มณฑลกวางตุ้งก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ของโลก ตอนที่ 2 แกนเทคโนโลยีคือหัวใจสำคัญของการพัฒนา

8 Jul 2016

หัวใจสำคัญของเทคโนโลยีคือการวิจัยและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง มณฑลกวางตุ้งเดิมทีเป็นมณฑลที่มีศักยภาพสูงด้านเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ โดยเป็นพื้นที่การผลิตที่เป็นห่วงโซ่ที่สมบูรณ์ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผลิตรถสัญชาติต่าง ๆ อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป รวมถึงรถสัญชาติจีน โดยมีเมืองต่าง ๆ ในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนและระบบควบคุมและมีนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้นเป็นแหล่งสำคัญของโรงงานประกอบตัวรถยนต์เพื่อส่งออกไปยังตลาดรถยนต์สำคัญทั่วทุกภูมิภาคของโลก

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ของมณฑลกวางตุ้งก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำยานยนต์พลังงานสะอาดของโลกอย่างเต็มตัว โดยกลุ่มบริษัทรถยนต์พลังงานใหม่ได้สร้างศักยภาพด้านการผลิตที่หาใครเทียบได้ยาก ครอบคลุมการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ระบบขับเคลื่อน ระบบการตรวจสอบความปลอดภัย ระบบทดสอบต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีแกนเทคโนโลยี (Core Technology)[1] ของตนเอง เพื่อที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและความเป็นหนึ่งเฉพาะด้านในระดับโลกได้

ทั้งนี้หากพูดถึงสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยี บริษัท BYD ก็ยังเป็นบริษัทที่น่าจับตามอง เดิมที่บริษัท BYD เป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ ธุรกิจยานยนต์พลังงานน้ำมันและพลังงานใหม่ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานใหม่อื่น ๆ อาทิ แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ สถานีเก็บพลังงาน ยานพาหนะไฟฟ้า หลอดไฟ LED และรถยก นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทในปี 2538 เป็นต้นมา จนถึงปี 2558 (เดือนเมษายน) บริษัท BYD มีสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีไปแล้วกว่า 8,846 สิทธิบัตร

หนึ่งแกนเทคโนโลยีที่สำคัญของรถยนต์พลังงานใหม่คือ “เทคโนโลยีแบตเตอรี่” เพราะเนื่องจากรถพลังงานใหม่เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ต้องพึ่งน้ำมัน ดังนั้นแบตเตอรี่จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในกักเก็บพลังงานเพื่อใช้ขับเคลื่อนยานพาหนะเป็นหลัก บริษัท BYD ได้ทำการวิจัยผลิตและพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอรอนฟอสเฟส lithium iron phosphate (LiFePO4) battery (LFP battery)[2] รวมถึงวัสดุที่ใช้เทคโนโลยีเทอแนรี่ (Ternary) อันได้แก่ เทอร์แนรี่อัลลอย (Ternary alloy) อนินทรีย์อโลหะ (inorganic non-metal) วัสดุอินทรีย์ (Organic Materials) และพอลิเมอร์ (Polymer) โดยนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมหลอมโลหะ อุตสาหกรรมแปรรูปวัสดุ และอุตสาหกรรมพลังใหม่ เป็นต้น

โดยในปี 2555 เทคโนโลยีแบตเตอรี่ของบริษัท BYD ได้รับมาตรฐาน ISO/TS16949 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบบริหารจัดการคุณภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์  เพื่อให้สอดคล้องตามเกณฑ์ของ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน มาตรฐานระบบคุณภาพยานยนต์ฝรั่งเศส อิตาลีและในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ซึ่ง BYD เป็นบริษัทรายแรกในจีนที่ได้รับมาตรฐานนี้

ด้านบริษัท GAC เปิดเผยว่าปัจจุบันบริษัทได้ทีการวิจัยและพัฒนา “แกนเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นของบริษัทเองได้แก่ การผลิตแบตเตอรี่ เครื่องผลิตไฟฟ้าและระบบควบคุมไฟฟ้า ซึ่งเทคโนโลยี 3 ชนิดนี้ถือเป็นแกนเทคโนโลยีที่บริษัท GAC สามารถต่อยอดการพัฒนาต่อไปอีกไกลในอนาคต โดยนายกู่ หุ้ยหนาน ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มบริษัท GAC เปิดเผยว่า นอกจากบริษัทจะมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองแล้ว ยังมีโครงการที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีสำคัญให้กับผู้ผลิตรายอื่น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ของจีน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่มีต้นทุนต่ำเพื่อให้ส่งผลต่อราคาของรถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนซื้อและขยายกลุ่มผู้ใช้รถพลังงานใหม่ให้มีมากขึ้นต่อไปในอนาคต

อนึ่งแกนเทคโนโลยี (Core Technology) เป็นองค์ความรู้ขององค์กรและกุญแจอันล้ำค่าที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการแข่งขันให้แก่องค์กรได้ โดยนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวโยงกับแกนเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อผลิตสินค้าใหม่ ๆ ป้อนสู่ตลาดผู้บริโภค ซึ่งหัวใจสำคัญของแกนเทคโนโลยีคือการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของการแข่งขันไม่หยุดนิ่ง


[1] Core Technology เป็นองค์ความรู้ขององค์กรและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร ในการพัฒนาเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวโยงกับ Core Technology เพื่อผลิตสินค้าใหม่ ๆ ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกัน ก็ช่วยขัดเกลาปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่ ให้มีความเป็นเลิศยิ่งขึ้น – วารสาร Technoloy Promotion สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

[2] แบตเตอรี่ลิเธียมไอรอนฟอสเฟส คิดค้นโดยกลุ่มคณะวิจัย John Goodenough’s ของมหาวิทยาลัย Texas ในปี 1996 และมีการนำออกสู่การตลาด ในปี 2004  มีลักษณะโครงสร้างทางเคมีเช่นเดียวกับแบตเตอรี่ลิเธียมทั่วไป แต่มีการเปลี่ยนวัสดุที่เป็นก๊าซมาเป็นโลหะที่ทนทานมากขึ้นทำให้ปลอดจาก ปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้เกิดความร้อ และจะไม่ติดไฟหรือเกิดการเผาไหม้แม้จะถูกใช้งานอย่างหนัก ในขณะเดียวกัน LiFePO4 ยังมีการขับพลังงานที่สูงกว่า (higher discharge rate) ไม่เป็นพิษ (nontoxic) และมีอายุการใช้งานที่มากกว่าแบตเตอรี่ปกติมาก – ispowers.blogspot.com

รถยนต์พลังงานใหม่รถยนต์ไฟฟ้าแกนเทคโนโลยี

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน