เปิดม่านกว่างซี : อุตสาหกรรม “ควายนม-นมควาย” กว่างซี กับโอกาสต่อยอดธุรกิจของไทย
30 Apr 2024
นางสาวฉิน อวี้ห์อิ๋ง เขียน
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียนและเรียบเรียง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
ในแบบเรียนพยัญชนะไทย “ค.ควายไถ่นา” สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของควายในสังคมเกษตรไทยในฐานะสัตว์เลี้ยงไว้เพื่อทำไร่ไถนา เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในจีนตอนใต้ที่ “ควาย” เป็นสัตว์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตมาอย่างช้านาน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้เรื่องของ “ควาย” เลือนหายจากวิถีการเกษตรในปัจจุบัน และเปลี่ยนบทบาทเป็น “สัตว์ให้นม” แทน
การบริโภค “นมควาย” กับคนจีนดูจะเป็นเรื่องค่อนข้างใกล้ตัว แตกต่างจากสังคมไทยที่ผู้คนบางส่วนยังคงมีทัศนคติที่ผูกติดควายกับ “ความโง่”
อันที่จริงแล้ว นมควายมีรสชาติที่เข้มข้น (เปรียบความอร่อยเหมือนกินไอศกรีมละลาย) สีขาวนวลชวนดื่ม และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านมชนิดอื่นมาก (สูงกว่านมวัวทั่วไปราว 1.85 เท่า)โดยเฉพาะโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุและสารอาหาร (Trace Elements) มีคอเลสเตอรอลต่ำ และมีความปลอดภัยจากสารตกค้าง (ปศุสัตว์อินทรีย์ เน้นหญ้า ฟาง และชานอ้อยเป็นหลัก) ทำให้ผลิตภัณฑ์ “นมควาย” ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดผู้บริโภค
ต้องบอกว่า…. หลายปีมานี้ “นมควาย” เป็นเทรนด์ธุรกิจดาวรุ่งในตลาดเครื่องดื่มของประเทศจีน โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่มชาแนวใหม่และกาแฟที่ใช้ “นมควาย” เป็นกิมมิค (Gimmick) ในเมนูเครื่องดื่มแทนที่นมวัว อย่าง Ah Ma Hand Make (阿嬷手作) แบรนด์ท้องถิ่นกว่างซีที่สร้างชื่อเสียงจากเมนู “นมควาย” และขยายสาขาไปเมืองอื่น จนกลายเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่แบรนด์อื่นต้องทำตาม ไม่ว่าจะเป็น Nayuki (奈雪的茶) / Tims (天好咖啡) / Manner Coffee และ HEYTEA (喜茶)
แบรนด์ HEYTEA เปิดตัวเมนู “ชานมควายไข่มุกบราวน์ชูการ์” หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “สุ่ยหนิวหรู่ซวงพินปัวปัว” (水牛乳双拼波波) ซึ่งใช้นมควายจากฟาร์มในกว่างซี ทำยอดขายได้ 420,000 แก้วใน 3 วันแรก และทะลุ 6.2 ล้านแก้วใน 5 เดือน
รู้หรือไม่… เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลทางตอนใต้ของจีนถือเป็น “เบอร์หนึ่ง” ในอุตสาหกรรมควายนม-นมควายของประเทศจีน โดยปี 2566 มูลค่าการผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรมควายนมของกว่างซีมีมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านหยวน
สถิติอย่างไม่เป็นทางการ ระบุว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงมีจำนวนควาย 2.35 ล้านตัว เป็นควายนม 46,400 ตัว แม่ควาย 31,300 ตัว ผลผลิตน้ำนมควาย 24,800 ตัน ซึ่งมากที่สุดในประเทศจีน ครองสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของทั้งประเทศจีน พื้นที่การเลี้ยงควายนมในกว่างซีหลัก ๆ อยู่ที่นครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่ และเมืองยวี่หลิน
ปัจจุบัน ในกว่างซีมีบริษัทแปรรูปนมควายรายสำคัญมากกว่า 10 ราย ซึ่งถือว่ามีจำนวนผู้ผลิตและแปรรูปนมควายมากที่สุดในจีน อาทิ Royal Group (皇氏集团) Guangxi Baifei (广西百菲) Zhuangniu (壮牛) และ Guiniu (桂牛)
นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นที่ตั้งของ “สถาบันวิจัยกระบือ(กว่างซี)” ในสังกัดสภาเกษตรศาสตร์แห่งชาติจีน หรือ Chinese Academy of Agricultural Sciences (中国农业科学院) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยระดับมณฑลเพียงแห่งเดียวของจีนที่มุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยด้านการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ควาย การขยายพันธุ์ควาย โภชนาการสำหรับควาย การวิจัยพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมควาย
เขตฯ กว่างซีจ้วงมีศักยภาพในการผลิต (Supply Capacity) ควายพันธุ์ได้มากที่สุดในจีน โดย “สถาบันวิจัยกระบือ(กว่างซี)” มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมควายนมของจีน เป็นที่ตั้งของ “ฐานเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ควายพันธุ์ดี” หนึ่งเดียวในจีน (กำลังจะย้ายไปที่อำเภอซั่งซือ เมืองฝางเฉิงก่าง) นอกจากนี้ ยังมี “ศูนย์วิจัยและผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ควาย” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน และ “ฟาร์มเพาะพันธุ์ควาย” (Breeding Stock Farm) ซึ่งกระทรวงเกษตรจีนกำหนดให้เป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ระดับชาติ
เขตฯ กว่างซีจ้วงมีการนำเข้าพ่อพันธุ์ควายสายพันธุ์แม่น้ำ (River Type) หรือที่มักเรียกว่า “ควายแขก” ซึ่งเป็นควายที่เน้นให้ผลผลิตน้ำนม อาทิ ควายนมพันธุ์มูร่าห์อินเดีย (Murrah Buffalo) ควายนมพันธุ์นีลี-ราวีปากีสถาน (Nili- Ravi Buffalo) และควายนมพันธุ์เมดิเตอร์เรเนียนอิตาลี (Mediterranean Buffalo)
ผลงานชิ้นโบว์แดงด้านงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ควายนมของศูนย์วิจัยฯ ได้แก่ การเพาะพันธุ์ “ควายนมลูกผสม” ที่เกิดจากนำควายนมสายพันธุ์นอก (พันธุ์มูร่าห์ พันธุ์นีลี-ราวี) ผสมกับควายพันธุ์พื้นเมือง ทำให้ได้ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยในระยะให้นมมากถึง 2,233.1 กิโลกรัม มากกว่าควายสายพันธุ์เดิมที่ให้น้ำนมได้เฉลี่ยราว 1,900 กิโลกรัม
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยฯ ยังมีผลงานวิจัยระดับชั้นนำของโลก อย่างเทคโนโลยีการผลิตตัวอ่อนควายจากการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย และเทคโนโลยีหลัก (Core Technology) ด้านการแปรรูปนมควายและกำหนดมาตรฐานการแปรรูปนมควาย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 สถาบันวิจัยกระบือ(กว่างซี) ได้เริ่มโครงการก่อสร้าง “ฐานวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ควายความร่วมมือนานาชาติอำเภอซั่งซือ” (广西水牛研究所上思县国际合作水牛繁育研究基地项目) ที่เมืองฝางเฉิงก่าง ซึ่งจะเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ควายแห่งใหม่ที่ย้ายมาจากนครหนาหนิง ใช้เงินลงทุนรวม 350 ล้านหยวน มีเนื้อที่เกือบ 821 ไร่ (1,970.01 หมู่จีน) ประกอบด้วยพื้นที่เลี้ยงควาย พื้นที่การเพาะพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ควาย พื้นที่การวิจัย พื้นที่ผลิตอาหารสัตว์ พื้นที่บำบัดของเสียและมูลสัตว์ เป็นต้น โดยสามารถรองรับควายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ 2,000 ตัว และมีระบบชลประทานและทุ่งหญ้ากว้าง 625 ไร่ (1,500 หมู่จีน)
เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ “ฐานวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ควายความร่วมมือนานาชาติอำเภอซั่งซือ” จะเป็นฐานการวิจัยการเพาะพันธุ์ควายระดับสากลหนึ่งเดียวในจีน และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในแต่ละปีช่วยจัดการเศษซากใบอ้อย(ยอดอ้อย)ในพื้นที่ได้ 16,000 ตัน ให้ผลผลิตน้ำนมควายสดได้ 2,000 ตัน ผลิตตัวอ่อนควายนมพันธุ์ดีได้ 20,000 ตัว ผลิตพ่อแม่พันธุ์ควาย 800 ตัว และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 12,000 ตัน
ในอนาคต ฐานวิจัยดังกล่าวจะมุ่งเน้นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุ์ควายพื้นเมืองกว่างซี และกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการพัฒนาสายพันธุ์กับประเทศอิตาลี ปากีสถาน อินเดีย และบราซิล เพื่อยกระดับอัตราการเจริญพันธุ์ ปริมาณการผลิตน้ำนม ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และความทนทานต่อโรค นอกจากนี้ ยังจะพัฒนาสายพันธุ์ควายนมพันธุ์ดีด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์ และโภชนาการสำหรับควายนม
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระแสการรักสุขภาพและการยกระดับการบริโภคของชาวจีน ทำให้ “นมควาย” ที่มีรสชาติและมีคุณค่าทางโภชนาการเหนือกว่านมโคทั่วไปเป็นที่ต้องการสูง ขณะที่ กำลังการผลิตยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศได้อย่างเต็มที่
บีไอซี เห็นว่า… ทุกวันนี้ สังคมจีน(โลก)เปลี่ยนแปลงไม่หยุด ผู้บริโภคชาวจีนต้องการบริโภคอาหารที่ดี มีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อร่างกาย ตลาดนมควายในจีนจะมีอนาคตสดใส และยังมี “ที่ว่าง” สำหรับผู้เล่นรายใหม่ อีกทั้ง นมควายยังสามารถนำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมควายได้หลากหลาย เช่น โยเกิร์ต ชีส เนย และไอศรีมนมควาย
ปัจจุบัน รัฐบาลก็กำลังพยายามผลักดันให้เกษตรกรไทยหันมาเลี้ยงควายเป็นสัตว์เศรษฐกิจเช่นกัน ดังนั้น หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ/เอกชนไทย สามารถพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการกับฐานวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ควายของกว่างซีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการปรับปรุงสายพันธุ์และการขยายพันธุ์ควายนม (ควายพื้นบ้านของกว่างซีเป็นสายพันธุ์ควายปลักคล้ายกับควายในไทย) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจและห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจรระหว่างกว่างซี(จีน)กับไทยได้ในอนาคต
************************************