GMS เปิดเส้นทางขนส่งข้ามพรมแดน เชื่อม “จีน-เวียดนาม-สปป.ลาว”

8 Jul 2019

ไฮไลท์

  • เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub region – GMS) ได้ร่วมกันเปิดเส้นทางขนส่งข้ามแดน “จีน-เวียดนาม-สปป.ลาว” อย่างเป็นทางการที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประกอบการในการขนส่งสินค้าข้ามแดนในภูมิภาค
  • หนึ่งในเส้นทางที่ได้รับความสนใจ คือ กรุงฮานอย – จังหวัดฮาติงห์ – ด่านจาลอ (เวียดนาม) – (สปป.ลาว) ด่านนาพาว – ด่านท่าแขก (สปป.ลาว) – (ไทย) ด่านนครพนม – กรุงเทพฯ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางหนานหนิง – ด่านโหย่วอี้กวาน (จีน) – ด่าน Huu Nghi (เวียดนาม) – กรุงฮานอย ได้อย่างสมบูรณ์
  • การเปิดเส้นทางดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายคนและสินค้า รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศสมาชิก จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาค และสอดคล้องกับนโยบายด้านโลจิสติกส์ของไทย โดยเฉพาะเส้นทางใหม่ “ฮานอย-กรุงเทพฯ” (จุดข้ามแดนเพิ่มที่นครพนม) ซึ่งสามารถเชื่อมกับเส้นทางนครหนานหนิง(กว่างซี)-กรุงฮานอยได้ จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและสังคม และต่อยอดห่วงโซ่อุปทานตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตลอดเส้นทางได้

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เมื่อไม่นานมานี้ (28 พฤษภาคม 2562) ประเทศสมาชิก GMS ได้ร่วมกันเปิดเส้นทางขนส่งข้ามแดน “จีน-เวียดนาม-สปป.ลาว” อย่างเป็นทางการที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

ภายในงานฯ ฝ่ายจีนได้มอบใบอนุญาตการขนส่งทางถนน และเอกสารนําเข้าชั่วคราว (Temporary Admission Document: TAD) ให้กับผู้ประกอบการด้านขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้รถบรรทุกผู้ประกอบการสามารถวิ่งสัญจรข้ามพรมแดนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว กล่าวคือ รถสินค้าจากนครหนานหนิงมายังประเทศไทยจะใช้เวลาลดลงราว 12 ชั่วโมง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นผลสื่อเนื่องมาจากเมื่อเดือนมีนาคม 2562 คณะกรรมการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งแห่งชาติภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนเพิ่มเติม โดยจะเปิดใช้เส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศจากที่มีอยู่เดิมอีก 11 เส้นทาง

หนึ่งในเส้นทางที่ได้รับความสนใจ คือ กรุงฮานอย – จังหวัดฮาติงห์ – ด่านจาลอ (เวียดนาม) – (สปป.ลาว) ด่านนาพาว – ด่านท่าแขก (สปป.ลาว) – (ไทย) ด่านนครพนม – กรุงเทพฯ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางหนานหนิง – ด่านโหย่วอี้กวาน (จีน) – ด่าน Huu Nghi (เวียดนาม) – กรุงฮานอย ได้อย่างสมบูรณ์

นายเฟ่ย จื้อหรง (Fei Zhirong/费志荣) รองประธานคณะกรรมการอำนวยความสะดวกการขนส่งแห่งชาติจีนและรองประธานเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการผลักดันความก้าวหน้าด้านการขนส่งข้ามแดนของประเทศสมาชิก GMS และเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของ GMS ในการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและการอำนวยความสะดวกทางการค้าในภูมิภาคระหว่างจีน(กว่างซี) เวียดนาม สปป.ลาว และไทย

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง (GMS) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ประกอบด้วย 6 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน (+มณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง)

หนึ่งในสาขาความร่วมมือสำคัญของ GMS เป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Facilitation Agreement: GMS CBTA) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งข้ามแดนและส่งเสริมธุรกิจการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบก โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมมือเป็นสมาชิกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2542

นัยสำคัญต่อประเทศไทย วัตถุประสงค์ของการเปิดเส้นทางดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายคนและสินค้า รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศสมาชิก GMS ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนในระดับภูมิภาค และสอดคล้องกับนโยบายด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยเฉพาะเส้นทางใหม่ “ฮานอย-กรุงเทพฯ” (จุดข้ามแดนเพิ่มที่นครพนม) ที่สามารถเชื่อมกับเส้นทางนครหนานหนิง (กว่างซี)-กรุงฮานอยได้ จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและสังคม และต่อยอดห่วงโซ่อุปทานตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตลอดเส้นทางได้

 

 

จัดทำโดย นางสาววรินทร ผะอบเพ็ชร์ นิสิตฝึกงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://www.gx.xinhuanet.com/ ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2562
รูปประกอบ www.pixabay.com และ  http://interrelatecddthailand.blogspot.com

เอกสารนําเข้าชั่วคราวGMSGMS CBTAGMS Cross-Border Transport Facilitation AgreementGreater Mekong Sub regionTemporary Admission Document: TADการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน