ลุ้นตัวโก่ง เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง กว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง ยืดเวลาการก่อสร้าง

7 Dec 2015

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง (Guangzhou-Shenzhen-Hong Kong Express Rail Link: XRL) ความยาวทั้งสิ้น 146 กม. ที่เดิมมีแผนที่จะเปิดให้บริการในปีนี้นั้น อาจจะต้องรอไปอีก 2 ปี

รัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเปิดเผยว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง จำเป็นต้องเลื่อนการให้บริการเส้นทางในฮ่องกงออกไปก่อน ซึ่งอย่างน้อยต้องใช้เวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จกว่า 2 ปี เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการก่อสร้างเกินงบประมาณที่คาดการณ์เอาไว้ โดยโครงการทั้งหมดจะใช้งบประมาณสูงถึง 84,420 ล้านดอลลาห์ฮ่องกง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ใน ไตรมาศที่ 3 ของปี 2561 ทั้งนี้รัฐบาลฮ่องกงจำเป็นต้องยื่นขอเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายนิติบัญญัติกว่า 19,600 ล้านดอลลาห์ฮ่องกง เพื่อใช้จ่ายในส่วนที่เหลือและจำเป็นต้องได้รับอนุมัติในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ถึงจะสามารถเปิดบริการเส้นทางรถไฟนี้ได้ตามกำหนด

ทั้งนี้เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง ได้มีการทดสอบการให้บริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 โดยออกเดินทางจากสถานีฝูเถียน[1] ไปยังสถานีเซินเจิ้นเหนือ วันละ 13 ขบวน วิ่งในเส้นทาง 8.67 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 11 นาที เดินทางจากเซินเจิ้นไปกว่างโจวเพียง 15นาที ในอนาคตการเดินทางจากเซินเจิ้นไปฮ่องกงจะใช้เวลาเพียง 30 นาที ซึ่งจะกลายเป็นเขตวงแหวนเศรษฐกิจ 1 ชั่วโมงของกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง ทั้งนี้หากเส้นทางนี้เปิดให้บริการทั้งหมด ในอีก 2 ปีข้างหน้า การเดินทางจากปักกิ่งไปยังฮ่องกงจะใช้เวลาเดินทางเพียง 9 ชั่วโมงเท่านั้น[2]

มณฑลกวางตุ้งเป็นมณฑลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนเนื่องจากเปิดสู่การติดต่อค้าขายระหว่างประเทศมายาวนานและเป็นมณฑลที่จีนกำหนดให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 3 แห่ง ได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ และซัวเถา  การเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้นย่อมต้องมีการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งเป็นพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้มณฑลกวางตุ้งจึงเร่งพัฒนาตนเองให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของจีนตอนใต้ เครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่พร้อมสรรพทั้งระบบโดยสารสาธารณะและการขนส่งสินค้า ครอบคลุมทั้งทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ และทางอากาศที่เชื่อมโยงกับทั้งในและต่างประเทศ


[1] สถานีรถไฟฝูเถียนเป็นสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ใต้ดินเป็นแห่งแรกของจีน มีพื้นที่กว่า 147,000 ตรม. (เท่ากับสนามฝุตบอลมาตรฐาน 21 สนาม) เป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสถานีรถไฟ Grand Central Terminal ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

[2] เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงกว่างโจว-กรุงปักกิ่ง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชม. 16 นาที เริ่มจากจีนตอนใต้ที่มณฑลกวางตุ้ง 

ผ่านนครฉางซา นครอู่ฮั่น แยกขวาไปเมืองซีอาน วิ่งตรงขึ้นไปนครปักกิ่ง

รถไฟฟ้าความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกงสถานีฝูเถียนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน