มณฑลกวางตุ้ง ผู้นำการพัฒนา “พลังงานไฮโดรเจน” ของจีน
18 Oct 2023ในฐานะที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก “ความมั่นคงทางพลังงาน” จึงกลายเป็นเป้าหมายที่จีนต้องการจะบรรลุ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และ “พลังงานไฮโดรเจน”
พลังงานไฮโดนเจนเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่จีนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อปี 2565 รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน” (พ.ศ. 2564 – 2578) ซึ่งเป็นแผนด้านพลังงานไฮโดรเจนระดับชาติฉบับแรกของจีน โดยตั้งเป้าให้มีการใช้ยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนอย่างน้อย 50,000 คัน และสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียว[1] (green hydrogen) ให้ได้ปีละ 100,000 ถึง 200,000 ตันภายในปี 2568 รวมทั้งตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตพลังงานไฮโดรเจน ทั้งนี้ เพื่อบรรลุ “เป้าหมายคาร์บอนคู่” ที่จีนขีดเส้นเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด (carbon emission peak) ในปี ค.ศ. 2030 และบรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (carbon neutral) ในปี ค.ศ. 2060
“เขตหนานไห่” ผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนของจีน
การประชุมเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนโลกประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประกาศมอบรางวัล “เมืองหลวงอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนของจีน” (Hydrogen Energy Industry Capital of China) ให้แก่ “เขตหนานไห่” เมืองฝอซาน ที่ผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮโดรเจนอย่างแข็งขันตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี โดยปัจจุบัน เขตหนานไห่เป็นที่ตั้งของบริษัทและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฮโดรเจนกว่า 150 แห่ง และยังมีสถานีเติมไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ที่เปิดให้บริการ 14 สถานี จำนวนมากที่สุดของจีน ขณะเดียวกันยังมียานยนต์พลังงานไฮโดนเจนประเภทต่าง ๆ มากที่สุดในจีน เช่น รถโดยสารประจำทางรถโดยสาร รถทำความสะอาด เป็นต้น จึงนับว่าเขตหนานไห่เป็นพื้นที่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน
ในปี 2566 เขตหนานไห่มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนสำคัญ 2 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 10,000 ล้านหยวน โดยเป็นโครงการผลิตไฮโดรเจนสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการขนส่ง การแพทย์ ชุมชน ไฟฟ้า และสาขาอื่นๆ โดยภายในปี 2566 เขตไห่หนานมีแผนที่จะสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 14 แห่ง และภายในปี 2568 มูลค่าผลผลิตรวมสะสมของอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนจะสูงถึง 30,000 ล้านหยวน โดยโครงการสำคัญ คือ โครงการสถานีผลิตและเติมไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพขนาดใหญ่แห่งแรกของจีนโดยบริษัท Grandblue Environment ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซไฮโดรเจนได้ 2,200 ตันต่อปี
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ในช่วงที่ผ่านมา ผู้อ่านอาจคุ้นหูเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนกับการขับเคลื่อนยานยนต์ประเภทต่าง ๆล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม บริษัท China Southern Power Grid เปิดดำเนินการโครงการสถานีพลังงานไฮโดรเจนอัจฉริยะหนานซา (Nansha Smart Hydrogen Station) ที่เขตหนานซา นครกว่างโจว มุ่งเน้นการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำ(electrolysis) และผลิตกระแสไฟฟ้าจากไฮโดนเจนแข็ง ซึ่งทั้งกระบวนผลิตไฮโดนเจน บีบอัดไฮโดรเจน ผลิตกระแสไฟฟ้าจากไฮโดรเจนแข็ง และคลังเก็บไฮโดนเจน ถูกรวมไว้ในสถานีดังกล่าว ทั้งนี้ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากไฮโดรเจนแข็งได้เชื่อมเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าด้วยแล้ว นับเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากไฮโดรเจนแข็งแห่งแรกของจีนอีกด้วย
ในเดือนเดียวกัน จีนยังได้เปิดตัวเรือพลังงานไฮโดรเจนกำลัง 500 กิโลวัตต์ลำแรก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่เมืองจงซาน มณฑลกวางตุ้งอีกด้วย โดยเรือดังกล่าวทำความเร็วได้สูงสุด 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางสูงสุด 200 กิโลเมตร สามารถใช้ในการขนส่ง ลาดตระเวน และปฏิบัติการฉุกเฉิน เป็นต้น
ความร่วมมือกับนานาชาติ
ในช่วงที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งไม่เพียงแต่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนความร่วมมือด้านการลงทุนกับต่างประเทศในอุตสาหกรรมดังกล่าวอีกด้วย เช่น
บริษัท Hyundai Motor Group ที่มีสำนักงานใหญ่ที่เกาหลีใต้ ลงทุนเปิดฐานการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในต่างประเทศเป็นแห่งแรกที่นครกว่างโจว รวมทั้งลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมณฑลกวางตุ้งและนครกว่างโจว ในการจัดหายานยนต์พลังงานไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ 1,500 คันให้กับรัฐวิสาหกิจของมณฑลภายในปี 2567 โดยโรงงานมีกำลังการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 6,500 ชุดต่อปี
บริษัท Saudi Aramco ที่มีสำนักงานใหญ่ที่ซาอุดีอาระเบียลงนามความร่วมมือกับมณฑลกวางตุ้ง โดยเสนอกรอบความร่วมมือในการสำรวจโอกาสการลงทุนด้านต่าง ๆ โดยบริษัทฯ เผยถึงความพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือด้านปิโตรเคมี พลังงานไฮโดรเจน แอมโมเนีย และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ทันสมัยและยั่งยืนของมณฑลกวางตุ้ง
บริษัท Cummins ที่มีสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ลงนามโครงการความร่วมมือกับบริษัท China Petrochemical (Sinopec) เปิดฐานการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้กำลังไฟฟ้าเพื่อแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน (proton exchange membrane electrolyzers) ที่เมืองฝอซาน โดยเปิดบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท Cummins Enze (Guangdong) Hydrogen Technology จำกัด
พลังงานไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่มณฑลกวางตุ้งผลักดันอย่างขันแข็ง พร้อมกับ ๆ กับพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ได้แก่ ลม และ แสงอาทิตย์ ภายใต้เป้าหมาย “คาร์บอนคู่” ของจีน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ (United Nations) และ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ของไทย ดังนั้น มณฑลกวางตุ้งจะเป็นพันธมิตรสำคัญของไทยที่จะมีความร่วมมือแลกเปลี่ยนระหว่างกันในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศต่อไปในอนาคต
——————————–
พรีรษา โฆษิตวิชญ เขียน
สรศักดิ์ บุญรอด เรียบเรียง
18 ตุลาคม 2566
แหล่งที่มาข้อมูล
http://paper.ce.cn/pad/content/202306/04/content_275159.html
http://nansha.guangdong.chinadaily.com.cn/2023-06/30/c_900560.htm
[1] ก๊าซไฮโดนเจนที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เช่น น้ำ ลม หรือ แสงอาทิตย์