ
    (1) ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Port ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งน้ำมันขนาด 3 แสนตัน และท่าเทียบเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 2 แสนตันที่ท่าเรือชินโจว
    (2) ท่าเทียบเรือฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของท่าเรือเที่ยซานของเมืองเป๋ยไห่
    (3) การศึกษาความเป็นได้ไปในการสร้างท่าเรือขนาด 3 แสนตันที่ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และ
    (4) การปรับปรุงท่าเทียบเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือหยางผู่ของไห่หนาน
  • ร่องน้ำเดินเรือ
    (1) การขุดลอกร่องน้ำเดินเรือสำหรับเรือที่จะเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือหยางผู่ของไห่หนาน
    (2) การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาร่องน้ำเดินเรือขนาด 2 แสนตันและการขยายร่องน้ำเดินเรือฝั่งตะวันออกของท่าเรือชินโจว
    (3) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาร่องน้ำเดินเรือขนาด 3 แสนตันของท่าเรือฝางเฉิงก่าง (4) เร่งก่อสร้างร่องน้ำเดินเรือขนาด 3 แสนตันสำหรับเรือที่จะเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือจ้านเจียง (5) พัฒนาระบบงานขนส่งที่เกี่ยวข้องให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

บีไอซีขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา เส้นทาง ILSTC ได้รับการจับตามองจากทุกวงการ โดยเป็นเส้นทางที่มีจุดเริ่มต้นจากนครฉงชิ่งไปยังประเทศสิงคโปร์ และมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซีเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ และมีการขยายผลไปสู่มณฑลทางภาคตะวันตกกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น จนรัฐบาลจีนได้ยกฐานะความสำคัญให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเปิดสู่ภายนอกและเป็นกลไกเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนภาคตะวันตกกับอาเซียน ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทาง ILSTC ซึ่งมีโครงข่ายส่วนใหญ่ในจีนที่สมบูรณ์แล้วเพื่อขนส่งสินค้าไทยเจาะตลาดจีน (ตอนใน) ได้เช่นกัน

 

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) วันที่ 16 สิงหาคม 2562
       เว็บไซต์ www.bbw.gov.cn (广西北部湾经济区规划建设管理办公室网站) วันที่ 15 สิงหาคม 2562
รูปประกอบ www.pixabay.com และ www.bbw.gov.cn

Maritime Silk Road of the 21st Centuryregional coordinated developmentSilk Road Economic BeltYangtze River Economic Belt (YREB)ILSTCNew International Land-Sea Trade Corridorเส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน