รถไฟขนสินค้าจีน-เวียดนามคึกคัก เพิ่มโอกาสนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
17 Apr 2024
ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนและเวียดนาม ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อเริ่มกลับมา สะท้อนได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณพรมแดนจีน(กว่างซี)กับเวียดนามมีความคึกคักตั้งแต่ต้นปี การนำเข้า-ส่งออกสินค้าในด่านทางถนนและด่านรถไฟมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก China Railway เปิดเผยว่า ไตรมาสแรก ปี 2567 รถไฟจีน-เวียดนามให้บริการขนส่งสินค้ารวม 1,594 TEUs เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำสถิติรายเดือนสูงสุด ปริมาณขนส่งตู้สินค้าเดือนเดียวทะลุ 900 TEUs หรือเฉลี่ยวันละ 29 TEUs (เช่นเดียวกับด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวาน รถบรรทุกสินค้าเข้า-ออกทำสถิติรายวันสูงสุด 1,765 คัน/ครั้ง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 และมีปริมาณรถบรรทุกเข้า-ออกสะสมมากกว่า 1 แสนคัน/ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.75)
ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่งที่ถูก (กว่าทางรถยนต์) ปลอดภัย และค่อนข้างตรงเวลา รถไฟเส้นทางดังกล่าวเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสในการขนส่งข้ามแดน เป็นช่องทางในการขยายตลาดการค้าสินค้าไปยัง “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” รวมถึง 20 มณฑลใกล้ไกลที่มีโครงข่ายเส้นทางรถไฟเชื่อมถึง ไม่ว่าจะเป็นมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจ้อเจียง และนครเซี่ยงไฮ้
ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง (Nanning International Railway Port)
เครดิตภาพ http://news.cnr.cn
ปัจจุบัน รถไฟขนส่งสินค้าจีน-เวียดนามมีบริการเที่ยวประจำทุกอังคาร พฤหัส และเสาร์ของสัปดาห์ รถไฟทำความเร็วได้ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (จากเดิม 60 – 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
รถไฟจีน-เวียดนาม เป็น 1 ในเส้นทางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความสำคัญภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) เป็นเส้นทางการค้าที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจีน-เวียดนาม และประเทศที่สามได้ไม่น้อย
ปัจจุบัน สินค้าที่ใช้ประโยชน์จากรถไฟจีน-เวียดนามมีความหลายหลายกว่า 620 ประเภท กลุ่มสินค้าหลักประกอบด้วย (1) สินค้าเชิงวัตถุดิบ/ผลผลิตทางการเกษตร เช่น เคมีภัณฑ์ สินแร่ ไม้กระดาน วัสดุก่อสร้าง และผลไม้สด (2) สินค้าที่เป็นซัพพลายเชนในอุตสาหกรรม อาทิ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องจักรกล เครื่องยนต์ดีเซล และ (3) สินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CBEC (Cross-border e-Commerce) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม
รถไฟจีน-เวียดนามเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟที่มีประสิทธิภาพสูง โดยฝ่ายจีนมี China Railway Nanning Bureau Group (中国铁路南宁局集团有限公司) เป็นผู้ดำเนินงาน การลำเลียงสินค้าจาก “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” หรือ Nanning International Railway Port (南宁国际铁路港) ผ่านด่านรถไฟผิงเสียง เพื่อมุ่งหน้าไปยังสถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ใช้เวลาราว 16 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่า สินค้าสามารถขนส่งถึงจุดหมายและตรวจปล่อยได้ภายในวันเดียว
เขตฯ กว่างซีจ้วงตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาให้ “นครหนานหนิง”
เป็น “ศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าทางราง” หรือ Transit Hub ที่มุ่งสู่อาเซียน
คุณหยาง ปัว (Yang Bo/杨波) ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายงานโลจิสติกส์ บริษัท Guangxi Bangda Tianyuan International Transport Co.,Ltd. (广西邦达天原国际货运有限公司) ให้ข้อมูลว่า ปีนี้ การค้าระหว่างจีนกับเวียดนามมีความคึกคักเป็นอย่างมาก เที่ยวรถไฟขนส่งสินค้าจีน-เวียดนามค่อนข้างตรงเวลา การบริการรวดเร็ว บริษัทฯ วางแผนว่าปีนี้จะมีสินค้าส่งออกจากท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิงไปยังเวียดนามเฉลี่ยเดือนละ 5 เที่ยวขบวน
ด่านรถไฟผิงเสียง (Pingxiang Railway Port)
เครดิตภาพ chinanews.com.cn
บีไอซี ขอให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับความร่วมมือด้าน “ระบบราง” ระหว่างจีนกับเวียดนาม ตามที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วงกับ 4 จังหวัดชายแดนของเวียดนาม ได้ร่วมประชุมคณะทำงานร่วม (Joint Working Committee) เพื่อส่งเสริมกระชับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างกัน โดยสองฝ่ายมีการหารือเกี่ยวกับการก่อสร้างพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งใน “ระบบราง” ครอบคลุมทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาทิ
การขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศ เวียดนามจะเร่งศึกษาโครงการพัฒนารางรถไฟขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge ความกว้าง 1.435 เมตร) ในเส้นทางกรุงฮานอย – ด่งดัง (จ.ลางเซิน) ซึ่งปัจจุบัน เวียดนามใช้รางกว้าง 1 เมตร ซึ่งจะช่วยให้ขนส่งสินค้าด้วยรถไฟระหว่างประเทศสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเปลี่ยนหัวรถจักร/ขบวนรถที่สถานีด่งดัง (ปัจจุบัน ช่วงเส้นทางจากจีน – สถานีด่งดังเป็นรางผสมแบบราง 1.435 เมตร ขนาบข้างราง 1 เมตร)
นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลเที่ยวขบวนรถไฟและใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ของเส้นทางรถไฟผิงเสียง (เมืองฉงจั่ว) – ด่งดัง (จังหวัดลางเซิน) และร่วมกันจัดเที่ยวขบวนขนส่งสินค้าด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการขนส่งทางรางข้ามแดนระหว่างกัน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการขนส่งทางรถไฟของสองฝ่าย เพื่อเพิ่มกำลังการขนส่งสินค้าระหว่างจีน-เวียดนาม และประเทศที่สามด้วย
การขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ สองฝ่ายจะเตรียมดำเนินการเลือกสถานที่ตั้งในการก่อสร้าง “ด่านรถไฟตงซิง (กว่างซี จีน) – ด่านรถไฟม่องก๋าย (จ.กวางนิงห์ เวียดนาม)” เพื่อกรุยทางสำหรับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-เวียดนามในอนาคต
สถานะปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงฝั่งจีนสามารถวิ่งไปถึงเมืองระดับอำเภอตงซิงแล้ว ขณะที่ฝั่งเวียดนาม เมื่อปลายปี 2566 รัฐบาลกวางนิงห์ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมเวียดนามเพื่อเพิ่มโครงการทางรถไฟที่เชื่อมต่อเมืองไฮฟอง – เมืองฮาลอง – เมืองม่องก๋าย (ขนส่งสินค้าและโดยสาร) เข้าไปในรายชื่อโครงการที่การรถไฟเวียดนามจะดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อเส้นทางรถไฟตงซิง – ม่องก๋าย ได้สร้างขึ้นสำเร็จ จะเป็นเส้นทางรถไฟจีน-เวียดนาม สายที่ 3 ต่อจากเส้นทางรถไฟผิงเสียง (กว่างซี) – ด่งดัง – ฮานอย และเส้นทางรถไฟเหอโข่ว (ยูนนาน) – ลาวก่าย
บีไอซี เห็นว่า ภาคธุรกิจไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างจีน(กว่างซี)กับเวียดนาม โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามแดน (ทางถนน และทางรถไฟ) จะช่วยให้ผู้ค้าสามารถดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับจีนได้อย่างคล่องตัว สะดวก และรวดเร็ว ช่วยตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจไทยสามารถศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-เวียดนาม และ “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” ในการขยายตลาดสินค้านำเข้า-ส่งออกกับประเทศจีน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟจีน-ยุโรป (China-Europe Express Railway) ในการกระจายสินค้าไปยังประเทศในเอเชียกลาง และยุโรปได้ด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 8 เมษายน 2567 / วันที่ 23 และ 30 มีนาคม 2567
สถานีโทรทัศน์ Guangxi TV (广西新闻频道) วันที่ 1 มีนาคม 2567