“ม้าเหล็กความเร็วสูง” จ่อเข้าเวียดนามสายแรกเปิดให้บริการแล้วที่กว่างซี

17 Jan 2024

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงส่งท้ายปี 2566 ด้วยการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางใหม่ “ฝางเฉิงก่าง-ตงซิง” หลังใช้เวลาก่อสร้างนานเกือบ 5 ปี ถือเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงประชิดชายแดนเส้นทางแรกของกว่างซี เป็นส่วนต่อขยายของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนครหนานหนิง-เมืองฝางเฉิงก่างที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2556

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ขบวนรถไฟความเร็วสูงเที่ยวปฐมฤกษ์ D8242 ได้เคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟหนานหนิงตะวันออก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ตงจ้าน (Nanningdong Railway Station/南宁东站) ผ่านสถานีฝางเฉิงก่างเหนือ (FangchenggangBei Railway Station/防城港北) ไปยังสถานีตงซิงซื่อ (Dongxingshi Railway Station/东兴市站)

ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนา “ความเชื่อมโยง” ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งกับอาเซียน โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไปเมืองชายแดนติดประเทศเวียดนาม มีอยู่ 2 เส้นทาง ได้แก่ เมืองฉงจั่ว-ผิงเสียง และฝางเฉิงก่าง-ตงซิง โดยเส้นทาง “ฝางเฉิงก่าง-ตงซิง” มีระยะทาง 47 กิโลเมตร  เป็นรถไฟรางคู่ที่ใช้สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในช่วงแรกเปิดให้บริการเที่ยวรถไฟไป-กลับวันละ 12 เที่ยว และจะปรับเพิ่ม/ลดตามปริมาณความต้องการของผู้โดยสาร

เขตฯ กว่างซีจ้วงเริ่มการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง “ฝางเฉิงก่าง-ตงซิง” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 สภาพทางภูมิศาสตร์ที่สลับซับซ้อน ส่งผลให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก เส้นทางที่เป็นสะพานและอุโมงค์  คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 68 ของเส้นทางทั้งหมด (สร้างสะพาน 32 แห่ง และเจาะอุโมงค์ 8 แห่ง)

โดยเฉพาะการก่อสร้าง “อภิมหาสะพานรถไฟทางคู่ข้ามทะเลอ่าวซีวาน” (西湾跨海双线特大桥) ซึ่งเป็นสะพานข้ามทะเลขนาดใหญ่สำหรับรถไฟความเร็วสูงแห่งแรกของกว่างซี มีความยาว 7,518 เมตร ซึ่งทีมก่อสร้างต้องทำงานนอกชายฝั่งทะเล อีกทั้งยังต้องเผชิญอุปสรรคจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการไหลเวียนของกระแสน้ำในทะเล พายุฝนฟ้าคะนอง และลมมรสุม

การเปิดใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นการปิดหน้าประวัติศาสตร์ “เมืองไร้รถไฟ” ของเมืองระดับอำเภอตงซิง  ช่วยให้การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การเดินทางจากนครหนานหนิง ผ่านตัวเมืองฝางเฉิงก่าง ถึงเมืองระดับอำเภอตงซิง เร็วสุดใช้เวลาเพียง 73 นาที ขณะที่การขับรถต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 7 นาที สามารถประหยัดเวลาเดินทางได้ถึง 53 นาที (ตัวเมืองฝางเฉิงก่าง – ตงซิง ใช้เวลา 19 นาที)

รถไฟความเร็วสูง “ฝางเฉิงก่าง-ตงซิง” เป็นอีกส่วนสำคัญของโครงข่ายระบบรางในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ กว่างซี และเป็นโครงการสำคัญในกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor หรือ NWLSC) ซึ่งช่วยเติมเต็มโครงข่ายระบบรางของประเทศจีนให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังช่วยเสริมบทบาทของกว่างซีในการเป็น “ประตูสู่อาเซียน” ช่วยเพิ่มพลวัตเศรษฐกิจในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน และขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและธุรกิจการค้าขายได้อีกอย่างมาก

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมืองระดับอำเภอตงซิง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองฝางเฉิงก่าง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองม๊องก๋าย (Móng Cái) จังหวัดกวางนิงห์ (Quảng Ninh) ของเวียดนาม เป็นที่ตั้งของด่านสำคัญ เช่น “ด่านสากลตงซิง” (Dongxing Border Gate) ด่านสะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุน แห่งที่ 2 เป็นด่านที่ได้รับอนุมัติการนำเข้าผลไม้ไทยตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน (ด่านสะพานแห่งที่ 1 เป็นด่านสากลใช้สำหรับการตรวจคนเข้า-ออกนอกประเทศ)

ข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 พบว่า “ประเทศไทย” เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของเมืองระดับอำเภอตงซิง (รองจากประเทศเวียดนาม 9,970.35 ล้านหยวน) มีมูลค่าการค้า 56.38 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ เป็นการนำเข้าจากไทย 25.27 ล้านหยวน สินค้าไทย ได้แก่ สินค้าที่มีมูลค่าต่ำที่ปฏิบัติพิธีการศุลกากรแบบเรียบง่ายในการตรวจปล่อย (HS Code 98040000) แป้งมันสำปะหลัง สารอินทรีย์ที่เป็นตัวลดแรงตึงผิว และผลไม้สด (มังคุด ทุเรียน และมะพร้าว)

บีไอซี เห็นว่า แนวโน้มการขนส่งและกระจายสินค้าด้วยรถไฟในประเทศจีน เป็นประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในมิติของการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงในระบบการค้าระหว่างประเทศ ที่จะทำให้ผู้ค้าเข้าถึงตลาดในพื้นที่ใหม่ ๆ ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ

ต้องบอกว่า ปัจจุบัน บทบาทของรถไฟความเร็วสูงในจีนไม่ได้จำกัดที่การเดินทางของผู้โดยสารเท่านั้น หลายเมืองในจีนได้พัฒนารูปแบบการให้บริการของรถไฟความเร็วสูงไปถึงการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์แล้ว รวมถึงนครหนานหนิงที่ได้สร้าง “ฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงหนานหนิง” ในปี 2564 เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วจีนในอนาคต

ดังนั้น ในอนาคต หากเส้นทางรถไฟความเร็วสูง “ฝางเฉิงก่าง-ตงซิง” ขยายการบริการที่ครอบคลุมการขนส่งสินค้าด้วย จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการไทยในการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟดังกล่าวในการขนส่งและกระจายสินค้าไทย โดยเริ่มต้นจากรถบรรทุกผ่านทาง R9 และ R12 ผ่านเข้าด่านสากลตงซิง เพื่อไปขึ้นรถไฟความเร็วสูงในสถานีตงซิงซื่อ  (ด่านอยู่ห่างจากสถานีตงซิงซื่อประมาณ 6.4 กิโลเมตร ใช้เวลา 15 นาที) และขนส่งต่อไปยังเมืองอื่น ๆ ผ่านโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ



จัดทำโดย : นางสาวฉิน ยวี่อิ๋ง  ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.news.cn (新华网) วันที่ 27 ธันวาคม 2566
เว็บไซต์ http://gx.people.com.cn (人民网广西频道) วันที่ 27 ธันวาคม 2566
เว็บไซต์ www.gov.cn (中国政府网) วันที่ 2 ตุลาคม 2566
เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关)
ภาพประกอบ http://gx.people.com.cn และ www.sasac.gov.cn


“ฝางเฉิงก่างรถไฟความเร็วสูงตงซิง

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน