สำรวจเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน “ท่าเรือบก” ของจีนตะวันตกเฉียงเหนือ

5 Jan 2016

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2558 นายธราพงษ์ จำนงค์ลักษณ์ กงสุลและเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน ศึกษาดูงานเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน (Xi’an International Trade and Logistics Park) โดยมีนายเจี่ย ยวี่หลิน รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการส่งเสริมการลงทุน นางจาง ยวี่ผิง ผู้จัดการโครงการ และนายสี เสี่ยวเฝย ฝ่ายกิจการท่าเรือ เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานให้การต้อนรับ

1. ข้อมูลทั่วไป

1.1 เขตโลจิสติกส์ในประเทศจีน

เขตโลจิสติกส์ หมายถึง เขตพื้นที่สำหรับกิจกรรมเพื่อการขนส่งซึ่งมีกระบวนการในการวางแผน การดำเนินการ และการควบคุมประสิทธิภาพเพื่อประสิทธิผลในการจัดเก็บวัตถุดิบหรือสินค้าคงคลังในกระบวนการขนส่งให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งแนวคิดการจัดตั้งเขตโลจิสติกส์ (Logistic Park) เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1965 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลต้องการเพิ่มบทบาทการดำเนินงานของเขตโลจิสติกส์และลดการกระจายตัวของศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ โดยจัดให้ตั้งรวมกันในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่นสมัยใหม่ โดยการจัดตั้งเขตโลจิสติกส์ (Logistic Park) ในประเทศจีนเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในเดือน ธ.ค. ปี 1998 ที่ นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง (ฐานโลจิสติกส์ผิงหู) ต่อมาในปี 2006 รัฐบาลกลางได้ประกาศมาตรฐานการจัดตั้ง เขตโลจิสติกส์ GB/T18354 (2006年新修订的中华人民共和国国家标准《物流术语(GB/T18354)》) ซึ่งมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 1) การกำหนดขนาดที่ดิน ต้องสอดคล้องกับโครงการก่อสร้าง การบริการและฟังก์ชั่นการใช้งาน 2) สิ่งอํานวยความสะดวก กำหนดให้ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกดังนี้ คลังสินค้า, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านภาษีและศุลกากร, ธนาคาร , หน่วยงานตรวจสอบสินค้า, บริษัทประกันภัย และโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ อาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย ห้องอาหาร 3) การบริการโลจิสติกส์ ครอบคลุมการบริการ โลจิสติกส์ขั้นพื้นฐานและการบริการเฉพาะทางต่างๆ อาทิวงจรการผลิต, การบริหารคลังสินค้า เป็นต้น 4) การดำเนินงาน ต้องมีแผนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะแผนการจัดสรรที่ดิน 5) การลงทุน เขต โลจิสติกส์จำนวนมากของประเทศเริ่มต้นจากการเป็นที่ดินว่างเปล่า ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงสามารถกำหนดรูปแบบรวมถึงการจัดสรรสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนโดยพิจารณาจากข้อบัญญัติกฎหมายของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก

เส้นทางสายไหมทางบกเริ่มต้นจากนครซีอาน มณฑลส่านซี ภาพจาก www.globaltimes.com 

ปัจจุบันมีเขตโลจิสติกส์จำนวนมากในประเทศจีน แต่มีเขตโลจิสติกส์ที่ให้บริการด้านศุลกากรครบวงจรหรือที่เรียกว่า “เขตคลังสินค้าทัณฑ์บน (Comprehensive Bonded Zone)” ทั้งสิ้น 31 แห่งที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนมีไว้สำหรับประกอบการค้าเสรีที่ปลอดจากภาระทางภาษีอากรและเป็นอาณาบริเวณที่กรมศุลกากรอนุมัติให้จัดตั้งขึ้น ในภูมิภาคจีนตะวันตกมีเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนครบวงจรจำนวนทั้งสิ้น 6 แห่ง (มณฑลเสฉวน, นครฉงชิ่ง, เขตปกครองตนเองกว่างซี, เขตปกครองตนเองซินเจียง, มณฑลส่านซีและมณฑลยูนนานที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนพ.ค. 2558)

1.2 ข้อมูลเบื้องต้นเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน

เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน (Xi’an International Trade and Logistics Park) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 เป็นเขตท่าเรือบนบกครบวงจรแห่งแรกของประเทศจีนที่ให้บริการด้านการขนส่งสินค้า คลังสินค้าทัณฑ์บน และเป็นจุดปล่อยขบวนรถไฟสินค้านานาชาติ “ฉางอันห้าว” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าในพื้นที่ที่ไม่ติดทะเลและสามารถติดต่อกับท่าเรือขนส่งสินค้านานาชาติ แบ่งเป็นส่วนสำคัญได้แก่

– Xi’an Comprehensive Free Trade Zone เขตพิเศษภายใต้การกำกับดูแลของศุลกากร ซึ่งอำนวยสิทธิประโยชน์ด้านภาษี โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นสินค้าส่งออก

– Xi’an Railway Container Center Station เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรถไฟเพื่อการบรรจุและขนถ่ายสินค้า ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานีรถไฟสำหรับบรรจุและขนถ่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน

ในปี 2013 เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานได้เริ่มเปิดขบวนการเดินรถไฟเส้นทางขนส่งนานาชาติภายใต้ชื่อ “ฉางอันห้าว” เพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและทวีปยุโรป ด้วยการเป็นเขตเศรษฐกิจที่ได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศ ซึ่งการเปิดเส้นทางการขนส่งทางรถไฟนานาชาติในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 เส้นทางตามตารางได้แก่

เส้นที่ 1 ซีอานซินจู้—ด่านอาลาซาน ซินเจียง—คาซัคสถาน— รัสเซีย—เบลารุส—โปแลนด์—เยอรมนี—รอทเทอร์ดาม ฮอลแลนด์ 5 ประเทศและสามารถเชื่อมต่อเข้ากับ 7 ประเทศ ระยะทางรวม 9,850 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการขนส่งเพียง 18 วัน

เส้นที่2 ซีอานซินจู้—ด่านอาลาซาน ซินเจียง—เมือง Aktogay คาซัคสถาน— นคร Astana คาซัคสถาน— (มอสโก) รวมระยะทาง 7,251 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาการขนส่ง 14 วัน

เส้นทางการขนส่ง "ฉางอันห้าว"

2. รายละเอียดการเยี่ยมชมเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน

2.1 Midwest Commodities Exchange center (ศูนย์แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า)

ประกอบด้วยอาคารสำนักงานทั้งสิ้น 7 อาคารลงทุนโดยบริษัทเอกชนของนครซีอาน (Maike) ครอบคลุมพื้นที่ 113.37 หมู่ (ราว 47.23 ไร่) เริ่มก่อสร้างในปี 2011 และแล้วเสร็จเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2015 เปิดให้บริการแก่วิสาหกิจครบวงจร ได้แก่ 1) บริการด้านการค้าออนไลน์ อาคารสำนักงานมีอุปกรณ์พื้นฐานที่รองรับการช่องทางการค้าออนไลน์และข้อมูลราคาตลาดที่มีสถานะเป็นปัจจุบัน 2) บริการด้านข้อมูลและสถิติ เพื่อการทำตลาดแก่บริษัทที่เข้าลงทุนในพื้นที่ 3) บริการสอบถามราคาสินค้า พร้อมฐานข้อมูลราคาที่เป็นกลางและโปร่งใส 4) บริการด้านธุรกรรมทางการเงิน อาทิ การออกหนังสือรับรอง การออก LC (Letter of credits) เป็นต้น 5) บริการด้านการขนส่ง ครอบคลุมไปถึงระบบติดตามสถานะสินค้า 6) บริการแก่สมาชิก ให้บริการประชาสัมพันธ์ โฆษณา สื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ศูนย์แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าฯ ดังกล่าวยังมีพื้นที่รองรับการฝึกอบรม สัมมนารวมไปถึงสำนักงานพร้อมใช้งานสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีเงินลงทุนไม่สูงมาก

ศูนย์แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า

2.2 Comprehensive bonded area (คลังสินค้าทัณฑ์บนนครซีอาน)

พื้นที่พิเศษภายใต้การดูแลของกรมศุลกากร ประกอบไปด้วยท่าสินค้า ดังนี้

1) ท่าจำหน่ายสินค้านำเข้า/ส่งออกออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.iesroad.com เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน เม.ย. 2014 ปัจจุบันมีบริษัท Alibaba , JD, Gome และผู้ประกอบการมากกว่า 100 รายใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ในนำเข้าสินค้าโดยตรงเพื่อจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว

2) ท่านำเข้าสินค้าประเภทอาหารและเนื้อสัตว์ ได้รับการอนุมัติเมื่อ 28 พ.ย.2014 ทำให้สามารถกระจายสินค้าอาหารและเนื้อสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศไปยังพื้นที่ใกล้เคียงได้ ซึ่งเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานคาดการณ์ว่าการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารผ่านเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนแห่งนี้จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้ราวร้อยละ 15

3) ท่านำเข้ายานพาหนะ ปัจจุบันเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนกำลังดำเนินการขออนุมัติการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน (Vehicles import) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้รับการอนุมัติในเร็วๆนี้

4) ท่าเรือบกซีอาน ปัจจุบันท่าเรือบกดังกล่าวให้บริการด้านการขนส่งรวมไปถึงบริการที่เกี่ยวข้องครบวงจร ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญไปยังเส้นทางเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก

2.3 Railway container central station (สถานีบรรจุและเปลี่ยนถ่ายสินค้า)

ได้มีการเชื่อมต่อกับท่าเรือเหลียนหยุนก่าง (มณฑลเจียงซู) ท่าเรือชิงต่าว (มณฑลซานตง) ทางภาคตะวันออกของประเทศจีนทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3 รอบต่อสัปดาห์ เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนก.ค. 2010 สถิติจนถึงเดือน พ.ย. 2015 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้ามากกว่า 3 ล้านคอนเทนเนอร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2012 กว่าร้อยละ 95

2.4 South City Community Complex

พื้นที่จัดแสดงและซื้อขายสินค้าขนาด 6 ชั้น รวมไปถึงศาลาจัดแสดงสินค้าประเทศในเขตเส้นทางสายไหมทางบกอาทิ รัสเซีย คาซัคสถาน เป็นต้นและมีการก่อสร้าง “ศาลาอาเซียน” เพื่อจัดแสดงสินค้าท้องถิ่นของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในส่วนของประเทศไทย มีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ งานหัตถกรรมจากไม้ ผ้าทอ เครื่องประดับ ของใช้และของตกแต่งบ้าน ขนมขบเคี้ยว พระเครื่อง สบู่ทำมือ เป็นต้น และให้จำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.srimall.com ได้ด้วย ทั้งนี้พื้นที่จัดแสดงฯมีผู้สนใจเข้าชมจำนวนไม่มาก เนื่องจากการเดินทางไปยัง South City Community Complex ยังไม่สะดวก สินค้าที่นำมาจัดแสดงเป็นการจัดหาและนำเข้าโดย South City Group ที่มีฐานกระจายสินค้าที่นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง

สินค้าไทยที่จัดแสดงในพื้นที่ศาลาอาเซียน

2.5 ITL Planning Exhibition Hall (หอจัดแสดงนิทรรศการ)

กงสุลและคณะฯ เข้าชมวีดีทัศน์เพื่อทราบข้อมูลโดยรวมของเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างในส่วนโครงสร้างพื้นฐานเสร็จสิ้นเรียบร้อยและมีผู้ประกอบการและวิสาหกิจรวมกว่า 1,700 รายเข้าลงทุนและตั้งสำนักงานในพื้นที่ นอกจากนี้ ในปลายปี 2016 เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานจะเชื่อมต่อระบบขนส่งรถไฟฟ้าใต้ดินนครซีอาน สายที่ 3 ซึ่งจะทำให้การเดินทางไปยังเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

3. มาตรการดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจต่างประเทศ

ในปี 2014 วิสาหกิจต่างชาติรวมไปถึงวิสาหกิจในประเทศที่ทำการส่งออกสินค้าที่มีฐานการผลิตในเขตฯสามารถรับสิทธิพิเศษทางด้านการลดหย่อนภาษีรวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในขั้นตอนขนถ่ายสินค้า นอกจากนี้ยังมี Xi’an South City ซึ่งเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนกว่า 50,000 ล้านหยวน สามารถรองรับวิสาหกิจต่างชาติและผู้ประกอบการรายย่อยได้กว่า 1 ล้านร้านค้า คณะฯได้สอบถามเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนถึงการสนับสนุนสิทธิประโยชน์แก่วิสาหกิจของไทยเพื่อลงทุนในเขตฯ ซึ่งนายเจี่ย ยวี่หลิน รองผอ.ฝ่ายส่งเสริมการลงทุนได้กล่าวว่าการพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางด้าน การลงทุนในเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจหลากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เข้าลงทุนในพื้นที่บ้างแล้ว นอกจากนี้ได้วางโครงการสร้างสวนอุตสาหกรรมอาเซียน (东盟国际产业园) เพื่อดึงดูดวิสาหกิจจากกลุ่มอาเซียนให้สนใจมาลงทุนโดยจะเป็นการลงทุนในการผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดจีนเป็นหลัก ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสวนอุตสาหกรรมอาเซียน ขณะนี้มีเพียงวิสาหกิจจากประเทศอินโดนีเซียเท่านั้นที่สนใจเข้าลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว นอกเหนือจากการมุ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งและคมนาคมระหว่างประเทศแล้ว เขตโลจิสติกส์นานาชาติ ซีอานยังขยายฐานการผลิตด้านอื่นๆเพิ่มขึ้น อาทิ แผนการก่อสร้างศูนย์กลางการกระจายสินค้านานาชาติ (Commodity Trade Center in West China) สวนอุตสาหกรรมสื่อแห่งชาติ(National Advertising Industry Park) เมืองไวน์นานาชาติ(Xi’an International Wine City) รวมไปถึงศูนย์การประชุมและโรงพยาบาลอีกด้วย

บทส่งท้าย

เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานถือเป็นท่าเรือบนบกแห่งแรกของประเทศจีนที่ให้บริการครบวงจรแก่วิสาหกิจเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้แก่วิสาหกิจต่างชาติที่ประสงค์จะลงทุนในพื้นที่ Green field ซึ่งนายเจี่ย ยวี่หลิน รองผอ.ฝ่ายส่งเสริมการลงทุนกล่าวว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและเชื่อมั่นในคุณภาพสูง จึงควรส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นโดยผู้ประกอบการของไทยอาจพิจารณาใช้เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานเป็นฐานกระจายสินค้าจากมณฑลส่านซีไปยังมณฑลใกล้เคียง รวมไปถึงการค้าออนไลน์นับเป็นช่องทางและโอกาสที่ดีสำหรับ SMEs ไทยที่จะผลักดันการส่งออกทั้งสินค้าและภาคบริการเข้าสู่ตลาดจีนตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาช่องทางการค้าออนไลน์ในการทดลองตลาดก่อน รวมไปถึงการศึกษารายละเอียดเชิงลึกด้านกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆก่อนเข้าไปลงทุน ซึ่งปัจจุบันเว็บไซต์ www.iesroad.com ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการได้เปิดให้วิสาหกิจและผู้สนใจลงทะเบียนเปิดร้านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีนำเข้า 100 % เมื่อการสมัครผ่านการอนุมัติจากผู้ตรวจสอบ

tradeXi'anซีอานITLLogistics

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน